Skip to main content
sharethis

สกว.ปลุกพลังนักวิจัยเป็นคนสำคัญในการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้ที่สร้างผลกระทบที่มีมูลค่าแก่สังคม ย้ำนักวิจัยต้องเป็น “นักคิดที่แก้ปัญหานอกตำราได้” และสร้างเครดิตทางวิชาการให้เข้มแข็งก่อนแล้วเอกชนจะวิ่งเข้าหาเองหรือลุยเดี่ยวเองได้

8 พ.ค. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า วันนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมสยาม ออเรียนทัล จังหวัดสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยรูปแบบใหม่ของ สกว. และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยจากนักวิจัยอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยผู้อำนวยการ สกว. ได้ชี้ให้นักวิจัยที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน เห็นการเปลี่ยนแปลงของ สกว. ที่จะต้องคิดถึงภาพใหญ่และจับมือกันทำงานร่วมกับ สกว. เพื่อการพัฒนาประเทศและประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ

“นักวิจัยต้องเริ่มจากการวิเคราะห์สถานภาพของตัวเองและระบบวิจัยแวดล้อม ส่วนงานวิจัยที่จะเป็นผลต่อการพัฒนาประเทศได้นั้นจะต้องเป็นงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ (Research to Impact) โดยมีผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นบุคคลสำคัญ และนักวิจัยด้านวิชาการก็เป็นบุคคลสำคัญที่จะก้าวสู่นักวิจัยด้านนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาต้องเชื่อมต่อกันได้ สามารถสร้างมูลค่า จับต้องได้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่าหยุดนิ่งเฉพาะผลงานตีพิมพ์นานชาติที่เข้มแข็ง แต่ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วย นักวิจัยทุกคนคือพลังสำคัญของประเทศ ถ้าเปลี่ยนความคิดได้ ประเทศก็จะเปลี่ยนและก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง โดยประเด็นวิจัยใหม่ในปีนี้ตัวอย่างเช่น จังหวัดชายแดนใต้ ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาศาสตร์สมอง” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

ศ. ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวระหว่างการเสวนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง: เข็มทิศนำทางชีวิตนักวิจัย” ว่านักวิจัยที่มีนักวิจัยพี่เลี้ยงดีถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้วช่วงหนึ่ง เพราะสามารถใช้ประสบการณ์ช่วยเหลือประคองงานไปสู่จุดมุ่งหมายได้ ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของนักวิจัย ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานทำด้วยตัวเองเหมือนเช่นอดีต สามารถหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้ว่าใครเป็นคนเก่งในศาสตร์ของตน แต่อย่าใช้เพียงชื่อของพี่เลี้ยงเพื่อขอทุน ต้องเป็นเพื่อนร่วมงานทำวิจัยร่วมกันด้วย

ขณะที่ ศ. ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากสังกัดเดียวกัน ระบุว่าระบบนักวิจัยพี่เลี้ยงของ สกว. เป็นจุดเริ่มต้นของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ ช่วยสร้างนักวิจัยที่มีศักยภาพและเข้มแข็งให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เริ่มแรกควรมีพี่เลี้ยงที่อยู่ในขอบข่ายงานเดียวกันหรือศาสตร์ใกล้เคียงกัน การหาโอกาสคุยกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะได้รู้ว่าสามารถพยุงไปด้วยกันและช่วยเหลือกันได้หรือไม่ เพื่อให้ทำโครงการสำเร็จ มีผลลัพธ์ได้ตามสัญญาและขอตำแหน่งทางวิชาการก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีระเบียบและตรงต่อเวลา

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการทำวิจัย ว่าการทำงานจะเน้นการมีส่วนร่วม พูดคุยและรักษาคำพูด ใช้มนุษยสัมพันธ์แบบเพื่อน นักวิจัยพี่เลี้ยงต้องเป็นได้ทั้งพี่ อาจารย์ และเพื่อน ความเป็นกัลยาณมิตรจะทำให้เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์ ปลุกกระตุ้นให้กำลังใจและคำแนะนำที่ดี รวมถึงสร้างเครือข่ายวิจัยในชุมชนให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือจากชุมชน ทำให้การเริ่มต้นทำงานมีชัยไปกว่าครึ่ง มีโอกาสโลดแล่นไปในเส้นทางวิจัยได้ยาวไกลมากขึ้นจนถึงระดับศาสตราจารย์ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสายวิชาการก็ต้องสามารถเป็นนักคิดที่แก้ปัญหาได้ เช่น ประยุกต์ใช้วิชาโบราณคดีไปออกแบบคิดค้นฐานข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ หน้าที่สำคัญของพี่เลี้ยงจึงต้องสอนให้นักวิจัยพูด คิด เขียนเป็น แตกต่างจากตำราและงานของคนอื่น รวมถึงโน้มน้าวใจแหล่งทุนต่าง ๆ ได้ และขอให้ทุกคนทำงานด้วยความสนุกและท้าทาย

สำหรับการเสวนา “ทำอย่างไรงานวิจัย ‘ไม่’ ขึ้นหิ้ง: การพัฒนานวัตกรรมและการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบของงานวิจัยมีทั้งในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม บางงานแม้จะไม่ถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แต่ก็ถือว่ามีคุณค่า นั่นคือเป้าหมายสูงสุดในการทำงานวิจัย การออกแบบงานวิจัยมีทั้งการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีแล้วต่อยอดไปสู่ตลาด แต่คนต้องการหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังในการกำหนดโจทย์ กับอีกแบบที่เริ่มจากการสำรวจความต้องการของตลาดหรือชุมชนก่อนตั้งโจทย์และทำวิจัย ทั้งนี้นักวิจัยรุ่นใหม่ควรจะต้องหาโจทย์วิจัยที่ใช่หรือชอบ มีทีมวิจัยหรือนักวิจัยที่ปรึกษามาร่วมทีมก่อนจะลุยเดี่ยว

ด้าน ศ. ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าปัจจุบันการคิดโจทย์วิจัยเปลี่ยนไป มีความเป็นสหวิทยาการและบูรณาการกันมากขึ้น ถ้านักวิจัยปรับตัวไม่ได้จะลำบากเพราะมีการแข่งขันกันขอทุนวิจัยสูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาคือเปลี่ยนเงินให้เป็นความรู้ แต่วิจัยและนวัตกรรมเป็นการเปลี่ยนความรู้ให้เป็นเงิน แต่ตนอยากฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ว่าต้องสร้างเครดิตให้ตัวเองมีความเข้มแข็งทางวิชาการก่อน อย่าหวั่นไหวกับกระแสว่าตีพิมพ์อย่างเดียวแล้วกินไม่ได้ ต้องมีความสมดุลกันทั้งสองฝ่าย เพราะการตีพิมพ์ถือเป็นบริบทของงานวิจัย การสร้างนักวิจัยและผลงานตีพิมพ์ที่มีคุณภาพถือเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่มีมูลค่ามหาศาล ส่วนเทคนิคการสร้างเครดิตให้เป็นที่รู้จัก คือ การออกงานแสดงนิทรรศการและประกวดทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อให้คนเห็นผลงานของเรามากขึ้น เอกชนจะวิ่งมาหาเราเองและใช้ความรู้แก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องมีความรู้และบริบทความแปลกใหม่ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นงานบริการอุตสาหกรรม ที่สำคัญอย่าให้ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยแปรเปลี่ยนตามปีงบประมาณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net