Skip to main content
sharethis

อัยการสูงสุดยื่นฟ้องแยก รังสิมันต์ โรม คดีคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน 50 ผิด ม.116 ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 บรรยายฟ้อง ชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ ประวิตร พร้อมชูสามนิ้ว ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลทหารจำกัดเสรีภาพ ถือเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหลักทรัพย์ 50,000 บาท

รังสิมันต์ โรม หลังยุติการชุมนุมเมื่อว้นที่ 10 ก.พ. 2561 (แฟ้มภาพ Banrasdr Photo)

27 เม.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 9.30 น.รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีกรณีการชุมนุม หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง: หมดเวลา คสช. ถึงเวลาประชาชน” ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 หรือ “คดี RDN50” โดยรังสิมันต์ถูกแยกฟ้องมาจากแกนนำคนอื่นๆ อีก 6 คน ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

มนตรี นามขาน พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องคดีของรังสิมันต์ต่อศาลอาญาไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

อัยการได้บรรยายฟ้องโดยกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกอีก 6 คน ได้ร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2561 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนิน อันเป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งเป็นการร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

หลังจากเข้ารายงานตัวต่อศาล รังสิมันต์ได้ถูกนำตัวเข้าไปในห้องเวรชี้ และผู้พิพากษาเวรได้อ่านคำฟ้องคดีให้จำเลยฟัง พร้อมกับสอบถามคำให้การ แต่รังสิมันต์ระบุยังไม่ให้การในชั้นนี้ ศาลจึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การต่อไปในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลา 9.00 น.

สำหรับกรณีการชุมนุม RDN50 นี้ มีแกนนำถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จำนวน 7 ราย  ในกรณีของรังสิมันต์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 และพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ได้นำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท ต่อมาอัยการจึงได้ยื่นฟ้องคดีของรังสิมันต์ต่อศาลอาญาเข้ามาก่อน

ในส่วนคดีของแกนนำอีก 6 คน  ได้แก่ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ไปพบเพื่อส่งตัวให้อัยการครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 61 โดยมีกาณฑ์ไปพบตามนัด ขณะที่ผู้ต้องหาคนอื่นติดภารกิจ  โดยยื่นหนังสือขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 11 มิ.ย. 61 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้เลื่อนและได้เดินทางไปที่ศาลเพื่อขอออกหมายจับ แต่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับ และให้ผู้ต้องหาทั้งห้าไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 พ.ค.61 เวลา 9.00 น. เพื่อนำตัวส่งพนักงานอัยการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net