Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปี พ.ศ. 2557 ข้าพเจ้าถูก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน นายทหารนอกราชการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม หลังจากข้าพเจ้าได้ร่วมอภิปรายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ซึ่งจัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 บุคคลทั้งสองนี้กล่าวหาว่ามีหลายถ้อยคำที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้ง ๆ ที่การอภิปรายดังกล่าวเป็นเรื่องของอดีต โดยเฉพาะก็กรณีที่พระนเรศวร ซึ่งเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา แต่ พ.ศ. 2133-2148 ว่าที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยข้าพเจ้าขอให้ผู้ฟังควรใช้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของทางฝ่ายพม่า ฯลฯ ประกอบด้วย โดยไม่ควรเชื่อแต่ถ้อยคำจากพระราชพงศาวดารฝ่ายไทยเท่านั้น พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็ยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. 2394-2411) ไม่ได้ทรงปลอมแปลงศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ดังที่มีผู้รู้สมัยใหม่ทั้งไทยและเทศกล่าวหา

พนักงานสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ยังบอกกับข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าปกป้องพระจอมเกล้าฯ แต่แล้วสถานีตำรวจดังกล่าวก็สรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 256๐ อัยการศาลทหารกรุงเทพฯนัดให้ข้าพเจ้าไปฟังคำสั่ง ณ วันที่ 7 ธันวาคม 256๐ แต่แล้วอัยการศาลทหารกรุงเทพฯได้เลื่อนให้ไปฟังคำสั่ง ณ วันที่ 17 มกราคม 2561 ว่าจะสั่งฟ้องยังศาลทหารหรือไม่ และแล้วในที่สุดก็ยุติคดีดังกล่าวแต่เพียงนั้น

คดีที่ว่านี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะก็บุคคลสำคัญ ๆ ในนานาประเทศที่ยืนหยัดอยู่ข้างเสรีภาพและประชาธิปไตย ตลอดจนองค์การสากลหลายแห่ง เช่น PEN International, Amnesty International และ UN High Commission for Human Rights เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ที่เรียกกันว่า Nobel ทางเลือก ได้ส่งถ้อยคำประท้วงมายังรัฐบาลไทยกันเป็นระลอก ๆ แต่ทางรัฐบาลไทยก็ดูจะไม่ไยไพ แม้ภายในประเทศเอง ก็มีผู้ติดต่อขอให้นายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอื่น ๆ สั่งระงับคดีนี้เสีย เพราะถ้าคดีนี้ขึ้นถึงศาล รัฐบาลน่าจะเป็นฝ่ายเสียมากกว่าได้ แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือกอื่นใด จึงทำฎีกาทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงแนะนำรัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว

ก็การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระสถานะที่จะแนะนำรัฐบาลได้ ทรงสนับสนุนหรือทักท้วงรัฐบาล ก็อยู่ในขอบเขตแห่งพระราชอำนาจ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่โปรดเกล้าฯ ทรงแนะนำนายกรัฐมนตรีให้ยุติคดีดังกล่าวเสีย ทั้งนี้นับเป็นพระเดชพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

การมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยนั้น ย่อมทรงเป็นที่พึ่งของผู้ที่แสวงหาความเป็นธรรมในบ้านเมืองได้ ข้อสำคัญคือ ผู้คนเป็นอันมากยากที่จะถวายฎีกาได้โดยตรง ถวายขึ้นไปแล้วจะถึงพระเนตรพระกรรณหรือไม่ โดยจะถูกกลั่นกรองอย่างใด ย่อมยากที่พสกนิกรจะทราบได้

โดยที่คดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มีมากมายจนเกินกว่าเหตุ ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้ว เคยมีพระราชดำรัสอย่างเปิดเผยว่า ใครนำคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาฟ้องร้องนั้น เท่ากับเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน และเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

ก็กฎหมายอาญามาตรานี้ บ่งชัดว่าปกป้องพระมหากษัตริย์ พระมเหสีและองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น ดังมีตัวอย่างปรากฏอยู่ชัดเจนเมื่อเริ่มรัชกาลที่ 9 เจ้าหน้าที่ตำรวจทำเรื่องฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวอันเป็นอัปมงคลถึงในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่เมื่อคดีมาถึงอธิบดีกรมอัยการ ในหลวงพระองค์นั้นสวรรคตเสียแล้ว อธิบดีกรมอัยการจึงไม่อาจฟ้องร้องคดีดังกล่าวได้ ท่านอธิบายไว้ด้วยว่า ถ้านำมาตรานี้ใช้กับพระอดีตมหากษัตริย์ เราจะสอนประวัติศาสตร์กันไม่ได้

แต่แล้วก็มีคำพิพากษาศาลฎีกา ลงโทษจำเลยในข้อหาว่าหมิ่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยศาลบ่งว่าพระองค์ท่านทรงเป็นพระไปยาธิราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้น คือรัชกาลที่ 9 ทั้ง ๆ ที่ถ้อยคำของจำเลยไม่ได้เอ่ยในทางลบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสียด้วยซ้ำ เพียงเขากล่าวว่าพวกเราเคราะห์ดีที่เกิดในรัชกาลปัจจุบัน เพราะถ้าเกิดในรัชกาลที่ 4 ยังมีทาสอยู่ เราจะแย่มากกว่านี้

นี่แสดงว่าศาลไม่แม่นยำทางตัวบทกฎหมายแล้วยังขาดการุณยธรรมอีกด้วย โดยเราต้องไม่ลืมว่าท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนสำคัญที่ในวงการนิติศาสตร์เคารพนับถือยิ่งนัก ดังท่านเคยเป็นองคมนตรีด้วย ท่านเตือนว่าผู้พิพากษาต้องตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด และถ้าสงสัยควรยกประโยชน์แก่จำเลย ไม่ใช่ว่าตีความอย่างกว้างขวางจนอะไร ๆ ก็เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหมด ดังนายวีระ มุสิกพงศ์เคยโดนลงโทษมาแล้วในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมมหาราชวัง

ที่น่าสงสัยก็คือเนติบริกรที่รับใช้ใกล้ชิดรัฐบาลปัจจุบันในเวลานี้ไม่ตระหนักดอกหรือ ว่าคนที่โดนลงโทษตามมาตรา 112 นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นสวรรคตไปแล้ว นักโทษเหล่านั้นควรได้รับอิสรภาพ ถ้ารัฐบาลมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ควรประกาศให้อิสรภาพแก่บุคคลนั้น ๆ นั่นจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างแท้จริง

ก็กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เอง มีปัญหามากหากไม่แก้ไขปปรับปรุง ใคร ๆ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเอง อาจถูกกล่าวหาอีกเมื่อไรก็ได้ เพราะถ้าใครกล่าวหาใคร ตำรวจไม่รับคำร้องดังกล่าว เขาก็ย่อมกลัวผิด เพราะฉะนั้นควรแก้ไขให้ชัดเจนว่ามีการกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้น ควรมีคณะกรรมการพิจารณาความข้อนี้เสียก่อน คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นนักนิติธรรมในทางฝ่ายราชเลขาธิการได้ หรือในกระทรวงยุติธรรม ที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภาก็ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงสนพระทัยในเรื่องความยุติธรรมเป็นอย่างมาก และทรงห่วงใยเรื่องคนล้นคุกอีกด้วย

ที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ คงได้รับการอภิปรายไปในทางสร้างสรรค์ อันควรจะเป็นสาระของประชาธิปไตยและจะเป็นการเทอดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่ถูกที่ควรอีกด้วย


ส.ศ.ษ.

 

ที่มา: Facebook Sulak Sivaraksa

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net