Skip to main content
sharethis

ชมรมประชาธิปไตย มช. จัดเสวนา ‘การรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย’ นำทัพอาจารย์-นักศึกษาถกประเด็น อาจารย์แนะทุกกิจกรรมควรทำตามความสมัครใจ หรือทดลองหาทางออกใหม่แทนการรับน้อง ปธ. โครงการเสวนาฯ แย้มปีหน้าอาจหาแนวร่วมจัดอีก

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดโครงการเสวนาวิชาการ 86 ปีประชาธิปไตย ในหัวข้อ "การรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อ.ปอ บุญพรประเสริฐ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ศ. ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ผู้ชำนาญการพิเศษ ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เข้าร่วมเสวนา

ศ.ดร. ธเนศวร์ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องว่า เป็นการสร้างทาสอย่างนุ่มนวลผ่านความเป็นพี่น้อง แม้ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรงก็เป็นการทำร้ายทางสมอง ทำให้สมองไม่กล้าคิด และอดทนกับสิ่งไร้เหตุผลในสังคมโดยเฉพาะทางการเมือง เรียนจบไปจึงกลายเป็นเพียงบัณฑิตวิชาชีพ แต่ขาดความเป็นพลเมือง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากบทบาทของอาจารย์และผู้บริหารที่เป็นผลิตผลของระบบรับน้อง อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเป็นสถานวิชาการ ไม่ใช่สถานบันเทิง การทำกิจกรรมจึงไม่ควรรบกวนผู้อื่น แต่ควรทำตามหลักอิสระ ความเป็นเลิศทางวิชาการ และการแข่งขันเสรี หมายความว่าสามารถจัดกิจกรรมรับน้องได้ แต่ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เข้าร่วม ไม่บังคับ และมหาวิทยาลัยไม่เข้ามาแทรกแซง

ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้อง หรือการ "ว้าก" ศ. ดร. ธเนศวร์เสนอว่า อาจรวมกลุ่มใหม่กันเอง แล้วทำกิจกรรมที่ตนคิดว่าเห็นด้วย ถ้ามีปัญหาก็สามารถบอกเล่าปรึกษาอาจารย์ได้ และเมื่อทำกิจกรรมแล้วก็อย่าทิ้งการเรียน

"จงเป็นนักกิจกรรมที่แข็งแกร่ง โดดเด่น เป็นนักกิจกรรมที่มีคุณค่าและวิชาการก็ต้องไม่ด้อยด้วย เพื่อให้เรียนจบไปแล้ว สามารถพูดถึงประเด็นวงเสวนาในวันนี้ต่อไปได้" ศ. ดร. ธเนศวร์ กล่าว

 ส่วนเรื่องประชาธิปไตย อ. ปอ กล่าวถึงการขอความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัย ให้งดพูดประเด็นทางการเมืองบนเวทีเสวนาว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นนักศึกษาจากการเมือง เพราะนักศึกษาคือคนรุ่นใหม่ที่จะต้องบริหารประเทศต่อ การเบี่ยงเบนนักศึกษาจากประเด็นที่แท้จริง ยกตัวอย่างการรับชมรายการประกวดร้องเพลงของกลุ่มผู้มีหนี้สิน หรือมีรายได้น้อย โดยนำเสนอปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านั้นว่าเป็นความโชคร้ายส่วนบุคคล จะทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อระบบ และไม่เกิดการตั้งคำถาม

ประเด็นการตั้งคำถามและหลุดพ้นจากระบบ เช่น ระบบรับน้อง แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ อ. ปอกล่าวว่า "คำถามที่ว่าถ้าออกจากระบบรับน้องหรือโซตัสแล้วจะมีระบบใดมาแทน คุณต้องกล้าทดลอง อย่าหวังว่าจะมีคำตอบตายตัว และต้องกล้ายอมรับความสำเร็จหรือผิดพลาด ความผิดพลาดควรเกิดในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเป็นพื้นที่ทดลองก่อนออกไปสู่โลกการทำงานจริง"

นางสาวณัฏฐณิชา เทพยศ สมาชิกชมรมประชาธิปไตย มช. และ ประธานโครงการเสวนาฯ กล่าวว่าในวันนี้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมฟังด้วย แต่กิจกรรมโดยรวมก็ผ่านไปได้ด้วยดี เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดจากผู้เข้าร่วม ทั้ง มช. และต่างสถาบัน ที่ผ่านมาเมื่อชมรมจัดกิจกรรมหนึ่งๆ ก็จะมีการพูดคุยถึงประเด็นนั้นภายในวันที่จัดกิจกรรมเท่านั้น เมื่อจบแล้วก็ไม่ได้พูดคุยกันต่อ แต่ครั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เขียนบทความต่อเพื่อแสดงถึงปัญหาและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในปีหน้าชมรมฯ ก็จะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก และเป็นไปได้ว่าอาจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดมากขึ้น

นางสาวณัฏฐณิชา เล่าว่าก่อนหน้านี้ถูกมหาวิทยาลัยเลื่อนกิจกรรมไปสองครั้ง เนื่องจากอ้างว่าจัดกิจกรรมใกล้วันสอบ อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของนักข่าว พบว่า เคยมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อวิทยากรก่อนวันกิจกรรมจริง ตามความตั้งใจเดิมของชมรมประชาธิปไตยที่ต้องการเชิญนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมและนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ร่วมเสวนา

โดยนายนลธวัช มะชัย หนึ่งในตัวแทนนักศึกษา มช. ผู้ร่วมการเสวนา ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nontawat Machai โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันก่อนจัดกิจกรรม ว่า “...มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่อนุญาตให้ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ขึ้นเวทีเสวนาที่น้องๆ นักศึกษาจัดใน มช. กลางเดือนนี้...” นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ Eak_Reporter สำนักข่าว The Standard ทวีตข้อความว่า “#เนติวิทย์ ถูกมหาวิทยาลัย #เชียงใหม่ ปฏิเสธการเป็นวิทยากร เสวนาในหัว "การรับน้องและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม" ที่จัดโดยชมรมประชาธิปไตย​ มช. แหล่งข่าวเผยว่ามหาวิทยาลัยแจ้งกับผู้จัดงาน "เนติวิทย์" มีความเสี่ยงเกินไป”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net