Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



นับจากมีรัฐธรรมนูญขึ้นครั้งแรกในปี 2475 มาถึงวันนี้ เป็นเวลา 85 ปี การรำลึกถึงวันรัฐธรรมนูญและความหมายของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา มีการฉลองรัฐธรรมนูญอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่อยู่หลายปี โดยทางรัฐบาลในขณะนั้นที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง นอกจากพิธีเฉลิมฉลองแล้ว รัฐบาลยังได้พยายามชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงความหมายของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

รัฐธรรมนูญมีความหมายสำคัญที่เชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่คนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ต่อมามีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง บางช่วงประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่มีสิ่งที่เรียกว่า "ธรรมนูญการปกครอง" ช่วงละหลายปี ระยะหลังเรียก “ธรรมนูญการปกครอง” เสียใหม่ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” ช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญนั้น หากมีกิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่สามารถสื่อความหมายใดๆได้

ผ่านไป 85 ปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ

ไม่มีรัฐธรรมนูญ ใน 2 ความหมาย

1. แม้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้มีคสช.อยู่ไปจนกว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ คสช.จึงมีอำนาจเด็ดขาดเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งหลาย คสช.เป็นกฎหมายเสียเองและอยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง การใช้อำนาจของคสช.สามารถหักล้างแม้แต่รัฐธรรมนูญหลายๆมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ปัจจุบันคนทุกคนจึงไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน จะถือว่าเรามีรัฐธรรมนูญแล้วย่อมไม่ได้

2 ใน 85 ปีมานี้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกเมื่อไหร่ก็ได้ ฉีกโดยคณะรัฐประหาร แล้วก็ร่างโดยคณะรัฐประหารเสียเป็นส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กฎหมายสูงสุด คำสั่งของคณะรัฐประหารใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญได้เสมอ

ระบบยุติธรรมได้รับรองการรัฐประหารมานานแล้ว การรัฐประหารครั้งล่าสุด ได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่ยอมรับและรับรองการรัฐประหารไปด้วยแล้ว

มาถึงวันนี้ ทั้งระบบกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติและวัฒนธรรมทางการเมือง ยังไม่มีข้อสรุปว่า การฉีกรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหารเป็นสิ่งที่เลวร้าย

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่สำคัญ ก็คือ อำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน แต่เป็นของชนชั้นนำที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆกับประชาชน คณะรัฐประหารกับพวกสามารถกำหนดอนาคตทิศทางของประเทศทั้งในรูปของการวางแผนยุทธศาสตร์และการกำหนดผู้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงไม่ต่างอะไรจากโรดแม็ปของการอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนานของ คสช.นั่นเอง

การรำลึกวันรัฐธรรมนูญในปีนี้ จะยินดีปรีดาที่มีรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้พิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างในสมัยโบราณก็ไม่ได้ เพราะวันนี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นกฎหมายสูงสุดเร็วขึ้นก็คงต้องเรียกร้องให้คสช.หยุดใช้อำนาจตามใจชอบเสียที แต่ก็คงไม่ได้ผล

การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนปิดช่องทางในการแก้ไขไว้จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติมาทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง การจะแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องอาศัยเวลาอีกพอสมควร

ในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ หากจะรำลึกถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญและต้องการให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น

ขั้นแรก คงต้องร่วมกันหาทางป้องกันไม่ให้คสช.ครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนานตามที่เขาวางแผนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ขั้นต่อไป คงต้องช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นว่า การบริหารปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งนี้ นับวันจะทำความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งประชาชนพร้อมใจกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

หวังว่า ในอนาคตข้างหน้าสังคมไทยจะมีความเชื่อว่าประเทศไทยจะต้องปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยินยอมให้คณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาฉีกธรรมนูญทิ้งได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net