Skip to main content
sharethis

คุยกับเจริญชัย แซ่ตั้ง ในวัยผมสีดอกเลา อดีตคนทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กช่วงสงครามเวียดนาม – ล่ามตำรวจท่องเที่ยว 2 ปี – ก่อนไปเก็บของเก่า – เคยปฏิบัติสมาธิกับวัดธรรมกายก่อนเลิกศาลา – ต่อต้าน รสช. คมช. คสช. เพราะ “รัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา” รณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 อยู่ตามเว็บบอร์ด-ยื่นหนังสือ ฯลฯ จนทหารเรียกปรับทัศนคติ ระบุอยากให้ยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและไม่เป็นผลดีกับใคร

เจริญชัย แซ่ตั้ง

เจริญชัย แซ่ตั้ง คือนักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก มาตรา 112 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่าสิบนายบุกเข้าจับกุมที่บ้านพักย่านดาวคะนอง โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แต่อ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 นำตัวไปปรับทัศนคติเท่านั้น

ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดถึงเหตุผลในการจับกุมตัวว่า ญาติของนายเจริญชัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุคคโล ว่ามีการจัดทำบันทึกเชิญตัวโดยระบุเหตุที่ควบคุมนายเจริญชัยว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังมิได้ดำเนินคดี

1.

เราเจอกันที่บิ๊กซี ดาวคะนอง แถวบ้านของเขา เขาเป็นชายร่างกะทัดรัด ผมสั้นรองทรงสีดอกเลา ใบหน้าตกกระเล็กน้อย ในวัย 60 ปีเขาดูกระฉับกระเฉง พูดจาคล่องแคล่วชัดถ้อยชัดคำติดสำเนียงจีน บทสนทนาของเราเริ่มต้นที่ลานจอดรถชั้น 2 เขาแนะนำที่นี่เพราะ “จะได้คุยกันเสียงดังได้อย่างสบายใจ” เขาว่าอย่างนั้น และฉันก็เห็นด้วย

เจริญชัยถูกคุมตัว 7 วัน ที่มณฑลทหารบกที่ 11 หรือที่รู้จักกันในชื่อ มทบ.11 อันเป็นสถานที่คุมตัวสำหรับคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

ระหว่างถูกควบคุมเขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพ ไม่ได้ถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ขณะที่เจริญชัยอยู่ในนั้น มีอีก 4 คนที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกัน เขาไม่รู้จักคนเหล่านั้น และถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกัน เจ้าหน้าที่ให้เขาเซ็น MoU ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง และถูกเตือนให้ระวังเรื่องการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 112

“ห้องสะดวกสบาย แอร์ก็เย็นพอดี ไม่มีปัญหาเลย ถึงเวลาเขาก็เอาข้าวมาให้ ไม่เคยใช้กำลังข่มขู่ ทุกคนเป็นมิตร” เขาเล่าให้ฟัง 

“ครั้งหนึ่งผมไม่ยอมเซ็นต์เอกสารที่จะเอาผิดผม ผมขีดทิ้งหมด จะทำอย่างนี้ได้ยังไง เขาจะใส่ข้อหาผมผิด 112 116 ผมไม่พอใจ เลยขีดทิ้ง แล้วทุกแผ่นจะมีเขียนบอกว่าจะไม่เอาความแก่เจ้าหน้าที่ที่จับกุมตัวมา ผมก็ขีดทิ้ง เขาเลยพิมพ์มาใหม่ครั้งที่สอง จะตั้งข้อหาผมอีก ผมก็เลยบอกว่าผมไม่รับ ผมพูดเสียงดัง ทหารมามุงหน้าประตูทางเข้า 4 คน ผมบอกว่ามาอย่างนี้ผมไม่ชอบนะ สุดท้ายผมก็ไม่ได้เซ็นต์ และเขาก็ไม่ได้ทำอะไร แค่พิมพ์เก็บไว้” คืออีกประสบการณ์ที่เขาเจอในค่าย มทบ.11 นี้

เจริญชัยเล่าว่า คนที่เขาได้พูดคุยด้วยมีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาไถ่ถามความคิดเห็นทางการเมืองยันเรื่องราวชีวิตส่วนตัวตั้งแต่เด็กจนโตของเขา แล้วพิมพ์เก็บรวมไว้ในแฟ้ม

“ผมเล่าให้เขาฟัง เหมือนที่เล่าให้คุณฟังนี่แหละ” เขากล่าวระหว่างเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ฉันฟัง

2.

“ผมเคยอยากเรียนครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ แต่ผมรู้ว่าผมเสียงไม่ดี ออกเสียงไม่ชัด ก็เลยไม่เอาดีกว่า” เขาว่าอย่างนั้น

เจริญชัยจึงเรียนครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสุขศึกษา โทประชากรศาสตร์แทน

ปี 2519 ปีที่เกิด 6 ตุลา คือปีที่เขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยพอดี แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดี เจริญชัยจึงไม่ได้สนใจกิจกรรมทางการเมือง แต่มุ่งเรียนให้จบเป็นคนแรกของครอบครัว

เมื่อจบออกมา เจริญชัยทำงานกับมูลนิธิเพิร์ล เอส. บัค* ช่วยเหลือลูกของทหารอเมริกาที่เกิดกับผู้หญิงไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ด้านทุนการศึกษาและสุขภาพ อยู่ 9 ปี

หลังจากนั้นปี 2534 เขาย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยว ซึ่งทำงานร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว เป็นล่ามแปลให้นักท่องเที่ยวถามทางยันปัญหารับแจ้งความ ทำได้ 2 ปี แต่เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ต่อสัญญาเพราะหัวแข็ง ซื่อตรงเกินไป “คล้ายไปขัดขวางผลประโยชน์ของตำรวจ” เป็นคำที่เขาใช้

เจริญชัยจึงออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ซื้อเศษโลหะ อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง กระป๋องเบียร์ ฯลฯ มาขายโรงหล่อ ไปรับซื้อร้านของเก่าใหญ่ๆ ในตัวเมืองอุดรฯ หนองคาย ซื้อแล้วมาส่งกรุงเทพฯ รายได้ดี ตั้งตัวได้ก็เพราะงานนี้ มีเงินก็ลงทุนที่ดินหลายแปลง ทุกวันนี้เลยไม่ลำบาก แม้จะมีปัญหากับทางธนาคาร และยื่นฟ้องกับหน่วยงานต่างๆ มา 10 ปีแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

3.

“ผมมาเริ่มต้นสนใจการเมืองจริงๆ ปี 35 ไปร่วมชุมนุมด้วย พอวันเกิดเหตุเช้านั้นประท้วงถึงเช้า ผมอยู่บนสะพานมองไปเห็นทหารถือโล่เต็มถนน พอผมหันหลังจะก้าวลงสะพานก็ได้ยินเสียงปืนดัง ผมเลยวิ่งไปตั้งหลัก มีคนตะโกนว่า ‘สู้ไม่ถอย’ จนเขามีการเจราจากัน ตอนนั้นผมปวดท้องขี้ ห้องน้ำไม่ให้เข้า ผมไม่สามารถไปขี้อุจาดได้ผมเลยต้องกลับบ้าน ก่อนกลับก็เห็นจำลอง ครูประทีป กำลังคุยกับป๋าเปรมอยู่ คุยอะไรไม่รู้ แต่ผมกลับมาเข้าห้องน้ำที่บ้าน ปวดหัวก็เลยนอน ช่วงสายๆ ก็ได้ข่าวว่าเขาสลายชุมนุม ถ้าผมอยู่ก็คงโดนซิวด้วย ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ผมได้เข้าร่วมทางการเมืองเป็นครั้งแรก” เจริญชัยเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนั้น

“ไปเพราะผมไม่ชอบเผด็จการ รัฐประหาร นายกฯ ไม่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เอา” เขากล่าว

เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจจริงจังกับเรื่องการต่อต้านเผด็จการมายาวนานขนาดนี้ ในขณะที่คนบางกลุ่มก็เปลี่ยนแปลงความคิดทางอุดมการณ์กันไปบ้าง เจริญชัยเท้าความไปไกลตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาสนใจศึกษาธรรมะตั้งแต่ตอนอยู่จุฬาฯ เข้าชมรมพุทธ ไปฝึกวิชาที่วัดธรรมกาย

“ผมรุ่นบุกเบิกเลย ธรรมกายยังมีแค่ศาลาเล็กๆ ยาวๆ หลังเดียว โบสถ์ยังไม่มี นายแพทย์มโนเป็นประธานชมรมพุทธเป็นผู้นำสวด ตอนหลังบวชเป็นพระเมตตา แล้วต่อมาก็ขัดแย้งกับธรรมกาย แต่การฝึกสมาธิแบบเพ่งดวงแก้วใส ผมว่ามันไม่ถูกต้อง มันดี ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่แนวทางของผม เลยมาอยู่ชมรมจิตศึกษา เน้นทางวัดมหาธาตุ ผมไปฝึกสมาธิ วันที่ 5 ฝึกสำเร็จ ไม่ขอบอก แต่รู้ว่าได้สมาธิ เข้าใจว่าสมาธิหมายถึงอะไร คนได้จะรู้เอง ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กผม คุณลองไปอ่านได้

เมื่อลองเข้าเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งใช้ชื่อ ‘เจริญชัย แซ่ตั้ง’ บางส่วนในข้อความของเขาเขียนว่า

“ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในกระทู้ ตาสว่างจากสมาธิเพียงครั้งเดียว มีอานิสงส์มาก นั้น ผมได้จากการนั่งสมาธิ เจริญสติปัฏฐาน 4 โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสติ เวลานั่งเหมือนมีการโหลดข้อมูลภาพนิมิตต่างๆ ตามหลักการเจริญสติปัฏฐาน 4 จำนวนมากและผ่านไปรวดเร็วจนไม่สามารถประเมินความเร็วได้ ในที่สุดจิตก็สงบ สามารถกำหนดลมหายใจเข้าออกได้อย่างละเอียดมาก เกิดสมาธิจิตสามารถทำปฏิภาคนิมิตได้ มีปีติสุขจากการนั่งสมาธิซึ่งเป็นความสุขที่ปราศจากกิเลสอย่างแท้จริง ความสุขนี้แม้จะมีเงินทองมากมายสักเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อได้ นอกจากจะต้องฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองเท่านั้น หากไม่มีศีลธรรมหรือไม่มีจิตใจที่สะอาดเพียงพอก็คงเข้าถึงได้ยาก ผมถือว่าผมมีบุญ จึงมีโอกาสได้สัมผัสความสุขนี้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

“ทุกวันนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สามารถเข้าถึงสมาธิได้ครั้งหนึ่งในชีวิตตั้งแต่อายุแค่ 20 ปีโดยใช้เวลาฝึกแค่ 5 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการได้เพียงครั้งเดียวก็ตาม แต่ก็มีประโยชน์มากมายมหาศาล ทำให้เข้าใจแก่นธรรมะได้อย่างลึกซึ้งดีกว่าอ่านหนังสือนับสิบๆ เล่มเสียอีก และที่สำคัญคือไม่เสียทีที่ได้เกิดมานับถือศาสนาพุทธอีกด้วย ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโลกธรรม 8 อย่างเหมือนเช่นคนทั่วๆ ไปเพราะมีจิตใจมั่นคงแล้ว ผมจึงกล้าทำสิ่งที่หลายๆ คนกลัวได้ เช่น การรณรงค์ยกเลิก ม.112 ที่ผมทำต่อเนื่องมา 7-8 ปีแล้ว เป็นต้น”

เขากล่าวอีกว่า

“เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ดีไม่ชอบผมถึงต่อต้านหมด การรัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา ผมก็เลยไม่ชื่นชอบ ต่อต้านมาโดยตลอด” เจริญชัยยืนยันหนักแน่น และเพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่มีปัญหากับธนาคาร ทำให้เขารู้สึกว่า “ในยุคเผด็จการอย่างไรผมก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม” เขากล่าว “ผมรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันหมดกับความเป็นเผด็จการ แต่ผมพูดมากไม่ได้”

เช่นเดียวกับเหตุผลที่เขาต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 เขากล่าวทันทีว่า “อยากให้มีการยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่เป็นผลดีกับใคร มีเรื่องลึกกว่านี้อีก แต่ผมพูดไม่สะดวก คุณคงเข้าใจ ถ้าอยู่ต่างประเทศผมคงพูดได้มากกว่านี้”

เราจบบทสนทนาของเราที่ลานจอดรถชั้น 2 ของบิ๊กซี ดาวคะนอง และรู้ว่าบางเรื่องแม้จะนั่งคุยกันห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนแค่ไหน เราก็ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้อยู่ดีในประเทศนี้

 

- เจริญชัยกล่าวในเฟซบุ๊กว่าเขาเป็น ผู้อุทิศตนรณรงค์ยกเลิก มาตรา 112

- 10 ธันวาคม 49 เจริญชัยเข้าร่วมการต่อต้านการรัฐประหาร

- เจริญชัยเริ่มเล่นเว็บบอร์ดประชาไทในปี 52 และเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเลิกมาตรา 112 ตั้งแต่ตอนนั้น

- 22 มีนา 52 เจริญชัยตั้งโต๊ะล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ที่หน้าห้องประชุมนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

- 26 มีนา 52 ชุมนุมเสื้อแดง เจริญชัยล่ารายชื่อฯ ได้ประมาณ 600 คน

- ปี 54 สมัยที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ เจริญชัยยื่นข้อเสนอให้ลงสัตยาบันที่สำนักนายกฯ ให้ทำตาม ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  8 ข้อ

- 15 ธันวาคม 54 เจริญชัยได้ยื่นฎีกาให้ยกเลิก มาตรา 112 ที่สำนักนายกฯ โดยสำนักนายกฯ ส่งต่อไปที่กระทรวงยุติธรรม แต่ได้รับการตอบกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หลังจากนั้นได้ยื่นให้ราชเลขา ซึ่งรับเรื่องไว้ แต่ไม่ได้ดำเนินการ เจริญชัยได้ติดตามไปถามเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ จนได้รับคำบอกว่าในหลวงทรงรับทราบแล้วในเรื่องที่เขาฎีกา

 
 
*องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค (The Pearl S. Buck Foundation,Inc.) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเปอร์กาซี มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1964 โดยนักเขียนสตรีชาวอเมริกันผู้มีนามว่า มิสเพิร์ล เอส. บัค ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและรางวัลพูลิซเซอร์ ในสาขาการประพันธ์และมนุษยธรรม องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค เป็นหน่วยงานอเมริกันที่มีสาขาในประเทศต่าง ๆ แถบเอเชีย ได้แก่ เกาหลี โอกินาวา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นของเอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กลูกครึ่งไทยอเมริกัน-เอเชียน ที่ถูกบิดาที่เป็นทหารชาวอเมริกันทอดทิ้งไป โดยไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและมิได้แสวงหาผลกำไรใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net