Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้สรุปรายละเอียดคำฟ้องว่าไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง 4 ประการ เช่น มีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน มาจากเหตุผลทางการเมือง ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ

<--break- />

9 ธ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ได้เป็นตัวแทน เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากการออกคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวใน มทบ.11 เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าหากคดีของตนถูกถอนประกันหรือถูกพิพากษาลงโทษ ก็อาจต้องถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ จึงอาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว

การจัดทำคำฟ้องและดำเนินการมีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดเตรียมเอกสาร โดยคำฟ้องระบุถึงสาเหตุที่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง 4 ประการหลัก ได้แก่

1) การมีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ขัดต่อหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34

2) เหตุผลเบื้องหลังในการออกคำสั่งมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต

3) คำสั่งดังกล่าวเป็นกฎที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

4) การออกคำสั่งฉบับนี้เป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ

คำฟ้องจึงระบุขอให้ศาลปกครองรับคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ดูรายละเอียดสรุปคำฟ้องโดยละเอียดได้ด้านล่างของรายงาน หรือดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่สรุปคำฟ้องคดีปกครองเพิกถอนเรือนจำมทบ.11)

ทั้งนี้ ในการยื่นคำฟ้องต่อศาล ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าสังเกตการณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล และผู้สื่อข่าวอีกหลายสำนัก

สรุปคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี

สรุปเนื้อหาคำฟ้อง

ข้อ 1. นายพันธ์ศักดิ์  ศรีเทพ ผู้ฟ้องคดี  เป็นพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 116 และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งหากศาลทหารมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หรือพิพากษาลงโทษจำคุก ผู้ถูกฟ้องคดีก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี

ผู้ถูกฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นผู้ลงนามออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (1) และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479

 ข้อ 2. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับที่ 314/2558 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

2.1  คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 มีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ขัดต่อหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34

กล่าวคือคำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับดังกล่าวใช้ข้อความว่า “คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ” โดยไม่ได้อธิบายไว้ให้ชัดเจนว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐคือคดีอะไร หมายความรวมถึงความผิดใดบ้าง ประกอบกับคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” เป็นคำที่มีลักษณะเป็นนามธรรมถูกนำมาใช้บ่อยอย่างกว้างขวาง ไม่มีหลักเกณฑ์ ชัดเจนแน่นอน

ส่วนข้อความที่ว่า “คดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง” อันเป็นส่วนขยายของคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เมื่อคำว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนและเป็นข้อความที่มีความหมายไม่ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ยิ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าใจได้ ว่าคำว่า “คดีอื่นที่เกี่ยวข้อง” มีความหมายอย่างไรและหมายถึงคดีใดบ้าง

คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ยังไม่ได้อธิบายว่าผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประเภทของผู้ต้องขังที่มีเหตุพิเศษอย่างไร แตกต่างไปจากคดีความผิดอื่นอย่างไร จึงได้นำมาคุมขังแยกไว้โดยเฉพาะ เพราะในคดีความผิดอื่นก็มีความพิเศษเช่นกัน อาทิเช่น คดีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดอื่นๆ ก็ต่างมีลักษณะพิเศษในความผิดนั้น

2.2 เหตุผลเบื้องหลังในการออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต

พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ลงนามออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 ในขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้รับรองสถานะให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  โดยในการทำรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองไว้ชัดเจนว่าต้องการใช้อำนาจจัดการกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงในการออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 จึงเป็นไปเพื่อตอบสนองเหตุผลทางการเมืองส่วนตนเป็นหลัก อันเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจไม่เป็นวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

2.3 คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เป็นกฎที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 จะให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดเขตเรือนจำเพื่อคุมขังผู้ต้องขังเป็นกรณีพิเศษได้ แต่ในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดกับต่อความเสมอภาคที่มาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มุ่งคุ้มครองอยู่  เนื่องจากสาระสำคัญร่วมกันของผู้ต้องขัง คือ เป็นกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาจึงต้องถูกคุมขังในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติแบบเดียวกัน ทั้งนี้บรรดาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องโดยสาระสำคัญก็ล้วนแต่เป็นความผิดอาญาทั้งสิ้น การที่คำสั่งดังกล่าวได้กำหนดเขตเรือนจำพิเศษขึ้นมา เพื่อใช้คุมขังผู้ต้องขังในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องไว้โดยเฉพาะ เท่ากับว่ากระทรวงยุติธรรมจะใช้อำนาจเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้แตกต่างกัน

ในการเลือกปฏิบัติตามเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าว หากพิเคราะห์ให้ละเอียดจะพบว่าความผิดต่อความมั่นคงของรัฐที่อยู่ในลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ และความผิดเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยจุดประสงค์  ผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาและพิพากษาในความผิดดังกล่าวย่อมเป็นผู้ต้องขังความผิดทางการเมือง การแยกขังผู้ต้องขังประเภทนี้ไว้เป็นพิเศษจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง

อีกทั้ง การมีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ในค่ายทหาร พัน.ร.มทบ.11 ถนนพระรามที่ 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเพื่อสถานที่คุมขังผู้ต้องขังความผิดทางการเมืองไว้โดยเฉพาะ ต้องถือว่าเป็นว่าการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากสภาพเรือนจำและกฎระเบียบปฏิบัติภายในเรือนจำดังกล่าว มีลักษณะมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นอุปสรรคต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิของผู้ต้องขังตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

(1)  สภาพห้องขังที่เรือนจำชั่วคราว ไม่ใช่ห้องขังเหมือนเรือนจำปกติทั่วไป แต่ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหาร ซึ่งมีประตูทึบผนังปูน 4 ด้าน โดยไม่มีช่องหน้าต่างให้ผู้ต้องขังได้มองออกไปมองทิวทัศน์ข้างนอกเพื่อให้พักผ่อนและเพลิดเพลินจิตใจ รวมถึงการคุมขังใช้ระบบขังเดี่ยวเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังไม่มีโอกาสพบเจอและพูดคุยกับผู้ต้องขังรายอื่น ถูกตัดขาดจากสังคม  ซึ่งลักษณะการคุมขังดังกล่าวเป็นการทรมานผู้ต้องขังทางจิตใจอย่างร้ายแรงและกระทำต่อผู้ต้องขังเยี่ยงวัตถุ ถือว่าการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(2)  เนื่องจากเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวตั้งอยู่ภายในค่ายทหาร ผู้ต้องขังจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานเรือนจำจากกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ทหารประจำค่ายทหารดังกล่าว การถูกควบคุมจากเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผลให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่จะได้มีโอกาสปรึกษาคดีเป็นการเฉพาะตัวกับทนายความ เพราะในระหว่างการปรึกษาคดีระหว่างทนายความกับผู้ต้องขังจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมรับฟังทุกครั้ง และการทำหน้าที่สอบถามข้อมูลทางคดีจากผู้ต้องขังเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้ความช่วยแก้ต่างในชั้นศาลของทนายความ คำถามต่างๆ ที่จะถูกใช้ในการสอบถามดังกล่าวจะต้องถูกกลั่นกรองว่าเป็นคำถามที่สามารถถามได้หรือถามไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมการรับฟังการปรึกษาก่อน หากเจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่าเป็นคำถามที่กระทบต่อความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหารจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความถามคำถามดังกล่าว

ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 จึงมีเนื้อหาที่เป็นเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยเพราะเหตุทางการเมือง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.4 การออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ

(1) มาตรการในการกำหนดเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีขึ้นมาเพื่อคุมขังผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องเป็นพิเศษ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของคำสั่งในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังได้

รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมออกคำสั่งโดยอ้างเหตุผลเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่อง จึงได้กำหนดค่ายทหาร พัน.ร.มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเพื่อเป็นสถานที่คุมขัง แต่ปรากฏว่าด้วยสภาพห้องขังของเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวได้ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหารมาดัดแปลงทำเป็นห้องขัง มีประตูที่ทึบและผนังปูน 4 ด้าน เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่สามารถตรวจตราผู้ต้องขังจากภายนอกได้ตลอดเวลา โดยหากจะตรวจตราความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขัง จะต้องกระทำโดยการเปิดประตูห้องคุมขังเข้าไปตรวจเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ต้องขัง อันเนื่องมาจากเหตุต่างๆ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ย่อมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้การดูแลชีวิตของผู้ต้องขังได้อย่างทันเวลา

ประกอบกับการที่เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ใช้ระบบขังเดี่ยวตลอดเวลาย่อมทำให้ผู้ต้องขังไม่มีโอกาสกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ถูกตัดขาดจากสังคม อันเป็นการทรมานผู้ต้องขังทางจิตใจอย่างร้ายแรง ย่อมก่อให้เกิดการทำร้ายตัวเองของผู้ต้องขัง จนกระทั่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้ต้องขังได้เสมอ ในกรณีของเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 1 รายแล้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขัง คือ ข.ช ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องขังในระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เสียชีวิตจากฆ่าตัวตายภายในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังไม่อาจดำเนินการตรวจตราและให้ความช่วยเหลือได้ทันการ

(2) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถเลือกมาตรการอื่นๆที่เหมาะสมที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังน้อยกว่าและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการรักษาความปลอดภัยได้

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในรักษาความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถเลือกมาตรการอื่น โดยการเลือกใช้มาตรการตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดให้แบ่งแยกประเภทผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องให้แยกขังไว้ต่างหาก ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติแทน

การขังผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติมีการดูแลความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังที่ดีกว่าเรือนจำชั่วคราว เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการคุมขังผู้ต้องขังโดยเฉพาะ เป็นผลให้สภาพห้องขังไม่เป็นรูปแบบประตูปิดทึบ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงสามารถตรวจตราผู้ต้องขังจากภายนอกได้ตลอดเวลา รวมถึงการขังของเรือนจำราชทัณฑ์ปกติไม่ได้ใช้ระบบขังเดี่ยวเป็นหลักเหมือนเรือนจำชั่วคราว ผู้ต้องขังจึงได้มีโอกาสพบกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ หากเกิดเหตุใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ต้องขังย่อมทำให้มีบุคคลอื่นสามารถเข้าให้การช่วยเหลือและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าดำเนินการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ต้องขังได้ทันการ

อีกทั้ง ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติจะมีการจัดห้องให้ผู้ต้องขังและทนายความได้ปรึกษากันเป็นส่วนตัวและจะไม่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาร่วมรับฟังและทำหน้าที่คัดกรองคำถามระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง เหมือนกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้ดุลพินิจเลือกใช้ เป็นมาตรการที่เกินจำเป็นและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังจนเกินควร

ข้อ 3. ผู้ฟ้องคดี ทราบว่าคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้

คำขอท้ายฟ้อง

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลรับคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาเพื่อเป็นบรรทัดฐานสร้างความเป็นธรรมแก่กฎหมายทั้งระบบ ตามคำขอนี้

1. ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net