Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดีที่เครือเนชั่น ฟ้อง กสท.กรณีมีมติรับรองผลประชุมขัดข้อเสนอ กสทช. ปมสอบ SLC ซื้อหุ้นควบรวมข่าวเนชั่น-สปริงนิวส์ ขัดหลักประมูล

7 ก.ย. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลได้แจ้งคำสั่งให้คู่ความรับทราบ กรณีที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ 910/2558 ที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เนชั่น บอร์ดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ซึ่งบริษัททั้งสามเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง Nation TV ร่วมกันยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากการมีมติตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) หรือ SLC ผู้มีอำนาจควบคุมช่องข่าวสปริงนิวส์ เข้าซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียฯ

โดยคดีดังกล่าว น.ส.สุมณี ชัยยะศิริสุวรรณ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำสั่งวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเครือเนชั่น ยื่นฟ้องว่า กสท.ผู้ถูกฟ้อง มีมติการประชุมครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.58 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 11/2558 วันที่ 23 มี.ค.58 เกี่ยวกับการตรวจสอบที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) หรือ SLC ผู้มีอำนาจควบคุมช่องข่าวสปริงนิวส์ เข้าซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียฯ ผู้ฟ้องที่ 1 ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของช่องข่าวเนชั่น ซึ่ง บจก.เอ็นบีซี ผู้ฟ้องที่ 3 มีหนังสือวันที่ 12 ม.ค.58 ขอให้ กสท.ผู้ถูกฟ้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะผู้ฟ้องเห็นว่า การเข้าซื้อหุ้นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่ SLC ซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นฯ จนมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่งจำนวนเกินกว่าร้อยละ 10 ย่อมทำให้ SLC มีอำนาจควบคุมช่อง Nation TV และ Spring News TV ไปพร้อมกันโดยผ่านโครงสร้างการถือหุ้นของ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ จำกัด ผู้ฟ้องที่ 3 และ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งขัดต่อหลักการและกฎหมายที่ต้องปกป้องเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และขัดหลักกฎหมายการครอบงำกิจการ และหลักการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตของ กสทช.ที่ไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูล เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งขัด พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 31

โดยต่อมา กสทช.ได้แถลงข่าวว่า การประชุม กสท.ผู้ถูกฟ้อง ครั้งที่ 11/2558 วันที่ 23 มี.ค.มีมติว่า การเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เข้าข่ายเป็นผู้มีประโยชน์ร่วมกันและเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันเกินสัดส่วนร้อยละ 10 ตามที่ประกาศกำหนดไว้ก่อนการประมูล กสทช.จึงมีข้อเสนอให้ กสท.ผู้ถูกฟ้อง ออกคำสั่งไปยังผู้รับใบอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นเพื่อแก้ไขไม่ให้มีความสัมพันธ์ลักษณะการมีประโยชน์ร่วมกัน โดย กสท.ผู้ถูกฟ้อง มีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอ กสทช. 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ด้วย 1 เสียงซึ่งเห็นว่าการซื้อหุ้นของ SLC ไม่ผิดเพราะเข้าสู่หุ้น บมจ.เนชั่น ไม่ใช่ บจก.เอ็นบีซีฯ ที่ได้รับใบอนุญาต แต่ในการประชุมของ กสท.ครั้งที่ 12/2558 วันที่ 30 มี.ค.ที่รับรองผลการประชุม กสท.ครั้งที่ 11 นั้น กลับนับรวมการงดเสียงกลายเป็นเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ไม่เห็นชอบกับข้อเสนอสำนักงาน กสทช. ทำให้ SLC ผู้มีอำนาจควบคุม ช่องข่าวสปริงนิวส์ เข้าซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียฯ ผู้ฟ้องที่ 1 ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของช่องข่าวเนชั่น ทำให้ข้อมูลข่าวสารของผู้ฟ้องทั้งสาม ขาดอิสระในการนำเสนอข้อมูลให้กับประชาชน

องค์คณะศาลปกครองกลาง เสียงข้างมาก เห็นว่า ขณะที่ บริษัทผู้ฟ้องทั้งสาม นำข้อพิพาทคดีนี้มาฟ้องศาล กสท.ผู้ถูกฟ้อง หรือ ผู้มีอำนาจพิจารณาข้อร้องเรียนของ บจก.เอ็นบีซี ผู้ฟ้องที่ 3 ยังไม่ได้แจ้งมติของ กสท.ผู้ถูกฟ้องที่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่โดยตรงต่อผู้ฟ้องทั้งสาม ให้ผู้ฟ้องทราบ ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ดังนั้นมติของ กสท. ผู้ถูกฟ้อง ดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนิยามของมาตรา 5 ในกฎหมายเดียวกันดังกล่าว ผู้ฟ้องทั้งสามจึงยังไม่อยู่ฐานะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ศาลไม่อาจรับฟ้องคดีไว้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ศาลก็ไม่ตัดสิทธิผู้ฟ้องทั้งสามจะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายหลัง หากผู้ฟ้องได้รับแจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวจาก กสท.หรือผู้มีอำนาจพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับองค์คณะเสียงข้างน้อย 1 เสียง มีความเห็นแย้งว่า กสท. มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยไม่ให้มีการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือครอบงำกิจการลักษณะควบรวม ที่จะมีต่อการขัดขวางเสรีภาพการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งหน้าที่นั้นของ กสท. สามารถริเริ่มปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องของบุคคลให้ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า บจก.เอ็นบีซี ผู้ฟ้องที่ 3 มีหนังสือถึง กสทช.ร้องเรียนการเข้าซื้อหุ้นกิจการสื่อ กระทั่งมีการประชุมและลงมตินั้น

หากผู้ฟ้องเห็นว่า มตินั้นน่าจะไม่ชอบ ก็น่าจะเป็นเรื่องของการกระทำที่ กสท.ละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ไม่ใช่เป็นข้อพิพาทของการกระทำละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นผู้ฟ้องทั้งสาม ไม่ใช่เพิ่งได้รับความเดือดร้อนจากการได้รับหนังสือแจ้งมติ กสท. แต่ผู้ฟ้องทั้งสาม ได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่ทราบว่ามีการกระทำที่มีลักษณะการครอบงำกิจการ บจก.เอ็นบีซี ผู้ฟ้องที่ 3 เกิดขึ้น ดังนั้นถือว่า ผู้ฟ้องทั้งสาม เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการงดเว้นการกระทำของ กสท. โดยผู้ฟ้องมีสิทธิฟ้องแล้วตาม มาตรา 42 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับฟ้องแล้ว บริษัทเครือเนชั่นทั้งสาม มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง หรือ รอผลการแจ้งมติ กสท.เพื่อนำข้อเท็จจริงมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลปกครองชั้นต้น ต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net