Skip to main content
sharethis

5 ประเด็นกับพระเกี้ยวที่เพิ่งหาม ตั้งแต่ไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีแต่เป็นฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1 ทวทวนเสลี่ยงที่เพิ่งแบกกับรูปแบบในอดีตที่หลากหลาย เปิดนัยยะของสัญลักษณ์ที่อยู่ล้อมพระเกี้ยว ย้อนดูสโมสรนิสิตจุฬาฯ เคยมีมติยกเลิกแบก ชี้เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา พร้อมทั้งชวนมองสงครามแห่ง 2 เจเนเรชั่น

จากสัปดาห์ที่แล้วมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์งานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567  นั้น ดูด้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะไม่ค่อยมีข่าวประชาสัมพันธ์สักเท่าไหร่ ส่วนคนมาร่วมงานมีจำนวนน้อยลงขบวนพาเหรดก็ไม่อลังการแปรอักษรก็ใช้จอ LED แทนคน และขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและธรรมจักรก็ไม่ใช้เสลี่ยงเหมือนก่อน แต่ใช้รถไฟฟ้า-รถเข็นอัญเชิญแทน จนมีบางคนเสนอตัวอยากมาร่วมหาม

โดยความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) กล่าวคือ เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิต ในการยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยมีมติ 29 : 0  เมื่อการโหวตเป็นแบบนี้ ก็ควรจะยอมรับผลไป ถ้าหากในอนาคตนิสิตรุ่นใหม่เห็นต่าง แล้วโหวตให้กลับมาแห่พระเกี้ยวอีกรอบ ถึงตรงนั้นค่อยนำพระเกี้ยวกลับมาแห่ก็ได้ แต่อีกฝ่ายคือ ฝ่ายต่อต้านอบจ. โดยวิจารณ์ว่า การไม่ยอมอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามในงานบอลประเพณี คือการลดทอนคุณค่าของพระเกี้ยวลง นอกจากนั้นยังรับไม่ได้ กับแถลงของอบจ. ที่กล่าวว่า “สัญลักษณ์ของศักดินาคือพระเกี้ยวบนเสลี่ยง”

ในโอกาสนี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการอัญเชิญพระเกี้ยวที่เป็นประเด็นมานำเสนอดังนี้

1.ไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีแต่เป็นฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ในวันที่ 3 เมษายน 2567เพื่อบอกถึงในมุมที่อาจมีผู้เข้าใจผิดว่า งานบอลที่เพิ่งจัดไปไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

"จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณี ที่จัดกันมากว่า 90 ปีแล้ว (ซึ่งครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 74 เมื่อปี 2563)…แต่มันมีชื่อว่า “งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1” ต่างหาก”  เจษฎา โพสต์ และระบุว่าเนื่องจากสมาคมศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน ไม่จัดงานบอลประเพณีจุฬาฯธรรมศาสตร์มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว นิสิตนักศึกษาจึงจัดงานเตะบอลสานสัมพันธ์กันเอง จนเกิดเป็นงานที่มีสเกลเล็กๆ ตามที่เห็น

2. เสลี่ยงที่เพิ่งแบกกับรูปแบบในอดีตที่หลากหลาย

มติชนออนไลน์ รายงานไว้เมื่อ 26 ธ.ค.2564 ว่า กิจกรรม ‘บอลประเพณี’ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างจุฬา-ธรรมศาสตร์นี้ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2477 ที่ท้องสนามหลวง โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นเจ้าภาพในขณะนั้นและได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

ในส่วนของประเพณีปฏิบัติของฝั่งจุฬา ฯ ในงานฟุตบอลประเพณีก็คือการอัญเชิญตราสัญลักษณ์สู่ขบวนพาเหรด โดยมีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว จะพิจารณาจากคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้ง รูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

ซึ่งอดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวอย่าง จิระนันท์ พิตรปรีชา ก็ได้แชร์คลิปวิดีโอจากหอภาพยนตร์ ผ่านเฟซบุ๊ค Chiranan Pitpreecha ในวันที่ 3 เมษายน 2567  เป็นภาพบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 32 ปี 2515 โดย จิระนันท์ เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในขณะนั้น พร้อมกล่าวว่า “ปี 2515 จุฬาฯ ไม่แบกเสลี่ยงค่ะ..ส่วนธรรมศาสตร์ เชิญถ้วยที่ได้ครองปีก่อนโดยให้นางนพมาศแต่งเป็นคลีโอพัตรา นั่งเสลี่ยงทรงเก้าอี้บัลลังก์มีคานหามแบบในหนัง (จำไม่ได้ว่าดาว มธ.เชิญธรรมจักรด้วยพาหนะแบบไหน ที่แน่ๆ คือแต่งตัวเป็นเทพี / นางพญาโรมัน) ส่วนตัวเห็นว่าการแบกเสลี่ยงเชิญตราสัญลักษณ์ไม่ใช่ “ประเพณี” ที่ตายตัวของสถาบันทั้งสอง หลังจากนั้นก็ใช้รถบ้างแบกบ้าง นั่งหลังช้างยังมีเลย.. ตามแต่ยุคสมัยและทีมจัดงานออกแบบ”

หลักฐานอ้างอิงว่า “ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการหาม”

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 14 ‘14th CU-TU Traditional Football Match’สนามศุภชลาศัย กรุงเทพมหานคร (พระนคร) ถ่ายเมื่อปีค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) ที่มา : 77PPP 

รูปภาพจากเพจ วิวาทะ V2 "ประเพณีที่เพิ่งสร้าง ภาพในยุคสมัยที่จุฬาฯยังไม่ต้องแบก"


รองศาสตราจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ไทยและผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์รูปภาพนี้ผ่านเฟซบุ๊ค Somsak Jeamteerasakul 

 

 3. นัยยะของสัญลักษณ์ที่อยู่ล้อมพระเกี้ยว 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Puangthong Pawakapan ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ระบุข้อความว่า

“ขอบอกพวกไดโนเสาร์ว่านิสิตเขาไม่ได้ทำเล่นๆ เขาตั้งใจคิดและทำกันเต็มที่ และยังให้เกียรติกับสัญลักษณ์ของจุฬาฯด้วย” โดยเห็นได้จากการนำสัญลักษณ์ตัวแทนองค์ความรู้แขนงต่างๆ มาใส่ล้อมรอบพระเกี้ยว เช่น เกียร์ ตัวแทนของวิศวกรรมศาสตร์, สเลทฟิล์ม ตัวแทนของนิเทศศาสตร์ และหนังสือเล่มหนา ตัวแทนของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า “จงแก่แต่กาย แต่อย่าปล่อยให้ใจและสมองแก่ตามไปด้วยเลย หัดเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่บ้างเถอะ”

4. สโมสรนิสิตจุฬาฯ เคยมีมติยกเลิกแบก ชี้เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา

23 ตุลาคม 2564 ทางประชาไทรายงานว่า ในปี 64 คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีมติให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยมีมติ 29 : 0 เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่มีการสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงขับเน้นความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา โดยมีสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยัง เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงาม นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง โดยสามารถเห็นได้จากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 23 ต.ค.2564

5. สงครามแห่ง 2 เจเนเรชั่น

จากแถลงการณ์คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ เมื่อปี 64 เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเน้นความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา นั้น ทูเดย์ สรุปถึงประเด็นดราม่าสำคัญที่ต้องถกเถียงกันต่อไปเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ต่างเห็นแย้งกันไปคนละทิศละทาง ในเบื้องหน้าอาจจะเป็นแค่ “แบกหรือไม่แบก” พระเกี้ยว แต่ในเบื้่องหลัง มันเป็นการต่อสู้ของอนุรักษ์นิยม ปะทะฝ่ายหัวก้าวหน้า รวมถึงเป็นการโต้แย้งในเรื่องการให้คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกันของคนทั้ง 2 เจเนเรชั่นด้วย

สำหรับ “พระเกี้ยว” นั้น นี่คือเครื่องประดับศีรษะของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว รัชกาลที่ 6 ได้มอบพระเกี้ยวให้ใช้เป็นตรามหาวิทยาลัย ซึ่งทางจุฬาฯ ก็ได้ปลูกฝังค่านิยมให้นิสิตในทุกยุคสมัยว่า ให้มีความเคารพพระบรมราชสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานมา

เมื่อพระเกี้ยว มีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับรัชกาลที่ 5 ดังนั้นการที่ลดความสำคัญของพระเกี้ยวลง ไม่ยอมนำไปเทิดทูนไว้ในงานบอล ทำให้กลุ่มศิษย์เก่าส่วนหนึ่งจึงมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยด้วย

ทูเดย์ยังประมวลความเห็นแย้งเรื่องสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ผ่านมุมองนิสิตเก่าจุฬาฯรวมทั้งนายกราชบัณฑิตยสภาไว้ด้วย อย่าง วินทร์ เลียววารินทร์ นักเขียนซีไรต์ ที่เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เขียนโพสต์ว่า “พระเกี้ยวไม่ใช่ และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนในฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน” กล่าวคือในอดีตประเทศไทยยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาสำหรับพลเรือน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแรกที่ประชาชนสามารถเล่าเรียนได้แล้วเอาไปประกอบอาชีพของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนแล้วรับราชการเท่านั้น

ต่อมา ชนินทร์ พรมอยู่ อดีตนิสิตที่เคยทำหน้าที่จัดหาคนแบกเสลี่ยงในงานบอลประเพณีครั้งที่ 72 ได้อธิบายกับ TODAY ว่า “ตามธรรมเนียมเดิมแล้ว คนแบกเสลี่ยงจะเป็นเด็กปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วงหลังเด็กก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า เราไปหาเด็กวิศวะมาได้ 30 คน ซึ่งไม่พอ จากนั้นก็เลยประกาศเปิดให้คณะไหนก็ได้ ปีไหนก็ได้ มาอาสาแบกเสลี่ยง แต่ก็มีคนสมัครเพิ่มแค่ 5-6 คน จากนิสิตเป็นหมื่นๆ คน ดังนั้นเราเลยเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่เด็กวิศวะนะ แต่ใครๆ ก็ไม่อยากทำหน้าที่นี้ทั้งนั้น”

และ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ สาขานาฏยศิลป์ จุฬาลงกรณ์และนายกราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า “ในอดีตรัชกาลที่ 5 ยกเลิกระบบไพร่ทาส ขัดใจผลประโยชน์ขุนนางทั้งแผ่นดิน ก็แต่เลือกจะทำ แม้จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพในการครองบัลลังก์ก็ตาม รวมถึงยกเลิกวัฒนธรรมการหมอบคลาน ดังนั้นพระเกี้ยวที่เป็นวัตถุตัวแทนของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้สื่อถึงความเป็นศักดินา แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาค และเสรีภาพของคนไทยต่างหาก”

 

อ้างอิง

  • เปิดจม.เหตุ ดู ‘บอลประเพณี’ จากครั้งแรก 2477 ยืนเชียร์ริมสนามหลวง ถึงวิวาทะ ‘เลิก-ไม่เลิก’ สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 จาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_3011283

  • อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวพูดเอง จิระนันท์ ชี้ ปี 2515 จุฬาฯไม่แบกเสลี่ยง เปลี่ยนได้ตามยุคสมัย สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567  จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_4506417

  • อ.เจษฎา สยบดราม่า อัญเชิญพระเกี้ยว แจงงานนี้ไม่ใช่ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ แต่เป็น งานเตะบอลสานสัมพันธ์กันเอง สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 จาก https://www.matichon.co.th/education/news_4506582

  • เมื่อปี 64 กก.สโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567  จาก https://prachatai.com/journal/2021/10/95603

  • อ.พวงทอง ชี้นิสิตไม่ได้ทำเล่นๆ ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว ‘เปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง’ สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567  จาก https://www.matichon.co.th/education/news_4506582

  • อธิบายทุกมิติ ดราม่าพระเกี้ยว สงครามแห่ง 2 เจเนเรชั่น สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567  จาก https://workpointtoday.com/explainer-2710/

 

สำหรับ วรันธร ตังคไชยนันท์ ผู้เรียบเรียงงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net