Skip to main content
sharethis

'เทศบาลนครภูเก็ต' ยื่นหนังสือถึงถึงรัฐบาล หวังขับเคลื่อนเป็น 'องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ' หรือเมืองพิเศษ 'นครภูเก็ต' พร้อมแนบรายงานวิจัยที่ศึกษาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ชี้ใช้แนวทางงบประมาณปกติไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ทั้งหมดได้ ต้องยกระดับเพื่อไปต่อสู้กับเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั่วโลก

หลายสื่อ อาทิ เดลินิวส์ ประชาชาติธุรกิจ และไทยโพสต์ รายงานตรงกันว่าเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, นายเฉลิมพร ปิยณรงค์โรจน์ ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต,  สมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการชุมชน เข้ายื่นหนังสือการขับเคลื่อนเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเมืองพิเศษ “นครภูเก็ต” โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมด้วยนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอนุ แย้มแสง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับมอบหนังสือจากนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

นายสาโรจน์กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตยื่นหนังสือขับเคลื่อนเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเมืองพิเศษ “นครภูเก็ต” ในครั้งนี้ ได้นำรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งได้ศึกษาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า สรุปปัญหาในทุกประเด็น ในทุกมิติเกี่ยวกับเทศบาลนครภูเก็ต รวมถึงงบประมาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตมีปัญหาที่จะต้องดำเนินการแก้ไขมากมาย การใช้แนวทางงบประมาณโดยปกติไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ โดยเฉพาะการพัฒนายกระดับเพื่อไปต่อสู้กับเมืองสำคัญๆ ต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน เทศบาลนครภูเก็ตจำเป็นต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยเทศบาลนครภูเก็ตก็ยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล

สำหรับกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต กำหนดไว้ 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 เมืองแห่งการดูแลเพื่อคนทุกคน (Care), มิติที่ 2 เมืองแห่งการสร้างหัตถวัฒนธรรม (Craft and Culture) และมิติที่ 3 เมืองแห่งการสร้างสรรค์ (Creativity) พร้อมกับการจัดบริการสาธารณะเพื่อประชาชน โดยรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) มีนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาการกระจายอำนาจ โดยพิจารณาถึงหลักการสำคัญ

กรณี “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่หรือเมืองลักษณะเฉพาะ อาจจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นกลุ่มเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองที่มีภารกิจพิเศษ ซึ่งต้องการหน้าที่และอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะที่มีลักษณะเฉพาะ”

โดยที่ผ่านมา ก.ก.ถ.ได้มีการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่นำร่องทั้งหมด 5 กลุ่มที่มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ประกอบด้วย

(1) กลุ่มเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ (2) กลุ่มเมืองท่องเที่ยว (เกาะสมุย) (3) กลุ่มเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (พระนครศรีอยุธยา- สุโขทัย) (4) กลุ่มเมืองอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ (แหลมฉบัง-มาบตาพุด) (5) กลุ่มเมืองการค้าชายแดน (แม่สอด)

ซึ่งแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น มีแนวทางพัฒนาการกระจายอำนาจและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ โดยการส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ เพิ่มบทบาทหน้าที่และเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเมืองสำคัญและเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค จังหวัด หรือพื้นที่เศรษฐกิจ และพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่เต็มพื้นที่จังหวัด และเต็มพื้นที่จังหวัด

ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุน การขับเคลื่อนเทศบานครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเมืองพิเศษ “นครภูเก็ต” เพื่อให้นครภูเก็ตเป็นกลไกระดับพื้นที่ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองไปสู่ตำแหน่งที่วางไว้ (Positioning) ทั้งในมิติเมืองแห่งการดูแลเพื่อคนทุกคน (Care), เมืองแห่งการสร้างหัตถวัฒนธรรม (Craft and Culture) และเมืองแห่งการสร้างสรรค์ (Creativity) พร้อมกับสามารถจัดให้บริการสาธารณะทั่วไปที่ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่

การจัดตั้งและยกระดับเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับสมรรถนะขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถสนองตอบปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net