Skip to main content
sharethis

รมว.อุตสาหกรรม ย้ำพร้อมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 รถเล็กเครื่องยนต์ดีเซล-รถใหญ่เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล รถกระบะ รถบัส รถบรรทุก ดีเดย์ 1 ม.ค. 2567 เผยค่ายยื่นขอรับใบอนุญาตแล้วทั้ง โตโยต้า อีซูซุ มิตซูบิชิ บีเอ็มดับเบิลยู


แฟ้มภาพ

1 ม.ค. 2567 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่านางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ม.ค. 2567) กระทรวงอุตสาหกรรม จะบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด

ซึ่งได้สั่งการให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก. ได้ทันตามกรอบเวลาการบังคับใช้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ และสร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานยูโร 5 โดยเปิดรับให้ยื่นคำขอตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพของโรงงาน และคำขอรับบริการทดสอบผลิตภัณฑ์รถยนต์ ผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตสำหรับมาตรฐานยูโร 5

โดย สมอ. ยอมรับผลทดสอบให้สามารถนำมาใช้ในการขอการรับรองมาตรฐานได้ จากการเปิดรับคำขอผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2566 จนถึงวันที่ 28 ธ.ค. 2566 มีผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 50 คำขอ รวม 25 ราย เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ สมอ. พร้อมออกใบอนุญาตสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 ทันที เมื่อมาตรฐานมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สมอ. มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวกับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วันที่ 1 ม.ค. 2568

สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถประเภทอื่นที่เหลือ จะต้องพิจารณาดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม

อนึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงาน เผยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 โดยมุ่งปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก็ซโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (มติ ครม. 1 ต.ค. 2562) และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน 3 ฉบับ

ขณะนี้ โรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ไทยออยล์, บางจาก, พีทีทีซีจี, บางจากศรีราชา, ไออาร์พีซี, และเอสพีอาร์ซี ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตและพร้อมจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป

ข้อเปรียบเทียบ น้ำมันยูโร 4 กับ ยูโร 5 ต่างกันอย่างไร:
• กลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก็ซโซฮอล์ :
> ยูโร 4 : กำมะถัน ไม่สูงกว่า 50 ppm
> ยูโร 5 : กำมะถัน ไม่สูงกว่า 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก)
• กลุ่มดีเซล:
> ยูโร 4 : กำมะถัน ไม่สูงกว่า 50 ppm สารโพลีโซคลิก อะมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ไม่สูงกว่าร้อยละ 11 โดยน้ำหนัก)
> ยูโร 5 : กำมะถัน ไม่สูงกว่า 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) สารโพลีโซคลิก อะมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH) ไม่สูงกว่าร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก

ทั้งนี้ น้ำมันยูโร 5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่ารถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุด เมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net