Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอแนวทางการรื้อถอนมรดกระบอบอำนาจนิยมของเผด็จการหลังการรัฐประหารด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและ ร่วมกันตรวจสอบให้รัฐบาลโปร่งใส ทำตามสัญญาประชาคม แม้สถาบันรัฐประหารกำลังเสื่อมถอยหลังการเลือกตั้งแต่ยังมีกลไกอื่นอยู่อีก

19 ก.ย.2566 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวในวาระครบรอบ 17 ปีของการรัฐประหาร คมช เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ว่าในวันนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “รัฐประหาร” ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 49 หรือ 57 และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว การยึดมั่นในหลักการปกครองโดยกฎหมาย การดำเนินการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤติต่างหาก คือ ทางออกที่แท้จริงของประเทศ นำมาสู่ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ กล่าวต่อว่า การก่อรัฐประหาร 13 ครั้ง ก่อกบฏ 13 ครั้ง ฉีกและร่างรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดมาแล้ว 19 ฉบับตลอด 91 ปีของประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 เฉลี่ยแล้วมีรัฐประหารและการก่อกบฎโดยกองทัพทุกๆ 3.5-4 ปีต่อครั้ง ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆไม่สามารถนำพาประเทศก้าวข้ามพ้นสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ ติดกับดักประเทศด้อยพัฒนาทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมมาหลายทศวรรษ คุณภาพประชาชนส่วนใหญ่ยังต่ำกว่ามาตรฐานประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจติดอันดับต้นๆของโลก ระบบยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ระบบนิติรัฐนิติธรรมถูกละเมิด ความเป็นธรรมทางสังคมอยู่ในระดับต่ำ การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงอยู่ภายใต้อิทธิพลเถื่อน เจ้าหน้าที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและไม่มีความเจริญก้าวหน้าในระบบราชการ

“แม้นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการประนีประนอม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รักความเป็นธรรม การได้เห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปใหญ่ในระบบยุติธรรมได้ในอนาคต ต้องเร่งดำเนินการรื้อถอนมรดกระบอบอำนาจนิยมและซากทัศนะเผด็จการด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้างมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น รวมทั้ง ต้องร่วมกันตรวจสอบให้รัฐบาลโปร่งใส ทำตามสัญญาประชาคม ไม่ฉะนั้นจะเป็นเงื่อนไขหรือมีการสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร หรือ แย่ที่สุด อาจมีรัฐประหารโดยวุฒิสภาหรือตุลาการภิวัฒน์เกิดขึ้นอีกได้ ส่วนการรัฐประหารโดยกองทัพนั้นมีความเสี่ยงต่ำมากในอนาคต”

รศ. ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า สถาบันรัฐประหารจากกองทัพอ่อนกำลังลงอย่างมากภายหลังประชาชนเสียงข้างมากแสดงเจตนารมณ์ผ่านคูหาการเลือกตั้งอย่างสันติ แต่สถาบันรัฐประหารโดยใช้กลไกแบบอื่นไม่ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ดูได้จากความพยายามในการบิดเบือนผลการเลือกตั้งของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมาสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและหยุดยั้งระบอบสืบทอดอำนาจของเผด็จการ คสช. รวมทั้งต้องการปฏิรูปประเทศผ่านกลไกเลือกตั้งและระบบรัฐสภา จุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนี้ไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างน้อยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติและอยู่บนเส้นทางของความปรองดองสมานฉันท์ การที่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการตอบสนองในบางส่วนเท่านั้น ก็เพราะกลไกสืบทอดอำนาจที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านนี้สามารถเป็นความหวังของประชาชนได้หากรัฐบาลเพื่อไทยมุ่งมั่นในการเปิดให้มีการลงประชามติอย่างเสรีเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยรื้อถอนมรดกระบอบอำนาจนิยมออกจากระบบการเมืองไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสร้างเครือข่าย ผลักดันนโยบาย แผนงาน กิจกรรมรณรงค์ต่างๆเพื่อขจัดซากทัศนะเผด็จการและฟื้นฟูค่านิยมให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวจากการรัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทยเขาสรุปขั้นตอนของการรัฐประหารได้ดังต่อไปนี้

  1. สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวหาว่า มีการทุจริตคอร์รัปชนหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรม หรือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และ อ้างว่าระบบการเมืองปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้
  2. กองทัพเข้ายึดอำนาจ และปราบปรามผู้ต่อต้านจนสำเร็จ รวมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญทำลายระบบปกครองโดยกฎหมาย ให้หัวหน้ารัฐประหารใหญ่กว่ากติกาสูงสุดของประเทศ
  3. กษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ลงนามรับรองรัฐประหาร (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม)
  4. องค์กรตุลาการตีความรับรองการรัฐประหารให้คณะรัฐประหารเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ และ ร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ ยังชี้ให้เห็นอีกปัญหาว่าการรัฐประหารที่ไม่นองเลือดไม่มีอยู่จริง เพราะส่วนใหญ่แล้วหลังการรัฐประหาร มักจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและนำไปสู่การนองเลือดเสมอ หากไม่เกิดทันทีหลังการรัฐประหาร หลังจากนั้นระยะหนึ่งก็จะเกิดขึ้น สถาบันการรัฐประหารได้ถูกสถาปนากลายเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งในประเทศไทย ความเป็นสถาบันรัฐประหารโดยกองทัพอ่อนแอลงอย่างมากในโลกยุคใหม่ และ ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมาก็เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุด

รศ. ดร. อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การสร้างฉันทามติไม่เห็นด้วยและต่อต้านการรัฐประหารและปฏิเสธทัศนะปรปักษ์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคมและวัฒนธรรม จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดผูกขาดเพิ่มการแข่งขันและแบ่งปัน แก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤติหนี้สินให้ประสบความสำเร็จ

เขายังมองว่า หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหารสองครั้งในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง อาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยสำคัญ

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ ชี้ว่าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองได้ดีกว่า หากไม่มีการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 และ 22 พ.ค. พ.ศ. 2557 รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบธรรมต้องหมดอำนาจลงจากผลการเลือกตั้งในที่สุด ระบบและสถาบันประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้นเช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว ดังนั้นสถานการณ์ในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตของประเทศไทย

รศ. ดร. อนุสรณ์ได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย หยุดละเมิดความเห็นต่างทางการเมืองด้วยอำนาจรัฐ เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นที่ประจักษ์ จึงมีข้อเสนอและความเห็นต่อแนวทางการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการปฏิรูปประเทศ ดังนี้

  1. เห็นด้วยกับแนวทางและกรอบเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามข้อเสนอของรัฐบาลเพื่อไทย และเสนอให้มี ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยความมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ทางสังคม’ ให้คนไทยทุกฝ่ายได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล บนความ รู้สึก-นึก-คิด ว่าเป็น ‘คนพวกเดียวกัน’ ที่เหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ถ้าเรือเกิดล่มลง ทุกคนก็ต้องจมน้ำเหมือนกันหมด

  2. เสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษาการนิรโทษกรรมให้กับคดีทางการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และ ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทั้งหมดที่ต้องโทษภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม รวมทั้ง คืนความเป็นธรรมและเยียวยาให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย

  3. เปิดโอกาสให้ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ในต่างประเทศได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ รื้อฟื้นคดีใหม่และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยยึดหลักนิติธรรม ได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควรแก่เหตุที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย

  4. ใช้โอกาสในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุดนี้เป็นเครื่องมือแสวงหา ‘จุดหมายร่วม’ ในเรื่องหลัก ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน แล้วเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ รัฐธรรมนูญที่คนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมยกร่างและให้ฉันทานุมัตินี้ จะกลายเป็น ‘จุดรวมความคิด’ ที่ ‘ประสานงานประสานประโยชน์’ คนไทยทั้งประเทศเข้าด้วยกันตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมของรัชกาลที่ 9 คือ “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ”

  5. ให้มี ‘องค์กรอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการทำงาน’ ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กองทัพ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ว่าในแต่ละปีใครทำหน้าที่ได้ตรงตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มาจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดบ้าง ฯลฯ แล้วทำรายงานเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ประชาชนทั่วไปซึ่งมักคาดหวังคุณลักษณะด้านใดด้านหนึ่งในตัวผู้บริหารบ้านเมืองไม่เท่ากัน จนอาจกลายเป็นความขัดแย้ง ในกรณีนี้รายงานการประเมินตามตัวชี้วัดที่ถ่วงน้ำหนักคะแนนทุกด้านอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือปรับความคิดจิตใจของคนไทยให้ ‘ลงรอยเดียวกัน’ มากขึ้น ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมของรัชกาลที่ 9 คือ “การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้”

  6. ต้องลดเงื่อนไขหรือสภาวะที่นำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นเหตุแห่งการรัฐประหารอีก ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ หรือ มีผู้สูญเสียชีวิต เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากลุกลามไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นติดตามมา นอกจากนี้รัฐบาลเพื่อไทยต้องเฝ้าระวังการสร้างเงื่อนไขหรือสร้างสถานการณ์ของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยและเตรียมรับมือการสร้างสถานการณ์ก่อความวุ่นวายทางการเมืองโดยไม่ประมาท

  7. รัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) การฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และ ยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ วิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในรอบ 17 ปี จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก การรัฐประหารครั้งนี้จะนำไปสู่เส้นทางหายนะของประเทศ และจะสร้างความแตกแยกมากยิ่งกว่า รัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้ ผู้นำทหาร ผู้นำตุลาการ ผู้นำภาคธุรกิจ ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบสืบทอดอำนาจ หากผู้นำกองทัพ ผู้นำศาล ผู้นำภาคธุรกิจ ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีทางมั่นคงได้ และ ประเทศไทย คนไทย จะมีชะตากรรม ไม่ต่างจากประเทศเมียนมาร์ และ คนพม่า ในเวลานี้ ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ป้องปราม ไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ภาวะดังกล่าว

  8. ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคง ทำให้กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกันความปลอดภัยในชีวิตและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ความยุติธรรม ประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริงโดยปราศจากความกลัวจากการคุกคามโดยอำนาจรัฐและการกลั่นแกล้งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

รศ. ดร. อนุสรณ์ทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจะเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ดีที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศชาติ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่าย การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องนำมาสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net