Skip to main content
sharethis
  • 'สุทิน' ระบุกองทัพมีเป้าหมายปี 67 ชัดเจน ปรับตัวเลขเกณฑ์ทหาร-ต้องไม่กระทบความเข้มแข็ง 'รวมไทยสร้างชาติ' หนุนสุดตัว นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ให้เป็นโดยสมัครใจ
  • 'พริษฐ์ ก้าวไกล' ชี้ 2 ทางเลือกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ระหว่าง เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี vs. เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ย้ำ 'ก้าวไกล' หวัง รบ.หนุนทางที่ 2
  • ย้อนดู 'กลาโหม' เคยเปิดแผน 'ปฏิรูปกองทัพ' ถึงปี 70 ลดนายพลลง 50% - กำลังพล 1.2 หมื่นนาย ประหยัดงบประมาณได้ 2.9 พันล้าน ถอนกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนใต้บางส่วน ประหยัดได้ 600 ล้าน สัญญาณดีเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้แบบสมัครใจ 

5 ก.ย.2566 นโยบายการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ กลับมาเป็นที่ถกเถียงมากขึ้น หลัง สุทิน คลังแสง สส.จากพรรคเพื่อไทย ได้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จาก HIGHLIGHT นโยบายของพรรคเพื่อไทย ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย 

นโยบายหลักพรรคเพื่อไทย ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงปฏิรูปกองทัพนั้น เพื่อให้เป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

'สุทิน' ระบุกองทัพมีเป้าหมายปี 67 ชัดเจน ปรับตัวเลขเกณฑ์ทหาร-ต้องไม่กระทบความเข้มแข็ง

ท่าทีของ สุทิน ถึงนโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหาร นั้น ไทยพีบีเอส รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า โดย สุทิน กล่าว หลังได้หารือกับว่าที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า มีการพูดคุยกับ 3 เหล่าทัพแต่ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องของรายละเอียด ซึ่งเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พบว่ากองทัพทำมานาน เป็นขั้นตอนเพียงแต่หากอยากให้รวดเร็วทันกับที่สังคมต้องการ รัฐบาลจะต้องเข้าไปกำกับสนับสนุน ก็ไม่หนักใจอะไร

ส่วนที่ระบุว่าจะสามารถเริ่มต้นได้เลยในเดือนเม.ย.2567 นั้น สุทิน กล่าวว่า คำว่าเม.ย.ปีหน้า หมายถึงมีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งทางพล.อ.สนิทชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม แจ้งว่าได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้วสามารถรับสมัครได้เลย เมื่อถึงเม.ย.2567 หากมีคนสมัครเต็มก็ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร

สำหรับระบุว่าจะปรับลดกำลังพล หมายถึงการปรับโครงสร้างกองทัพที่ชอบพูดกันว่านายพลเยอะไป ในส่วนนี้กองทัพก็มีแผนอยู่แล้ว ได้ทำมาเป็นขั้นตอนและมีเป้าหมายว่าปี 2570 ขนาดกองทัพจะเปลี่ยน จำนวนนายพลก็จะเปลี่ยนด้วย

"กองทัพ ตั้งใจจะทำอยู่แล้วและมีแผนแต่รัฐบาล โดยเฉพาะในฐานะที่เป็น รมว.กลาโหม ก็ต้องไปช่วยทางกองทัพให้ไปสู่เป้าหมาย" รมว.กลาโหมกล่าว 

ต่อคำถามที่ว่ากองทัพ มีความต้องการทหารเกณฑ์ในจำนวนหนึ่ง แต่หลังเปิดรับสมัครใจพบว่าจะขาดประมาณ 40,000 คน จะมีแนวทางที่จะปรับลด หรือเพิ่มเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมาสมัครเพิ่มขึ้นนั้น สุทิน ยอมรับว่า ต้องมีทหาร ซึ่งกองทัพได้มีการประเมินกำลังพลไว้ จะไปปรับลดโดยไม่คำนึงถึงความเข้มแข็งของกองทัพก็ไม่ได้ ในเมื่อกองทัพมีเป้าหมายว่าต้องมีทหารเกณฑ์ จำนวนหนึ่ง เช่น 90,000 ถึง 100,000 คน ทำอย่างไรจะได้จำนวนนี้ก็เปิดรับสมัครก่อน ส่วนการเพิ่มเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งกองทัพเองก็ต้องการคนที่สมัครใจ เพราะมีความพร้อมได้ทหารที่ดีในส่วนที่เกณฑ์มาถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากได้

"เท่าที่ฟังกองทัพยินดีจะปรับลด เพราะตัวเลขปัจจุบันมากไป สามารถปรับลดลงได้ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่กระทบต่อศักยภาพเมื่อลดแล้ว" สุทิน กล่าว

ต่อคำถามที่ว่าให้นโยบายพลทหารที่ไปทำหน้าที่ทหารบริการ ต้องปรับลดลงด้วยหรือไม่นั้น สุทิน กล่าวว่า ในความคิดของต้องปรับ 2 ประเด็นคือ ปรับสวัสดิการ เพื่อเป็นแรงจูงใจ ปรับทัศนคติที่สังคมมีในเชิงลบกับทหารเกณฑ์ ยังติดภาพเดิมว่าระบบการฝึกทารุณโหดร้าย เด็กเจ็บ เด็กตาย ต้องปรับความเชื่อ ซึ่งความจริงแล้วมันมีไม่กี่กรณีแต่เป็นข่าวไปทั่วนอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อว่า ทหารเกณฑ์ได้เงินเดือนจริง แต่รับจริงได้ไม่ถึง เราต้องพูดให้ชัดเจน ว่าคนที่มาเป็นทหารเกณฑ์จะได้รับเงินเดือนจริง ส่วนไหนที่ต้องหักต้องอธิบายได้

'รวมไทยสร้างชาติ' หนุนสุดตัว นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ให้เป็นโดยสมัครใจ

ช่อง 7 ยังรายงานท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรคฯ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการปรับลดการเกณฑ์ทหารว่า ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่พรรครวมไทยสร้างชาติสนับสนุนให้มีการปรับลดการเกณฑ์ทหาร ไปจนถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปเลยในอนาคต ซึ่งเมื่อปรับลดการเกณฑ์ทหารแล้ว ต้องปรับเพิ่มสวัสดิการของทหารเกณฑ์ ให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็นทหารเกณฑ์ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยกับนโยบายของ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ในเรื่องการเกณฑ์ทหาร และเพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ คือลดขนาดกองทัพให้กะทัดรัด แต่มีความคล่องตัวในการทำงาน ต้องเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของกองทัพ นโยบายนี้ขอสนับสนุนให้ทำได้เลย ถ้ากองทัพมีความพร้อม ถ้าเป็นไปได้ว่าที่ผบ.เหล่าทัพควรนำไปปฏิบัติได้ทันที หรืออย่างช้าในปีหน้าจะเป็นเรื่องดี

“ถ้ากองทัพมีความพร้อมควรเริ่มดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในทันที พรรครวมไทยสร้างชาติก็อยากให้นโยบายนี้เกิดผลเร็วที่สุด ถ้าปีหน้าสามารถเปิดรับสมัครทหารเกณฑ์ด้วยความสมัครใจถ้าทำได้ 100 % ก็ควรจะทำทันที แต่ถ้ายังไม่พร้อมอย่างช้านโยบายนี้ก็ควรจะเกิดผลในทางปฏิบัติได้ในปีถัดไปเป็นอย่างช้า” อัครเดชกล่าว

'พริษฐ์ ก้าวไกล' ชี้ 2 ทางเลือกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ระหว่าง เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี vs. เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ย้ำ 'ก้าวไกล' หวัง รบ.หนุนทางที่ 2

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.ก้าวไกล โพสต์ถึงประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu'  ระบุถึง 2 ทางเลือกในการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ระหว่าง เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี vs. เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

การ “เกณฑ์” ทหารคือการบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารเข้าไปรับราชการทหาร โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เปิดช่องให้รัฐสามารถบังคับคนไปเป็นทหารได้ (พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497) หากจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารกองประจำการในแต่ละปี (supply หรือ อุปทาน) มีจำนวนที่น้อยกว่ายอดกำลังพลหรือจำนวนคนที่กองทัพต้องการให้มาทำหน้าที่ทหารกองประจำการในแต่ละปี (demand หรือ อุปสงค์)

หากเราย้อนไปดูสถิติ 5-10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า
(i) ยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 90,000 คนโดยเฉลี่ย
(ii) จำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 คนโดยเฉลี่ย
ดังนั้นโดยเฉลี่ยในแต่ละปี จะมีคนที่ไม่อยากเป็นทหารที่ถูกบังคับไปเป็นทหารผ่านกระบวนการจับใบดำ-ใบแดงประมาณปีละ 50,000-60,000 คน

ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายตระหนักว่าการมีอยู่ของการบังคับเกณฑ์ทหารมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย เพราะการเกณฑ์ทหารไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของปัจเจกบุคคลจนทำให้หลายคนต้องสูญเสียโอกาสความก้าวหน้าทางการงานหรือเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว แต่การบังคับเกณฑ์ทหารยังส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพราะเป็นการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในวันที่ประเทศไทยเผชิญกับ “สังคมสูงวัย” และมีสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลง

แม้ฝ่ายที่สนับสนุนการเกณฑ์ทหารมักหยิบยกเหตุผลเรื่องความมั่นคง แต่ผมและพรรคก้าวไกลยืนยันว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารสามารถกระทำได้โดยไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศต่อเมื่อ 2 เงื่อนไขต่อไปนี้เป็นจริง:

(A) กองทัพลดจำนวนพลทหารที่ถูกใช้กับภารกิจที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคง (ลด demand) เช่น
- กำจัด “ยอดผี” หรือคนที่ปรากฎชื่อในทะเบียนพลทหาร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทหาร
- ยกเลิกพลทหารรับใช้ประจำบ้านของนายทหาร
- ลดงานที่จำเป็นน้อยลงในบริบทของภัยคุกคามยุคใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต

(B) กองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร เพื่อนำไปสู่ยอดคนที่สมัครเข้ามาเพิ่มขึ้น (เพิ่ม supply) เช่น
- รับประกันรายได้และสวัสดิการที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และ โอนตรง-โอนครบ-ไม่หัก-ไม่ทอน
- เพิ่มโอกาสในการเรียนโรงเรียนนายร้อย-นายสิบ และโอกาสในการเลื่อนขั้นสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตร
- คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของพลทหารจากความรุนแรงในค่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ในการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จึงมี 2 วิธีใหญ่ๆ:

วิธีที่ 1 = เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี หรือ ค่อยลดๆเพื่อหวังเลิก (โดยไม่แก้กฎหมาย)

วิธีนี้คือการทำ (A) และ (B) ควบคู่ไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามลด “ช่องว่าง” ระหว่างยอดกำลังพลที่กองทัพขอกับยอดจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหาร - เช่น สมมุติกองทัพลดยอดกำลังพลที่ขอจาก 90,000 เหลือ 60,000 และกองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารจนทำให้ยอดคนสมัครเพิ่มจาก 30,000 เป็น 50,000 จำนวนคนที่ถูก “เกณฑ์” ไปเป็นทหารก็จะลดจาก 60,000 (90,000 ลบ 30,000) เป็น 10,000 (60,000 ลบ 50,000) - โดยหากดำเนินการต่อไป ก็อาจทำให้ช่องว่างนั้นลดเหลือศูนย์ในที่สุด และทำให้วันหนึ่งการเกณฑ์ทหารถูกเลิกไปโดยปริยาย เพราะยอดสมัครจะสูงกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพขอ

วิธีนี้เป็นวิธีที่กองทัพประกาศว่ากำลังดำเนินการอยู่ตามแผนปฏิรูปกองทัพ 2566-70 ของสภากลาโหม - คำถามที่ตามมาว่ากองทัพจะสามารถ “ลด” จำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ได้มาก-น้อยแค่ไหนในระยะสั้น และจะสามารถ “เลิก” การเกณฑ์ทหารทั้งหมดได้เร็ว-ช้าแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของกองทัพในการขยับ 2 ตัวเลขดังกล่าว

วิธีที่ 2 = เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ (โดยการแก้กฎหมาย)

วิธีนี้คือการแก้ พ.ร.บ. รับราชการทหาร 2497 เพื่อตัดอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีสงคราม เพื่อให้กองทัพประกอบไปด้วยกำลังพลที่สมัครใจเข้ามาเท่านั้น

วิธีนี้เป็นวิธีที่พรรคก้าวไกลเสนอเพราะ 3 เหตุผล:

(1) เป็นการวางกรอบเวลาและเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนว่าจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารภายในเมื่อไหร่ (โดยจะเลิกทันทีหรือมีเวลาเท่าไหร่ให้กองทัพปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน สามารถกำหนดได้ผ่านบทเฉพาะกาลของกฎหมาย)

(2) เป็นการรับประกันกับเยาวชนว่าเมื่อเลิกแล้ว จะไม่ต้องมาลุ้นปีต่อปีว่าจะถูกบังคับไปเป็นทหารหรือไม่ (เพราะหากเป็นวิธีที่ 1 แม้ปีก่อนหน้าจะไม่มีการเกณฑ์ทหารเพราะยอดสมัครใจสูงกว่ายอดที่กองทัพขอ แต่ปีถัดไปก็ไม่ได้อะไรรับประกันว่ายอดที่กองทัพขอจะไม่กลับมาสูงกว่ายอดสมัครใจจนทำให้ต้องมีการบังคับคนไปเป็นทหารอีก)

(3) เป็นการเพิ่มแรงกดดันกองทัพในการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารอย่างเร่งด่วน - การคงกฎหมายที่เปิดช่องให้กองทัพเกณฑ์ทหารได้หากยอดสมัครไม่พอ อาจทำให้กองทัพไม่มีแรงกดดันเพียงพอในการเอาจริงกับปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตพลทหารในค่ายเท่าที่ควร เพราะกองทัพรู้ว่าหากคุณภาพชีวิตพลทหารไม่ดีจนทำให้ยอดสมัครน้อย (เช่น มีปัญหาความรุนแรงในค่าย) กองทัพก็สามารถบังคับคนมาเป็นทหารให้เต็มยอดกำลังพลที่ขอได้อยู่เรื่อยๆ / แต่ในทางกลับกัน หากเราแก้กฎหมายเพื่อปิดช่องไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร กองทัพจะถูกเร่งให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร มิเช่นนั้นจะไม่มีกำลังพลเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่

แม้คำสัมภาษณ์ของคุณสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูสอดคล้องกับวิธีที่ 1 มากกว่าวิธีที่ 2 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ แต่เราคงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้

หากรัฐบาลยืนยันวิธีที่ 1 เราก็เพียงแต่หวังว่ารัฐบาลจะให้ความชัดเจนเรื่องตัวเลขและกรอบเวลา ว่าจะตั้งเป้าลดจำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ปีละกี่คน และจะตั้งเป้าให้เลิกการเกณฑ์ได้ทั้งหมดภายในปีไหน

แต่หากรัฐบาลเลือกวิธีที่ 2 เราก็หวังว่าทางรัฐบาลและพรรคก้าวไกลจะร่วมกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯได้โดยเร็ว เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร ที่พรรคก้าวไกลยื่นไปที่สภาฯเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตอนนี้กำลังรอเพียงการรับรองโดยนายกฯเศรษฐา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระของการประชุมสภาฯ

ย้อนดู 'กลาโหม' เคยเปิดแผน 'ปฏิรูปกองทัพ' ถึงปี 70 ลดนายพลลง 50% - กำลังพล 1.2 หมื่นนาย ประหยัดงบประมาณได้ 2.9 พันล้าน ถอนกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนใต้บางส่วน ประหยัดได้ 600 ล้าน สัญญาณดีเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้แบบสมัครใจ 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ สร้างการรับรู้และความเข้าใจอันดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วนได้ทราบถึงภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และการดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมกำลังการใช้กำลัง เพื่อสร้างความพร้อมให้กับกองทัพให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยปรับปรุงโครงสร้างให้มีขนาดกะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย เช่น การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก การปรับลดกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,656 อัตรา ประหยัดได้ 600 ล้านบาท

การปรับลดนายทหารชั้นยศสูง เพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพล โดยในห้วงปี 2570 ให้เหลือ 50% ตามแผนที่กำหนด รวมถึงการปิดการบรรจุกำลังพล และลดกำลังพลในปี 2560-2564 ไปแล้วกว่า 8,000 นาย สามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวน 1,500 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 2570 จะสามารถปรับลดกำลังลงได้ประมาณ 12,000 นาย และประหยัดงบกำลังพลลงได้ 2,900 ล้านบาท

พ.อ.จิตนาถ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการนั้น จำนวนที่ตรวจเลือกในแต่ละปีจะสอดคล้องกับโครงสร้างการจัดและภารกิจของกองทัพ โดยปัจจุบันมีความต้องการพลทหารปีละประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารประมาณ 35,000 นาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ในอนาคต

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 28 ก.ค.2559 พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (ขณะนั้น) แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทั้งหมด 768 นาย และจะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 นาย เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 นายจะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 นาย

พล.ต.คงชีพกล่าวอีกว่า ยังมีการจัดทําระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมซึ่งเป็นระบบงานกําลังพลที่สามารถจําแนกกําลังพลตามลักษณะงานได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ งานใดที่เป็นภารกิจทางทหาร ทหารเป็นผู้ปฏิบัติ งานใดที่เป็นงานสนับสนุนภารกิจทางทหารก็มอบให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งจะส่งผลให้กําลังพลในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีความเป็นมืออาชีพ และจะประหยัดงบประมาณในด้านกําลังพลในอนาคตได้ การดําเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทํากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม และคาดว่าจะเสนอต่อสภากลาโหมเพื่อพิจารณาภายในปีงบประมาณนี้ (ก.ย. 2559)
       
นอกจากนี้ยังมีการบรรจุกําลังพลสํารองที่ผ่านการฝึกมาบรรจุทดแทนในอัตราทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของสัญญาที่กําหนด เพื่อให้หน่วยทหารมีอัตรากําลังพลเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ และมีการหมุนเวียนกําลังพลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กองทัพประหยัดงบประมาณด้านกําลังพล แต่ยังคงขีดความสามารถไว้เช่นเดิม อีกทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในระยะยาวได้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้วางหลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ.กําลังพลสํารอง พ.ศ. 2558 มาตรา 30 กระทรวงกลาโหมอาจ รับสมัครกําลังพลสํารองเพื่อทําหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวได้ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร และกฎกระทรวง กําหนด ระยะเวลาการทําหน้าที่ เงินเดือน และค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทําหน้าที่ทหารเป็นการ ชั่วคราว พ.ศ. 2553 ไว้เรียบร้อยแล้ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net