Skip to main content
sharethis

ศาลแรงงานฯ ยกฟ้อง ‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร968-ร1026/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร872-ร874 ,ร950-955 ,ร970 ,ร982 ,ร1016 ,ร1025 ,ร1034 ,ร1121-ร1124 ,ร1145-ร1185/2566 ลงวันที่ 10 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นคดีที่อดีตพนักงาน บมจ.การบินไทย จำนวน 40 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บมจ.การบินไทย

เพื่อขอให้ศาลฯบังคับให้ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้าง ตามโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (MSP A) ให้กับอดีตพนักงานทั้ง 40 ราย โดยให้คำนวณเงินค่าตอบแทนการเลิกจ้าง จากค่าจ้างฐานผลงาน และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ของปี 2557 ปี 2559 และปี 2563

ทั้งนี้ ศาลฯได้วินิจฉัยในประเด็นต่างๆแล้ว และพิพากษายกฟ้อง บมจ.การบินไทย เนื่องจากเห็นว่าอดีตพนักงานฯ ทั้ง 40 ราย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ได้ เพราะสิทธิดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ บมจ.การบินไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2537 เรื่อง วันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนให้พนักงานล่วงหน้า

หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงาน จะตกลงกันล่วงหน้า สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน และต่อมามีประกาศ บมจ.การบินไทย ที่ 020/2558 ลงวันที่ 25 พ.ย.2558 เรื่อง การดำเนินการเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งในข้อ 3 ระบุว่า นับตั้งแต่สิ้นรอบปี 2557/2558 (สิ้นสุด 30 ก.ย.2558) เป็นต้นไป บมจ.การบินไทย จะไม่นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกินกว่าระเบียบบริษัทกำหนด มาจ่ายเป็นเงินทดแทน

ส่วนที่อดีตพนักงานฯขอให้นำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) มาเป็นฐานคำนวณในการจ่ายค่าชดเชย นั้น ศาลฯเห็นว่า เมื่ออดีตพนักงานฯทั้ง 40 ราย สิ้นสภาพการจ้าง ด้วยการลาออกโดยสมัครใจในโครงการ MSP A มิใช่เป็นกรณีที่บมจ.การบินไทย เป็นฝ่ายบอกเลิกจ้าง อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามประกาศ บมจ.การบินไทย ที่ 049/2563 จะเห็นได้ว่า เงินตอบแทนตามโครงการฯ เทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

และมีการระบุในประกาศฯแจ้งชัดว่า ค่าจ้างในโครงการ MSP A ให้คำนวณจากเงินเดือน โดยมิได้ระบุถึงเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกทำการบิน หรือเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) แต่อย่างใด

ดังนั้น การที่ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าตอบแทนตามโครงการ MSP A ในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยคำนวณจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ไม่รวมค่า Flight Perdiem จึงไม่ได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและสภาพการจ้าง อดีตพนักงานฯทั้ง 40 ราย จึงไม่มีอำนาจบังคับให้ บมจ.การบินไทยรับผิดตามฟ้องได้

“...เมื่อวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมของปี 2557 ถึงปี 2559 ของโจทก์ทั้งสี่สิบระงับสิ้นไปทุกวันที่ 1 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 ตุลาคม 2561 และวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามลำดับแล้ว แม้คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ทั้งสี่สิบเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วยการลาออกโดยสมัครใจตามโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A จำเลย (บมจ.การบินไทย) ก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมของทั้งสามปีดังกล่าวตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบ

และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกไปทำการบินเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เงินดังกล่าว หรือที่เรียกว่าเงินเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) นั้น หากเป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบ โดยโจทก์ทั้งสี่สิบมิได้กระทำความผิด ก็จะต้องนำค่าจ้างลักษณะดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบด้วยตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่สิบพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย ด้วยการลาออกโดยสมัครใจในโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A ตามประกาศของจำเลยที่ 049/2563 เรื่องโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 เอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9 มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายบอกเลิกจ้าง จึงนำค่าจ้างลักษณะดังกล่าวมาคิดคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบไม่ได้

เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบลาออกโดยสมัครใจในโครงการดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9

และเมื่อพิจารณาแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กรของโจทก์ทั้งสี่สิบตามเอกสารหมาย ล.10 ในข้อ 1 ถึงข้อ 6 แล้ว แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่สิบย่อมเข้าใจและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการดังกล่าวแล้ว

อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกาศของจำเลยที่ 149/2563 ตามเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9 จะเห็นได้ว่า เงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน อัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน ตามระยะเวลาการทำงานตามตารางข้อ 1 ของข้อ 4.1.1 นั้น ระบุไว้แจ้งชัดที่หัวตารางช่องอัตราค่าจ้างสุดท้ายว่า “อัตราเงินตอบแทน” และข้อ 5 การนับอายุงานและฐานค่าจ้างที่ใช้ในการพิจารณาโครงการ MSP A

ข้อ 5.2 เงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายของพนักงาน ซึ่งรายละเอียดของค่าจ้างที่ใช้คำนวณจะเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับนี้ ซึ่งเอกสารแนบท้ายประกาศดังกล่าวระบุแจ้งชัดว่า ค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณตามโครงการ MSP A คือ ข้อ 1.เงินเดือน โดยในข้อ 2. ถึงข้อ 6. มิได้ระบุถึงเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกไปทำการบิน หรือเงินเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) แต่อย่างใด

ดังนี้ การที่จำเลยจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเขยตามกฎหมายแรงานโดยคิดคำนวณจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ไม่รวมค่า Flight Perdiem ด้วยนั้น จึงครบถ้วนเป็นไปตามประกาศของจำเลย ที่โจทก์ทั้งสี่สิบตกลงยอมรับโดยสมัครใจและโดยชอบแล้ว ทำให้ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสี่สิบนั้นรับฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงมิได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและสภาพการจ้างต่อโจทก์ทั้งสี่สิบ

ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่สิบไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดตามคำฟ้องได้พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร968-ร1026/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร872-ร874 ,ร950-955 ,ร970 ,ร982 ,ร1016 ,ร1025 ,ร1034 ,ร1121-ร1124 ,ร1145-ร1185/2566 ลงวันที่ 10 ส.ค.2566 ระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 12/8/2566

เตรียมทยอยจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 วงเงิน 2,955 ล้านบาท ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์สายวิชาชีพและสายสนับสนุนทั้งในและนอกสังกัด สธ.ได้ตั้งแต่ 29 ส.ค. คาดแล้วเสร็จ 30 ก.ย.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบอนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากงบกลาง วงเงิน 2,955.95 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือน ก.ค.2564 ครึ่งเดือนแรกของ มิ.ย.2565 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดขั้นตอนและแผนการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2566 โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรค่าเสี่ยงภัยโควิดแล้ว คาดว่าสำนักงบประมาณจะอนุมัติและโอนเงินจัดสรรมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงวันที่ 9-18 ส.ค. 2566 จากนั้นกองยุทธศาสตร์และแผนงาน จะขออนุมัติจัดสรรต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งการจัดสรรไปยังกองคลังและกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ช่วงวันที่ 21-22 ส.ค.2566

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กองสาธารณสุขฉุกเฉิน จะเป็นหน่วยดำเนินการจัดสรรและแจ้งกองคลังโอนงบประมาณไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 76 แห่ง เพื่อตรวจสอบเอกสารเบิกจ่าย ทำเรื่องขออนุมัตินายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโอนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับให้กับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง

ส่วนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของหน่วยงานภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กองคลังจะเป็นหน่วยดำเนินการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายและขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อโอนงบประมาณไปยังผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานภายนอกต่อไป คาดว่าทุกหน่วยงานจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ 29 ส.ค.2566 เป็นต้นไป และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย.2566

“ยืนยันว่าจะพยายามเร่งรัดกระบวนการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็วที่สุด ส่วนที่ยังค้างจ่ายในรอบการปฏิบัติงานช่วงครึ่งเดือนหลังของมิถุนายน - กันยายน 2565 ซึ่งสิ้นสุดการเป็นโรคติดต่ออันตราย จะเตรียมทำข้อเสนอขอรับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3,745 ล้านบาท ต่อ ครม.ชุดใหม่ต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11/8/2566

โรงแรมตั้งรับ 'ขาดแคลนแรงงาน' ไฮซีซัน เพิ่มจ้างชั่วคราว-เสริมเทคโนโลยี

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ก.ค. 2566 จัดทำโดยสมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 91 แห่ง พบว่าปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ของธุรกิจโรงแรมในเดือน ก.ค. ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยกว่า 47% ขาดแคลนแรงงาน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของโรงแรมที่ตอบว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ แต่ยังไม่กระทบจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 18% ในเดือนก่อนเป็น 24% และเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือเป็นสำคัญ

“สำหรับไฮซีซันที่จะถึงนี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานจะมีมากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้ตอบกว่า 88% ส่วนที่เหลืออีก 12% ระบุว่าไม่มีปัญหาในช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้”

ด้านแนวทางการรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงไฮซีซันนี้ พบว่าธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะจัดการกับปัญหาขาดแคลนแรงงานโดย “การจ้างงานแรงงานแบบชั่วคราว” (Casual) เพิ่มขึ้น ด้วยสัดส่วนผู้ตอบมากถึง 79% และเพิ่มทักษะและหน้าที่ของแรงงาน 73% นอกจากนี้โรงแรมบางส่วน 35% จะใช้เทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติ (Automation) ทดแทนแรงงานมากขึ้น ขณะที่ 28% จะเพิ่มค่าจ้างและค่า OT เพื่อดึงดูดแรงงาน และอีก 20% จะจ้างงานแบบประจำเพิ่มขึ้น

การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังได้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นพิเศษ “ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน” พบว่าธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ 52% ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หากพิจารณาตามกลุ่มโรงแรม พบว่าโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว มีสัดส่วน 29% ที่ได้รับผลกระทบมาก โดยอาจผิดนัดชำระหนี้หรือต้องปรับโครงสร้างหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่โรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไปมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับแนวโน้มลูกค้า “นักท่องเที่ยวจีน” เข้าพักในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ โรงแรมส่วนใหญ่ 61% ประเมินว่าในไตรมาส 3 ลูกค้าจีนจะกลับมาเข้าพักไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด โดยส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางมาด้วยตัวเอง (F.I.T) และในไตรมาส 4 คาดว่าลูกค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ 69% ของผู้ตอบมองว่าสัดส่วนลูกค้าจีนที่กลับมายังน้อยกว่า 40% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19

หลังอัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57.5% จากเดือนก่อนซึ่งมี 45.5% โดยเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในบางประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้น พื้นที่ภาคตะวันออกมีอัตราการเข้าพักสูงสุดเฉลี่ย 68% รองลงมาคือภาคกลาง 66.2% ภาคใต้ 58% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40% และภาคเหนือ 39.6% สำหรับคาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน ส.ค. อยู่ที่ 54.4%

“ภาพรวมสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนน้อยลง สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 60% ของผู้ตอบ โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง”

มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีวันหยุดต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมีความพร้อมและสร้างทักษะใหม่ๆ (Upskill) การฟื้นความรู้นำสู่การปฏิบัติ (Reskill) รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดและทัศนคติ (Mindset) ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากร ทำการตลาดทั้งตลาดเก่าที่ต้องไปตอกย้ำ และตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อและเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมไปถึงตลาดไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ที่จะเสริมทัพการท่องเที่ยวให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการตลาดจากเชิงรุก มาเป็นการทำแฟมทริปเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับ “ท่องเที่ยวชุมชน” ที่เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแนวใหม่ในอนาคต สร้างความแข็งแรงพร้อมต่อยอดสู่ตลาดโลกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะขณะนี้หลายประเทศกำลังฟื้นตัวเปิดการท่องเที่ยวพร้อมกัน จนเกิดการช่วงชิงนักท่องเที่ยวรุนแรงมากขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/8/2566

รมว.แรงงานสั่งกวาดล้างต่างชาติเร่ขายสินค้าแย่งงานคนไทย ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีพบข้อร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่ามีแรงงานต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพเร่ขายสินค้า ทั้งรถเข็นขายสินค้าบนฟุตบาท และมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ย่านอนุสาวรีชัยสมรภูมิ และซอยอารีย์ เป็นจำนวนมากนั้น กระทรวงแรงงานขอย้ำเตือนอีกครั้งว่างานเร่ขายสินค้า

เป็นอาชีพที่คนต่างชาติห้ามทำโดยเด็ดขาด ซึ่งระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หลังทราบเรื่อง ตนไม่นิ่งนอนใจได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของคนต่างชาติบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อดำเนินคดีคนต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมายแย่งอาชีพคนไทย

โดยงานที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำมีทั้งสิ้น 40 งาน แบ่งเป็น งานที่ห้ามทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ซึ่งงานเร่ขายสินค้า อยู่ในบัญชีที่ 1 งานที่ห้ามทำเด็ดขาด หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท

และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบย่านอนุสาวรีชัยสมรภูมิ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ผ่าน จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน พบว่าบริเวณดังกล่าวมีร้านค้าแผงลอย และรถเข็นผลไม้ที่มีคนลักษณะคล้ายคนต่างชาติกำลังทำงานอยู่ จำนวน 4 ร้าน จึงแสดงตัวเข้าตรวจสอบเอกสารหลักฐาน

พบนายจ้างกระทำความผิดรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน จำนวน 2 ราย และคนต่างชาติกระทำความผิด จำนวน 5 คน ประกอบด้วยสัญชาติเวียดนาม 2 คน สัญชาติลาว 2 คน และสัญชาติกัมพูชา 1 คน ในจำนวนนี้ 3 คน มีเอกสารการเข้าเมืองถูกต้องแต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และอีก 2 คน ไม่มีเอกสารใด ๆ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงแจ้งข้อกล่าวหา เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือพบคนต่างชาติลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย โปรดแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 023541729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 10/8/2566

“ปลัดแรงงาน” ชี้ขึ้นค่าแรงต้องฟังเสียงไตรภาคี เร่งเพิ่มทักษะดันรายได้แรงงาน

9 ส.ค. 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดตัวโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แรงงานไทย” กล่าวว่า โครงการฯนี้ จะเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ เพื่อให้มีทักษะที่ทันสมัยในการประกอบอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายในงาน มีกิจกรรมเปิดตัวโครงการฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานโครงการให้แก่บุคลากรของกระทรวงฯ นอกจากนี้ จะมีการกิจกรรมจัดฝึกอบรมเพิ่มความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ อาทิ หลักสูตรการประกอบอาชีพเดลิเวอรี่ , หัตถกรรม ,การพัฒนาแพลตฟอร์ม และการทำอาหาร โดยตั้งเป้า มีแรงงานนอกระบบจากทั่วประเทศเข้ารับการฝึกอบรม 25,410 คน ที่มีคุณสมบัติเป็นคนไทยที่ต้องการมีทักษะอาชีพเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบที่มีอยู่กว่า 20 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มการประกอบอาชีพในปัจจุบันและอนาคต คนรุ่นใหม่ต่างสนใจที่จะประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และรอเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา หากกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เชื่อว่า จะช่วยให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงฯ มีแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานนอกระบบอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงาน ควบคู่ไปกับการออกหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ สามารถนำใบรับรองไปสมัครงาน เพื่อรับรองประกันรายได้ขั้นต่ำได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ของพรรคไทย ภายหลังจากเริ่มมีความชัดเจนเรื่องแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในฐานะที่ตนเองประธานคณะกรรมการไตรภาคีค่าจ้างขั้นต่ำ โดยยืนยันหลักการทั่วไปเป็นที่ทราบกันดีว่า ในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำว่า กฎหมายได้ให้อำนาจคณะกรรมการไตรภาคี แม้ว่าในส่วนของภาคนโยบายอาจจะมีการกำหนดมาก็จริง แต่ก็ต้องฟังและให้สิทธิ์คณะกรรมการไตรภาคี โดยตนเองเป็นฝ่ายรัฐ ในการประชุมจะให้เกียรติทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง เพราะเป็นผลกระทบกับทั้งสองฝ่าย จึงต้องฟังเหตุผลจากทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ให้รับได้ทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ แน่นอนในส่วนของนโยบายทางการเมือง เชื่อว่า นโยบายทุกรัฐบาลทุกพรรคการเมืองอยากให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าเหรียญมีสองด้าน ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศที่ด้อยพัฒนา ในประเทศที่นายจ้างมีการเอาเปรียบลูกจ้าง แต่สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความเป็นมาตรฐาน มีระบบตรวจสอบและอื่นๆ มีความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานต่างๆ ดังนั้น ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำตนยังยืนยันว่า ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่มีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้ดูแล

ขณะเดียวกัน หากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่เข้ามา ตนก็จะมีการนำเรียนในสิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องดำเนินการ โดยจะทำเช่นไรให้คนไทยมีรายได้สูงและมีรายได้ 600 บาทต่อวันขึ้นไป โดยการทำให้คนไทยมีทักษะฝีมือแรงงานและก้าวข้ามคำว่า “กรรมกร” แล้ว ดังนั้น ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นในส่วนของแรงงานที่ทำงาน หนึ่ง อันตราย สอง มีความยากลำบาก สาม สกปรก

โดย เมื่อคนไทยก้าวข้ามคำว่า “กรรมกร” ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะต้องทำอย่างไร ให้คนไทยทุกคนมีทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อมีทักษะฝีมือแรงงานก็จะสามารถเรียกร้องค่าแรงได้ ซึ่งเป็นส่วนของกระทรวงแรงงานที่จะต้องรับในเรื่องการพัฒนาทักษะ มีอาชีพ มีคุณภาพ และอยากให้รัฐบาลประกาศ คนไทยทุกคนจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า เท่าไหร่ ภายใต้การมีทักษะฝีมือแรงงาน

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการ ออกมาเรียกร้องไม่ให้มีการนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นนโยบายหาเสียง ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เป็นมุมมองของนักวิชาการที่มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็น เรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี ก็ไม่ควรนำเรื่องของนโยบายมาบังคับ แต่ในฐานะของข้าราชการประจำ ทุกรัฐบาลที่เข้ามาก็มีนโยบาย และต้องการที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อให้เห็นผลตามที่ได้มีการหาเสียง แต่สุดท้ายเ ชื่อว่าทุกฝ่ายจะคำนึงประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก และสามารถเดินไปด้วยกันได้

ที่มา: TOP News, 9/8/2566

รมว.แรงงาน เน้นย้ำสร้างความมั่นใจผู้ประกอบการที่ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายหลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งคนต่างด้าวกลุ่มนี้สามารถอยู่ทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อ ที่แจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนนายจ้างและสถานประกอบการให้สามารถจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายทำงานต่อไปได้

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอหลักการร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 (ฉบับที่ ..)

หากนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว ที่มีข้อสงสัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือ โทร. 1694 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 9/8/2566

เตือนภัยแก๊งมิจฉาชีพ ส่ง SMS แอบอ้างประกันสังคม ลวงผู้ประกันตนกดลิงก์ปลอม จนมีความเสี่ยงทำให้เสียทรัพย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกันตนถึงกรณีพบข้อความ SMS ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม แจ้งเตือนชื่อผู้ประกันตน โดยบอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 4 ตัวท้าย และให้ติดต่อกลับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อหลอกให้ผู้ประกันตนกดลิงก์ที่แนบมาให้ พร้อมให้อัพเดทข้อมูลอย่างเร่งด่วน จนทำให้ผู้ประกันตนเสียทรัพย์

รมว.แรงงาน กล่าวยืนยันว่า “สำนักงานประกันสังคม ไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ให้ผู้ประกันตนทุกกรณีโดยเด็ดขาด ขอให้ผู้ประกันตนฉุกคิดอย่าหลงเชื่อข้อความดังกล่าว โดยผู้ประกันตนสามารถสอบถามหรือติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมโดยตรง เท่านั้น” นายสุชาติ กล่าวถึงช่องทางการให้บริการ และข้อมูลข่าวสารของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1. เว็บไซต์ทางการของ สำนักงานประกันสังคม ลิงค์ URL: www.sso.go.th

2. Application : SSO Connect สามารถดาวน์โหลดฟรีผ่านทาง App Store และ Play Store เท่านั้น

3. LINE Official Account : LINE @ssothai

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ระมัดระวังอย่างเข้มงวด เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกันตน และมีมาตรการเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติโดยมิชอบ จึงขอให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลของท่านจะไม่รั่วไหลไปยังกลุ่มมิจฉาชีพ อีกทั้งสำนักงานประกันสังคมได้มีศูนย์กลางเฝ้าระวัง และรับมือภัยคุกคามความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ (SSO Security Operation Center) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น สามารถระบุถึงเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำรวมถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นได้ทันท่วงที เพื่อติดตามกลโกงแก๊งมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด และส่งเรื่องไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินคดีปิดเว็บไซต์ Application หรือ LINE ปลอม หากผู้ประกันตนพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว โปรดแจ้งมายังสำนักงานประกันสังคม หรือหากท่านเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จากการโอนเงินให้มิจฉาชีพดังกล่าว สามารถแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานประกันสังคม หากผู้ประกันตน มีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วน 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/8/2566

ครม.ไฟเขียวปรับวงเงินให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม 65,000 บาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย(ฉบับที่..) พ.ศ.....  ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายพ.ศ.2563 จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท และแก้เงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิมบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เป็นบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและช่วยให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ลดความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง

ร่างกฎกระทรวงนี้ ยังครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจนเกิด ภาวะไม่รู้สึกตัว หรืออัมพาตที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้

(1) การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ตามปกติเกินกว่า 20 วัน

(2) กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะ แตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ต้องผ่าตัด

(3) กรณีตกจากที่สูงมีเลือดคั่งในสมองแต่ไม่ต้องผ่าตัด นอนรักษาในห้องดูแล ผู้ป่วยหนัก (ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้องและไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่ มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อย ไม่ผ่าตัด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบัน มีวิธีการรักษาการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือด และน้ำในสมองออก หรือการรักษาด้วยยาอาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการ ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวงเงินเดิมที่ 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ  ดังนั้น การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง โดยกระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทนที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลระหว่างปี 2566-2567 ประมาณ 2,270 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความตั้งใจสร้างความเป็นธรรม ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะด้านค่ารักษาพยาบาลถือเป็นของขวัญวันแม่ให้กับนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศด้วย

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 8/8/2566

ครม.ขยายเวลาแรงงาน 4 สัญชาติทำงานต่อถึง 30 ก.ย.นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลัง 31 ก.ค.นี้ โดยอนุมัติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ

สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา (ฉบับที่ ..) และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ

สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. (ฉบับที่ ..) เมื่อนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 31 ก.ค. แล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อสนับ สนุนนายจ้าง และสถานประกอบการสามารถจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายทำงานต่อไป

กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ปัจจุบันมีนายจ้างยื่นบัญชีเพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (5 ก.ค.) ประมาณ 417,261 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค.) ซึ่งหากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วคนต่างด้าวดังกล่าว จะกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมาย ไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรหรือทำงานต่อไปได้ และนายจ้างหรือสถานประกอบการยังคงจ้างงานคนต่างด้าวดังกล่าว อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ดังนั้น จึงได้มีการเสนอร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ แก้ไขมติ ครม. (5 ก.ค.) แนว ทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลัง 31 ก.ค. ให้สามารถจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าสามารถครอบ คลุมช่วงเวลาได้รัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฏหมายด้วย

ที่มา: Thai PBS, 8/8/2566

ก.แรงงาน เดินหน้า พัฒนาทักษะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสู่สังคมดิจิทัล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล ได้ประกาศนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดเตรียมไว้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มคนในทุกพื้นที่ และให้มีการกระจายอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้การดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการใช้งานและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างรู้เท่าทัน ตลอดจนประชาชนได้รับโอกาสในการสร้างรายได้จากระบบดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลและทุรกันดาร ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน มีทักษะความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในการเข้าถึงบริการของรัฐ

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเมื่อกลางปี 2565 เป้าหมายดำเนินการ 20,000 คน ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จำนวน 10,238 คน ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2567 กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย แรงงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดย กสทช.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดฝึกอบรม หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับหน้าที่จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่กลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ที่ กสทช.ระบุไว้ การอบรมดังกล่าวเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน เช่น แนะนำวิธีการขายสินค้าออนไลน์ การเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการ การถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวด้วยมือถือ และการทำตลาด เป็นต้น

"โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือที่ช่วยยกระดับความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ประชาชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งสร้างโอกาสและความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพัฒนาอาชีพไปสู่สังคมดิจิทัล โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดีบุปผา กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 7/8/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net