Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่งการเลขาธิการ สปส. รุดช่วยเหลือผู้ประสบเหตุรถไฟชนรถกระบะ

4 ส.ค. 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์รถไฟชนกับกระบะ บริเวณสถานีรถไฟคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย และผู้บาดเจ็บ จำนวน 4 ราย ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใย และแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยด่วน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผมได้มอบหมายให้นางพิชญาภรณ์ กุลเศรษฐ ประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 02.59 น. ได้เกิดเหตุการณ์รถไฟบรรทุกสินค้าชนกับกระบะบรรทุกโดยสาร บริเวณจุดเกิดเหตุใกล้สถานีรถไฟคลองอุดมชลจร ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่ามีผู้ประกันตนเสียชีวิต จำนวน 4 ราย และมีผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นการประสบอันตรายอันไม่เนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์จากพระราชบัญญัติประกันสังคม ดังนี้

รายที่ 1 นายธนาวัฒน์ ลิ้มเจริญวิวัฒน์ (เสียชีวิต) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตาย 6,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 18,369.18 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74,369.18 บาท

รายที่ 2 นายสุรพล อยู่เล็ก (เสียชีวิต) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 1,050 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,050 บาท

ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 3 และรายที่ 4 คือ นางสาวสุนทรีย์ โพธิรักษ์ และนางสุลีรัตน์ ไวว่อง เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับเฉพาะเงินบำเหน็จชราภาพเท่านั้น เนื่องจากส่งเงินสมทบไม่ครบตามเงื่อนไขกรณีเสียชีวิต

สำหรับผู้ประกันตนที่เสียชีวิต ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินการประสานติดตามทายาทผู้มีสิทธิให้มาติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทน เพื่อจะได้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้กับทายาทผู้มีสิทธิต่อไป ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย คือนายสุพรรณ โพธิรักษ์ และนายจัตุพร แก้วโรจน์ ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทราได้ลงพื้นที่เยี่ยมและให้ความช่วยเหลือพร้อมชี้แจงสิทธิประโยชน์กรณีประสบอุบัติเหตุหรือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมถึงได้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องต่อไป นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: ข่าวสด, 4/8/2566

รมว.แรงงาน ห่วง 2 คนไทย เสียชีวิตในไต้หวัน สั่งทูตแรงงานประสานหน่วยเกี่ยวข้องช่วยเหลือ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีแรงงานไทยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกเหวเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในไต้หวัน ว่า ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงกำชับให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบข้อมูลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ทูตแรงงานที่ไทเปประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือในทันที

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากรายงานของนางประภาวดี แก้วศิริพงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป พบว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เวลาประมาณ 10.00 น.ได้เกิดอุบัติเหตุรถผู้รับเหมาโครงการของการไฟฟ้าไต้หวัน ขณะขับขึ้นเขาในเขตฟู่ซิง นครเถาหยวน เพื่อส่งคนงานไปทำงาน โดยระหว่างทางถนนลื่น จากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้รถไถล ตกลงไปในเหวลึก ซึ่งในรถมีผู้โดยสารและคนขับรวม 6 ราย หน่วยกู้ภัยได้เข้าช่วยเหลือ นำขึ้นมาได้ทั้งหมด เสียชีวิต 4 ราย อีก 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานไทย 2 ราย

รายแรกทราบชื่อคือ นายประสบโชค แสวงแก้ว มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อปี 2556 และมีเงินสมทบกรณีชราภาพอยู่ 186.75 บาท จากนั้นได้เข้าไปทำงานที่เมืองไทจงต่อมาหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2565

รายที่ 2 นายกิตติศักดิ์ ผิวอ่อน มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีเงินสมทบกรณีชราภาพอยู่ 260.40 บาท

ส่วนผู้บาดเจ็บ 2 ราย รายแรก นายศตวรรษ เติมประชุม มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีเงินสมทบกรณีชราภาพ 4,633 บาท และรายที่ 2 น.ส.พรนภา กลางสุโพธิ์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ ไม่เคยมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาก่อน

และจากการตรวจสอบของกรมการจัดหางานทั้ง 4 รายไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานจะได้ประสานความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้าน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทย ผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดพร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยทั้ง 4 รายดังกล่าว ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อปลอบขวัญให้กำลังใจพร้อมแจ้งข้อมูลขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือให้ญาติทราบเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกในการประสานกระทรวงการต่างประเทศว่าจะนำศพแรงงานกลับประเทศไทยอย่างไร

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 5 วิธี ได้แก่ กรมการจัดหางานจัดส่ง บริษัทจัดหางานจัดส่ง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ และคนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง จึงขอแจ้งเตือนไปยังคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าหลงเชื่อนายหน้า และสมัครเป็นสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง หากประสบอันตราย เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ

ขณะที่ นางประภาวดี แก้วศิริพงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า แม้ว่านักท่องเที่ยวไทยจะเดินทางเข้าไต้หวันโดยใช้ฟรีวีซ่า แต่จะไม่ได้รับการคุ้มครองในการทำงาน จึงขอให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานในไต้หวันไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและผ่านกรมการจัดหางาน เพราะเมื่อประสบเหตุที่ไม่คาดคิดเช่นนี้จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/8/2566

รถคนงานตกเหวที่ไต้หวัน แรงงานไทยตาย 2 เจ็บ 2

3 ส.ค.2566 Radio Taiwan International รายงานว่าเกิดอุบัติเหตุรถผู้รับเหมาโครงการของการไฟฟ้าไต้หวัน ขณะขับขึ้นเขาในเขตฟู่ซิง นครเถาหยวน เพื่อส่งคนงานไปทำงาน โดยระหว่างทางถนนลื่นจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้รถไถล ตกลงไปในเหวลึก ในรถมีผู้โดยสารและคนขับรวม 6 คน หน่วยกู้ภัยได้เข้าช่วยเหลือ นำขึ้นมาได้ทั้งหมด เสียชีวิต 4 คน อีก 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส

จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้เสียชีวิต 4 คน เป็นแรงงานไทย 2 คน 1 ในนั้นคือนายประสบโชค อายุ 30 ปี แรงงานจาก จ.นครราชสีมา อีกรายยังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ส่วนผู้บาดเจ็บ 2 คน เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวไทย 1 คน ชาย 1 คน

ที่มา: Thai PBS, 4/8/2566

สำนักงานสถิติรายงานสถานการณ์มีงานทำของคนไทย ยังเป็นขาขึ้น เผยไตรมาส 2 เพิ่ม 6.6 แสนคน ส่วนการ ว่างงาน ทรงตัวที่ 1.1%

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์การด้านแรงงานทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าภาวะการ มีงานทำ ของประชาชนได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) ได้แจ้งข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การมีงานทำของคนไทย ณ ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปี 66 ว่า ทั้งจำนวนผู้มีงานทำ ผู้ทำงานเต็มเวลายังอยู่ในทิศทางปรับตัวขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าในไตรมาสที่2 จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.6 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 65 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานก็มากขึ้นสะท้อนถึงปริมาณงานในระบบที่มากขึ้น โดย สสช. พบว่าผู้ที่ทำงานเต็มเวลาหรือทำงาน 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 ส่วนผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 แสนคน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงประมาณ 2.4 แสนคน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านการว่างงานพบว่าในไตรมาส 2 มีผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 ที่การว่างงานอยู่ที่ 5.5 แสนคน หรือร้อยละ 1.4 และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/66 ที่มีการว่างงาน 4.2 แสนคน หรือร้อยละ 1.1

“ตัวชี้วัดในภาพรวมของสถานการณ์แรงงานดีขึ้นและไม่มีสัญญาณบ่งชี้ที่น่ากังวล ในส่วนการว่างงานระยะยาว หรือผู้ที่ว่างงานเกินกว่า 1 ปีขึ้นไปนั้น ณ ไตรมาส2 ปี 66 จำนวนก็ลดลงเหลือ 7.4 หมื่นคน เทียบกับ 1.4 แสนคน ในช่วงเดียวกันของปี 65” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/8/2566

ประกันสังคมเร่งตรวจสอบ จ่ายเงินชดเชย กรณีโกดังพลุระเบิด ผู้ประกันตนบาดเจ็บ-ตาย

31 ก.ค. 2566 จากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณโกดังเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ บริเวณตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและร้านค้าในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย และเสียชีวิตจำนวน 11 ราย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พร้อมมอบหมาย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยด่วน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้นายอาณัติ ศรีจำปา นิติกรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บประทัดระเบิด เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเป็นโกดังที่เก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ของร้านวิรวัฒน์พาณิชย์ ตั้งอยู่บริเวณหลังตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แรงระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเป็นวงกว้าง บ้านเรือนเสียหายเกือบ 300 หลังคาเรือน เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุไหงโก- ลก และโรงพยาบาลใกล้เคียง

ภายหลังตรวจรักษาแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ จำนวน 111 ราย รักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 10 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จำนวน 11 ราย จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบผู้เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3 ราย ดังนี้

รายที่ 1 นางปารีดะ สาและ อายุ 57 ปี ทางเลือกที่ 1

รายที่ 2 นายเด่น ดาโอ๊ะ อายุ 63 ปี ทางเลือกที่ 1

รายที่ 3 นางจันทร์นิสา ดาโอ๊ะ อายุ 28 ปี ทางเลือกที่ 2

โดยขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและสถานะการเป็นผู้ประกันตนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อดำเนินการให้ได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย

หรือเจ็บป่วย และทายาทผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป

“สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้การช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในยามเดือดร้อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ” นายบุญสงค์ กล่าว

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้กำชับพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.นราธิวาส และ ศปข.9 สอบหาสาเหตุ พร้อมเชิญนายจ้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยเร็ว

เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555, กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564,

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่

หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ตนขอความร่วมมือให้นายจ้าง และลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจากการทำงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/7/2566

อธิบดี กพร. รับ 24 เยาวชนไทย คว้า 15 เหรียญ แข่งฝีมือแรงงานอาเซียน

30 ก.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวานนี้ โดยเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ 3 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 9 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และเดินทางกลับประเทศไทยในเมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) เวลา 14.00 น. จึงมอบหมายให้ นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ไปต้อนรับเยาวชนไทยทั้ง 24 คน และคณะผู้เชี่ยวชาญที่ไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการในการแข่งขันครั้งนี้ และได้จัดงานต้อนรับและขอบคุณผู้สนับสนุนการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวภายหลังต้อนรับเยาวชนว่า จากผลการแข่งขันดังกล่าวต้องยอมรับว่าเยาวชนไทยทำผลงานได้ดีสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้รวม 15 เหรียญ ทำให้น้องๆ เยาวชนได้สร้างเสริมประสบการณ์ ขณะเดียวกันเป็นการโชว์ศักยภาพด้านทักษะฝีมือของแรงงานไทยในภูมิภาคของอาเซียน สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้เยาวชนจะได้รับโอกาสในการเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-1 ธ.ค. 66 และไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10-15 ก.ย. 67 ส่วนการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในปี 2568 ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

"ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ก.ค. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีกำหนดจัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่เยาวชน และโล่ขอบคุณผู้สนับสนุนที่ทำให้การส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดย รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธี สำหรับรางวัลที่จะมอบให้แก่เยาวชนที่คว้าเหรียญรางวัลนั้นจะได้รับมอบเงินรางวัล ได้แก่ เหรียญเงิน จำนวน 75,000 บาท เหรียญทองแดง จำนวน 40,000 บาท และเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (รางวัลชมเชย) จำนวน  20,000 บาท น้องๆ ที่พลาดเหรียญในครั้งนี้จะได้รับเงินรางวัลเป็นทุนการศึกษารายละ 10,000 บาท" อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 30/7/2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net