Skip to main content
sharethis

ภรรยาของ “คาชอกกี” นักข่าวซาอุฯ ที่ถูกฆ่าหั่นศพดำเนินคดีกับบริษัทเจ้าของสปายแวร์ “เพกาซัส” ในศาลเวอร์จิเนีย เหตุทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เชื่อว่าตัวเองถูกสอดแนมจนมีส่วนทำให้สามีถูกฆาตกรรม

เมื่อ 16 มิ.ย.2566 วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ฮานัน อัลอาเทอร์ (Hanan Elatr) ภรรยาของจามัล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียสังกัดวอชิงตันโพสต์ที่ถูกฆาตกรรมในสถานกงศุลของซาอุดิอาระเบีย ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีเมื่อปี 2561 เธอได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้พัฒนาสปายแวร์ “เพกาซัส” ต่อศาลเขตตะวันออกของเวอร์จิเนียจากกรณีที่เธอพบว่าตัวเองถูกสอดแนมด้วยสปายแวร์ดังกล่าว

ภาพฮานันและคาชอกกี

รายงานระบุว่าฮานันที่ขณะนี้กำลังรอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฟ้องบริษัทเจ้าของเพกาซัสดังกล่าวต่อศาลว่า ได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์จากการเจาะระบบมือถือหรือคอมพิวเตอร์อย่างผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ และยังเป็นการคุกคามอย่างรุนแรงที่นอกจจากเธอจะเพิ่งสูญเสียสามีไปแล้ว เธอยังต้องสูญเสียความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวและความมีอิสระ และยังทำให้เธอต้องสูญเสียรายได้และงานแอร์โฮสเตสของเธอไป

ภรรยาของคาชอกกีถูกติดตามด้วยสปายแวร์หลังจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าควบคุมตัวที่สนามบินดูไบเมื่อเดือนเมษายน 2561 ในขณะที่เธอเพิ่งเสร็จจากงานแอร์โฮสเตสของสายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์และลงจากเครื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนำตัวไปที่บ้านของเธอเองเพื่อทำการสอบสวนเธออยู่ 17 ชั่วโมงและยังยึดมือถือเธอไปด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่คาชอกกีจะถูกฆาตกรรมและหั่นศพในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน

สำหรับการเสียชีวิตของคาชอกกีเคยมีการรรายงานผลสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ว่าเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อาจเป็นผู้บงการให้มีการสังหารคาชอกกีซึ่งเป็นนักข่าวที่มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและสถาบันกษัตริย์ของซาอุฯ มาก่อน

พบสปายแวร์ ‘พีกาซัส’ ในมือถือภรรยาของ ‘คาช็อกกี’ นักข่าวซาอุฯ ก่อนถูกฆาตกรรม

จากการตรวจสอบของบิล มาร์คซัก นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากซิติเซนแล็บ พบว่ามีผู้แอบนำสปายแวร์พีกาซัส ติดตั้งในเครื่องโทรศัพท์ของภรรยาคาช็อกกีโดยตรงในช่วงที่เจ้าหน้าที่ถูกควบคุมตัวเธอไปเจ้าหน้าที่รายหนึ่งใช้โทรศัพท์ของเธอพิมพ์ URL เพื่อเข้าเว็บไซต์ที่มีเพกาซัสอยู่และทำการติดตั้งเข้ามาโดยตรง

ก่อนหน้านี้ฮานันเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอรู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกผิดที่เธออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางการสามารถติดตามตัวคาชอกกีผ่านโทรศัพท์ของเธอได้ แต่หลังจากสามีเสียชีวิตแล้วเธอก็ยังคงถูกทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คุกคาม เจ้าหน้าที่เอาแต่ถามว่า เธอจะทำอะไรต่อไป และยึดเอาหนังสือเดินทางของครอบครัวเธอไปด้วย ทำให้เธอเป็นห่วงความปลอดภัยของทั้งตัวเธอเอง และครอบครัวเธอ

ทั้งนี้สปายแวร์เพกาซัสเป็นสปายแวร์ที่ NSO Group ขายใบอนุญาตให้กับลูกค้าระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลเท่านั้น โดยรัฐบาลประเทศคู่ค้าจะต้องเป็นผู้ระบุหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่เป็นเป้าหมายให้เพื่อให้บริษัทดำเนินการเจาะระบบและดึงข้อมูลมาให้กับลูกค้า

สปายแวร์ดังกล่าวมีความสามารถในการเจาะระบบผ่านช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลการสนทนา ข้อมูลการเงิน และรหัสผ่านต่างๆ ที่บันทึกในโทรศัพท์ และยังสามารถเข้าควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของโทรศัพท์ที่ตกเป็นเป้าหมายเช่นกล้อง ไมโครโฟน หรือการจับภาพหน้าจอ(แค๊ปภาพจอ) ได้อีกด้วยโดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาการเข้าถึงของผู้เจาะระบบเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามจากกรณีของฮานันทำให้รัฐบาลไบเดนได้ใส่ชื่อ NSO Group เข้าไปในรายชื่อบริษัทที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ แบนโดยห้ามไม่ให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีบางประเภทให้กับบริษัทนี้ เนื่องจากขัดกับนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย โดยที่การแบน NSO Group นี้เกิดขึ้นแม้ว่าดำเนินการของบริษัทดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สายตาของรัฐบาลอิสราเอลตลอดก็ตาม

นอกจากนั้น NSO Group ยังถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายการฉ้อโกงทางคอมพิวเตอร์และการทำละเมิด ค.ศ. 1986 (Computer Fraud and Abuse Act - CFAA) จากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในสหรัฐฯ รวมตัวกันฟ้องอย่างเช่น เมต้า(ผู้ให้บริการ whatapps และ facebook) ไมโครซอฟต์ กูเกิล และแอปเปิล เป็นต้น และยังมีคดีที่นักข่าวจาก New Yorker ฟ้องด้วย

นอกจากนั้นยังมีสำนักข่าวออนไลน์นอกสหรัฐฯ อย่าง El Faro ที่มีนักข่าว 13 คนของสำนักข่าวถูกสอดแนมเข้าดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวผ่านศาลแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ด้วยกฎหมาย CFAA เช่นกัน

ที่ผ่านมาในไทยมีกลุ่มนักกิจกรรมและบุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคมถูกติดตามด้วยเช่นกันอย่างน้อย 35 ราย และมีนักกิจกรรม นักวิชาการ และทนายความรวม 8 คนความพยายามดำเนินคดีกับบริษัทผ่านศาลแพ่งของไทยเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทรวมเป็นเงิน 8,500,000 บาท ในความผิดฐานละเมิดจนก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามศาลแพ่งยกฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่าโจทก์ 8 คนจะร่วมกันฟ้องเป็นคดีเดียวไม่ได้

ล่าสุด 20 มิ.ย.2566 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และ อานนท์ นำภา ทนายความ 2 คนที่เคยร่วมกันฟ้องต่อศาลแพ่งในคดีข้างต้นได้ร่วมกันฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งต่อหน่วยงานความมั่นคงของไทย กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) รวม 9 หน่วยงานให้ชดเชยค่าเสียหายรวม 5,000,000 บาทจากการที่หน่วยงานเหล่านี้ละเมิดรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการใช้เพกาซัสเจาะระบบมือถือของพวกเขาในช่วงที่กำลังมีกิจกรรมทางการเมืองจนกระทบสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net