Skip to main content
sharethis

วอนรัฐบาลใหม่อุ้มท่องเที่ยว เร่งแก้ปัญหา “แรงงาน-ค่าไฟ”

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมว่า หลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงหลังช่วงวันหยุดวันแรงงาน พบว่าอัตราการเข้าพักเริ่มมีการชะลอตัวลง แต่คาดว่าน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้

โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งตลาดไฮเอนด์ ตลาดการท่องเที่ยวไมซ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อไป

“เชื่อว่าอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีลากยาวไปจนถึงเดือนสิงหาคม ยกเว้นเดือนกันยายนที่อาจปรับตัวลดลง” นางมาริสากล่าว และว่าสำหรับโรงแรมขนาดเล็กนั้น พบว่าปัจจุบันยังไม่กลับมาเปิดให้บริการเต็มที่ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ยังเดินทางเข้ามาไม่เท่าในอดีต จากปัญหาเรื่องของจำนวนเที่ยวบินที่ยังไม่เพียงพอ

ขณะที่โรงแรมในต่างจังหวัดอาจเผชิญสถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางลดลง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาจำนวนเที่ยวบินลดลงเช่นกัน ผู้ประกอบการบางรายจึงเสนอให้จัดโครงการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น เราเที่ยวด้วยกัน หรือการประชุมภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นางมาริสายังกล่าวเพิ่มเติมถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ (14 พ.ค. 2566) ด้วยว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศให้ความสนใจภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล

“เราอยากเสนอให้ภาครัฐเปิดรับแรงงานนอกเหนือจากประเทศที่เคยมีการตกลง MOU ไว้ เช่น รับแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ และกระตุ้นให้นักเรียนสายอาชีพให้ความสนใจงานด้านสายการโรงแรมมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องค่าไฟที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจโรงแรม โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่าค่าไฟปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20% และในปี 2565 ค่าไฟคิดเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจราว 10% จากเดิมราว 5%

“โรงแรมยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ที่ขาดรายได้และเป็นหนี้สิน แม้ว่าลูกค้ากลับมาแต่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังได้แค่ประมาณ 60-70%” นางมาริสากล่าว

นางมาริสากล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยหากเจ้าของโรงแรมต้องการปรับปรุง (รีโนเวต) อาคารจำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก ดังนั้น จึงเสนอว่าหากมีกองทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยจะสามารถช่วยลดภาระของเจ้าของโรงแรมที่ต้องการเงินทุนได้

“สิ่งที่ทุกพรรคต้องทำและเชื่อว่าตอนนี้ทุกพรรคให้ความสำคัญคือ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และภาคท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ดังนั้น ต้องมีการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้เติบโต พร้อมกับผลักดันสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” นางมาริสากล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/5/2566

ไม่ขยายเวลายื่นเอกสารต่ออายุแรงงานต่างด้าว ภายใน 15 พ.ค. 2566

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 กำหนดให้คนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2566 โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 พ.ค. 2566 โดยที่ยังสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้อย่างถูกต้อง

เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการยังคงจ้างแรงงานเหล่านั้นได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งภาครัฐยังสามารถกำกับและบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งมิติของความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุว่า มีคนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 1,873,798 คน มีผู้ที่ยังยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนอีกจำนวนหนึ่ง กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังนายจ้างและคนต่างด้าวให้เร่งดำเนินการยื่นเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 พ.ค. 2566 โดยดำเนินการ ดังนี้

1.คนต่างด้าวที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแล้ว ให้ดำเนินการยื่นเอกสารหลักฐานดังนี้

– ยื่นหนังสือเดินทาง (Passport : PP) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ได้แก่ เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) กรณีแรงงานกัมพูซา และเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) กรณีแรงงานเมียนมา

– หลักฐานการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) หรือย้ายรอยตราประทับ

– หลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและซื้อประกันสุขภาพ

– หลักฐานการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคต้องห้าม (สำหรับคนต่างด้าวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 กลุ่มที่มีสถานะไม่ถูกต้องที่ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน)

2. ยื่นเอกสารหลักฐานดังกล่าวที่ระบบต่ออายุใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว (4 สัญชาติ) ทางอิเล็กทรอนิกส์ และกรอกข้อมูลดังกล่าวในระบบเดียวกัน โดยเลือกหัวข้อ “มีเอกสาร Passport และ Visa ที่ยังไม่หมดอายุ” และกด “ยื่นแบบ บต. 50”

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 พ.ค. 2566 ครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะเร่งพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เพื่อมีสิทธิทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2567 หรือวันที่ 13 ก.พ. 2568 ตามแต่ละกรณี

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด หากกรมการจัดหางานตรวจสอบพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งนายจ้างคนไทยและลูกจ้างคนต่างด้าว

โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ

และนายจ้างซึ่งรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

“กรมการจัดหางานยืนยันว่าไม่มีการขยายระยะเวลา ขอให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 7 ก.พ. 2566 เร่งดำเนินการยื่นเอกสารให้ทันภายในกำหนด มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานจะเป็นอันสิ้นสุด แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางและหากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องดำเนินการตามกระบวนการนำเข้า MOU”

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวย้ำ สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/5/2566

วช. และเครือข่ายนักวิจัย ร่วมเสวนา “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ ในรูปแบบ Video Conference ผ่านโปรแกรม Zoom และ Facebook live ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างการรับรู้และผลักดันองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นแรงงานผู้สูงอายุไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม โดยผู้ร่วมเสวนาเป็นวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในด้านแรงงานผู้สูงอายุ ประกอบด้วย นพ.ภูษิต ประคองสาย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมด้วย คุณอาภา รัตนพิทักษ์ จากกรมกิจการผู้สูงอายุ ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณสุมิตรา วงภักดี บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ทั้ง 2 ช่องทาง จำนวน 281 ราย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการเตรียมรับสังคมสูงวัย ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักและการเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดเสวนา “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook live เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน การลงทุน และสนับสนุนการทำงานหรือการมีงานทำของผู้สูงอายุ เพื่อสร้างรายได้รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีงานทำมีแนวโน้มลดลง และผู้สูงอายุที่หยุดทำงานมากที่สุด ก็คือผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วง 60 – 64 ปี ซึ่งนับเป็น 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุทั้งหมดหรือกว่า 22.5% และคาดว่าเกิดจากผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ทำงานในระบบ ซึ่งมีระยะเวลาเกษียณที่อายุประมาณ 60 ปี อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการมีงานทำหรือการทำงานของผู้สูงอายุควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และประเด็นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ แรงจูงใจในการทำงานของผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่ม ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ โอกาสในการทำงาน การสนับสนุนจากชุมชน และการคุ้มครองในการทำงาน ดังนั้นการเตรียมพร้อมและสนับสนุนการมีงานทำ จึงควรเน้นไปที่กลุ่มประชากรหรือแรงงานอายุ 45 ปี ขึ้นไป และเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุช่วง 60-64 ปี ให้มีงานทำ และมีการส่งเสริมการจ้างงาน การคุ้มครองการทำงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการปรับมโนทัศน์ต่อการทำงานกับผู้สูงอายุ ปัจจัยบุคคล ครอบครัว และสังคม โดยพิจารณาในกรอบมิติ 3 มิติ คือ มิติความมั่นคงทางรายได้ มิติครอบครัว และมิติชุมชน

คุณสุมิตรา วงภักดี บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มเป็นการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานอิสระและนอกระบบ เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจากการดำเนินการพบว่าผู้สูงวัยที่ยังทำงาน มีความภาคภูมิใจจากการสร้างรายได้ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่เป็นภาระ และยังสามารถช่วยเหลือสังคม อีกทั้งสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่นได้ และช่วยให้ผู้สูงวัยมีร่างกายที่แข็งแรง มีการฝึกฝนพัฒนาสมอง แต่อย่างไรก็ตามงานที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ จะต้องไม่ใช่งานหนักเกินไป ไม่ต้องทำเป็นประจำ จำนวนชั่วโมงในการทำน้อย เน้นงานที่ทำแล้วมีความสุข สามารถพบปะผู้คน ทั้งนี้ ควรมีการขยายช่วงอายุการชราภาพ ปรับค่าจ้างรายชั่วโมงให้สูงขึ้น และเพิ่มสวัสดิการ การคุ้มครองผู้สูงวัยให้ต่อเนื่อง และส่งเสริมความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนในการจ้างผู้สูงวัยเข้าทำงาน

คุณอาภา รัตนพิทักษ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ภาครัฐได้จัดทำ “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ซึ่งในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการส่งเสริมผู้สูงอายุในทุกมิติในด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีเตรียมความพร้อมในเรื่องการให้บริการและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ โดยในปี พ.ศ.2566 ได้ปรับเป็น “แผนปฏิบัติการผู้สูงอายุ ฉบับที่ 3” เพื่อให้มีแนวทางที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน รวมทั้งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ที่กล่าวถึงสิทธิในการทำงานและส่งเสริมการทำงาน โดยมีการกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน ส่งเสริมการสร้างงานร่วมกับภาคเอกชน ขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมการทำงานในรูปแบบรายชั่วโมง ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อรองรับบุคคลหลังเกษียณ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ และการสนับสนุนเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สามารถแบ่งสถานภาพการทำงานผู้สูงอายุ เป็น  3 ส่วน คือ คนที่เป็นข้าราชการ คนที่เป็นคนเกษียณในระบบประกันสังคม และคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยกลุ่มที่ควรให้ความสนใจ คือ กลุ่มคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ รองลงมากลุ่มที่มีประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เยอะ จึงมีความสนใจเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งรูปแบบการทำงานของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1) การจ้างงานกลับเข้ามาใหม่และมีการเกษียณอายุการทำงานตามปกติ (Re-employment) 2) การขยายอายุการเกษียณ การใช้รูปแบบการจ้างงานในรูปแบบที่ยืดหยุ่น 3) การทำงานของแรงงานนอกระบบ การจ้างเหมาบริการ โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยที่ยังเป็นความท้าทายให้กับสังคมไทยและการสร้างนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ควรมองในประเด็น 1) ผลิตภาพของแรงงาน ค่าตอบแทนและต้นทุนของสถานประกอบการในการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุ 2) การแก้กฎหมายของกองทุนประกันสังคม 3) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน การจ่ายค่าชดเชย 3) การสร้างแรงจูงใจโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของภาครัฐที่ให้กับผู้ประกอบการ 4) ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ 5) ทัศนคติทางสังคม และ Diversity Management

นพ.ภูษิต ประคองสาย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้รับประโยชน์ทั้งในส่วนของข้อมูลและแนวทางในการสร้างโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ตามแนวทาง “Getting Research into Policy and Practice” หรือ GRiPP

ทั้งนี้ การจัดเสวนา “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” วช. พร้อมที่จะสนับสนุนไปสู่การผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้สูงอายุ และนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนทุกช่วงวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและรับมือกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, 12/5/2566

‘มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานฯ’ ยินดี หากไทยเอาจริง ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ เสนอนำกำไร ‘กองสลาก-ภาษีสุขภาพ’ ตั้งกองทุน ‘สวัสดิการหลักประกันรายได้’

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นที่หลายพรรคการเมืองกำลังแข่งขันกันหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย โดยมีเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชนเป็นจุดขายว่า เห็นด้วยในทางหลักการว่าควรต้องมี รวมถึงในจำนวนเงิน 3,000 บาทด้วย ทว่า แต่ละพรรคควรมีการชี้แจงถึงรายละเอียดให้มากขึ้น เช่น จะนำงบประมาณส่วนไหนมาใช้ จำนวนเงินบำนาญที่เสนอมาคำนวณจากอะไร จะมีการทบทวนทุก 2-3 ปีเพื่อปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ การมีกฎหมายรองรับที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาในภาคประชาสังคมที่ผลักดันในเรื่องนี้ต่างก็มีฐานคิดในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น จำนวนเงิน 3,000 บาท ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอก็ได้ เพราะมาตรฐานค่าครองชีพ หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าที่แท้จริงจากการใช้จ่ายของประชาชนอาจลดลง อีกทั้งภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นทุกพรรคที่เสนอควรมาตั้งหลักก่อนว่าเงินบำนาญที่จะจัดสรรให้ผู้สูงอายุอยู่บนพื้นฐานอะไร

“พอเรามาพูดถึงบำนาญผู้สูงอายุ เราไม่ได้อยากแค่สักแต่ให้ๆ ไป ไม่ได้สนว่าเขาจะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้แล้วแต่ ถือแค่ว่าให้ไปแล้ว แต่เราอยากว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญส่วนนี้ไปเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย” นางสุนทรี กล่าว

กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุต่อไปว่า ถ้าหากแต่ละพรรคการเมืองสามารถตอบในรายละเอียดอย่างครบถ้วนและรัดกุมแล้ว คิดว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะงบประมาณของประเทศก็น่าจะมีเพียงพอในการนำมาใช้ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ เพื่อใช้ในการจัดสวัสดิการต่างๆ และเงินบำนาญผู้สูงอายุ

นางสุนทรี กล่าวต่อไปว่า อย่างการแบ่งกำไรจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ภาษีบาป (สุราและยาสูบ) ภาษีควบคุมความเค็ม และความหวาน ภาษีจากธุรกิจด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลเอกชน บริษัทยา และนำมาตั้งเป็นกองทุนเฉพาะสำหรับทำเรื่องดังกล่าว ส่วนการลดงบส่วนอื่น หรือเพิ่มอัตราการเก็บภาษีที่ไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นอาทิ

ทั้งนี้ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ล้วนอยู่ที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอับดับแรก และความเข้มแข็งของภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดก่อนและปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงสูง งบประมาณที่เกี่ยวข้องจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัว

ที่มา: The Coverage, 11/5/2566

แรงงานอีสานกว่า 3 แสน ยังไม่กลับแหล่งงานเดิม รายได้จูงใจไม่พอ ค่าครองชีพพุ่ง ขอใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

รายงาน Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค ครั้งที่ 4/2566 หัวข้อ "แรงงานอีสานคืนถิ่น กลับไปพื้นที่เศรษฐกิจเดิมมากน้อยแค่ไหน" เรียบเรียงโดย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงโครงสร้างการเคลื่อนย้ายแรงงานเดิม ณ สิ้นปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน พบว่า ตั้งแต่อดีต วิถีชีวิตของคนอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน แรงงานอีสานจึงเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภูมิภาคประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคกลางประมาณ 2.7 ล้านคน (โดยอยู่กรุงเทพมหานคร 1.2 ล้านคน) ที่เป็นกลุ่มลูกจ้างในภาคผลิต บริการและก่อสร้าง ขณะที่แรงงานภาคอีสานอยู่ในภาคเหนือมีเพียง 1.3 แสนคน และภาคใต้มีเพียง 1 แสนคน ต่างจากแรงงานในภาคอีสานประมาณ 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ (Self-employed) ถึง 70%

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา คาดว่าแรงงานอีสานคืนถิ่นมาจากกลุ่มลูกจ้างในภาคกลางเป็นสำคัญ เพราะเมื่อเกิดโควิด-19 แรงงานอีสานกลับภูมิลำเนาต่อเนื่อง คาดว่าเป็นประชากรอีสานคืนถิ่น 6.5 แสนคน คิดเป็นแรงงานประมาณ 4 แสนคน หลังเปิดประเทศ แรงงานคืนถิ่นเคลื่อนย้ายกลับบางส่วน โดยแรงงานอีสาน 1.7 แสนคน ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายจากภาคการเกษตรเป็นแรงงานนอกภาคเกษตร 9 หมื่นคน และเคลื่อนย้ายกลับภาคกลาง 8 หมื่นคน เหลือแรงงานอีสานคืนถิ่นอีก 3.2 แสนคน หรือ 80% ของแรงงานคืนถิ่น

สำหรับแรงดึงที่ทำให้แรงงานอีสานคืนถิ่นจำนวน 3.2 แสนคน ยังไม่กลับไปแหล่งงานเดิม มาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่

1. แรงจูงใจด้านรายได้ยังไม่เพียงพอ จากช่องว่างรายได้ที่แท้จริงระหว่างแรงงานภาคกลาง (รวมกรุงเทพมหานคร) และภาคอีสานมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งจากรายได้ในภาคอีสานที่สูงขึ้นและค่าครองชีพในภาคกลางที่สูงขึ้นกว่าเดิม

2. แรงงานอีสานคืนถิ่นมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น จากการจ้างงานประจำมากขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานที่ปรับตัวดีขึ้น และการกลับมาต่อยอดการทำเกษตรของเด็กรุ่นใหม่

3. ต้นทุนการย้ายกลับสูงขึ้น (Cost of mobility) สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะหมวดค่าที่พักอาศัย ค่าอาหารบริโภคภายในและนอกบ้าน และค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้ที่จะย้ายถิ่นเข้าไปและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

4. แรงงานไทยบางส่วนถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในกลุ่มทักษะต่ำ (Unskilled) เช่น ในภาคก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ ค่าจ้างที่ต่ำกว่า เพราะภาคธุรกิจยังเปราะบาง สะท้อนจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

5. แรงจูงใจด้านอื่นๆ จากการได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ความสบายใจ สุขภาพที่ดีขึ้น และใช้ทักษะเดิมที่มีต่อยอดในงานท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งแรงดึงสำคัญที่ทำให้แรงงานยังไม่กลับไปทำงานยังแหล่งงานเดิม

"แรงงานอีสานคืนถิ่นที่เลือกใช้ชีวิตในบ้านเกิด เนื่องจากมีโอกาสใหม่จากอาชีพใหม่และต่อยอดอาชีพเดิม ซึ่งทำให้แรงงานยังมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและมีความสุขจากการกลับมาอยู่กับครอบครัว" รายงาน ระบุ

สำหรับประเด็นที่ได้จากการสำรวจเชิงพื้นที่ ที่สะท้อนแรงดึงกลุ่มแรงงานอีสานคืนถิ่น คือ

1. โอกาสใหม่จากอาชีพใหม่ในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานคืนถิ่นที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ Digital Marketing ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการทำธุรกิจในภาคบริการ การค้า จากการสัมภาษณ์แรงงานกลุ่มนี้พบว่า ธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะร้านอาหารและร้านคาเฟ่เพิ่มขึ้นจากแรงงานหนุ่มสาวที่มีเงินทุน แม้ในช่วงแรกจะมีรายได้ต่ำกว่ารายได้จากแหล่งงานเดิมในพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ยังเพียงพอต่อการยังชีพ คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากการขยายฐานลูกค้า

โดยพบว่า ธุรกิจคาเฟ่เปิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานหนุ่มสาวที่มีเงินทุนนิยมเปิดร้านขนาดเล็ก อาทิ จังหวัดขอนแก่นมีคาเฟ่เปิดใหม่กว่า 100 ร้านหลังช่วงการแพร่ระบาด หรือในจังหวัดอุบลราชธานี จากข้อได้เปรียบด้านใกล้แหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงฝั่งลาว

ส่วนธุรกิจร้านอาหารเปิดใหม่ เฉลี่ย 70-80 ร้านต่อเดือนในจังหวัดอุดรธานี ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการมีธุรกิจขนส่งอาหารรองรับ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการมีหน้าร้าน และต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย

ขณะที่จำนวนพนักงานส่งอาหาร (Riders) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 60% ในพื้นที่อีสานใต้ สร้างรายได้ที่เพียงพอ และสามารถผ่อนชำระค่างวดรถได้

ด้านธุรกิจภาคการค้าเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และอาหารเสริม ซึ่งสามารถทำงานที่บ้านได้ เป็นทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจเสริม ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจคลังเก็บสินค้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจขนส่งที่เป็นสาขาของกิจการขนาดใหญ่ สอดคล้องกับจำนวนการยื่นขอสินเชื่อที่มากขึ้น

2. โอกาสใหม่จากการต่อยอดอาชีพเดิมในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากพื้นฐานเดิมในภาคเกษตรกรรม ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แรงงานกลุ่มนี้มีที่ดินหรือเคยทำการเกษตรมาก่อน บางส่วนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิตเกษตรเดิม และพัฒนาแปรรูปสินค้า ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วย

จากการที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีและระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว กลับมาต่อยอดการทำเกษตรแบบเดิม ซึ่งช่วยยกระดับการผลิตและลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ตัวอย่างเช่น การปลูกผักในโรงเรือน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้ครัวเรือนนอกฤดูเพาะปลูกและกลายเป็นรายได้หลักให้กับบางครัวเรือน

การต่อยอดธุรกิจเลี้ยงสัตว์ โดยการปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยแบ่งพื้นที่จากเดิมที่เลี้ยงสัตว์อย่างเดียว เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และสร้างรายได้เพิ่มจากการขายให้แก่เกษตรกรรายอื่น และ การเลี้ยงไส้เดือนโดยใช้มูลสัตว์สร้างรายได้เพิ่มตามเทรนด์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม และแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัจจุบันสามารถสร้างแบรนด์สินค้าจากกล้วยเป็นของตัวเอง สู่การกระจายรายได้ แก่คนในชุมชนได้

"ในระยะสั้น แรงงานอีสานยังเลือกทำงานในท้องถิ่น ประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามต่อไป คือ โครงสร้างของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยั่งยืนแค่ไหน และสร้างโอกาสแก่ธุรกิจในอีสานได้มากเพียงใด" ในตอนท้ายของรายงาน ระบุ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/5/2566

ปลัดแรงงานรับหนังสือเครือข่ายปกป้องสถาบัน ขอตรวจสอบแรงงานต่างชาติ ทำผิด ม.112 เตือนผิดจริงถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานทันที

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน รับหนังสือจากนายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ประสานภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมาชิกเกือบ 10 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบกรณีแรงงานต่างชาติก้าวล่วงและข้อเสนอแนะ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมรับด้วย ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน

นายบุญชอบ เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรณีม็อบแรงงานต่างชาติเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ” พร้อมชูป้ายยกเลิกมาตรา 112 นั้น และในวันนี้กลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ติดตามสถานการณ์และไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวของกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตรวจสอบ เร่งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดีและให้สืบหาติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และผลักดันกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ให้ตั้งคณะกรรมการเร่งติดตามสืบหาข้อเท็จจริงว่าแรงงานเหล่านี้ว่ามาจากไหนใครเป็นนายจ้าง และสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังใครเป็นผู้สนับสนุนคือกลุ่มใด มีนัยยะสำคัญที่มากกว่านี้หรือไม่ หรือแรงงานต่างชาติเป็นเหยื่อของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือไม่ และให้กระทรวงแรงงานมีขบวนการสื่อสารชุดความคิดไปยังแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยให้เกิดความ เข้าใจว่าวิถีสังคมไทยเป็นอย่างไรและความสำคัญในการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอันเชิญหลักทรงงานศาสตร์พระราชาแนวทางปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพศักยภาพแรงงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างไม่ขัดแย้ง

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ให้กรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนไปยังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติ พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าวหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อไปได้

นอกจากนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยกับนายจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติ ในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน  ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติดังกล่าว ในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

“แรงงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ แต่ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 11/5/2566

สสส. สานพลัง ก.แรงงาน ปั้น กลุ่ม จป. กว่า 1,848 คน เป็นผู้นำความปลอดภัย-ลดโรคในสถานประกอบการนำร่อง 1,064 แห่ง

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “เหตุการณ์ไฟไหม้รุนแรงในสถานประกอบการ เมื่อปี 2536 มีผู้เสียชีวิต 188 คน บาดเจ็บกว่า 400 คน เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการละเลยและขาดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิดโครงการ 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และ “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จป. ผู้นำการสร้างสุขภาวะองค์กร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขยายผลร่วมมือขับเคลื่อนมาตรการเชิงป้องกันสู่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะทั่วประเทศ”

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “จป. ย่อมาจาก เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จป. ฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านสุขภาวะองค์กร เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ โดยเปิดโอกาสให้นายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ 2 ปี มี จป. ที่ตระหนักรู้ มีจิตสำนึกที่ดี ป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน เข้าร่วม 1,848 คน จากสถานประกอบกิจการ 1,064 แห่ง ขยายผลนำองค์ความรู้ดูแลปัญหาสุขภาพพนักงาน พัฒนากิจกรรมตามบริบทของสถานประกอบกิจการ ทำให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การยกระดับเป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบ 58 แห่ง”

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า “สสส. มุ่งพัฒนาสุขภาวะ “คนทำงาน ในองค์กร” กำลังหลักของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ที่ผ่านมา สสส. สานพลัง กระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพสู่นโยบายสุขภาวะองค์กร ภายใต้แนวคิด Happy Workplace ทั้งมาตรการสุขภาวะองค์รวมของวัยทำงาน (Total Worker Health) ชุดความรู้สุขภาพ 10 Packages และมาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบกิจการ รวมถึงคู่มือการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร เช่น คู่มือ Healthy Meeting ประชุมได้ผล คนได้สุขภาพ คู่มือการส่งเสริมมุมนมแม่ คู่มือเลิกบุหรี่ มุ่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีทักษะผู้นำสุขภาวะ ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพแรงงานในพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ”

ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข, 10/5/2566

รอง ผบ.ตร.แถลงปิดคดีโรงงานตัดเย็บผ้าใน อ.แม่สอด บังคับใช้แรงงานชาวพม่าผิดกฎหมาย ใช้งานหนัก กดค่าจ้าง

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของประเทศอังกฤษ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับแรงงานของโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด ถูกบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อปี 2560-2563 มีแรงงานชาวเมียนมาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงานตัดเย็บผ้า โดยตกอยู่ในสภาพบังคับให้ทำงานโดยตลอดนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด 10 พ.ค. 2566 ที่ สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สภ.แม่สอด และตำรวจภูธรภาค 6 ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบว่า โรงงานดังกล่าวคือ โรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบริษัทชื่อดัง ในตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงเดินทางเข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าว และเรียกประชุมสั่งการให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของโรงงาน

พร้อมกันนี้ ยังให้มีการสัมภาษณ์คัดแยกเหยื่อ เพื่ออำนวยความยุติธรรมในกรณีดังกล่าวโดยในเบื่องต้นมีการคัดแยกเหยื่อจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 วันที่ 28-29 ธ.ค. 2565 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 120 คน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ม.ค. 2566 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 49 คน โดยทั้ง 2 ครั้ง ยังไม่ปรากฏว่ามีความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือบังคับใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ต่อจากนั้นองค์กรอิสระ (NGO) ขอให้มีการคัดแยกเหยื่อเพิ่ม ทีมสหวิชาชีพจึงได้คัดแยกเหยื่อ และครั้งที่ 3 ในวันที่ 24-27 ม.ค. 2566 ทำการสัมภาษณ์ ลูกจ้างโรงงานจำนวน 20 ราย ผลการคัดแยกพบการกระทำความผิดตาม ป.อาญา ความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกง บัตรอิเล็กทรอนิกส์ พรก.บริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว ยึดเอกสารสำคัญฯ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอม

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบความผิดปกติในการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง โดยอดีตผู้จัดการโรงงานและทีมงานได้นำบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้าง ไปกดเงินสดและทำการหักเงินบางส่วน ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เบื้องต้นพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย คือ นายธนกฤต นายศรัณย์ นางสาววิภารัตน์ ซึ่งได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาครบทั้ง 3 ราย และออกหมายเรียกนางศิริกุล  กรรมการผู้จัดการคนที่ 1 ของบริษัทดังกล่าว มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรง พ.ศ. 2541

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้กับนางสาวดวงฤทัย บุตรสาว กรรมการผู้จัดการคนที่ 2 มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดนไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีที่สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนต่างประเทศ และประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลไทยก็ตระหนักและให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ ได้มีการประชุม เร่งรัด และติดตามการดำเนินคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดในคดีได้ครบทุกราย ได้มีการกำชับ ชุดพนักงานสอบสวนให้มีความรัดกุมในการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งให้มีความละเอียดรอบคอบใช้หลักผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลาง รวมถึงอำนวยความยุติธรรมในการดำเนินคดี  

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/5/2566

สธ.เดินหน้าแก้ปัญหาภาระหนี้สินบุคลากรสาธารณสุข เล็งสถาบันการเงินลดดอกเบี้ย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า การประชุมวันนี้เป็นการติดตามงานเชิงนโยบายหลายๆเรื่อง ยกตัวอย่าง การดูแลบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเรื่องการจัดสรรตำแหน่งว่าง ซึ่งมีการติดตามพบว่า เปอร์เซ็นต์ตำแหน่งว่างลดลงจากเดิม 7-8% ลดเหลือ 5% จึงได้มีการเร่งรัดตรงจุดนั้น สำหรับเรื่องการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ เราพบว่าบุคลากรของเราจะมีเรื่องภาระหนี้สินจำนวนหนึ่ง  แม้ไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องดูแล จึงมอบให้นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องนี้ โดยประสานกับหน่วยงาน สถาบันการเงินต่างๆ ในการดูแลเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องการจัดสรรตำแหน่งว่างข้าราชการของกระทรวงฯ นั้นเมื่อทำแล้วเสร็จจะยังมีการจัดสรรการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสองอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นระยะ ซึ่งยังอยู่ในเรื่องที่มีการดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีค่าเสี่ยงภัยโควิด 3 พันกว่าล้านบาทยังต้องรอสำนักงบประมาณใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  ต้องรอสำนักงบประมาณ ซึ่งต้องรอสถานพยาบาลทุกสังกัด ไม่ใช่แค่กระทรวงฯ หากส่งหลักฐานไม่ครบ เราก็ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ที่การดำเนินการ ได้รับแน่นอน เพียงแต่ล่าช้าหน่อย

เมื่อถามกรณีกลุ่มลูกจ้างที่ไปยื่นสำนักนายรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องสิทธิลูกจ้างในสังกัดกระทรวงฯ เมื่อวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ เป็นเรื่องที่มีการหารือร่วมกันแล้ว แต่อย่างไรเสียจะขอรอข้อมูลจากทางสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. กล่าวถึงการช่วยเรื่องหนี้สินบุคลากร ว่า ขณะนี้จะมีการสำรวจหนี้สิน โดยเฉพาะกลุ่ม NPL ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องคุยกับธนาคาร โดยเราจะดูตัวอย่างจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และของตำรวจ ซึ่งจะไปสำรวจ โดยพบว่ามีตัวเลขจากธนาคารแห่งหนึ่งมีตัวเลข 200 ล้านบาท โดยเราจะเจาะตัวบุคคล ดูเรื่องสถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายต้นๆ มีทุกจังหวัด โดยสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยให้ ขณะนี้มีการพูดคุยของคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องหนี้อยู่ ล่าสุดธนาคารออมสิน ก็จะมีแนวทางในการลดดอกเบี้ยให้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะดูตัวอย่างความสำเร็จของสหกรณ์ฯ สัก 2-3 แห่ง และขยายต่อไป

เมื่อถามว่ากรณีการสำรวจข้อมูลหนี้สินบุคลากร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินของบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างหายาก เบื้องต้นทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขเคยร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจปัญหาหนี้สินเมื่อปี 2562 ซึ่งตอนนั้นมีจำนวนประชากรที่สำรวจราว  6 หมื่นตัวอย่าง ก็จะนำข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่จะทำการสำรวจร่วมกับธนาคารออมสิน ว่าตรงกันหรือไม่อย่างไร แล้วจึงค่อยหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยส่วนใหญ่บุคลากรจะกู้เงินไปเพื่อซื้อบ้าน และบางส่วนอาจมีการประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ ซึ่งในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาด อาจทำให้ประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้เป็นหนี้สิน โดยการแก้ปัญหาหนี้สินของกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะศึกษาต้นแบบจากการแก้ปัญหาหนี้สินของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Hfocus, 9/5/2566

สาวพม่าเผยคลิปเรียกร้องสิทธิ์ต่างด้าว สะท้อนปัญหาแรงงานในไทย

จากกรณีการชุมนุมของแรงงานต่างชาติ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาบริเวณแยกราชประสงค์ จากนั้นได้มีแรงงานหญิงชาวพม่ารายหนึ่ง ออกมาอัดคลิปเรียกร้องสิทธิแรงงานต่างด้าว ที่ทำงานในไทย ให้มีการจัดการที่เท่าเทียม แต่ท้ายคลิปกลับมีการพูดจาไม่เหมาะสม จนคนไทยที่ดูคลิปในติ๊กต่อกออกมาโต้แย้ง ต่อมาสาวพม่าคนดังกล่าว อัดคลิปขอโทษ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นหลายหมื่นคน

ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนจาก Migrant Working Group ที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การออกมาชุมนุมของแรงงานพม่าจำนวนมากช่วงวันแรงงาน สะท้อนถึงปัญหาการจัดทำพาสปอร์ต ที่ยังค่อนข้างมีปัญหา เพราะด่านชายแดนบางแห่งแรงงานพม่ายังข้ามไปทำไม่ได้ ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้แรงงานบางรายไม่กล้ากลับไป เพราะกลัวจะกลับมาทำงานไทยต่อไม่ได้ ที่ผ่านมา ไทยมีการผ่อนผัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่จะหมดเขตการผ่อนผันวันที่ 15 พ.ค.นี้

สิ่งที่ท้าทายตอนนี้คือ สถานทูตเมียนมา ในไทย ยังจำกัดคนที่มาต่อหนังสือเดินทาง เนื่องจากมีความกังวลจากรัฐบาลทหารของพม่า ขณะที่ไทยจะทำการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี มาจัดการปัญหาให้กับแรงงานเหล่านี้ ดังนั้นก็มีโอกาสว่า แรงงานพม่าอีกกว่าแสนคนในไทย จะกลายเป็นแรงงานเถื่อนหลังจากนี้ หากไม่มีการเข้ามาแก้ไข สิ่งนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้แรงงานพม่า เริ่มออกมาเรียกร้องในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

ที่ผ่านมาแรงงานพม่า มีการต่อเอกสารทำงานในไทย ครั้งละ 2 ปี ซึ่งแรงงานต้องเสียเงินต่อเอกสารไม่ถึงหมื่นบาท แต่ในช่วงหลังค่าธรรมเนียมนายหน้า เพื่อต่อเอกสารเพิ่มขึ้น เป็นครั้งละ 2 หมื่นบาท ทำให้แรงงานพม่าหลายคน มีความรู้สึกว่าทำงานแทบตาย ต้องเอาเงินจำนวนมาก เพื่อมาต่อเอกสารอย่างเดียว ทำให้แรงงานพม่า ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้น

ประกอบกับการกวาดล้างแรงงาน ที่เข้าเมืองอย่างไม่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนรู้สึกถูกบีบจากหน่วยงานภาครัฐของชาติตนเอง ขณะที่เอกสารการทำงานในไทย หากมีไม่ถูกต้องจะถูกเจ้าหน้าที่กวาดจับ ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก

สำหรับแรงงานพม่า หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น เริ่มเข้ามาในไทยมากขึ้น แรงงานบางส่วนเข้ามาด้วยปัจจัยทางการเมืองภายในพม่า ซึ่งมีคนที่เข้ามาอย่างถูกต้อง และลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ขณะที่แรงงานอีกบางส่วน เข้ามาเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน หลังจากการยึดครองของทหาร ก็มีผลกระทบ จนแรงงานหลายคนต้องลักลอบเข้ามาทำงานในไทย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2566

ปลัดแรงงานเรียกสอบนายจ้าง กรณีแท่งแบริเออร์ทางด่วนหล่นทับคนงานเสียชีวิต ประกันสังคมชดเชย 1.2 ล้าน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุแท่งแบริเออร์ทางด่วนหล่น ย่านพระราม 2 เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ทันทีที่ได้รับรายงานว่าเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 และสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าสลิงเครนยึดตัวคานหลุดลงมา จนทำให้คานหล่นลงมา พร้อมกับคนงานทั้ง 2 ราย ที่ยืนอยู่ข้างบนคาน ทำให้ทับคนงาน 1 ราย เสียชีวิต และคนงานที่หล่นลงมาอีก 1 ราย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวต่อไปว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐานในเบื้องต้นในเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน และจะมีหนังสือเชิญให้นายจ้างมาพบในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและตรวจสอบว่านายจ้างมีการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 และ 10 ได้ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายวรวุฒิ พานนนท์ อายุ 54 ปี เป็นผู้ประกันตน ซึ่งเบื้องต้นทายาทจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานเป็น ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,092,000 และเงินบำเหน็จชราภาพ 71,669.27 รวมทั้งสิ้น 1,213,669.27 บาท ในส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 ราย นายพลากร วงษ์นอก มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านแล้ว ซึ่งหากพบว่าเป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนเงินทดแทน โดยจะได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวร้อยละ 70 ของค่าจ้าง รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ที่มา: สยามรัฐ, 8/5/2566

นายกสมาคมร้านอาหารฯ เผยแรงงานยังขาดทั้งไทยต่างด้าว-ขอรัฐบาลใหม่อย่าเพิ่มภาระค่าจ้างให้ผู้ประกอบการ

นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เวลานี้แรงงานในส่วนของภาคบริการ ร้านอาหารรวมถึง Street Food ของไทย ยังคงขาดแคลนทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แรงงานไม่ยอมเข้าสู่ระบบเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของระเบียบการขึ้นทะเบียนสูงถือเป็นต้นทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ที่ไม่สามารถแบกรับภาระได้ เพราะในเวลานี้มีต้นทุนอื่นๆเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

ซึ่งโดยส่วนตัวก็รู้สึกไม่สบายใจที่ยังคงมีแรงงานอยู่นอกระบบโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขเพราะหลังจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจภาคบริการซึ่งจะเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากยังมีแรงงานไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

สำหรับรัฐบาลใหม่ อยากให้มีการพิจารณาในเรื่องของต้นทุนผู้ประกอบการให้มาก เพราะเวลานี้ไม่เห็นส่วนใดที่จะบริหารจัดการให้ลดลงได้ มีแต่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องของค่าแรง รู้สึกไม่สบายใจ เพราะการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมีแต่นโยบายของการเพิ่มค่าแรง ยิ่งทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งค่าแรงเวลานี้มีการจ่ายมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว หากเพิ่มมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจะยิ่งทำให้ต้นทุนค่าแรงยิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่จำนวนแรงงานภาคบริการยังไม่เพียงพอ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 7/5/2566

แนะแรงงานเพิ่มทักษะ "ดิจิทัล" รองรับปรับขึ้น"ค่าแรง"

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงของกลุ่มแรงงานได้นั้น รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องหารือร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้น หากมีการเพิ่มค่าจ้างแล้ว ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการจึงจำเป็นต้องมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นด้วย  ทั้งทักษะฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะทักษะความรู้ ความสามารถ ที่ส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งพบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยว ข้องหลายด้าน ทักษะดิจิทัลจึงจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ทำงานต้องมีความรู้พื้นฐาน อีกทั้งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่ผู้ประกอบกิจการพิจารณารับเข้าทำงาน หรือกรณีเป็นผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว หากมีการคัดเลือกเลื่อนระดับ ทักษะนี้ก็อาจถูกนำมาเป็นข้อกำหนดในการเลื่อนระดับ หรือกรณีมีการคัดคนออก  พนักงานที่ขาดทักษะในด้านนี้หรือพนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นอันดับต้น ๆ ในการถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

สำหรับกระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการเตรียมพร้อมให้แก่แรงงานรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่มาโดยตลอด ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

โดยมอบหมายให้หน่วยฝึกที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัดจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานในพื้นที่ และส่งเสริมการฝึกอบรมด้วยมาตรการจูงใจ ด้านการลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบกิจการที่จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของตนเอง  เพื่อร่วมกันเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานของประเทศให้มีทักษะความรู้ที่สูงขึ้น ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า  ปีนี้ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบการ รวม 15,200 คน ประกอบด้วย โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 8,000 คน ดำเนินการแล้ว 6,739 คน ตัวอย่างหลักสูตร เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการผลิต การเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ PLC  ช่างควบคุม CNC เป็นต้น

ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นเฉพาะด้านที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเรียนรู้ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่นับวันเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เป้าหมายจำนวน 1,200 คน ดำเนินการแล้ว 892 คน

ส่วนโครงการส่งเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21  เป้าหมายอีก 6,080 คน ดำเนินการแล้ว 4,794 คน หลักสูตรที่มีการฝึก เช่น การใช้โปรแกรม MITSUBIHIHIPLC&GxWork3 การพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผล การเขียนโปรแกรมสำหรับงานประมวลผลภาพและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ที่มา: เนชั่นออนไลน์, 7/5/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net