Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'เมเม่' ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ จากกลุ่ม Secure Ranger ผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเดินขบวนแห่หมุดคณะราษฎรไปรัฐสภา ในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ถึงมุมมองต่อคดีความที่ถูกเล่นงาน ผลกระทบ บทบาทของรัฐต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางเพศ เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตย ย้ำการเมืองเกี่ยวโยงกับทุกสิ่ง ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง

“เมเม่” นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ จากกลุ่ม Secure Ranger

นับตั้งแต่ปี 2563 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชน ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยยะสำคัญของยุคสมัย การแสดงออกและเรียกร้องของประชาชนกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แม้อาจกล่าวได้ว่าเป้าประสงค์ของผู้ชุมนุมที่ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำในขวบปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ชุมนุมก็ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง หากกระแสคลื่นทางความคิดก็ได้ปลุกผู้คนในสังคมให้มีความตื่นตัวในเรื่องของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และสิทธิ์อันพึงมีในฐานะประชาชน ซึ่งรวมถึงการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ที่รัฐอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมโรคระบาด แต่กลับเป็นข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุด ไม่ต่ำกว่า 1,898 คน ราย ไปจนถึงข้อหารุนแรงอย่างมาตรา 116 และมาตรา 112

นอกจากวิธีการเข้าจับกุม และขั้นตอนการเข้าถึงทนายความที่หลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมยังได้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหลายรายถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน หลายคนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน ถูกลิดรอนสิทธิ์ประกันตัว สร้างความยากลำบากในการต่อสู้คดี ที่มากไปกว่านั้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ไม่ว่าจะถูกคุมขังหรือไม่ ก็ล้วนได้รับผลกระทบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ทุกคนสูญเสียโอกาส ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน การศึกษา รวมทั้งการถูกตีตราราวกับอาชญากร เราอาจรับรู้เรื่องราวของพวกเขาบางคนจากหน้าสื่อ ตามที่ชุมนุม หรือตามแคมเปญต่างๆ ทว่ายังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกเป็นจำนวนมากที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี หลายข้อหาชวนให้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนของโทษกับสิ่งที่กระทำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐมองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ เสียงของพวกเขาก็ยิ่งแผ่วเบา จนบางครั้งเราอาจไม่ได้ยิน

“เมเม่” นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ จากกลุ่ม Secure Ranger

“เมเม่” ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ จากกลุ่ม Secure Ranger กลุ่มที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทั้งทางกายและทางจิตใจแก่ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง เธอเป็นอีกคนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหาที่ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมมากที่สุด และคดีความก็ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนติดต่อขอสัมภาษณ์ “เมเม่” ไปทางข้อความ หลังจากเห็นเธอระบายความอัดอั้นเรื่องผลกระทบจากการขาดรายได้ เพราะบ่อยครั้งต้องปิดร้านไปตามที่ศาลนัด ในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ข้าวของขึ้นราคา เธอบอกกับผมว่าเงินทุกบาทล้วนมีผลต่อการดำรงชีวิต

“เมเม่” เริ่มอาชีพค้าขายเมื่อราวแปดปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นนักศึกษา ซึ่งน่าจะพูดได้ว่าเธอต่อสู้ชีวิตมาในช่วงเวลาที่ความเป็นประชาธิปไตยถูกปล้นหายไปจากมือของประชาชน

ถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง

เมเม่ : พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเดินขบวนแห่หมุดคณะราษฎรไปรัฐสภา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เราโดนคดีเดียว ไม่ได้มากเหมือนเพื่อนในกลุ่ม แต่ว่าเราโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคนแรก ๆ ซึ่งกระบวนการยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่คดีอื่นของเพื่อนถูกยกฟ้องไปแล้ว แต่ของเรานัดแล้วก็เลื่อนอยู่หลายครั้ง จนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดที่เพิ่งไปถูกเลื่อนเป็นวันไหน

ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าวันนั้นไปทำอะไร

เราเข้าร่วมแถลงการณ์กับเพื่อนอีกราวห้าสิบคน ซึ่งเราก็ไปยืนแถลงการณ์นั่นล่ะ และก็ร่วมเดินขบวนด้วยในฐานะตัวแทนของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ทำให้โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในสำนวนของเจ้าหน้าที่มีอะไรที่คุณคิดว่าไม่ตรงกับความจริงไหม

ที่รู้สึกคือกฎหมายถูกนำมาใช้กลั่นแกล้ง ถูกทำให้ไม่มีสิทธิ์ชุมนุม ซึ่งที่จริงเรามีสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ว่ารัฐทำให้การชุมนุมเป็นเรื่องผิด และสร้างความถูกต้องในการดำเนินคดี ตามสำนวนมันเลยตรงและผิดกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายนั้นมีไว้รังแกผู้เห็นต่าง

คุณมองว่าที่ผ่านมา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้จับม็อบ ไม่ได้มีไว้แก้ปัญหาเรื่องโรคระบาด

ใช่ เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโรคเลย สุดท้ายแล้วพออยากให้ต่างชาติเข้ามา บอกว่าถึงเวลาแล้วก็ปลดให้เป็นโรคท้องถิ่น โดยไม่ได้มีการจัดการที่ดีขึ้น วัคซีนก็มีปัญหาตั้งแต่แรก

การแจ้งข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างไร

เขาไม่มีหมายมาให้เราด้วยซ้ำ เราไม่รู้อะไรเลย แต่ทีนี้มีเพื่อนที่ไปรายงานตัวได้รับสำนวนมา ซึ่งในสำนวนนั้นมีรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทุกคน เราจึงเอามาอ่านดูแล้วก็เห็นชื่อตัวเองอยู่ในลำดับที่เจ็ด จากนั้นเราโทร. หาทนายว่าควรทำอย่างไร เราไม่ได้หมาย แต่มีชื่ออยู่ในสำนวน ทนายบอกให้เฉย ๆ ไว้ หรือจะไปรับทราบข้อกล่าวหากับเพื่อนก็ได้ ตอนแรกเราเลยเฉยไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกตามตัวอยู่ดี เมื่อวันที่มีเพื่อนอีกกลุ่มที่ไปรายงานตัว เขาก็เรียกเราไปอยู่ดี ในแบบที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เขาโทร. มาบอกตอนเก้าโมง ตอนนั้นเราขายของอยู่แถวบ้าน เราต้องรีบเก็บร้านเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อที่จะไปให้ทัน เรารู้สึกว่ามันแย่มาก เราต้องหยุดขายของ ต้องเสียโอกาสในการหารายได้ หลังจากนั้นเขาไม่เคยนัดบ่ายเลย แต่จะนัดเช้าตลอด

เรามองว่าปัญหาเรื่องการไม่ได้รับหมาย อยู่ที่ตำรวจชอบผลักภาระให้ศูนย์ทนายฯ ตามชื่อเอาเอง ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเขาไม่ส่งหมายมา หรือส่งแล้วแต่ตำรวจในพื้นที่ไม่มาส่งให้ที่บ้าน หลายคนไม่ได้รับหมายและมีความกังวลว่าถ้าไม่ได้รับสองครั้งมันจะกลายเป็นหมายจับ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เลย ต่างจากครั้งแรกที่เราขึ้นเวทีแล้วตำรวจสันติบาลสามารถมาหาที่บ้านได้

ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี

เรารู้สึกแย่มาก ทุกครั้งที่ไม่ได้ขายของ เราเครียด ในสภาวะที่กดดันคือมันหาเช้ากินค่ำมาก ๆ ถูกบีบด้วยเงินรายวัน การหยุดขายครั้งหนึ่ง ไม่ใช่แค่ไม่ได้เงินแต่ต้องเสียเงินค่าเดินทาง มันไกลมาก ไปกลับแปดสิบกิโล ไหนจะเวลาที่ต้องเสียไป แล้วเดินทางไปก็ต้องกินข้าว คนเราต้องกินข้าว มันเสียหายในหลายอย่าง เสียโอกาสอย่างมาก เสียความรู้สึก เสียใจ เราแบกรับภาระเยอะมาก ช่วงนี้เราเพิ่งเริ่มขายออนไลน์ เปิดได้แค่เดือนเดียวแต่ก็ต้องถูกเรียกตัวไปศาล เราหมุนเงินไม่ทัน พอลงทุนไปแล้ว เราจำเป็นต้องขายให้ได้วันต่อวัน ขายช่วงแรกกำไรน้อย และต้องเอากำไรนั้นมาต่อทุน ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ ค่าบ้าน ประจวบกับค่าไฟขึ้น จากเคยใช้อยู่พันสาม โดดมาพันหกพันเจ็ด เราเครียดมาก เหมือนเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ครั้งแรกที่ไปศาล เขานัดเช้า แต่ศาลก็เลื่อนให้สืบสวนตอนบ่าย เราไม่รู้ว่ามาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดหรืออะไร แต่นั่นหมายความว่าวันนั้นทั้งวัน เราไม่ได้ขายของเลย ทั้งเช้าทั้งเย็น เรารู้สึกว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ ทำไมไม่จบไม่สิ้นสักที เหมือนถูกรัฐรังแก ทั้งที่เราไม่ได้ผิดด้วยซ้ำ

มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่บ้างไหม

ที่หนักสุดสำหรับเราคือมาที่บ้าน ตอนเราไม่อยู่ มาบอกแม่เราว่าบอกลูกด้วยนะว่าอย่าไปม็อบ โชคดีที่บ้านเราเป็นครอบครัวการเมือง แม่เราเข้มแข็งมาก เราจะแชร์กับแม่ตลอดว่าไปเจออะไรมาบ้าง ซึ่งวันนั้นแม่ก็สู้มาก บอกกับตำรวจไปว่า ”จะไปห้ามมันได้ยังไง ไม่ห้ามหรอก ไม่ต้องมาบอก ทำไม่ได้หรอก” จากนั้นแม่ก็ไล่ไปเลย

คิดว่าการแจ้งข้อหากับผู้ชุมนุม เป็นความพยายามเผยแพร่ความกลัว เพื่อให้คนไม่กล้าที่จะออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่

เราคิดว่าเป็นการเผยแพร่ความกลัว เท่าที่พบเจอหรือพูดคุย มันปฏิเสธไม่ได้ บางคนโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จริง แต่ว่าคนกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มการ์ด เขาตามไปที่บ้าน คอยวน คอยเฝ้า อย่างน้องในกลุ่มเราล่าสุดที่ยังเป็นเยาวชน มีตามไปเฝ้าที่บ้าน ไปเคาะประตู ซึ่งน้องอยู่กับยาย ทำแบบนี้เป็นใครก็เกิดความหวาดกลัว มันคือการใช้อำนาจข่มขู่ นี่แค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ต้องพูดถึงมาตรา 112 ยังทำแบบนี้ และพอครอบครัวสั่นไหว ปฏิเสธไม่ได้เลยจริง ๆ ว่าเราจะไม่รู้สึกสั่นไหวไปด้วย

ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขาย มีความคิดเห็นในเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร ที่ผ่านมามองว่ารัฐมีบทบาทอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่ารัฐถูกเลือกตั้งมาโดยประชาชน และก็มีกระทรวงต่าง ๆ แต่เหมือนไม่ทำงาน กินแต่เงินเดือน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย สินค้าเกษตรแพงส่งผลต่อผู้ประกอบการ น้ำมันพืชแพงมาก จากเคยซื้อสามสิบ ตอนนี้ห้าสิบ ขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสามเดือน ก่อนขึ้นราคามีการเกร็งกำไร นายทุนนี่น่ากลัวมาก เพราะรัฐไม่ควบคุมนายทุน ทำให้ขาดตลาดแล้ว ไหนจะข้าวอีก มีช่วงหนึ่งที่เป็นประเด็นว่าข้าวเหนียวราคาขึ้น จากกิโลกรัมละสิบเจ็ดบาท ตอนนี้สี่สิบสองบาท ขึ้นแล้วก็ไม่ลงอีกเลย แล้วมาที่หมู เราขายหมูทอดข้าวเหนียว ชัดมาก ย้อนกลับไปสี่หรือห้าปีก่อน เราเคยซื้อสามชั้นถูกกว่าเนื้อหมูสันในหรือสันนอกอีก ราคาตอนนั้นเก้าสิบบาท หรืออย่างมากไม่เกินร้อยต้น ๆ ตอนนี้สามชั้นปาไปกิโลกรัมละสองร้อย มาไกลมาก ในขณะที่ค่าครองชีพเท่าเดิม เราจะมีกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปทำไม ถ้ารัฐไม่ออกแบบอะไรมาแก้ไขปัญหา ถ้าพวกเราประชาชนจะต้องดิ้นรนกันเองขนาดนี้

จากที่ทำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คุณมองว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทั้งในม็อบ และในสังคมโดยรวม

ถ้าเทียบกับความคิดความเชื่อที่ไม่มีความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งปลูกฝังมาเป็นร้อยปี ถือว่ามาไกลแล้ว คือคนตระหนักรู้ คนเข้าใจมากขึ้น ระวังมากขึ้น มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพียงแต่ว่าแม้จะมาไกลจากจุดเริ่ม หากปลายทางก็ยังอีกไกลเหมือนกัน

คุณคิดว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร สามารถสะท้อนอะไรได้บ้าง

สะท้อนว่ารัฐรับฟังประชาชนมากขึ้น เพราะถูกจี้ให้ฟัง ส่วนเกี่ยวกับประชาธิปไตยยังไง มันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยชายที่บางครั้งใช้คำที่กีดกันเพศอื่น และให้ผู้ชายกำหนดกฎหมาย อย่างที่ชัดเจน เช่น กำหนดการทำแท้งถูกกฎหมาย การเปลี่ยนสรรพนามในกฎหมาย ให้เกิดความเท่าเทียมกันกับคนทุกคน ทุกเพศสภาพ

หลายคนรอคอยการเลือกตั้งที่จะมาถึง คุณคิดว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

ต้องพูดว่าหลายคนมีความหวัง กระแสม็อบที่ลดลงส่วนหนึ่งเพราะคนหันมาเทความหวังให้กับการเลือกตั้ง แต่เราไม่ค่อยหวัง (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าเอาเข้าจริง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย อีกอย่างคือการที่ ส.ส. ย้ายพรรคข้ามขั้ว ประชาชนจะมั่นใจได้ยังไงว่าคุณจะไม่ควบรวม ถึงอย่างนั้นก็อาจจะมีสักพรรคการเมืองที่พอไว้ใจได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการขยับของประชาชนที่มีการตื่นรู้เรื่องประชาธิปไตย เราเห็นคุณค่าตรงนี้ ถ้าจะมีอะไรที่เป็นความหวัง เราว่าสิ่งนี้ล่ะ

อยากสื่อสารอะไรกับสังคม

เราไม่อยากให้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถมีส่วนร่วม การเมืองเกี่ยวโยงกับทุกสิ่ง แม้กระทั่งเพื่อนเราที่ยังถูกจองจำในคุก นั่นก็เป็นการเมือง อยากให้ทุกคนมองเห็นและร่วมกันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,898 คน ใน 1,187 คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,898 คน ในจำนวน 1,187 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 7 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,794 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 237 คน ในจำนวน 256 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 77 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 163 คน ในจำนวน 183 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี

จากจำนวนคดี 1,187 คดีดังกล่าว มีจำนวน 326 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 861 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net