Skip to main content
sharethis

สปสช. ยกทีมผู้บริหารเยี่ยมโรงพยาบาลราชพิพัฒน์รับฟังข้อมูล Sandbox Model ของ กทม. ลั่นพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้การจัดบริการสุขภาพประสบความสำเร็จ ทั้งการจัดทำกลไกการเงินเพิ่มเติมสำหรับ Sandbox เพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมทั้งจัดทำ Gateway กลางเชื่อมข้อมูลสุขภาพจากแอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว 

11 มี.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข และ คณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค กทม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 โดยได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้บริหารหน่วยบริการในสังกัด กทม. เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการของหน่วยบริการ กรณีนวัตกรรมการจัดบริการ UC New Normal และ Sandbox Model ของ กทม.

ดร.นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Sandbox Model เริ่มต้นจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ที่เห็นปัญหาว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในระดับรากหญ้ายังเป็นไปด้วยความลำบาก จึงเกิดโมเดลนี้ขึ้น เอายานลูกออกจากยานแม่ ไปบริการแก่ประชาชนในรูปแบบของ Home based หรือการดูแลที่บ้าน บวกกับการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน รวมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ตั้งแต่การพัฒนาหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการการรักษาเหมือนเช่นที่โรงพยาบาล 

ดร.นพ.สุขสันต์ ยกตัวอย่างบริการที่จัดขึ้นภายใต้โมเดลนี้ เช่น บริการเทเลเมดิซีน เทเลคอนซัลท์ ศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ (Commu-lance) รถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว (Motor-lance) รถฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์เทเลเมดิซีน (Telemedicine-ambulance) หรือที่ Sandbox ราชพิพัฒน์ ก็มีการสร้าง Line official สำหรับสื่อสารแบบเห็นหน้ากันได้ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น 

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ทำ Sandbox Model มีหลายจุด นอกเหนือจากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ที่ดูแลโซนธนบุรีเหนือ และธนบุรีใต้อีกบางส่วนแล้ว ยังมีโรงพยาบาลวชิระ ดูแล 4 เขตรอบพื้นที่โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลกลางดูแลโซนกรุงเทพกลางและกรุงเทพเหนือ โรงพยาบาลเจริญกรุงดูแลพื้นที่กรุงเทพใต้ และโรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ดูแลเขตกรุงเทพตะวันออก  

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัดเจนว่าเน้นเส้นเลือดฝอยหรือการจัดบริการที่เข้าถึงประชาชน อย่างไรก็ดี ด้วยความที่พื้นที่ กทม. มีหน่วยบริการจากหลายสังกัดและไม่มี Unified Command การจัดบริการในลักษณะของ Sandbox Model จึงดำเนินการในโรงพยาบาลของ กทม. เพราะสามารถบูรณาการได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีบางโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัด กทม. และมีพื้นที่ดูแลปฐมภูมิของตัวเอง มีรูปแบบการจัดบริการของตัวเอง จึงต้องขอให้ สปสช. เป็นตัวเชื่อมกับโรงพยาบาลเหล่านี้ในการเชื่อมโยงระบบการจัดการร่วมกับ กทม. ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิไปจนถึงตติยภูมิ รวมทั้งอยากให้ สปสช. มีขั้นตอนการเข้ามาในระบบง่ายขึ้น ควบคุมกำกับและเบิกจ่ายง่าย เพื่อดึงหน่วยบริการต่างๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล ร้านยา เข้ามาในระบบมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล เพราะการที่หลายหน่วยงานต่างคนต่างออกแบบซอฟต์แวร์ของตัวเอง มีแอปพลิเคชันเยอะ ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลมีความยุ่งยาก หากมีระบบกลางให้เข้ามาเชื่อมต่อ การเบิกจ่ายจะได้ง่าย การได้มาซึ่งข้อมูลสุขภาพต่างๆ ก็จะเยอะมากขึ้น 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.จะหาวิธีสนับสนุนเพื่อให้ กทม. สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาประชาชนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ใน กทม. แล้วไม่ย้ายสิทธิมาลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. ด้วย สปสช. จะรับดูแลในเรื่องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการให้เพียงพอมากขึ้น เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของหน่วยบริการปฐมภูมิ จะมีสัดส่วนประชากรต่อหน่วยบริการอยู่ที่ 1 : 10,000 ปัจจุบันใน กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่รับดูแลด้านปฐมภูมิรวมประมาณ 300 แห่ง เท่ากับรองรับประชากรได้ประมาณ 3 ล้านคน แต่ตัวเลขประชากรที่อยู่ใน กทม. จริงๆมีมากกว่านั้น ดังนั้นต้องมีการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น 

“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติงานแล้วจะนำเข้าคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13  อันนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรให้คนต่างจังหวัดมาลงทะเบียนหน่วยบริการใน กทม. ก็คือต้องหาหน่วยบริการมารองรับ และตอนนี้ สปสช. เปิดรับหน่วยบริการเพิ่ม ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมที่เปิดเป็นบางช่วงเวลา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภายบำบัด และร้านยา ทั้งหมดนี้ประชาชนเลือกลงทะเบียนได้หมด โดยข้อมูลจะเชื่อมไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ในฐานะ Area Manager”นพ.จเด็จ กล่าว 

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็จะจัดทำกลไกการเงินการคลังมาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพต่างๆ ที่ทำใน Sandbox ไม่ว่าจะเป็น Mobile Unit เทเลเมดิซีน หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ร้านยา คลินิกพยาบาล ตู้คีออส เจาะแลปที่บ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณลงไปเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จ 

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องแอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่มีหลากหลายเต็มไปหมด สปสช.จะประกาศมาตรฐานกลางข้อมูลในวันที่ 1 เม.ย. 2566 นี้ โดยมี Gateway ที่ให้แอปฯต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อแล้วแปลงข้อมูลเข้าสู่ระบบบริการ ทำให้แม้แต่ละหน่วยบริการมีแอปฯ ของตัวเอง แต่ก็จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด รวมทั้งปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย สปสช. จะเปลี่ยน Call center เป็นศูนย์ส่งต่อให้ หากหน่วยบริการของ กทม. หาเตียงไม่ได้ สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 แล้ว สปสช.จะประสานหาโรงพยาบาลรับส่งต่อให้ เป็นต้น 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net