Skip to main content
sharethis

นักโทษที่ทหารพม่าจับกุมมาได้แล้วถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุนของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) ที่ก่อตั้งขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามการออกมาประท้วงเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

จอ วิน ผู้อำนวยการเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่า องค์กรสิทธิมนุษยชนพม่าที่มีสำนักงานอยู่ในสหราชอาณาจักรและเป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวเมียนมาร์นาว ระบุว่า "สมาชิกของ PDF บางคนถูกฆ่าทันทีที่มาถึง ขณะที่สมาชิกพรรค NLD หลายคนถูกฆ่า หลังจากถูกซ้อมทรมานไปแล้วระยะหนึ่ง"

จอ วิน ระบุด้วยว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่ปรากฎในฐานข้อมูลของกลุ่ม

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ซึ่งคอยติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิของเผด็จการทหาร พบข้อมูลตัวเลขการเสียชีวิตของนักโทษในระดับไล่เลี่ยกัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชนของ NUG ออง เมียว มิน กล่าวว่า "มีผู้เสียชีวิตหลังจากถูกทารุณกรรมในศูนย์สอบปากคำมากกว่า 200 คน เหยื่อหลายคนในจำนวนนี้ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ และล่วงละเมิดทางเพศก่อนการเสียชีวิต"

ออง เมียว มิน กล่าวอีกว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 35 ปี และในจำนวนนี้ มี ส.ส. พรรค NLD ถูกทารุณกรรมรวมอยู่ด้วย

ส.ส. คนหนึ่งที่เคยถูกจับกุมระหว่างการปฏิวัติจีวร เมื่อปี 2550 แบ่งปันประสบการณ์ของเขา ระบุว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร

"ผมถูกปิดตาทั้งวันทั้งคืนตลอด 3 วัน และถูกบังคับให้นั่งอยู่บนเก้าอี้สูงมากจนเท้าผมไม่สามารถแตะพื้นได้ บางครั้งพวกเขาเตะผมด้วยบู๊ตที่พวกเขาใส่ ผมถูกบังคับให้คุกเข่าบนก้อนหินและวัตถุมีคมขนาดเล็กต่างๆ ด้วย" ส.ส. ดังกล่าวแบ่งปันประสบการณ์

จากข้อมูลของเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพม่าพบว่าจากจำนวน 200 กว่ารายที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของทหาร 80 รายเสียชีวิตในแคว้นสะกาย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ส่งผลให้แคว้นดังกล่าวเป็นแคว้นที่มีการเสียชีวิตของนักโทษทางการเมืองมากที่สุด

ในเดือน ก.ค. ทีผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีนักโทษเสียชีวิตในแคว้นสะกายกว่า 28 ราย

"บางคนถูกฆ่า 2 หรือ 3 วันหลังการจับกุม แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ในบางกรณี ร่างของผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมในคืนก่อนถูกส่งคืนในเช้าวันต่อมา ครอบครัวบางครอบครัวไม่ได้รับร่างคืนด้วยซ้ำ" จอ วิน ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิกล่าว

ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือพลเรือนที่ต้องหนีออกจาภภูมิลำเนาของตนเอง เพราะปฎิบัติการทางทหารของเผด็จการทหารในแคว้นสะกาย ระบุว่าเหยื่อที่เสียชีวิตหลายคนไม่ได้ส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งระหว่าง NUG กับเผด็จการทหารด้วยซ้ำ

"คนส่วนใหญ่ที่ถูกฆ่าระหว่างการสอบสวนเป็นสมาชิกของกองกำลังปกป้องประชาชน แต่บางคนก็เป็นเพียงคนท้องถิ่นที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการต่างๆนานา ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน"

หนึ่งในกรณีตัวอย่างของการเสียชีวิตขณะการควบคุมตัวถูกหยิบขึ้นมานำเสนอโดยเมียนมาร์นาว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังผ่านการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 ไปได้ประมาณเดือนเศษ คิน มอง ลัต ผู้ว่าราชการเขตปาเบดังในเมืองย่างกุ้ง ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย NLD ถูกจับกุมโดยทหารในวันที่ 6 มี.ค. 64 ครอบครัวของเขาได้รับโทรศัพท์จากตำรวจเพื่อให้พวกเขาไปรับศพ หลังการจับกุมเพียงไม่กี่ชั่วโมง

สิตู มอง ส.ส. เขตปาเบดังของพรรค NLD เล่าว่าตำรวจไม่สามารถอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตได้ ทั้งที่มีการตรวจชันสูตรศพไปแล้ว

"กองทัพจับกุม คิน มอง ลัด แต่ตำรวจกลับไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา หรือไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว แต่มีร่องรอยการทารุณกรรมบนร่างกายของเขา" สิตู มองกล่าว

วันต่อมา (7 มี.ค.) ซอ มยัต ลิน สมาชิกพรรค NLD ที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนอาชีวะในเขตชเวปีธาร์ เสียชีวิตในลักษณะคล้ายกัน หลังถูกจับกุมไปได้ไม่ถึงวัน ร่างกายของเขาผิดรูปอย่างมากเพราะการบาดเจ็บ จนเผด็จการทหารข่มขู่ว่าจะ "ดำเนินการอย่างรุนแรง" กับผู้ใดก็ตามที่แสดงความเห็นว่าเขาถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิต

นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลายๆ คนเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน ในกรณีของคนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มจรยุทธ์ในเขตเมือง (urban guerrilla groups) สิตู มอง เล่าว่าบางกรณีไม่สามารถยืนยันอัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตได้ด้วยซ้ำ

"เราไม่รู้ชื่อของเหยื่อบางคนด้วยซ้ำ เนื่องจากเรารู้เพียงแค่นามแฝงที่พวกเขาใช้หลังจากพวกเขาเข้าร่วมการปฏิวัติ" สุติ มอง กล่าว "เราไม่รู้เลยว่าครอบครัวของพวกเขาเป็นใคร หรือพวกเขาอยู่ที่ไหน เรื่องแบบนี้กำลังเกิดบ่อยขึ้นในช่วงหลัง" เขากล่าว

อังคารที่ผ่านมา (6 ก.ย. 65) ผู้นำกลุ่ม PDF หน่วยหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐฉาน กลายเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการทหารรายล่าสุดที่เสียชีวิตจากการบาดเจ็บระหว่างการสอบสวน

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่าที่ผ่านมามีผู้ถูกจับกุมและกักขังอยู่ในเรือนจำ จากข้อหาต่อต้านเผด็จการทหารในพม่ากว่า 12,000 ราย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar’s junta has killed nearly 220 prisoners since coup, says watchdog

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net