Skip to main content
sharethis

เพจเฟซบุ๊กของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตือนอย่าแชร์ข่าวทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยเมียนมา แจงเป็นสะพานขนสิ่งของผิดกฎหมาย แม้องค์กรสิทธิเคยระบุแล้วว่าเป็นสะพานผู้ลี้ภัยจริง พร้อมมีข้อมูลรองรับ 

 

12 พ.ค. 2565 จากกรณีที่ฟอติฟายไรท์ (Fortify Rights) องค์กรสิทธิมนุษยชน เผยแพร่คลิปวิดีโอบนสื่อออนไลน์ เผยให้เห็นว่า ทหารไทยกำลังทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ วันนี้ (12 พ.ค.) ออกโรงเตือนว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นข่าวปลอม และขอความร่วมมือว่าอย่าแชร์ เนื่องจากกองทัพภาค 3 แจงแล้วว่า เป็นสะพานไม้ไผ่ลักลอบขนสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อ 4 พ.ค. 2564

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นเรื่องทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกองทัพบก กระทรวงกลาโหม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีคลิปวีดีโอระบุว่า ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ทางกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เส้นทางดังกล่าวไม่ใช่สะพานข้ามพรมแดน แต่เป็นเส้นทางชั่วคราวที่ลักลอบสร้างขึ้นเพื่อลำเอียงสิ่งผิดกฏหมาย โดยทางคณะทำงานทีมโฆษกกองทัพภาคที่ 3 ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนแล้ว เมื่อ 4 พ.ค. 65 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รื้อถอนสะพานไม้ชั่วคราวช่องทางธรรมชาติเนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันดูแลชายแดนและผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองทัพบก สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.rta.mi.th หรือโทร 0-2241-0404 , facebook : ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center twitter: armypr_news และแอปพลิเคชัน S.M.A.R.T. SOLDIERS

ย้อนดู ‘ภาค 3’ ชี้แจง

หลังจาก Fortify Rights เผยแพร่คลิปดังกล่าว เพจเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3’ โพสต์ข้อความเมื่อ 4 พ.ค. 2565 ชี้แจงคลิปวิดีโอว่า เจ้าหน้าที่รื้อถอนสะพานไม้ไผ่ชั่วคราวช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนจังหวัดตากนั้น เป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย และภาพในคลิปวิดีโอนั้นเป็นเหตุการณ์เมื่อ พ.ย. 2564 ซึ่งเริ่มก่อนจะมีเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ และกองทัพพม่า ตรงข้ามแม่สอด รัฐกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ ทางกองทัพภาค 3 ยังระบุด้วยว่าจะดูแลชายแดน และผู้หนีภัยความไม่สงบ หรือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

โพสต์ข้อความระบุว่า กองทัพภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ข่าวสารและข้อมูลเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ (Social Media) ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการจัดกำลังพลร่วมกับส่วนราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง และผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ เข้าดำเนินการรื้อถอนสะพานไม้ไผ่ (แบบชั่วคราว) จำนวน 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านวาเล่ย์ใต้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 (ยังไม่เกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และยังไม่มีกลุ่มหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาอพยพเข้ามายังฝั่งไทย) ซึ่งสะพานไม้ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย นำมาใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย ขอยืนยันเหตุรื้อสะพานไม้ ไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทยของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด และเป็นคนละห้วงเวลากัน ทั้งนี้ เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน เพื่อเป็นการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามกลุ่มขบวนการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดตาก/ศูนย์สั่งการชายแดนไทย จังหวัดตาก ในการระงับการเข้า-ออกของบุคคล และยานพาหนะ รวมทั้งสินค้าผ่านแดน เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) แต่อย่างใด

ปัจจุบัน (4 พฤษภาคม 2565) ในพื้นที่จังหวัดตาก มีพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว สำหรับกลุ่มหนีภัยความ  ไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) อยู่ในเฉพาะพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านเซอทะ, บ้านหนองหลวง, บ้านเลตองคุ และบ้านไม้ระยองคี มีจำนวน 1,547 คน โดย กองกำลังนเรศวร รับผิดชอบอำนวยการดูแล ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หรือผู้ลี้ภัย ร่วมกับศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก ได้ดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม มีรายละเอียดดังนี้

 1. ศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก, จังหวัดตาก, กองกำลังนเรศวร และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ตามหลักมนุษยธรรม

2. จัดแพทย์ พยาบาล จากกระทรวงสาธารณสุข เข้าดูแลและให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้เจ็บป่วยในพื้นที่

3. กองกำลังนเรศวร จัดกำลังพล และ ยุทโธปกรณ์ ในการดูแลรักษาความปลอดภัย สถานที่พักพิงของผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่

ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกองทัพบก และรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ขอยืนยันว่าจะดำรงตน เพื่อรักษาอธิปไตย, ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทยตลอดไป โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่าย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับด้วยความสมัครใจมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทหารไทยออกมาชี้แจง ทาง Fortify Rights ออกมาแถลงตอบโต้ ยืนยันว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวถ่ายเมื่อเดือน มี.ค. 2565 จริง และมีการตรวจสอบเมตะดาต้าแล้ว อีกทั้ง มีข้อมูลการสัมภาษณ์จากพยานที่ให้การยืนยันร่วมด้วย ไม่ใช่ภาพวิดีโอเมื่อ พ.ย. 2564 ตามที่กองทัพกล่าวอ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net