Skip to main content
sharethis

'ลูลา ดา ซิลวา' อดีตผู้นำฝ่ายซ้ายบราซิลให้สัญญาว่า ถ้าหากเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน ต.ค. 2565 นี้ เขาจะหยุดยั้งการทำเหมืองแร่อย่างผิดกฎหมายและหยุดยั้งการรุกล้ำที่ดินเขตสงวนที่เป็นของกลุ่มชนพื้นเมืองในบราซิล ซึ่งปัญหาที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้ต้องเผชิญเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลฝ่ายขวา 'จาอีร์ บอลโซนาโร'


ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีของบราซิล | แฟ้มภาพ: Wikipedia

15 เม.ย. 2565 'ลูลา ดา ซิลวา' อดีตประธานาธิบดีของบราซิลที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจากข้อกล่าวหาของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา หลังจากที่ศาลสูงสุดของประเทศตัดสินว่าลูลาไม่มีความผิด เขาก็ได้รับการปล่อยตัวและกลับมาลงสนามทางการเมืองอีกครั้ง

โดยในวันที่ 12 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ลูลา ก็ได้ไปเยือนค่ายผู้ประท้วงในกรุงบราซิลเลียที่มีกลุ่มชนพื้นเมืองหลายพันคนจาก 200 เผ่ากำลังชุมนุมเพื่อต่อต้านแผนการของประธานาธิบดีขวาจัด จาอีร์ บอลโซนาโรที่อนุญาตให้มีการรุกล้ำที่ดินของกลุ่มชนพื้นเมืองเพื่อทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ทำเหมืองแร่ และทำการขุดเจาะหาน้ำมัน

ลูลา ให้สัญญาว่ารัฐบาลพรรคแรงงานบราซิลจะทำการยกเลิกคำสั่งทุกอย่างของรัฐบาลบอลโซนาโรที่อนุญาตให้มีการเข้าไปทำลายผืนป่าอเมซอนซึ่งเปรียบเสมือนปอดของโลก รวมถึงทำให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่ของกลุ่มชนพื้นเมืองเหล่านี้

"ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลนี้ (รัฐบาลบอลโซนาโร) มีคำสั่งออกมาในเชิงต่อต้านกลุ่มชนพื้นเมืองจะต้องถูกยกเลิกโดยทันที" ลูลากล่าว

"ไม่มีใครทำให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองมากกว่าพวกเรารัฐบาลพรรคแรงงานอีกแล้ว และในตอนนี้ทุกอย่างก็ถูกรื้อทำลายทิ้งโดยรัฐบาลที่ไร้ยางอายรัฐบาลนี้" ลูลากล่าวท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้คน

ลูลาเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลในช่วงสมัยปี 2546-2553 สมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีมีการบริหารโดยเน้นโครงการเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยการจัดให้มีเขตสงวนและเขตอนุรักษ์สำหรับกลุ่มชนพื้นเมืองตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ดีมาก

แต่ในยุคสมัยของรัฐบาลขวาจัดของ จาอีร์ บอลโซนาโร ก็มีการดำเนินนโยบายในทางตรงกันข้าม เขาเคยให้สัญญาไว้เมื่อปี 2561 เขาว่าจะไม่ยอมรับในเรื่องพื้นที่เขตสงวนของกลุ่มชนพื้นเมือง ทำให้บอลโซนาโรได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเกษตรเชิงพาณิชย์ที่มีอำนาจที่ทำการล็อบบีรัฐบาลบราซิล

ทางการบราซิลระบุว่ามีการทำเหมืองแร่อย่างผิดกฎหมายเกิดมากขึ้นในเขตพื้นที่ป่าอเมซอน ในช่วงเดียวกับที่ราคาทองกำลังสูงขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และในปี 2564 การทำเหมืองแร่ก็ได้ทำลายพื้นที่ป่าอเมซอนของบราซิลไปถึง 125 ตร.กม.

บราซิลกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในวันที่ 2 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ผลโพลจากเอฟเอสบี เปสกิซา ที่ทำการสำรวจไว้เมื่อกลางเดือน มี.ค. ระบุว่าลูลามีโอกาสชนะในรอบแรกของการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 43 ต่อร้อยละ 29

ทั้งนี้ เหล่าผู้นำกลุ่มชนพื้นเมืองยังได้เรียกร้องให้ให้ลูลาจัดตั้งหน่วยงานด้านกิจการชนพื้นเมืองของรัฐบาลที่เรียกว่า "ฟูไน" (FUNAI) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลบอลโซนาโรทำการตัดงบประมาณและปลดคณะทำงานขององค์กรนี้ออกหมด

โจเนีย วาปิชานา ผู้แทนของกลุ่มชนพื้นเมืองคนเดียวในรัฐสภาบราซิลกล่าวว่าสิทธิของพวกเขาถูกย่ำยีในยุคสมัยบอลโซนาโร เธอบอกอีกว่าภายใต้รัฐบาลบอลโซนาโรมีการอนุญาตให้มีการยึดครองที่ดินที่เป็นเขตสงวนสำหรับชนพื้นเมืองซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และการทำเหมืองแร่ก็ได้ส่งผลให้มีการรุกล้ำทำลายป่ารวมถึงทำให้แม่น้ำเป็นพิษ

มีรายงานที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า ในปี 2564 มีการทำเหมืองแร่อย่างผิดกฎหมายในเขตสงวนยาโนมามิเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากการที่ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นและการสนับสนุนจากรัฐบาลบอลโซนาโรทำให้เกิดการตื่นทอง มีคนเข้าไปขุดทองเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาโรคระบาด ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กลุ่มทำเหมืองแร่อย่างผิดกฎหมายในบราซิลยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับแก็งค์อาชญากรรมอีกด้วย ซึ่งกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนชนพื้นเมืองหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงโจมตีคนในพื้นที่ รวมถึงทำให้แม่น้ำเป็นพิษด้วยการใช้สารปรอทในการแยกทองออกจากตะกอน

"ยาโนมามิ" เป็นชื่อกลุ่มชนพื้นเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดกลุ่มหนึ่งที่มาจากป่าอเมซอน พวกเขาพูดถึงผลพวงจากการที่คนเข้ามาทำเหมืองแร่อย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ของพวกเขาอีกว่า กลุ่มคนทำเหมืองเหล่านี้นำยาเสพติดและแอลกอฮอล์มาให้กับชาวยาโนมามิจากนั้นก็ทำการล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนผู้หญิงชาวยาโนมามิรวมถึงเด็กผู้หญิงด้วย

นอกจากนี้ชาวยาโนมามิยังเปิดเผยอีกว่าคนทำเหมืองมักจะขอมีเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับการให้อาหารพวกเขา มีอยู่รายหนึ่งถึงขั้นจัดการให้มี "การแต่งงาน" กับเด็กหญิงวัยรุ่นเพื่อแลกกับ "สินค้า" บางอย่างที่เขาไม่เคยเอามาส่งให้จริงอย่างที่สัญญาไว้

โซเนีย กัวจาจารา ประธานองค์กรเพื่อกลุ่มชนพื้นเมืองบราซิล APIB กล่าวว่าด้วยสภาพการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ทำให้มีชาวพื้นเมืองสมัครลงชิงตำแหน่งในสภามากเป็นประวัติการณ์คือจำนวนมากกว่า 30 ราย


เรียบเรียงจาก
Brazil’s Lula promises to stop illegal mining on Indigenous lands, Aljazeera, 12-04-2022

ข้อมูลเพื่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Luiz_In%C3%A1cio_Lula_da_Silva

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net