Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.

ในช่วงเหตุการณ์หลังกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ – เรื่อยมา มีการก่อตัวขึ้นอีกครั้งของขบวนการนักศึกษาในประเทศไทยเหตุจากความไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับบริบทการครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เกิดการชุมนุมน้อยใหญ่ขึ้นในหลายพื้นที่ และในหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย ดูเหมือนว่าในขณะที่ประเทศสูญสิ้นอนาคตใหม่ กลับมีการลุกฮือของนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศด้วยความหวังของคนรุ่นใหม่เข้ามาแทน

สิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หนึ่งในข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอก นำไปสู่การพังทลายของจารีตทางความคิดเห็นตามจารีตต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้ง งบประมาณแผ่นดินที่สถาบันกษัตริย์ได้รับการจัดสรร, การออกกฎหมายใหม่ที่ทำให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินสาธารณะ) รวมอยู่กองเดียวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์(ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์) เป็นต้น ….ทำให้การแสดงความคิดเห็นหรือตั้งข้อสงสัยต่อสถาบันกษัตริย์อบอวนอยู่ในกระแสแห่งมวลชน โดยไม่จำเป็นต้องกระซิบกันในที่ลับอีกต่อไป,

ในขณะที่การเมืองภาพใหญ่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ทางภาคประชาชนก็เอนเอียงไปในทางที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และดูเหมือนนิสิตนักศึกษาจะมีส่วนสำคัญไม่น้อย แต่เมื่อมองกลับไปที่สถาบันอุดมศึกษา กลับมีสถาบันกษัตริย์แทรกซึมอยู่ทุกระเบียบ ไม่เพียงแค่การอัญเชิญเจ้ามาให้ปริญญา หรือการให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่เจ้าเพื่อเป็นเสริมความศักดิ์สิทธิ์แก่หลักสูตรนั้นๆ แต่หมายถึงการแทรกซึมเครือข่ายความสัมพันธ์อันเป็นองคาพยพขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทั้งหมดด้วย, เครือข่ายนี้เสนอภาพให้เห็นว่า ใครเป็นใครและทำอะไร มีตัวมีตนอยู่ที่ตรงไหนของสังคม อาทิ องคมนตรี อย่างเกษม วัฒนชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นรุ่นพี่คณะแพทยศาสตร์ ของนิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปัจจุบัน และพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น “….บุคคลที่กล่าวมาอาจจะดำรงตำแหน่งด้วยความสามารถก็ได้ แต่ทันทีที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อหาว่าใครจะเหมาะสมกับตำแหน่งอธิการบดีสมัยต่อไปขึ้นมา อยู่ๆ พงษ์รักษ์ ก็ลาออกจากรองอธิการบดี และถูกเสนอชื่อ แม้จะมีผู้ถูกเสนอชื่ออยู่หลายคน แต่คณะกรรมการสรรหาฯ. ก็เสนอชื่อพงษ์รักษ์ ต่อสภามหาวิทยาลัยแค่รายชื่อเดียว นี่คือความคลางแคลงใจ, ในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย มีใครสักกี่คนในมหาวิทยาลัยรู้ถึงรายละเอียดในกระบวนการลี้ลับนี้บ้าง?….” หรือ การดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย, อธิการบดีมหาวิทยาลัย กระทั่งตำแหน่งทางวิชาการ อย่าง ศาสตราจารย์ ก็ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ. แต่งตั้ง ทำไม?!

นี่คือสายสัมพันธ์โครงข่ายขององคาพยพใต้ร่มเงาสถาบันกษัตริย์ ที่ได้แผกระจายไปทั่วสถาบันอุดมศึกษา แต่การตื่นรู้ของนิสิตนักศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก ค่อนไปในทางที่ถูกละเลยเสียด้วยซ้ำไป แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้คงไม่สนุกปากเหมือนชายใส่ค็อปท็อปและเรื่องเริงรมย์ริมสระ ว่าไปแล้ว เรื่องนี้ก็ประหนึ่งเรากำลังตื่นตัวกับเพดานที่พังลงมา แต่ไม่ได้ตื่นรู้ที่จะกลับไปค้นคุ้ยปัญหาใต้พรมที่ยืนเหยียบ ทำไม?!

จริงๆ แล้วนิสิตนักศึกษาเชื่อมั่นในขบวนการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน หรือ เชื่อมั่นบ้างไหม?? หรือ จริงๆ แล้วก็มีความต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั่นแหละ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร??

2.

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา…. ฝ่ายกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต และตัดคะแนนความประพฤติ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ พิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ เพราะเชิญ พริษฐ์ ชีวารักษ์, ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มาร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้นิสิตใหม่ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพ รวมไปถึงส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัย, แล้ว พริษฐ์ ก็เซอร์ไพร์สชวนนิสิตใหม่ ‘แจกควย’ ให้ผู้บริหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่านี่เป็นการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และ เนติวิทย์ ในฐานะมีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานของสโมสรฯ. ถูกกล่าวหาโดยมหาวิทยาลัยว่ารู้เห็นเป็นใจและจงใจที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ตรวจสอบกิจกรรม การตัดคะแนนความประพฤติจึงมีผลทำให้ เนติวิทย์ พ้นจากตำแหน่งในที่สุด…. คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า เนติวิทย์ผิดจริงไหม? แต่ต้องถามว่า นิสิตจุฬาฯ. เห็นว่าเนติวิทย์ผิดไหม! ตำแหน่งที่เนติวิทย์ได้ มาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาฯ. หากเนติวิทย์จะผิดก็ต้องเป็นการตรวจสอบโดยนิสิต แล้วจะให้นิสิตตรวจสอบอย่างไร? ก็ด้วยสภานิสิต ซึ่งเป็นผู้แทนนิสิตและทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานของสโมสรอยู่แล้ว ถ้าจะผิดก็ต้องผิดด้วยการตรวจสอบของสภา!! ไม่ใช่การสั่งการของมหาวิทยาลัย

นี่ทำให้เห็นถึงอะไร? ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีความพยายามที่จะแทรกแซงกิจการของนิสิตนักศึกษา และการแทรกแซงทำนองนี้เกิดขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย เพราะองค์การนิสิตนักศึกษาทุกแห่งอยู่ภายใต้ส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยกำกับควบคุม คือ กองพัฒนานักศึกษา หรือสำนักบริหารกิจการนิสิต (อาจจะเรียกกันต่างออกไปในแต่ละมหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมประเพณีทำให้คนมีตำแหน่งในองค์การนิสิตนักศึกษาเป็นประหนึ่งแรงงานในการทำงานประชาสัมพันธ์ให้มหาวิทยาลัย ไม่ว่ากิจกรรมจะลิเบอเรทสักแค่ไหน ก็คือกิจกรรมที่คิดไว้แล้วว่าจะถูกนำไปใช้โฆษณาให้มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน มช. ได้นำภาพการชุมนุมทางการเมืองที่จัดโดยนักศึกษา ไปใช้ทำรายงานว่า มช. สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา ในขณะที่วันชุมนุมซึ่งมีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ รองอธิการก็โทรฯ. มาขู่กับนักศึกษาว่าจะตัดไฟ

หากถามว่า สำนักบริหารกิจการนิสิต ทำถูกต้องไหม ก็ต้องตอบว่าอาจจะถูกต้องตามระเบียบ เพราะมีระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศมหาวิทยาลัยให้อำนาจไว้ และนี่คือการพยายามเข้ามาควบคุมจัดการของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนที่สุด องค์การนิสิตนักศึกษาถูกควบคุมด้วยระเบียบเหล่านี้ ….แล้วนิสิตนักศึกษาจะไปทำอะไรได้? ก็คือ ต้องต่อต้านสุดกำลังเท่านั้น! ยอมรับไม่ได้!! แม้แต่การยอมรับเพียงน้อยนิดก็คือการยอมรับให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการควบคุมจัดการ และการสั่งการของมหาวิทยาลัย คือการแสดงแสนยานุภาพว่ามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการจัดการกิจการขององค์การนิสิตนักศึกษา หรือก็คือ อำนาจในการจัดการตนเองขององค์การนิสิตนักศึกษาอย่างเป็นอิสระนั้นไม่มีอยู่จริง “การหยิบยกเรื่องของสโมสรนิสิตจุฬาฯ. ขึ้นมาก็เพื่อให้เห็นว่า หากจะมีการตรวจสอบความผิดในการทำหน้าที่ ก็ควรมาจากการถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรนิสิต ไม่ใช่คำสั่งมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังต้องการชี้ให้เห็นว่า ในมหาวิทยาลัยเองก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ต่างอะไรไปจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสรนิสิตจุฬาฯ. กระทบต่อเสถียรภาพขององค์การนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศ –การกระทำครั้งนี้ของจุฬาฯ. กำลังปลุกระดมความเหลิงอำนาจให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไปด้วย ยิ่งในบริบทที่มีความพยายามต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ และกระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่หวาดผวาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อสถานะโปรดเกล้าของตน การที่องค์การนิสิตนักศึกษาจะถูกมหาวิทยาลัยควบคุมอย่างเข้มงวดจึงเป็นสิ่งที่ตามมา เพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษามีกำลังในการออกมาเรียกร้องต่อรัฐและเสนอความเห็นในประเด็นดังกล่าว, แม้จะขัดต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยควรจะคุ้มครองในฐานะพื้นที่สุดท้ายอันจะละเมิดเสรีภาพทางวิชาการไปไม่ได้ กลับกันมหาวิทยาลัยก็เลือกจะธำรงไว้ซึ่งสถาบันทางการศึกษาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐและสถาบันกษัตริย์ พร้อมที่จะลิดรอนสิทธิของนักศึกษา การใช้อำนาจของมหาวิทยาลัยและความไม่มีเสถียรภาพขององค์การนิสิตนักศึกษานี่เองที่หล่อเลี้ยงให้ความฉิบหายเหล่านี้มีชีวิตและเติบโต วันดีคืนดี มหาวิทยาลัยอาจจะใช้การลงโทษทางวินัยกับนักศึกษาเพื่อควบคุมกิจกรรมทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยก็ได้….

มายาคติคร่ำครึที่เข้าใจว่า ชาติ คือ กษัตริย์ ได้ถูกทำความเข้าใจใหม่แล้วว่า ชาติ ก็คือ ประชาชน ในทำนองเดียวกัน เราจะต้องเลิกคิดกันได้แล้วว่า องค์การนิสิตนักศึกษา คือ อำนาจของมหาวิทยาลัยที่ทำเป็นว่ามอบให้นิสิตนักศึกษาใช้ได้อย่างอิสระ เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า องค์การนิสิตนักศึกษา ก็คือ นิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่ได้รวมตัวกัน! –องค์การนิสิตนักศึกษา เป็นของนิสิตนักศึกษาเท่านั้น!!

แล้วเรามีความหวังอะไร?? 

เรามักคิดว่า นิสิตนักศึกษานั้นอายุสั้น เพียง 4-6 ปี ก็ถือว่าหมดอายุไปแล้ว ก็ใช่! ถ้าในฐานะนิสิตนักศึกษา แต่ไม่ใช่ในฐานะของความเป็นนิสิตนักศึกษา เพราะความเป็นนิสิตนักศึกษาจะดำรงอยู่จนกว่ามหาวิทยาลัยจะล่มสลาย อย่าลืมว่าเด็กที่เพิ่งจะเกิดในปีนี้ ก็คือ นิสิตนักศึกษา ในอีก 18 ปีข้างหน้าด้วย ….หากเราเคยตั้งคำถามว่า คนรุ่นก่อนเราสร้างประเทศมาอย่างไร ทำไมเราถึงจะต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ เราก็ควรจะตั้งคำถามว่า ในฐานะความเป็นนิสิตนักศึกษาเรากำลังส่งต่อมหาวิทยาลัยแบบไหนให้นิสิตนักศึกษาในอีก 18 ปีข้างหน้า เรากำลังสร้างชะตากรรมแบบไหนให้พวกเขา การเปลี่ยนแปลงอยู่ในเงื้อมมือเราทั้งหมด มีแต่เราเท่านั้นที่จะทำสิ่งนี้ได้

แม้นิสิตนักศึกษาจะเป็นความหวังของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง สะท้อนให้เห็นโดยทั่วกันด้วยการตื่นตัวทางการเมืองจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะชูเรื่องประเด็นเสรีภาพทางวิชาการในพื้นที่มหาวิทยาลัย แนวคิดเรื่องคนเท่ากัน-สังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม มีการผนึกกำลังกันระหว่างนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเห็นได้จากที่มีนิสิตนักศึกษาลงเล่นสนามการเมืองของนิสิตนักศึกษา มีพรรคนิสิตนักศึกษาที่ชูประเด็นเพื่อความเปลี่ยนเปลี่ยงในการลงสมัครรับเลือกตั้งสโมสรนิสิตนักศึกษา และสภานิสิตนักศึกษา กระจายทั่วไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ

3.

แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากการออกมารวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มหาวิทยาลัยไม่ได้รับการสนับสนุนจากนิสิตนักศึกษาโดยรวม 

จากข้อมูลของเพจสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 8 มีนาคม 2565 อัพเดทข้อมูลสถิติผู้มาตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำนักศึกษา อ.มช. ปีการศึกษา 2565 มีนักศึกษาให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพียง 3,636 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 29,417 รายชื่อ หรือคิดเป็น ร้อยละ 12.36 ….ข้อมูลนี้อาจยังบอกไม่ได้ว่า นักศึกษา มช. ไม่ได้ให้ความสนใจการเมืองนักศึกษา เพราะจากตัวเลขเป็นเพียงสถิติผู้มาตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่สถิติการออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้ง

แต่เมื่อกลับไปดูสถิติการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

  • ในปีการศึกษา 2564 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 47.17% หรือ 13,466 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 28,811 รายชื่อ
  • ในปีการศึกษา 2563 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 48.61% หรือ 13,466 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 27,703 รายชื่อ
  • ในปีการศึกษา 2562 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 55.48% หรือ 14,799 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 26,674 รายชื่อ
  • ในปีการศึกษา 2561 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 49.72% หรือ 13,180 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 26,507 รายชื่อ
  • ในปีการศึกษา 2560 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 49.68% หรือ 13,520 รายชื่อ จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 27,212 รายชื่อ
  • ในปีการศึกษา 2559 นักศึกษามาใช้สิทธิ์ 55.98% หรือ 15,090 รายชื่อ

จากจำนวนนักศึกษาที่มีสิทธิทั้งหมด 26,954 รายชื่อ

(ข้อมูลจากเพจ งานพัฒนาทักษะชีวิต กองพัฒนานักศึกษา มช. - กิจกรรมเสริมหลักสูตร : https://web.facebook.com/activityCMU/photos/a.610496148997917/3647360365311465/)

สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559-2564 น่าตกใจอยู่ไม่น้อยที่นักศึกษาราวๆ ครึ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจในการเลือกตั้งผู้นำนักศึกษาและผู้แทนนักศึกษาของตน อาจจะด้วยภารกิจธุระในวันเลือกตั้ง หรือ ถึงจะเลือกไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือไม่ได้เชื่อมั่นในผู้นำและผู้แทนของตนก็ไม่สามารถทราบได้

จึงเป็นเรื่องท้าทาย ต่อผู้ที่ลงสนามการเมืองนักศึกษาสำหรับการนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ ในฐานะว่าที่สโมสรนักศึกษา สำหรับการเรียกคืนความเชื่อมั่นในระบบตัวแทนตามวิถีประชาธิปไตย ทั้ง พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ และ พรรคนักศึกษา 12 ประสาน 

และในปีนี้ มช. ได้เกิดการจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา ในชื่อ House of Commons for CMU Students ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อน เพราะ มช. ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามส่วนตัว, การรวมกลุ่มได้ประชาสัมพันธ์หาเสียงเสนอนโนบายในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย และวิสัยทัศน์ในการรื้อถอนโครงสร้างระบบระเบียบที่ทำให้สภานักศึกษาไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ อีกทั้งยังเสนอให้สภานักศึกษามีอำนาจในการตรวจสอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งมีความน่าสนใจและท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะการลงสมัครรับเลือกตั้งสภานักศึกษาในนามส่วนตัวนั้น ทำให้หลายครั้งๆ การทำงานมาจากจุดประสงค์ส่วนตัว แต่การรวมกลุ่มนั้นมีความสำคัญในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การเรียกร้องของนักศึกษาบรรลุผลตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ ….สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ใน มช. และมาพร้อมกับความตั้งใจในการสร้างองค์การนักศึกษาให้มีความเข้มแข็ง มีอำนาจที่เป็นอิสระจากการสั่งการของมหาวิทยาลัย และปฏิบัติการในนามนักศึกษาโดยแท้จริง  จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง สำหรับการเมืองนักศึกษา ใน มช. ปีนี้ ว่า นักศึกษาโดยรวมให้ความสนใจและคิดเห็นอย่างไร ต่อ ผู้นำและผู้แทนของตน

อย่างไรก็ดี ความหวังในการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ในเงื้อมมือของใครผู้ใดผู้หนึ่ง ในประชาคมที่ก่อกำเนิดจากผู้คนมากมาย เมื่อองค์อธิปัตย์ถูกโค้นล้มลงและไม่มีใครอ้างสิทธิอำนาจเหนือใครอีก ก็เหลือเพียงผู้คนทั่วไปเท่านั้น ในเมื่อนักศึกษาต้องการที่จะออกแบบชีวิตของตนในมหาวิทยาลัยและวางรางฐานในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อคนรุ่นหลัง ก็เป็นความท้าทายของนักศึกษาด้วยกันเอง ในการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง, 14 มีนาคม 2565 นักศึกษา มช. ทั้งหลาย ไปเลือกตั้งกันเถอะ!!

จบ.

การต่อสู้ต่อต้าน ก็คือ การต่อสู้ต่อต้านทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการเมืองภาพใหญ่ในระดับประเทศเท่านั้นที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่การเมืองในระดับส่วนย่อยอย่างมหาวิทยาลัยเองก็มีปัญหาเชิงโครงสร้าง หากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ การเปลี่ยนแปลงในระดับส่วนย่อยทางสังคมเองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่….เราไม่อาจต่อสู้เพื่อให้การลงมือลงแรงของเราถูกละเลยไปตามกาลเวลา การลงมือลงแรงของเราย่อมจะต้องทำให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการจัดการเชิงระบบโครงสร้างไปพร้อมๆ กับการลุกฮือที่เกิดขึ้นอย่างเดือดดาลในการกำหราบทรราชย์ให้สิ้นซาก

การเมืองนักศึกษา มช. อาจจะส่งผลกระทบต่อการเมืองนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศเลยก็ได้ เหมือนๆ กับความเปรี้ยวจี๊สสส ว๊าวซ่า ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา มช. ที่ล้อเล่นป่วนประสาทความหวานจริงของผู้บริหาร มช. ทั้งผู้บริหารแอบเก็บงานนักศึกษาไปทิ้ง-นักศึกษาก็แจ้งความกลับ ผู้บริหารไม่ให้ใช้หอศิลป์-นักศึกษาก็รวมตัวกันยึดหอศิลป์ ผู้บริหารไม่สนใจช่วยเหลือ-นักศึกษาก็บุกตึกหน้า(ตึกสำนักงานอธิการฯ.)ตามล่าหาผู้บริหารว่าทำงานอย่างไรให้ล่าช้าผะอืดผะอม เป็นต้น การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่และผู้กดขี่เกิดขึ้นตลอด เหมือนการต่อสู้ของแรงงานกับนายทุน และการต่อสู้ของสภาสามัญชนที่ต่อสู่กับสภาขุนนางและพวกเจ้าให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเอง…. House of Commons ซึ่งเป็นชื่อเรียก สภาผู้แทนราษฏรของอังกฤษ ก็อาจจะหมายถึงการต่อสู้ของนักศึกษาที่ต้องการจะหลุดพ้นจากอำนาจการสั่งการของมหาวิทยาลัย และต้องการที่จะกำหนดชะตากรรมชีวิตของตัวเอง ก็คงเหมือน กับช่วงเริ่มใน le Tiers ของ Sieyes ที่ได้เขียนถึงสภาฐานันดรที่ 3 (สภาสามัญชนของฝรั่งเศส) ว่า

ข้อแรก อะไร คือ ฐานันดรที่ 3? 
….คำตอบคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง 

ข้อสอง จนกระทั่งบัดนี้ ฐานันดรที่ 3 มีอะไรบ้างในระเบียบการเมือง? 
….คำตอบคือ ไม่มี 

ข้อสาม ฐานันดรที่ 3 ต้องการอะไร? 
….คำตอบคือ ต้องการอะไรสักอย่าง

ความเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่หมายถึงผู้อุปถัมภ์กิจการของมหาวิทยาลัย ที่จนกระทั่งบัดนี้ไม่เคยได้มีตัวมีตนหรือได้รับการแยแสจากมหาวิทยาลัย กำลังต้องการอะไรสักอย่าง…. และอะไรสักอย่างที่ว่า อาจจะหมายถึง การยึดคืนมหาวิทยาลัยให้รักษาเสรีภาพและรับใช้เพื่อประชาชน นักศึกษานี่แหละที่จะขับเคลื่อนสิ่งนี้ – ผู้บริหารอย่ามาอ้างว่าทำไม่ได้ ถ้ารักษาเสรีภาพไว้ไม่ได้ ก็ลาออกไป!!


หมายเหตุ:
บทความเดิมชื่อ จะ(จบที่รุ่นเรา)ไหม?! มองย้อนกรณีสั่งปลดนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ. มองหาความหวังในการเมืองนักศึกษา มช.

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net