Skip to main content
sharethis

หลังจากที่สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เปิดการประชุมนัดพิเศษเพื่อหาทางออกปัญหาการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ผู้แทนประเทศสมาชิกกว่า 115 ประเทศทยอยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แสดงจุดยืนต่อร่างข้อตกลงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยชาติสมาชิกส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยูเครน ด้านฟิลิปปินส์-มาเลเซีย ประกาศจะโหวต 'เห็นชอบ' ร่วมกับชาติตะวันตกเพื่อประณามรัสเซียและสั่งให้รัสเซียหยุดโจมตียูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ไทย เวียดนาม บรูไน สงวนท่าที ส่วนเกาหลีเหนือชี้ชัด ประณามสหรัฐฯ หนุนรัสเซีย 

2 มี.ค. 2565 ในช่วงคืนวันนี้ตามเวลาไทย ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายวันเดียวกันในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมพิเศษสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) เตรียมโหวตลงมติประณามรัสเซียจากกรณีใช้กำลังทหารบุกรุกรานยูเครน เป็นเหตุให้หลายประเทศร่วมกันดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวรัสเซียทางการทูต นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติยังเตรียมโหวตลงมติออกคำสั่งให้รัฐบาลรัสเซียหยุดการสู้รบและถอนกำลังทหารออกจากยูเครนในคืนนี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงเย็นวานนี้ (1 มี.ค. 2565) ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก ประเทศสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติเกือบครึ่งจาก 193 ประเทศได้ลงนามเป็นผู้ร่วมสนับสนุนในร่างข้อตกลงแก้ไขปัญหา ซึ่งจะมีการลงมติอย่างเป็นทางการในวันนี้ ร่างข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาประณามการรุกรายยูเครนของรัสเซีย และมีเนื้อหาคล้ายกับร่างข้อตกลงแก้ไขปัญหาโดย 15 ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งถูกรัสเซียใช้สิทธิวีโต้จนร่างถูกตีตกไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ข้อเรียกร้องที่สำคัญในร่างข้อตกลงการแก้ไขปัญหาของ UNSC คือ คำสั่ง “ให้รัสเซียต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากดินแดนยูเครนที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข” อย่างไรก็ตาม ร่างข้อตกลงแก้ไขปัญหาของ UNGA นั้นไม่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกถาวรใช้สิทธิวีโต้ได้ แต่ร่างข้อตกลงฉบับนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากประเทศสมาชิกทั้งหมดจึงจะถือว่ามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และรัสเซียไม่สามารถร่วมลงมติได้เพราะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

“สงครามของรัสเซียสร้างความจริงแบบใหม่ มันทำให้เราทุกๆ คนต้องมีจุดยืนที่มั่นคงและตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ และต้องเลือกข้าง” อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวในที่ประชุม

แม้ว่าการลงมติในข้อตกลงการแก้ไขปัญหาในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติจะไม่มีผลผูกมัด แต่การลงมติของแต่ละประเทศส่งผลต่อน้ำหนักทางการเมือง ซึ่งคาดว่าจะมีประเทศสมาชิกหลายสิบประเทศขอใช้สิทธิ ‘งดออกเสียง’ หรือไม่เข้าร่วมการลงมติใดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการลงมติตามที่ประชุม UNSC มี 3 ประเทศที่ลงมติงดออกเสียง คือ จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

“เราต้องเหลือพื้นที่ให้เส้นทางทางการทูต ที่ประชุมควรเปิด[โอกาส]และประเทศเหล่านั้นที่งดออกเสียงก็มีช่องทาง[ติดต่อ]กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และจะใช้ช่องทางพวกนั้นเพื่อช่วยและสนับสนุนในแบบที่เราทำได้” ลานา นุสเซเบห์ เอกอัครราชทูต UAE ประจำ UN กล่าว

ขณะที่ผู้แทนเกาหลีเหนือกล่าวในที่ประชุมว่ารากเหง้าของปัญหาเกิดจากสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ที่บ่อนทำลายสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในยุโรปด้วยการท้าทายคำสั่งที่สมเหตสมผลของรัสเซียเรื่องการรับประกันด้านความมั่นคงตามกฎหมาย รวมถึงการขยายอิทธิพลขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO สู่ทางตะวันออก พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติทบทวนท่าทีต่อการบุกอิรัก อัฟกานิสถาน และลิเบียของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆ เช่นเดียวกับการเรียกร้องเพื่อยูเครน

ผู้แทนไทยพูดอะไรในการประชุม UNGA

ในการประชุมด่วนสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้ มี 115 ประเทศจากสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อแสดงจุดยืนต่อการที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน เสียงส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนชาวยูเครน ยุติการใช้อาวุธและความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ และต้องหันมาใช้วิธีการทางการทูต นอกจากนี้ บางประเทศยังประกาศในที่ประชุมว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนในด้านต่างๆ เช่น เปิดรับผู้ลี้ภัย ส่งอาหารให้ประชาชนยูเครน หรือส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทหารยูเครน เป็นต้น

สำหรับผู้แทนไทยที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวในการประชุมเมื่อวานนี้ คือ สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ โดยเขากล่าวประณามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และระบุว่าคณะผู้แทนไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพลเมืองชาวยูเครน ประเทศไทยยังมีข้อผูกพันกับหลักการว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการระงับยับยั้งการใช้กำลังทหารต่อประเทศอื่น สุริยากล่าวเพิ่มเติมว่าความรุนแรงที่ต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก จึงเรียกร้องให้ยุติการเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างกัน รื้อฟื้นการเจรจา และทางออกที่ยั่งยืนของปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นผ่านองค์การสหประชาชาติ โดยใช้กลไกลที่มีอยู่ พร้อมกันนี้ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติยังกล่าวด้วยว่าประเทศไทยยินดีให้เกิดการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และเชื่อว่าเส้นทางแห่งสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันจะเป็นจริงในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวานนี้ (1 มี.ค. 2565) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าขณะนี้ประเทศไทยอาจต้องปรับท่าทีเรื่องความขัดแย้งในยูเครน เพราะทราบดีว่ามีการประณามเยอะอยู่แล้ว จึงต้องหาจุดที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ควรประณามเพียงอย่างเดียว พร้อมระบุว่าไทยมีช่องทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยไทยเป็นมิตรและสามารถคุยได้กับคนทั้งโลก คุยได้ทั้งสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่คุยแล้วจะมีน้ำหนักแค่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ บางกอกโพสต์และ The Thaiger รายงานว่า เยฟเกนี โตมีฮิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กงสุลรัสเซียประจำ จ.ภูเก็ต เดินทาเข้าพบพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการจัดตั้งเมืองคู่แฝดระหว่าง จ.ภูเก็ตและเมืองคัมชัตคา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของพื้นที่ไซบีเรียของรัสเซีย โดยเฟซบุ๊กเพจ ปชส.จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ จ.ภูเก็ต ได้รายงานข่าวนี้ด้วยเช่นกัน

ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย กล่าวชัด ร่วมโหวตประณามรัสเซีย

ด้านเอนริเก ออสเตรีย มาลาโน ผู้แทนฟิลิปปินส์ประจำสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมว่าฟิลิปปินส์จะโหวตเห็นชอบกับร่างข้อตกลงแก้ไขปัญหาของ UNGA และกล่าวประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันปกป้องพลเมืองและบ้านเรือนของประชาชนชาวยูเครน และต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผู้แทนฟิลิปปินส์กล่าวอีกว่าทุกประเทศล้วนมีสิทธิในอำนาจอธิปไตยของตนในทุกพื้นที่แห่งขอบเขตของกฎหมาย และขอประณามแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนหรือการแยกตัวเป็นอิสระที่ใช้อาวุธมาเป็นเครื่องมือ เพราะมันนำมาสู่ความรุนแรง ความโหดร้าย และการเข่นฆ่าโดยขาดการไตร่ตรอง ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ขอให้ทุกประเทศยึดหลักข้อตกลงตามปฏิญญามะนิลา พ.ศ.2525 เรื่องแนวทางการแสวงหาสันติภาพในความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Rappler รวมถึงสำนักข่าวอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับเต็มของผู้แทนฟิลิปปินส์แห่งสหประชาชาติ ซึ่งรับรองโดยโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แม้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไม่มีการเอ่ยชื่อรัสเซียออกมาตรงๆ แต่ในแถลงการณ์ระบุชัดเจนว่าฟิลิปปินส์จะโหวต “เห็นด้วย” กับมติของ UNGA และประณามการใช้อาวุธรุกรานประเทศอื่นเพื่อแบ่งแยกดินแดน รวมถึงสนับสนุนให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

จากแถลงการณ์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่ผู้แทนฟิลิปปินส์กล่าวในที่ประชุมพิเศษ UNGA ทำให้ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมประณามการกระทำของรัสเซีย เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและสิงคโปร์ที่มีแถลงการณ์ออกมาก่อนหน้านี้ และสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียตามรอยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีมาเลเซียที่กล่าวในที่ประชุมพิเศษ UNGA ว่าจะร่วมโหวตเห็นชอบร่างข้อตกลงแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ แม้ว่าในสุนทรพจน์และแถลงการณ์ของมาเลเซียจะไม่ได้เอ่ยชื่อรัสเซียโดยตรงก็ตาม ผู้แทนมาเลเซียกล่าวในที่ประชุมว่าเขารู้สึกเสียใจที่ที่ประชุม UNSC ไม่สามารถดำเนินการเพื่อรักษาความสงบและความมั่นคงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้แทนมาเลเซียเน้นย้ำว่าทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในหลักอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ทั้งยังระบุว่ามาเลเซียกังวลอย่างมากเรื่อง “การแจ้งเตือนอาวุธนิวเคลียร์” พร้อมระบุว่ามาเลเซียก็ตกเป็นเหยื่อของปัญหาในยูเครนเช่นกันในปี 2557 จากเหตุการณ์เครื่องบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ที่ถูกขีปนาวุธยิงตกขณะบินผ่านน่านฟ้ายูเครนใกล้กับเมืองโดเนตสก์ จนทำให้ผู้สายสารและลูกเรือซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 298 คน

เวียดนาม บรูไน ไม่ชี้ชัดเรื่องร่วมประณามรัสเซีย

ขณะเดียวกัน ผู้แทนเวียดนามได้กล่าวในการประชุมพิเศษ UNGA ว่าเวียดนามเข้าใจสถานการณ์จากประวัติศาสตร์ของประเทศตนในอดีต พร้อมเน้นย้ำว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มีรากฐานมาจาก “แนวคิดอำนาจทางการเมืองที่ล้าหลัง ความทะเยอทยานในการมีอำนาจนำ และการใช้กำลังเพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ” เวียดนามให้ความสำคัญกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และเคารพในหลักการกฎบัตร UN ที่ระบุว่าทุกข้อพิพาทต้องหาทางออกด้วยวิธีการที่สันติ ทุกประเทศไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องยึดมั่นกับหลักการความเท่าเทียมด้านอำนาจอธิปไตย เคารพในความเป็นอิสระทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละรัฐ รวมถึงต้องไม่แทรกแซงปัญหาภายในของแต่ละประเทศ และไม่ใช้กำลังทหารเข้าคุกคามประเทศอื่น นอกจากนี้ ผู้แทนเวียดนามยังกล่าวอีกว่าเขากังวลต่อความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นในยูเครนซึ่งเป็นรัฐที่มีเอกราช และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกอย่างสันติโดยเร็ว

ด้านผู้แทนบรูไนกล่าวแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน และขอประณามการละเมิดอำนาจอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน พร้อมเน้นย้ำเรื่องการยึดมั่นในหลักการกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตร UN นอกจากนี้ ผู้แทนบรูไนยังเรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง” ต้องลดระดับความตึงเครียดและร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ โดยไม่ใช่กำลังทหารเข้าคุกคามกัน เพื่อความสงบและความมีเสถียรภาพในระดับนานาชาติ

เสียงส่วนมากโหวตประณามรัสเซีย-สั่งหยุดโจมตี

ช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนวันที่ 3 มี.ค. 2565 (เวลาไทย) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติลงมติเห็นด้วยกับข้อตกลงการแก้ไขปัญหารัสเซียบุกรุกยูเครน โดยโหวตเห็นด้วยมี 141 ประเทศ งดออกเสียง 35 ประเทศ และไม่เห็นด้วย 5 ประเทศ ประเทศที่โหวตไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ ได้แก่ เบลารุส เกาหลีเหนือ เอริเทรีย ซีเรีย และรัสเซีย ประเทศที่งดออกเสียง อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ลาว แอฟริกาใต้ อิหร่าน อิรัก คาซัคสถาน เป็นต้น ส่วนไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศเสียงส่วนใหญ่ที่มีมติเห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว

แต่ประเทศที่น่าสนใจในการลงมติครั้งนี้ คือ พม่า ที่ลงมติเห็นด้วยกับการประณามรัสเซีย แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะออกมาประกาศผ่านทางสื่อในประเทศว่าสนับสนุนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ผู้แทนถาวรพม่าที่มีที่นั่งในสหประชาชาติ คือ จ่อโมทุน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกองทัพพม่าที่รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net