Skip to main content
sharethis

15 ต.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด 10,486 คน ตาย 94 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 34.72% ของประชากร ศบค. ยังกังวลการระบาดในภาคใต้พุ่งสูงต่อเนื่อง พร้อมผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-03.00 น. เปิดกิจการได้ถึง 22.00 น. เตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีผล 16 ต.ค. 2564

ติดเชื้อเพิ่ม 10,486 คน ตาย 94 คน ฉีดวัคซีนครบ 34.72% ของประชากร

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 15 ต.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,486 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 10,277 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 42 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 167 คน ยังไม่รวมผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (antigen test kit: ATK) มีผลเป็นบวก ที่รายงานโดยกรมควบคุมโรคอีก 3,577 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,762,190 คน

เสียชีวิตเพิ่ม 94 คน เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 18,123 คน อัตราการเสียชีวิต 1.03% ผู้เสียชีวิตรายใหม่อายุ 27-106 ปี 94% ของผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคเรื้อรัง

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 107,606 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,897 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 684 คน หายป่วย 10,711 คน รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 25,012,380 คน คิดเป็น 34.72% ของประชากร

อัตราการติดเชื้อจาก ATK 6.5% ยันไม่ปกปิดข้อมูล

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในส่วนของผลตรวจ ATK ทั่วประเทศ ยอดตรวจสะสมระหว่าง 20 ส.ค.-15 ต.ค. 2564 จำนวน 2,484,903 คน พบผลเป็นบวก 161,595 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 6.5% อย่างไรก็ตาม ยอดนี้ยังไม่รวมการตรวจภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า แม้อัตราการติดเชื้อจากการตรวจ ATK ทั้งประเทศจะไม่สูง แต่เมื่อดูตามพื้นที่หรือตามเขตสุขภาพ พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราการติดเชื้อในภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ จ.สงขลา, จ.ตรัง, จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.พัทลุง, จ.ยะลา, และ จ.สตูล มีผลเป็นบวกสูงถึง 30.3%

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ชี้แจงว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องแยกการประเมินเป็นรายจังหวัดหรือรายอำเภอ ในกลุ่มที่ต้องเข้าพักในศูนย์พักคอยในชุมชน (community isolation) หรือกักตัวในโฮสพิเทล หรือมีอาการระดับเหลือง-แดง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง และจะถูกนับรวมในจำนวนผู้ป่วยยืนยัน พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด

กังวลภาคใต้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่อง

พญ.อภิสมัย ยังแสดงความกังวลถึงสถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 25% ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ และมีผู้เสียชีวิตจากจังหวัดภาคใต้ถึง 36 จากทั้งหมด 94 คน สวนทางกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 17% ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. ยะลา 3. ปัตตานี 4. สงขลา 5. นราธิวาส 6. นครศรีธรรมราช 7. ชลบุรี 8. สมุทรปราการ 9. ราชบุรี และ 10. เชียงใหม่ โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ถึงครึ่งหนึ่ง และอยู่ในอันดับบน รวมถึงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า จากการสอบสวนโรค จากเดิมที่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ เริ่มขยายตัวไปยังครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการระบาดลักษณะเดียวกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงต้องย้ำไปยังจังหวัดในภาคใต้ให้เฝ้าติดตาม เฝ้าระวัง และสอบสวนโรค แม้จะเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ให้ทันท่วงที เพราะตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

อีกจังหวัดที่ ศบค. แสดงความเป็นห่วง คือ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากพบการระบาดทั้งในตลาด โรงงาน สถานศึกษา และบ้านพักเด็ก นอกจากนี้ ยังมีรายงานคลัสเตอร์แคมป์คนงานใน จ.ชลบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วน จ.อุบลราชธานี ระบาดภายในโรงพยาบาล

พญ.อภิสมัย ย้ำว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข หากมีผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด้วยอาการปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ หมายความว่าคนไข้อาจจะไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อจากไหน และสอบสวนไทม์ไลน์ได้ลำบาก ดังนั้น หากผู้ป่วยมีไข้ หรือมีอาการเกี่ยวกับทางเดินระบบหายใจ ที่เรียกว่า PUI ขอให้โรงพยาบาลเฝ้าระวังและคัดกรองโรคอย่างเข้มงวด เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจะทำให้สถานการณ์ในจังหวัดนั้นยากลำบากมากขึ้น

การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์โควิด-19

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงรายละเอียดการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคที่จะมีผล 16 ต.ค. 2564 โดยมีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์โควิด-19 ว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จาก 29 จังหวัด ลดลงเหลือ 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, และสระบุรี

พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง จาก 37 จังหวัด เหลือ 30 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, นครราชสีมา, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, มหาสารคาม, ระนอง, ลพบุรี, ศรีสะเกษ, สตูล, สระแก้ว, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, อ่างทอง, อุดรธานี, อุบลราชธานี, และเพชรบูรณ์

พื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม จาก 11 จังหวัด เพิ่มขึ้นเป็น 24 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, กำแพงเพชร, นครพนม, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, พะเยา, พังงา, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, เลย, สกลนคร, สุโขทัย, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, และอำนาจเจริญ

ทั้งนี้ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปรับพื้นที่ให้เข้มขึ้นกว่าที่ ศบค. กำหนดได้ โดยอาจปรับระดับพื้นที่ให้เข้มขึ้นทั้งในระดับอำเภอ หรือตำบล ตามสถานการณ์ของพื้นที่ย่อย เช่น จ.ตาก อาจปรับให้ อ.แม่สอด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ หรือใน จ.นครราชสีมา ยังคงให้ อ.เมือง และ อ.ปากช่อง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยต้องให้ ผอ.ศบค. คือ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติอีกขั้นหนึ่ง

ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค

นอกจากการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์แล้ว พญ.อภิสมัย ยังแถลงรายละเอียดการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ดังนี้

ทุกพื้นที่

  • ห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม ที่เล่นเป็นรายบุคคล หรือแข่งเป็นคู่เท่านั้น โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา
  • ยังไม่เปิดให้บริการสวนน้ำและสวนสนุกทุกพื้นที่
  • สนามกีฬา สวนสาธารณะ เปิดบริการได้ไม่เกิน 22.00 น.
  • กิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ปรับเพิ่มการรวมกลุ่ม ตามระดับพื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไม่เกิน 50 คน, พื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่เกิน 100 คน, และพื้นที่ควบคุม ไม่เกิน 200 คน
  • สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่เปิดให้บริการ แต่เร่งรัดให้กำหนดมาตรการสำหรับเตรียมการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค. 2564

พื้นที่ควบคุมสูงสุดแล้วเข้มงวด

  • ลดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่าง 23.00-03.00 น. อย่างน้อย 15 วัน
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด เปิดบริการได้ถึง 22.00 น. จำหน่ายสินค้าได้ทุกประเภท เปิดให้บริการเครื่องเล่นและสวนสนุกได้ ภายใต้การพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร
  • โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร โรงละครหรือมหรสพ สนามกีฬาทุกประเภท สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการไม่เกิน 22.00 น. โดยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง
  • สถานดูแลผู้สูงอายุ เปิดให้บริการแบบไป-กลับได้
  • เพิ่มความจุขนส่งสาธารณะทุกประเภท
  • อนุญาตให้จัดประชุมและกิจกรรมตามประเพณีนิยมได้ไม่เกิน 500 คน โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร จัดเลี้ยงอาหารแบบแยกชุด สวมหน้ากากตลอดเวลา ประชุมช่วงละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และพักระบายอากาศในห้องประชุม ในกรณีที่รวมคนเกิน 50 คน ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร ไม่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจัดได้ไม่เกิน 22.00 น.

 แผนรองรับการเปิดประเทศ

ผู้ช่วยโษก ศบค. แถลงต่อว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติยกเลิกการกำหนดกลุ่มประเทศและดินแดนสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรตามความเสี่ยง แต่ยังคงกำหนดมาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ การรับวัคซีน การตรวจ RT-PCR และการกักกัน เป็นต้น

สำหรับแผนการเปิดประเทศ พญ.อภิสมัย ชี้แจงว่า กำหนดเป็น 5 กลยุทธ์ ดังนี้

1. เปิดประเทศอย่างปลอดภัย โดยปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยลดวันกักกัน ปรับการตรวจหาเชื้อ ลดค่าประกันรักษาโควิด และปรับมาตรการที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังการลักลอบ/หลบหนีเข้า-ออกประเทศ จัดระบบการรับแรงงานต่างชาติกลับเข้าประเทศ และลดการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย

2. เฝ้าระวังป้องกันควบคมุโรคในกลุ่มเสี่ยง/สถานที่เสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง โดยปรับระบบการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง การค้นหาเชิงรุกในชุมชน ป้องกันโรคแบบ buble and seal สำหรับสถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง จัดระบบป้องกันควบคุมโรคแบบ COVID-Free settings จำกัดกิจกรรมและการรวมกลุ่ม การปิดสถานที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจัดระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานและจ้างงานให้ถูกกฎหมาย 

3. เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และเพิ่มการรับวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร เตรียมความพร้อมทีมสอบสวนควบคุมโรค ปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมทรัพยากรรองรับการดูแลรักษา ปรับระบบกักกันเป็นคุมไว้สังเกตโรค เตรียมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่งเสริมมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล และฟื้นฟูการบริารโรคอื่นๆ

4. พัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารความเสี่ยง โดยบูรณาการแอปพลิเคชันสำหรับกำกับติดตามควบคุมโรค ทำระบบข้อมูลสารสนเทศโควิด-19 แบบบูรณาการ และปรับระบบการสื่อสารความเสี่ยง

5. สร้างกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละกระทรวงให้ชัดเจน ให้ทุกหน่วยงานมีโครงสร้างและแผนการรองรับการระบาด สร้างกลไกแบบบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมในระดับจังหวัดและอำเภอ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจัดการตนเอง และสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล

พร้อมกำหนด 4 เป้าหมาย คือ 1. สร้างความเชื่อมั่น 2. สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ4. เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม

สำหรับการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะนำร่อง ตั้งแต่ 1-31 ต.ค. 2564 ใน 4 จังหวัดที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด  ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1-30 พ.ย. 2564 ใน 15 เมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1-31 ธ.ค. 2564 ใน 16 จังหวัด ที่มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมและมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ใน 12 จังหวัด ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จังหวัดนำร่องเปิดประเทศต้องมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรในจังหวัดเกิน 70% มีมาตรการสาธารณสุขทั้ง smart living with COVID และ COVID-Free settings ที่มีประสิทธิภาพ มีระบบสาธารณสุขที่พร้อมรองรับการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละจังหวัดสามารถประเมินความพร้อมของตนเอง โดยประสานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการจังหวัดให้พิจารณา ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการให้ผู้ประกอบการและสถานบริการมีส่วนร่วมในการประเมินตนเองด้วย

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาร่วมกันให้ปรับระบบการเดินทางเข้าประเทศ จาก Certificate of Entry (COE) เป็น Thailand Pass เพื่อลดการอัปโหลดเอกสารและระยะเวลาการอนุมัติ โดยใช้ระบบอัตโนมัติแทน ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 2 ประเทศ ที่ส่งฐานข้อมูลประชากรที่ได้รับวัคซีนครบให้กระทรวงการต่างประเทศแล้ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net