Skip to main content
sharethis

ทำไมกองทัพไม่ต้องการปฏิรูปตนเองให้เป็นทหารอาชีพ คำตอบนั้นแสนง่าย เพราะมันบั่นทอนผลประโยชน์และอำนาจ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มทุนผูกขาดที่ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของตน ในความคิดของคนเหล่านี้การปฏิรูปคือการทำลายกองทัพ

  • กองทัพอยู่ภายใต้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคม การจะรัฐประหารได้กองทัพต้องอาศัยทั้งการสร้างสถานการณ์ ทุน และกฎหมายคอยหนุนหลัง พงศกรเรียกว่า กฎหมายหุ้มปืน และปืนก็หนุนกฎหมายอีกทอด
  • กลุ่มทุนผูกขาดใช้กองทัพและการรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ขณะที่กองทัพก็ทำเพื่อผลประโยชน์เช่นกัน
  • จะปฏิรูปกองทัพได้ปัจจัย 3 ข้อต้องพร้อมคือชัยชนะทางการเมือง, พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่ได้อำนาจต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง และประชาชนต้องมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องสร้างประชาธิปไตย
  • การสร้างประชาธิปไตยและการปฏิรูปกองทัพต้องทำควบคู่กันไป

คำว่า ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เป็นคำแสลงหูของเหล่านายทหารผู้กุมอำนาจ ทั้งยังทำให้คนในสังคมเชื่อด้วยว่าการปฏิรูปคือการทำลายกองทัพ แต่หากไม่ปฏิรูป ประชาธิปไตยไทยอาจไม่มีวันปลอดภัย

พงศกร รอดชมภู

ว่าแต่ทำไมกองทัพจึงต้องรัฐประหาร พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ตอบว่าเพราะผลประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะบรรดานายทหารระดับสูงเท่านั้น ยังรวมถึงกลุ่มทุนผูกขาดที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารด้วย

การถามว่าจะปฏิรูปกองทัพอย่างไร? เป็นเหมือนคำถามซ้ำซาก เปล่าประโยชน์ที่จำเป็นต้องถาม พงศกรเห็นว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของฝ่ายทุน การจะปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากชัยชนะทางการเมือง ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างประชาธิปไตย

ทหารไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด เขาบอกว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเป็นทหารอาชีพ

กฎหมายหุ้มปืน

ทหารและกองทัพอยู่ภายใต้บริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและใช้ทหารเป็นเครื่องมือมาแต่ไหนแต่ไร พงศกรยกตัวอย่างยุคชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เกิดการปลดปล่อยที่ดินขนานใหญ่ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบ สุดท้าย ทหารและกองทัพซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงทำการรัฐประหารในปี 2534 ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่กลุ่มทุนเดิม กลุ่มชนชั้นนำ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้สึกถูกท้าทายจนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 ที่นำโดยสนธิ บุญยรัตกลิน

พงศกรอธิบายว่าหลังจากการยึดอำนาจปี 2549 ทหารและกองทัพก็ได้รับอภิสิทธิ์และอำนาจผ่านกลไกต่างๆ ที่ถูกวางเอาไว้เพื่อกำจัดกลุ่มทุนใหม่ที่ขึ้นมาท้าทาย ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

“มันเป็นความต่อเนื่องกันมา ทหารก่อนหน้านั้นไม่กล้ายึดอำนาจ องคาพยพที่ทหารพึ่งพามากที่สุดก็คือองค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึงระบบศาลด้วย ศาลที่อาจจะไม่ใช่ศาลยุติธรรม เพราะศาลยุติธรรมเขายอมรับการยึดอำนาจรัฐมันจบไปแล้ว มันก็เหลือแต่องค์กรอิสระอื่นๆ ที่จะมาช่วยอะไรต่างๆ ก็คิดว่าอันนี้มันจะคุ้มครองเขาได้ ดังนั้นอย่าไปมองว่าเป็นทหารโดดๆ ทหารจะทำอะไรได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าภาคพลเรือนที่เป็นเรื่องของกฎหมายมารองรับ มันคือการสัมพันธ์กัน กฎหมายที่หรือองค์กรอิสระที่บิดเบือนนิดๆ หน่อยๆ มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีทหารที่มีปืนมาช่วย

“ถ้าถามว่าทหารทั่วไปยึดอำนาจไหม ทั่วโลกเลย ถ้าคุณปล่อยให้เขามีอำนาจเขาจะยึดอำนาจ อันนี้มันก็มีทหารอเมริกันคุยกันว่าถ้าดูกฎหมายไทยเขายึดอำนาจทุกวันเลย ไม่ต้องคอยเสียเวลายึดมันทุกวันเลย เพราะมันได้ประโยชน์ไง ยึดแล้วปลอดภัย ได้เงินด้วย ไปดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ได้ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์มาทุกคนรวยหมด ยิ่งนานยิ่งรวย ดังนั้น หน้าที่ประชาชนคือต้องไม่ทำให้เขาทำได้ อย่าไปบอกว่าเขาจะยึดหรือไม่ยึด เพราะเขาอยู่ที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่จะบีบให้เขาทำได้หรือทำไม่ได้”

แต่ทหารไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งหมด ทหารแต่ละระดับก็คิดไม่เหมือนกัน ถ้ามีคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายสั่งการลงมาทหารระดับล่างต้องปฏิบัติตาม คำถามมีอยู่ว่าการขัดคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างการยึดอำนาจเป็นไปได้หรือไม่

พงศกรย้ำตรงนี้ให้เห็นว่าที่การรัฐประหารสำเร็จเพราะในที่สุดแล้วจะถูกรองรับโดยกฎหมาย เขาเรียกว่า ‘กฎหมายหุ้มปืน’ กล่าวคือ

“กฎหมายรองรับให้ปืนทำได้ แค่เสี่ยงวันสองวัน แล้วเขามีการนิรโทษกรรมได้ ศาลฎีกายอมรับ มันจบเลยไง แล้วเขาก็รู้ว่าการต่อต้านมันเกิดไม่ทันเพราะใช้เวลาแค่สองสามวัน แล้วคนไทยไม่นิยมต่อต้านทันที คนไทยต้องใช้เวลา งงอยู่ เป็นอาทิตย์เลยกว่าจะนึกออก บางคนเอาดอกไม้ไปให้อีก ดังนั้นเราจึงพบว่าก่อนจะรัฐประหารเขาต้องสร้างสถานการณ์ก่อน สร้างการยอมรับ เห็นไหมมันเกิดเป็นหาแล้วเราเข้ามาคงไม่มีใครว่าอะไร เราก็เอากฎหมายมารองรับอีกที มันก็จบ วนอยู่เป็นวัฏจักร”

นอกจากนี้ การที่ทหารระดับต่างๆ จะทำตามคำสั่งหรือไม่ยังอยู่ที่ผลประโยชน์ที่จะได้ พงศกรกล่าวว่าก่อนยึดอำนาจต้องมีการจ่าย ต้องมีทุน ต้องมีเจ้ามือ

“ก่อนทหารยึดอำนาจผมพูดเสมอว่ามันไม่ใช่ทหารเดี่ยวๆ ที่ยึดอำนาจ มันมีกลุ่มทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมมาช่วย แล้วมีการเมืองมาสนับสนุนให้เกิดการยึดอำนาจ ดังนั้นต้องมีเงินครับ ต้องมีเงินจ้าง พูดง่ายๆ เงินจ้างจะทั่วถึงไหม มีความเสี่ยงไหม เงินมากก็จริง แต่ถ้ามีความเสี่ยงเขาก็ไม่ทำ มันต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ไม่ได้หมายความว่าถ้าทำให้ทหารข้างในไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจะไม่มีการยึดอำนาจ ไม่จริง มันอยู่ที่เงิน มันเป็นปัจจัยภายนอกเหมือนกัน”

สร้างความชอบธรรมก่อนรัฐประหาร

พงศกรยอมรับว่าเขาเห็นสัญญาการรัฐประหาร

“มันมีเรื่องอะไรที่เราเห็นและเราก็ทราบข่าว มีการลอบสังหาร มีเครื่องบินระเบิด มีคาร์บอม เสร็จแล้วที่เห็นเป็นจุดเปลี่ยนก็คือนายกฯ มาตรา 7 ซึ่งเรื่องนี้ปกติทำไม่ได้เลย เพราะว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ยุ่งการเมือง ต้องตัดขาด ซึ่งรัชกาลที่แล้วพระองค์ท่านออกมาตรัสว่าอย่ามั่ว อย่ามายุ่งกับฉัน อันนั้นคือตัวชี้ขาด มันแสดงว่าเขาไปทางอื่นไม่ได้แล้ว ก็จำเป็นต้องมีตรงนี้

“ถ้าดูสมัยก่อนที่ท่านลุงกำนันเขาบอกว่าได้คุยกับพลเอกประยุทธ์มาพักหนึ่งแล้ว ก็คือเตี้ยมกัน ผมไม่ทราบว่าที่คุยคือยังไงจนกระทั่งมาถึงจุดนี้ได้ แต่ทั้งหมดลำพังการทำม็อบไม่พอครับ ถึงแม้จะมีกองกำลังมาแทรกก็ไม่พอ มันจะต้องมีการปะทะกันเพื่อสร้างความชอบธรรม แล้วก็เตรียมองค์กรอิสระให้พร้อมพอสมควรที่จะมาช่วยแล้วมันก็จะไปได้”

จุดนี้พงศกรตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะการทำรัฐประหารในสังคมไทยยากกว่าในอดีต เป็นสาเหตุให้คณะรัฐประหารโดยเฉพาะ 2 ครั้งหลังสุดต้องดึงสถาบันกษัตริย์มาใช้อย่างเข้มข้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าศักยภาพทหารในการยึดอำนาจหรือการที่ฝ่ายเผด็จการจะกดขี่ประชาชนมันเป็นสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ว่าคุณต้องใช้ไต๋ทั้งหมด ใช้ทุกองคาพยพที่มีจนถึงขนาดนี้ ผมเรียนตรงๆ นะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการนำไปใช้จนเสื่อม ถ้าบอกไม่เสื่อม ไม่จริง เสื่อมจริงเพราะคุณถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายด้วยนะไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์จนสถาบันเสื่อมเสีย”

พงศกรเล่าว่ามีการเตรียมการณ์ล่วงหน้า 8 เดือน มีการโยกย้ายนายทหาร แม้ว่ากฎหมายตอนนั้นจะยังไม่เปลี่ยน แต่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ทำอะไรเพราะมั่นใจว่ากระแสประชาธิปไตยสามารถสู้ได้ ทว่า ไม่เป็นดังที่ทักษิณคาด อีกทั้งเวลานั้นหากทักษิณที่ไปร่วมประชุมสหประชาชาติยืนแถลงการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในไทย พงศกรเชื่อว่าการรัฐประหารจะไม่สำเร็จ แต่ทักษิณก็ไม่ได้ทำเนื่องจากเกิด ‘อุบัติเหตุ’ บางอย่างขึ้น

3 เงื่อนไขก่อนปฏิรูปกองทัพ

คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องถามว่าการปฏิรูปกองทัพจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร พงศกรตอบว่าที่การปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องยากเพราะโครงสร้างเดิมอิงอาศัยอำนาจของกองทัพย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้อำนาจส่วนนี้ของตนต้องสั่นคลอน ดังนั้น กองทัพจึงเป็นเพียงปลายเหตุ

พงศกรตอบว่าก่อนจะปฏิรูปกองทัพได้ต้องมีปัจจัย 3 ข้อก่อน

1. ชัยชนะทางการเมือง

2. พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่ได้อำนาจต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง และ

3. ประชาชนต้องมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องสร้างประชาธิปไตย

“ไม่ใช่ปฏิรูปกองทัพนะ การปฏิรูปกองทัพเป็นสูตรหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือไม่มีการสร้างแบบอื่นได้เลยในระบบปกติ นอกจากว่าคุณจะมีกองกำลัง คุณจัดตั้งกองกำลังเหมือนพรรคเมืองจีนอะไรต่างๆ นั้นอีกเรื่องหนึ่ง คุณต้องใช้กำลังที่มีอยู่ในการสร้างประชาธิปไตย กำลังที่มีอยู่ที่ดีที่สุดก็คือทหารเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคุณจะสร้างประชาธิปไตย คุณจะเปลี่ยนทางการเมือง ประชาชนต้องเห็นด้วยว่าจะสร้างประชาธิปไตยเพื่อประเทศไทยจะได้อยู่ดีกินดีเหมือนประเทศในยุโรปสักที ไม่ใช่อยู่แบบกระท่อนกระแท่นแบบนี้ ก็ต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพมืออาชีพ”

สร้างทหารมืออาชีพ

3 เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสารประกอบตั้งต้นที่ต้องมีก่อนการปฏิรูปกองทัพ หลังจากนั้นพงศกรยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างในกองทัพ เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพนายทหารระดับสูงได้เพียง 2 ชั้นตามหลักสากล หมายถึงแต่งตั้งได้เพียงยศพลโทแล้วถือว่าหมดหน้าที่

การให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการประกาศหรือยกเลิกกฎอัยการศึก พงศกรอธิบายว่าปี 2557 ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นการลุแก่อำนาจ ซึ่งหลังจากประกาศกฎอัยการศึกและวางกองกำลังทหารแล้ว เขาก็รู้ทันทีว่าจะมีการยึดอำนาจ

การห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง สหราชอาณาจักรหรืออเมริกามีข้อบังคับชัดเจนในเรื่องนี้และยังครอบคลุมไปถึงช่วงระยะเวลา 5-7 ปีภายหลังเกษียณอายุราชการ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้แม้แต่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในกองทัพเช่นสมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นแสดงความเห็นว่าน่าจะลาออก

“การเคลื่อนย้ายหน่วยงานที่ไม่ปกติทั้งหมดต้องเป็นรัฐบาลภาคพลเรือนรองรับ แล้วลงมาที่กลาโหมก็ต้องเป็นระบบเสนาธิการร่วมคือไม่ให้มีตัวผู้บังคับบัญชา แต่เดิมทุกประเทศในโลกนี้จะไม่มีหน่วยบัญชาการ มีเป็นคณะเสนาธิการร่วมและคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาคือฝ่ายการเมือง เช่น รัฐมนตรีกลาโหม แล้วพอมีสงครามนายกฯ จะมาเป็นผู้บัญชาการแทนอย่างนี้เป็นต้น

“เราก็ทำได้นะครับ เปลี่ยนเลย เปลี่ยนโครงสร้าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ซะใหม่ให้เป็นแบบสากล พอพูดว่าสากลรับรองว่าทหารทุกคนโอเค เพราะเขาก็อยากจะเป็นสากลอยู่ ทุกคนยอมรับ ดังนั้นการปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นสากลไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ต้องชนะทางการเมืองก่อนและมีการสนับสนุนจากประชาชน

“แล้วพอมันเปลี่ยนปั๊บมันจะไปเร็วเลยเพราะว่าทหารมีวินัยและพร้อมจะไปอยู่แล้ว ที่เกริ่นมาตั้งเยอะคือจะบอกว่า อย่าไปคิดว่าทหารเป็นอะไรที่แข็งตัว ไม่ใช่ มันอยู่ที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แล้วก็ข้างบนข้างล่างไม่เหมือนกัน ถ้าได้อำนาจทางการเมืองเสร็จ เปลี่ยนเลย มันเปลี่ยนง่าย ไม่ยาก บางทีมันยากเพราะเขาพยายามบอกว่ามันยากไง หรือว่าการปฏิรูปกองทัพคือการทำลายทหาร ไม่ใช่ ทหารทั่วไปที่เขารู้ ระดับผู้การกรมเขารู้หมด เหลือแต่พวกฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของฝั่งนี้เท่านั้นเองที่เขากลัวว่าจะเสียอำนาจ”

ประชาธิปไตย-ปฏิรูปกองทัพต้องทำควบคู่กันไป

“ผมยังมองไม่ไปถึงปฏิรูปกองทัพ มองแค่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยลองชนะให้ได้ก่อนเถอะ เอาให้ได้ข้อที่ 1 ก่อน แต่สมมติถ้าเกิดชนะแล้ว คุณจะพ่วงเรื่องเจตจำนงทางการเมือง ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าทหารนี่เป็นอุปสรรคซึ่งพูดได้ว่าการยึดอำนาจมา 7 ปี เห็นชัดเลยว่ามันทำให้เกิดความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ สังคม ประเทศไทยอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย”

พงศกรย้ำอีกครั้งว่าทหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มทุนผูกขาดที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้น ต้องทำให้ทหารหลุดออกจากทุน เป็นทหารอาชีพ

“ประชาชนพร้อมที่จะเปลี่ยนแล้ว แต่ขอให้กระตุ้นกันใหม่ ให้รู้ว่าระบบราชการ ระบบเผด็จการ ระบบทหารนี่มันไม่ได้เรื่องแล้ว เราต้องไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพกับประชาธิปไตยคือเรื่องเดียวกัน สร้างให้มันเห็นว่ามันคือเรื่องเดียวกัน

“ผมว่าการ Propaganda การสร้างข่าวลืออะไรต่างๆ มันเกิดตลอดเวลาเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ประชาชนต้องตาสว่าง มันถึงจะมองออกว่าอะไรเป็นอะไร มิฉะนั้นจะคิดว่าสว่างแต่มันมืดอยู่นะ ต้องมองให้ออก ภาพรวมก็คือประชาชนต้องเป็นผู้มีอำนาจของตัวเอง”

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net