Skip to main content
sharethis

เครือข่าย #saveนาบอน ประท้วงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ หลังเดินสายยื่นหนังสือตามด้วยงานต่างๆ มาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมจุดเทียน ล้อมสายสิญจน์ ทำพิธีสาปแช่งคนที่ทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

7 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ก.ค. 2564) เวลา 14.00 น. เครือข่ายปกป้องนาบอนจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพิษปักหลักหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 2 โรง ดำเนินการโดยบริษัทในเครือบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง คือ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ตั้งแต่ 5 ก.ค. 2564 เครือข่ายฯ เดินทางจาก จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเดินสายยื่นหนังสื่อตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์, คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติฯ รัฐสภา, และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

ตั้งแต่เวลา 13.49 น. มีการนำแผงเหล็กพร้อมติดป้ายข้อความว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ" จากนั้นประชาชนประมาณ 10 คนเริ่มรวมตัวหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ มีการชูป้ายข้อความเช่น "SCB อย่าทำกำไรบนการทำลายชีวิตคน" และ "หยุด!โรงไฟฟ้าบนคราบน้ำตาชาวบ้าน"

 

เรียง สีแก้ว ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า เหตุผลที่มาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเป็นหุ้นส่วนในโครงการขนาดใหญ่นี้ และกล่าวด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่มาบอกให้ออกจากพื้นที่ภายใน 16.30 น.

ต่อมาเวลา 14.20 น. ตัวแทนผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ลงมารับหนังสือ ตัวแทนเครือข่ายฯ ขออธิบายเหตุผลที่มาในวันนี้ว่า เหตุที่ไม่ยอมขายที่ดินเพราะเป็นที่ดินมรดกที่ได้มาจากพ่อแม่ของเขา ท้ายสุดที่ดินของโรงไฟฟ้าล้อมรอบบ้านเขา วันนี้เขาจำเป็นต้องฝ่าโควิด-19 มาเพื่อเรียกร้องประเด็นนี้ ตอนนี้คนที่ไม่ยอมขายที่ดินจะถูกถมที่ล้อมรอบ

"ท่านคิดดูว่า เราจะอยู่อย่างไร พวกผมต้องมาปกป้องบ้านเกิด มาวันนี้ไม่ใช่ยื่นหนังสือแล้วกลับแต่ต้องอยู่จนได้คำตอบ" ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าว

ตัวแทนอีกคนหนึ่งกล่าวว่า โรงไฟฟ้านาบอนเป็นการนำโรงไฟฟ้าไปวางไว้กลางชุมชน ขอให้ธนาคารไทยพาณิชย์ยุติโครงการโรงไฟฟ้านาบอน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ส่วนหนึ่งของหนังสือระบุว่า "การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่ธนาคารเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล"

 

หลังยื่นหนังสือ เรียงแจ้งว่า เครือข่ายขอปักหลักที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์จนกว่าจะได้คำตอบ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะให้อยู่ได้ไม่เกินเวลา 16.30 น. ก็ตาม และพื้นที่ที่ประชาชนปักหลักไม่ได้กีดขวางการจราจร หรือรบกวนการใช้พื้นที่ของธนาคารไทยพาณิชย์แต่อย่างใด พร้อมเตรียมพื้นที่สำหรับจัดวงเสวนาเวลา 16.00 น.

ต่อมาเวลา 16.00 น. เครือข่าย #saveนาบอน ทำพิธีสาปแช่งคนที่ทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน หลังจากนั้นมีการแถลงว่าที่ต้องคัดค้านการเข้ามาลงทุนของกลุ่มธุรกิจของตระกูลทรงเมตตา นำโดย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อดีตรอง ผบ.ตร. และมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นนั้น มีเหตุผล 5 ข้อ ดังนี้

  1. กลุ่มทุนเข้ามาไล่ซื้อที่ดินของคนในชุมชนและทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม
  2. น้ำเป็นทรัพยากรหลักที่จะถูกนำไปใช้ในกิจการโรงไฟฟ้า กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคในภาคเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน
  3. โรงไฟฟ้าอาจก่อมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศ
  4. เกิดความเหลื่อมล้ำและแบ่งฝักฝ่ายในชุมชน เนื่องจากกลุ่มทุนเสนอผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
  5. ชุมชนต้องการอุตสาหกรรมที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนโดยเครือข่ายประกาศจะนั่งปักหลักภาวนาอย่างสันติ เพื่อรอคำตอบจากผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์

 

ประมาณ 16.40 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์ และ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย จาก สน.พหลโยธิน มาเจรจากับเครือข่าย #saveนาบอน โดยตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งว่า ธนาคารรับทราบเรื่องแล้ว แต่จำเป็นต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอให้เครือข่ายเดินทางกลับไปก่อนระหว่างรอการตรวจสอบข้อร้องเรียน ด้าน พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 นะบาดหนัก และมีข้อกำหนดห้ามรวมตัวเกิน 20 คน ขอให้เครือข่ายเลิกกิจกรรมก่อนพระอาทิตย์ตกดิน มิเช่นนั้นมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ประสิทธิชัย หนูนวล เป็นตัวแทนเครือข่ายฯ ตอบตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์ว่า เรื่องเกิดขึ้นมากว่า 3 ปีแล้ว หากตอนนี้ธนาคารบอกว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่ากับที่ผ่านมาธนาคารไม่ทราบอะไรเลย คุณอยู่สบายกลางเมือง ขณะที่ชาวบ้านถูกถมดินทับที่แล้ว ประสิทธิชัยตอบตำรวจด้วยว่า ทุกคนทราบดีเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 แต่ที่มาวันนี้เพราะยอมเอาชีวิตเข้าแลกแล้ว หากตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมาย ต้องมาหิ้วพวกเราออกจากพื้นที่ก็ทำได้เลย นอกจากนี้ ประสิทธิชัยยังทิ้งท้ายว่า ทุกคนไม่เรียนรู้อะไรจากกรณี #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้เลย วันนี้โรงไฟฟ้าแม้จะถมดินแล้วแต่ก็ยังไม่ตอกเสาเข็ม เรายังช่วยกันหยุดยั้งได้

ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

เรื่อง ขอให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชนตำบลทุ่งสงอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้จำกัด (มหาชน)

เรียน ประธานกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์

เนื่องด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนี้มีบริษัทในเครือของบริษัทแอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) จำนวนสองบริษัท คือ บริษัท เอซีอี โซล่าร์ จำกัด และ บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 2 ในพื้นที่ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ก่อสร้าง 104 ไร่ 2 งาน 69.9 ตารางวา ซึ่งการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวของทั้งสองบริษัทจนถึงปัจจุบันนั้น ได้ก่อให้เกิดความผิดพลาดอันจะนำไปสู่การทำลายวิถีชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมของคนอำเภอนาบอน และอำเภอใกล้เคียงจังหวัดนครศรีธรรมราช และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอีกหลายประการ

ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เห็นว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองเป็นกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และเป็นการดำเนินธุรกิจที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. พื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยบริเวณรายรอบพื้นที่การก่อสร้างประกอบด้วยประชากรนับพันครัวเรือน ในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย โรงเรียนจำนวน 10 โรง วัดจำนวน 7 วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 7 แห่ง ประชากรในตำบลทุ่งสงมีจำนวน 8,463 คน การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ใจกลางชุมชนอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

2. กระบวนการซื้อที่ดินของบริษัทดำเนินการด้วยคำลวงโดยบอกกับประชาชนว่าจะนำที่ดินไปสร้างตลาดพืชผลการเกษตร เพื่อให้ชาวบ้านขายที่ดินให้เพราะคิดว่าการสร้างตลาดพืชผลการเกษตรจะไม่อันตรายและชุมชนจะได้ประโยชน์ ถือ เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

3. ในการซื้อที่ดินเมื่อประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ยินยอมขายที่ดินให้ จึงถูกบริษัทซื้อที่ดินล้อมไว้จำนวน 13 ครัวเรือน ชะตากรรมของ 13 ครัวเรือนนี้ประกอบด้วยเด็กและคนชรา เมื่อบริษัทถมที่สูงขึ้นเพื่อทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนจำนวน 13 ครัวเรือนเสมือนอาศัยอยู่ในหลุม ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษนานาชนิด นับเป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง

4. การดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 2 โรงในพื้นที่ติดกัน โดยใช้เชื้อเพลิงไม้สับ ทะลายปาล์ม เปลือกไม้และเชื้อเพลิงขยะแปรรูป (RDF) รวมกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ของบริษัททั้งสอง เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ สุขภาพ และวิถีชีวิตของชุมชน และจะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการปล่อยน้ำเสียลงห้วยตะเคียนโดยห้วยดังกล่าวไหลลงสู่แม่น้ำตาปี และบริษัทขุดบ่อลึกในพื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำสะเด็ดและยังดึงน้ำจากลำน้ำธรรมชาติมาเก็บไว้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การแย่งน้ำจะกลายเป็นวิกฤติสำคัญในอนาคตของพื้นที่นี้

การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไรบนการทำลายวิถีชีวิตคนอื่น ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือร่ำรวยขึ้นบนการทำลายประชาชนในประเทศ ขัดหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)

ข้อ 13.ความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนกำหนดว่าองค์กรธุรกิจต้องดำเนินการดังนี้ 

(1) หลีกเลี่ยงการกระทำหรือการมีส่วนที่จะทำให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมขององค์กรธุรกิจเองและต้องแก้ไขปัญหาหากเกิดผลกระทบ 

(ข) หาทางป้องกันหรือลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินการผลิตหรือการบริการขององค์กรธุรกิจอันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจแม้ว่าองค์กรธุรกิจจะไม่ได้มีส่วนทำให้มีผลกระทบเหล่านั้นก็ตาม และขัดต่อนโยบายด้านการให้สินเชื่อสำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่า

“ในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Major Capital Project) เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพและธุรกิจใหม่ 
อันส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต ขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมหากขาดการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่มีการประเมินผลกระทบรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมถึงการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ในปี 2560 ธนาคารได้ริเริ่มแนวคิดที่จะยกระดับการดำเนินงานด้านการพิจารณาสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยนำแนวปฏิบัติสำหรับการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระดับสากล อาทิ หลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) และแนวปฏิบัติของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporate: IFC) เป็นต้น มาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมสำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการ (Project Finance) 

ทั้งนี้ ในปี 2561 ธนาคารมีแผนที่จะทำการทบทวนและปรับปรุงแนวนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy Guides) ของธนาคาร โดยระบุประเภทของสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector Specific Guides)  เพื่อให้แน่ใจว่า โครงการที่ธนาคารมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการเงิน
มีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบจัดเก็บข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประเมินโครงการให้อยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถติดตามผลการปฏิบัติตามกรอบการดำเนินงานและสถานะของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้วยความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของสถาบันการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของภาครัฐในการให้การสนับสนุนเงินลงทุนแก่ภาคธุรกิจ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ธนาคารจึงมุ่งพัฒนาโครงการสินเชื่อ และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานทางเลือก สินเชื่อโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อย SME เป็นต้น”

ซึ่งในโครงการนี้แม้ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่อยู่ในฐานะการเป็นผู้ให้สินเชื่อต่อผู้ลงทุน แต่เป็นยิ่งกว่านั้น เพราะธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีบริษัทในเครือไปดำเนินโครงการอันละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง 

ดังนั้น ในฐานะที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นในบริษัทแอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าและก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนมานาน โดยที่ธนาคารไทยพานิชย์ซึ่งประกาศว่าจะเป็นธนาคารที่มีคนชื่นชมที่สุด กลับร่วมหุ้นก่อความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมหากธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงยืนยันให้บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านาบอนต่อไปเท่ากับว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถมพื้นที่ล้อมประชาชนจำนวน13 ครัวเรือน ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายเกินกว่าที่บริษัทเช่นนี้จะเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้ ซึ่งผู้ฝากเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ต้องตระหนักว่าจะทำธุรกรรมกับธนาคารที่สนับสนุนการทำลายประชาชนต่อไปหรือไม่

ธนาคารไทยพาณิชย์ร่ำรวยมากพอแล้ว เหตุใดจึงจะเพิ่มความร่ำรวยบนการทำลายผู้อื่น 

สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งสงตระหนักดีว่า หนังสือฉบับนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลง การแสวงหากำไรในแนวทางเช่นนี้ของธนาคารได้ มีแต่พลังของสาธารณะที่จะรับทราบถึงการดำเนินการของธนาคารไทยพาณิชย์ 
และกระทำการตัดสินจริยธรรมและธรรมาภิบาลของธนาคารไทยพาณิชย์

ขอเรียนว่าเราจะปักหลักจนกว่าธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับผู้ถือหุ้นทั้งหมดยกเลิกกิจการสร้างโรงไฟฟ้าใจกลางชุมชนและนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในแนวทางอื่นที่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ เพื่อเป็นประโยชน์ของบริษัทและไม่ทำร้ายประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ตัวแทนเครือข่ายปกป้องนาบอนจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพิษ

ดูคลิปพิธีสาปแช่ง:

 

ดูคลิปเจรจา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net