Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ก.คลัง เสนอจ่ายชดเชยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต 8-12 ล้านบาท หากพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีน ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และติดเชื้อ COVID-19 ครอบครัวละ 20 ล้านบาท

นักวิชาการเสนอจ่ายชดเชย 8-12 ล้านบาท ให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน COVID-19

9 พ.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่าเห็นด้วยในการสั่งวัคซีนเพิ่มเติม 150 ล้านโดสและเปิดเสรีให้ใช้วัคซีนได้หลากหลายยี่ห้อ และ ควรเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรไทยภายในเดือนกรกฎาคม หากยังคงฉีดวัคซีนในอัตราปัจจุบันไม่ถึง 50,000 โดสต่อวัน คาดว่าอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีจึงสามารถใช้ชีวิตปรกติได้  นอกจากนี้รัฐบาลควรให้แรงจูงใจทางด้านภาษีและการหักลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลหรือเอกชนที่ได้ช่วยเหลือกิจการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือระบาดระลอกสามและระลอกสี่ และให้ Tax Credit กับเอกชนที่ช่วยจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีนแล้ว รัฐบาลควรประกาศจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต 8-12 ล้านบาท หากพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีน เนื่องจากความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมากๆ รัฐบาลอาจไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนนี้เลย แต่จะทำให้ประชาชนลดความวิตกกังวลหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาขึ้น การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนจะทำให้การเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงได้เร็วขึ้น และต้องเร็วพอที่จะไม่ทำให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศไทยหรือมีการนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาในประเทศเพิ่มเติม การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพและสาธารณสุขรายบุคคล รายชุมชน ระบบคัดกรองและหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่าประชาชนแต่ละบุคคลควรฉีดวัคซีนชนิดใดยี่ห้อใด แล้วมีความปลอดภัยสูงสุด และประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นสิ่งสำคัญเร่วด่วนที่ต้องดำเนินการ 

อนุสรณ์ ระบุว่าชีวิตคนไทยไม่ควรถูกทดสอบโดยวัคซีนที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานดีพอ หรือใช้ของถูกคุณภาพต่ำมาบริการประชาชน คนไทยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ยากดีมีจนอย่างไร ต้องได้รับวัคซีนคุณภาพสูงและได้มาตรฐานเท่านั้น หากมีการดำเนินการสั่งซื้อไปแล้ว พบในภายหลังการผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ให้เอาไปทำลายทิ้งเสีย ไม่ต้องเสียดาย ส่วนความเสียหายทางงบประมาณค่อยมาตั้งคณะกรรมการสอบในภายหลัง (หลังควบคุมการแพร่ระบาดและฝ่าวิกฤติ COVID-19 ให้ได้ก่อน) ว่ามีดำเนินการใด ๆ ด้วยความประมาทไม่ละเอียดรอบคอบหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ 

ส่วน Immunization Related Focal Neurological Syndrome (IRFN) อาการไม่รุนแรง หายเองได้ ขอให้มั่นใจในการฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ตามที่มีการรายงานข้อมูลและการรวบรวมข้อมูลของระบบติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 14,954 ครั้ง พบว่ามี 49 รายที่รายงานอาการผิดปกติทางระบบประสาทคิดเป็น 0.33% ผู้ป่วย 90% เป็นเพศหญิง อาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการชาซีกใดซีกหนึ่ง รองลงมาคืออาการปวดศีรษะ ส่วนอาการอ่อนแรงพบ 5 รายคิดเป็น 0.03% ในผู้ที่มีอาการอ่อนแรง อาการไม่รุนแรงและดีขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์ มีการตรวจ MRI และ CT scan ทั้งในช่วงที่มีอาการและหลังจากมีอาการ ทั้งหมดไม่พบความ  ผิดปกติของสมอง แต่การตรวจ MRA เพื่อดูหลอดเลือดพบการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในบางราย มีผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจ SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงโดยละเอียดของสมอง ในผู้ป่วยจำนวน 8 รายพบว่ามีความไม่สมมาตรกันของ cerebral blood flow อยู่บ้าง กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มอาการใหม่ที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่จริง หรืออาจเรียกว่า IRFN (Immunization Related Focal Neurological Syndrome) โดยมีลักษณะสำคัญคือ มีอาการทาง sensory คืออาการชาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย และมีอาการชามักพบที่บริเวณปลายมือ มุมปากและแก้ม บางรายอาจมีความรู้สึกยิบๆนำมาก่อน อาการอื่นที่พบได้น้อยคืออาการมองเห็นผิดปกติครึ่งซีก และอาการอ่อนแรง อาการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมงแรก แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่มีบางรายที่อาจมีอาการต่อเนื่องที่ไม่รุนแรงได้นานเกิน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆที่พบร่วมด้วย ได้แก่อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ขณะนี้ ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ยังไม่สามารถอธิบายกลไกได้ชัดว่าทำไมจึงเกิด IFRN แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าไม่ได้ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดส่วนปลายขนาดเล็กของสมอง ทำให้สมองมีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เกิดการขาดเลือดถาวร ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการมีภาวะหลอดเลือดหดเกร็ง (vasospasm) ชั่วคราว เป็นลักษณะของ immunological reaction ที่มีความไวมากกว่าปกติของผู้ป่วยบางราย ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการได้รับ antigen มาก่อนหน้านี้ สรุปแล้วกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาทหรือ IRFN เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ภายหลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค COVID-19 มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และแนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีน ทั้งนี้โรค COVID-19 เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้ โดยพบว่าผู้ที่เป็น COVID-19 มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1.4% ส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 30% ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลต้องมีระบบการคัดกรองอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษต่อวัคซีน Lot ต่าง ๆ เพราะการผลิตวัคซีนแต่ละ Lot อาจมีความผิดผลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ระบบควบคุมคุณภาพ หรือ QA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง 

อนุสรณ์ ระบุข้อเสนอแนะอีกว่านอกจากนี้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขควรเพิ่มเงินพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทำงานด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยง และ ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และติดเชื้อ COVID-19 ครอบครัวละ 20 ล้านบาท  ทั้งนี้ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หรือหยุดยั้งการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการให้ได้ การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมจะกระทบต่อภาคส่งออกหากโรงงานต้องปิดเพราะการแพร่ระบาด การที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องย่อมทำให้ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าเปลี่ยนไปสั่งซื้อหรือนำเข้าจากประเทศอื่นได้ 

ส่วนการระบาดรุนแรงในย่านชุมชนแออัดกระทบต่อการขาดแรงงานในหลายกิจการ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะที่ความแร้นแค้นยากลำบากทางเศรษฐกิจในหมู่ผู้มีรายได้น้อยรุนแรง รัฐบาลต้องจัดงบช่วยเหลือชดเชยรายได้ตามพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน  จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในชุมชนคลองเตยในปัจจุบัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทุกคนอยู่ในมีความพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อสูง ต้องกักตัวอยู่ในชุมชนที่แออัด นอกเหนือจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกวันแล้ว ชาวชุมชนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง กลับกลายเป็นคนว่างงานเนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกไปประกอบอาชีพได้ตามปกติหรือถูกเลิกจ้าง คนที่เคยมีงานต้องโดนพักงาน ไม่มีใครรับชาวคลองเตยเข้าทำงาน ทำให้ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว มีความลำบากมากขึ้นไปอีก เสนอให้ กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพในการจ้างงานคนในชุมชนแออัดรวมทั้งคลองเตยในการช่วยจัดการความช่วยเหลือทั้งการเก็บ อัพเดทข้อมูลผู้ป่วย ความต้องการความช่วยเหลือ การจัดการและแจกจ่ายอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้มีความเสี่ยงที่กักตัวอยู่ในบ้าน โดยให้จ่ายเงินค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน การเข้าไปช่วยเหลือคนในพื้นที่จากอาสาสมัครและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ 

"วิธีที่ผมขอเสนอ คือ ให้กรุงเทพมหานครมอบงบประมาณให้ผู้นำชุมชน หรือ อย่างกรณีคลองเตยสามารถให้ 'มูลนิธิดวงประทีป' ดำเนินการได้ นำงบประมาณนี้ไปจ้างงาน 'คนที่ว่างงาน' ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหา สภาวะคนในชุมชนแออัดโดน lockdown และความหวาดกลัวของสังคมทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ขณะที่คนนอกชุมชนก็ไม่กล้าเป็นอาสาสมัคร การจ้างคนในชุมชนและคัดแยก 'คนติดเชื้อ' มาพักที่โรงพยาบาลสนามจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น" อนุสรณ์ ระบุ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net