Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพนางงามพม่าพร้อมคำประณามและขับไล่ต่างๆ นานา ซึ่งปรากฏบนสื่อโซเชียล ทำให้ผมออกจะแปลกใจ เพราะถ้อยคำรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวและภาพความทารุณโหดร้ายของกองทัพพม่า ซึ่งกระทำต่อประชาชนมือเปล่าโดยไม่เลือกหน้า

ความน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ยังทำให้มีคนสามารถบอกแก่นางงามได้อีกหรือว่า "อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดินไทย" หรือ "... อย่าสร้างปัญหาให้ไทย รีบๆกลับไปเถอะเป็นภาระบ้านเมืองคนอื่นเขา... ไปๆๆๆๆ กลับไป"

ภายหลังคิดอยู่นาน เวลาช่วยบรรเทาความโกรธเกลียดสลิ่มเหล่านั้นลงไปมากแล้ว จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า สลิ่มก็เหมือนคนอื่นทั่วไป ย่อมเป็นเหยื่อของรัฐและสื่อซึ่งรับใช้รัฐอย่างมืดบอด

มนุษยธรรมไม่เคยมีพื้นที่ในนโยบายต่างประเทศของไทย เพราะกองทัพซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เชื่อเสียแล้วว่า มนุษยธรรมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

ถ้าเปิดให้ผู้ลี้ภัยข้ามฝั่งเข้ามา ไทยต้องเป็นผู้รับภาระเลี้ยงดูผู้ลี้ภัยจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสน ทั้งไม่มีทางจะแยกออกระหว่างผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับลี้ภัยทางเศรษฐกิจ

แต่ทั้งรัฐและสื่อไม่เคยย้อนกลับไปดูว่า ภาระที่เราเคยต้องรับแก่ผู้อพยพลี้ภัยคืออะไร เกือบทั้งหมดคือให้ที่พักพิงซึ่งมักตั้งขึ้นในเขตป่าเขาและล้อมรั้วไม่ต่างจาก"ค่ายกักกัน"ในสงคราม ส่วนค่าเลี้ยงดูให้มีชีวิตอยู่รอดกลับเป็นภาระของสหประชาชาติ แม้แต่การอพยพต่อเพื่อกลายเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง ก็เป็นภาระของสถานทูตชาติตะวันตก จะเข้ามาคัดเลือกเพื่อส่งต่อไปยังประเทศของเขา

ลองเปรียบเทียบสถานการณ์รับผู้อพยพลี้ภัยในบังกลาเทศและอินเดีย ซึ่งรายได้ประชากรต่อหัวน้อยกว่าเรามาก อะไรกันแน่ที่คับแคบ พื้นที่ประเทศหรือหัวใจคนไทย

จริงอยู่ผู้อพยพอาจลักลอบหนีออกจากค่าย เพื่อหางานทำหรือกลายเป็นผู้ส่งยาเสพติด กลายเป็นปัญหาของเรา แต่สภาพความเป็นอยู่ในค่ายบังคับให้มนุษย์ต้องดิ้นรนหาทางหลุดออกมาให้ได้เป็นธรรมดา ไม่มีทางดีให้ไป ก็ไปทางเสีย เราเองมีส่วนอยู่ไม่น้อยในการทำให้สภาพความเป็นอยู่ในค่ายผู้อพยพเลวร้ายลงได้ถึงเพียงนั้น

ในประเทศที่ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้นทุกวันอย่างไทย เพียงแค่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เขา เราก็อาจคัดเอาคนที่พูดไทยอ่านไทยได้ออกมาเป็นแรงงานที่ถูกกฏหมาย ทำให้เขาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะให้สัญชาติในอนาคตหรือไม่ ค่อยคิดกันอีกทีก็ได้ แต่อย่างน้อยเราได้สร้างคนที่รักและเข้าใจประเทศไทยขึ้นจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้าน

มนุษยธรรมจะให้ผลดีหรือผลเสียแก่ประเทศ ขึ้นอยู่กับการจัดการของเราเอง ความไร้น้ำใจต่างหากที่ไม่ให้ผลดีอะไรเลย ไม่ให้แม้แต่คำสรรเสริญเห็นใจจากนานาชาติและผู้อพยพเอง

ผู้ลี้ภัยสงครามที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ดีที่สุดในประเทศไทย คือทหารเขมรแดงและประชาชนซึ่งหนีตามมา และกลายเป็นกำลังการผลิตและกำลังทหารของพลพตในเวลาต่อมา แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดจากมนุษยธรรม

ทันทีที่กองทัพเวียดนามยึดกัมพูชา แล้วขยายมาทางตะวันตกประชิดชายแดนไทย รวมทั้งเข้ายึดช่องเขาบางจุดเพื่อสะกัดการเคลื่อนย้ายของกำลังฝ่ายเขมรแดง กองทัพไทยตอบโต้ด้วยการถอยกำลังออกมาให้พ้นเขตที่อาจจะปะทะกัน (ซึ่งก็คงประเมินได้ไม่ยากว่าจะแพ้แบบแหลกลาญ) รัฐบาลไทย (เกรียงศักดิ์) ประสบความสำเร็จในการแปรเปลี่ยนภัยคุกคามที่ตนได้รับอยู่ ให้กลายเป็นปัญหานานาชาติ สร้างแรงกดดันทางการทูตให้แก่เวียดนามอย่างหนัก รวมทั้งแรงกดดันทางทหารผ่านจีนและเขมรแดงด้วย

มนุษยธรรมในนโยบายกรณีนี้ มีหน้าที่เพียงคำโฆษณาเพื่อรับบริจาคเท่านั้น

เพราะมนุษยธรรมไม่มีพื้นที่ในนโยบายไทยเลยเช่นนี้แหละ จึงมีพลเรือนผู้ลี้ภัยปืนใหญ่และทิ้งระเบิดของกองทัพพม่า มานอนเกลือกกลิ้งอดอยากอยู่ริมฝั่งสาลวินอีกฟากหนึ่งได้ ในขณะที่อาหารและยารักษาโรคที่คนไทยบริจาคติดค้างจำนวนมากอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เพราะทหารที่ดูแลชายแดนด้านนั้นเกรงว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับกองทัพพม่า

ผมไม่ได้หมายความว่า ทุนไทยและวิสาหกิจไทยที่ไปลงไว้ในพม่าไม่มีความสำคัญ หรือความตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างกองทัพพม่าและไทยเป็นเรื่องที่ควรเอาไปแลกกับมนุษยธรรม ผมเพียงแต่อยากถามว่า จริงหรือที่มนุษยธรรมไม่ควรมีพื้นที่ในนโยบายกับพม่าเลย จริงหรือที่การจัดลำดับความสำคัญ ต้องจัดให้มนุษยธรรมเป็นท้ายสุดที่อาจเขี่ยออกทิ้งได้เสมอ

นโยบายที่เอามนุษยธรรมไว้เป็นเบอร์หนึ่ง แล้วก็ยังรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงไว้ได้ (ในระดับหนึ่ง) เป็นไปไม่ได้เอาเลยเชียวหรือ หรือเพราะผู้วางนโยบายไม่เคยคิดอะไรไกลไปกว่าปลายจมูก คือรักษาสถานะเดิมของความสัมพันธ์ไว้เพียงอย่างเดียว ในระยะยาว นโยบายที่กอปรด้วยมนุษยธรรมย่อมทำให้ภาพพจน์ของไทยในสายตาชาวโลกน่าไว้วางใจมากขึ้นอย่างแน่นอน

และถ้าพยายามมองหาทางเลือกให้กว้างกว่าสถานะเดิม ก็ไม่จำเป็นต้อง"แลก"มนุษยธรรมกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างชนิดต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันได้ในนโยบายที่ผ่านการคิดและมองหาทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง

หน้าที่ของสื่อในช่วงวิกฤตของพม่าเช่นนี้ จึงไม่ใช่ตอกย้ำสถานะเดิมของนโยบายประหนึ่งไม่มีทางเลือกอื่นอีก การสัมภาษณ์ทหารและ"ผู้เชี่ยวชาญ"เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจสถานะเดิมของนโยบายให้ชัดมีประโยชน์แน่ แต่ต้องตามมาด้วยทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ อีกมาก (น่าประหลาดอยู่ที่"ผู้เชี่ยวชาญ"มักคิดอะไรไม่ต่างจากทหาร ท่านเหล่านั้น"เชี่ยวชาญ"อะไรกันแน่?)

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรม เช่นคำแถลงของคุณสุรเกียรติ เสถียรไทยว่า หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในนั้น ต้องไม่รวมการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการข้อนี้ทำให้เกิดทางเลือกเชิงนโยบายขึ้นอีกมาก ทั้งโดยตรงและผ่านอาเซียนหรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ

อันที่จริงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ไม่ใช่หลักการใหม่ของจีนหรืออาเซียน แต่เป็นหลักการในกฏหมายระหว่างประเทศที่มีอายุเกิน 100 ปีแล้ว (ช่วงเปลี่ยนผ่านคือนับตั้งแต่สิ้นสงครามนโปเลียนมาถึง 1888) แต่ก็มีข้อยกเว้นในทางปฏิบัติเสมอมา สิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นหลังสงครามเย็น (เช่นกรณีโคโซโว หรือกรณีเขมรแดงถ้ามองจากฝ่ายเวียดนาม)

จะเป็นไปได้อย่างไรที่อาเซียนอ้างหลักการโบราณนี้เป็นนิรันดร ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้

ผมเชื่อว่า หากพยายามค้นหา คงมี"ผู้เชี่ยวชาญ"อีกมากในวงการทูต (โดยเฉพาะที่ไม่ได้รับราชการอยู่) ซึ่งอาจเสนอทางเลือกเชิงนโยบายอื่นๆ ได้อีกมาก แทนที่จะนั่งบรรยายมิติต่างๆ ของสถานะเดิมให้ฟังดูมีศักดิ์ศรีเชิงวิชาการมากขึ้นกว่าที่เป็นจริง

อย่าลืมว่ากองทัพไทยไม่เคยเผชิญความตึงเครียดที่ชายแดนกับกองทัพเพื่อนบ้านจริงจัง กรณีเวียดนามบุกกัมพูชาได้กล่าวไปแล้ว กรณีพม่า ไทยเคยอึดอัดที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากล้าแข็งด้วยการสนับสนุนของจีน จนอาจยึดอำนาจได้ กองทัพไทยจึงสนับสนุนกองกำลังของชนกลุ่มน้อย เพื่อว่าหากวันที่คอมมิวนิสต์ชนะมาถึง จะมีพื้นที่กันชนที่ชายแดนตลอดแนว

นโยบายเช่นนี้ทำให้อาวุธสงครามนานาชนิดไหลผ่านประเทศไทยไปสู่กองกำลังชนกลุ่มน้อย ใครคือพ่อค้า(ใหญ่เล็ก)ในธุรกิจค้าอาวุธเหล่านี้ก็รู้ๆ กันอยู่ไม่ใช่หรือ แทนที่จะเป็นความตึงเครียดของไทย กลับเป็นกำไรก้อนใหญ่ที่แจกจ่ายกันได้กว้างขวาง

ดังนั้น กองทัพพม่าก็เสียไม่น้อย ถ้าเกิดความตึงเครียดกับกองทัพไทย เพราะภาระปราบปรามชนกลุ่มน้อยจะหนักขึ้นแก่กองทัพพม่าโดยไม่จำเป็น พูดอีกอย่างหนึ่งไทยก็มีอำนาจต่อรองในการเลือกนโยบายเช่นกัน

เพื่อซื้อหาอาวุธ ชนกลุ่มน้อยคงยิ่งต้องผลิตยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาระของไทยซึ่งเป็นทั้งตลาดและทางผ่าน แต่แม้ว่ารักษาสถานะเดิมของนโยบายต่อพม่าไว้ ก็ใช่ว่าไทยจะหลุดจากภาระป้องกันยาเสพติดแต่อย่างใดไม่ และเอาเข้าจริง ให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมยาเสพติดในพม่าขยายตัวขึ้นจนเต็มที่แล้ว และให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นายทหารพม่าที่คุมพื้นที่อันเป็นช่องทางลำเลียงด้วย นโยบายยาเสพติดของไทยเองนั่นแหละที่ต้องเปลี่ยนมาสู่การเน้นด้านลดอุปสงค์ภายในอย่างจริงจังกว่าที่ผ่านมา

ผลประโยชน์ด้านการลงทุนของไทยในพม่าก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีประโยชน์แก่ไทยเพียงฝ่ายเดียว มีประโยชน์แก่พม่า ไม่ว่าภายใต้รัฐบาลพลเรือนหรือทหาร ทั้งค่าต๋งที่กระจายแก่ทหารและข้าราชการและสร้างกำลังทางเศรษฐกิจแก่พม่าเองด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไทยมีอำนาจต่อรองระดับหนึ่ง ใช่ว่านโยบายทางเลือกของไทยจะต้องหมายถึงความพังพินาศของทุนไทยในพม่าเพียงอย่างเดียว

การนำเอามนุษยธรรมเข้ามาเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอย่างสำคัญ จึงไม่ได้หมายความว่าต้องแลกกับความมั่นคงชายแดนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่า ทางเลือกเชิงนโยบายที่จะเอาทุกอย่างทั้งมนุษยธรรม, ความมั่นคง, และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไว้ในระดับที่เป็นไปได้ (optimal) ที่สุดนั้นทำได้    

ทางเลือกเชิงนโยบายเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสื่อไม่ร่วมกับสังคมสร้างขึ้น อันที่จริงสื่อ"ตามประเพณี"ของไทยสมัยนี้ ไม่เคยสร้างทางเลือกเชิงนโยบายใดๆ เลย ไม่ว่าจะเรื่องวัคซีน, การใช้เงินเยียวยาทางเศรษฐกิจ, ฯลฯ โชคดีที่เรามีช่องทางใหม่คือสื่อโซเชียล ที่ทำให้ทางเลือกเชิงนโยบายได้ปรากฏแก่สังคมบ้าง

ผมเชื่อเสมอมาว่า ถ้าถือว่าคนไทยโง่ คนไทยก็โง่เพราะการศึกษาไทยและสื่อไทยนี่เอง ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสื่อคือการศึกษาตลอดชีวิตของทุกคน
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net