Skip to main content
sharethis

Documentary Club จัดฉายภาพยนตร์สารคดี Collective ที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปีนี้รอบพิเศษ พร้อมเปิดเสวทีเสวนาเผยประสบการณ์การทำข่าวสืบสวนสอบสวนจาก ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ และ ‘สันติวิธี พรหมบุตร’ ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนมากประสบการณ์

 

9 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ (8 เม.ย. 64) เวลา 18.45 น. Documentary Club ร่วมกับ DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย จัดงานฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Collective ซึ่งมีชื่อเข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ 2021 ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan พร้อมเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การทำข่าวสืบสวนและการตีแผ่ความจริงของสื่อมวลชน’ โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากสำนักข่าว The Reporters และสันติวิธี พรหมบุตร จากสำนักข่าวไทย เป็นผู้เสวนา

ผู้เสวนาทั้ง 2 คน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี โดย สันติวิธี เผยว่า หนึ่งในอุปสรรคของผู้สื่อข่าวสายสืบสวนสอบสวน คือ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองบรรณาธิการและเพื่อนร่วมงานในสายข่าวอื่นเท่าที่ควร เนื่องจากข่าวสืบสวนสอบสวนต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ทั้งยังใช้เวลาค่อนข้างมากในการประมวลผลและสรุปเป็นชิ้นงาน ซึ่งกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและค่อนข้างกินเวลาเช่นนี้ ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานและกองบรรณาธิการเท่าที่ควร ด้าน ฐปณีย์ เผยว่า โดยทั่วไป คนไทยมักเข้าใจข่าวสืบสวนสอบสวนเป็นเรื่องของการเปิดโปงการทุจริตและนโยบายภาครัฐ แต่ความจริงแล้ว การทำข่าวสืบสวนสอบสวนยังมีมิติประเด็นที่อีกหลากหลาย เช่น ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน หรือแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวจาก The Reporters และรายการข่าว 3 มิติ
 

ฐปณีย์ เผยว่า การทำข่าวสืบสวนสอบสวนเป็นงานยากด้วยธรรมชาติของงาน ทว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2557 เป็นต้นมา การทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวสอบสวนสอบสวนยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะการมีรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำงาน เช่น เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นต้น โดย ฐปณีย์ ยกตัวอย่างประสบการณ์การทำข่าวช่วยเหลือแรงงานประมงชาวไทยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้เธอได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนรวมถึงบุคคลในรัฐบาล เนื่องจากเป็นกรณีระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งถูกสหภาพยุโรปจับตามองการแก้ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ เธอยังเล่าประสบการณ์การทำข่าวค้ามนุษย์ชาวโรงฮิงญา และการตรวจสอบข้าวสาร 700 กระสอบบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดย ฐปณีย์ เผยว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวน เธอไม่เพียงแต่ได้รับแรงกดดันจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากเรื่องนั้นๆ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากภาครัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในฐานะสื่อมวลชน

ด้าน สันติวิธี เผยว่า ก่อนหน้านี้ตนทำรายการ ‘ข่าวดังข้ามเวลา’ ซึ่งเป็นรายการสารคดีข่าวสืบสวนสอบสวนที่นำข่าวดังในอดีตมาเล่าใหม่และตีแผ่ข้อมูลใหม่ๆ ในปัจจุบัน ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD ที่ได้รับเสียงชื่นชมและได้รับรางวัลจำนวนมาก แต่รายการดังกล่าวได้รับคำสั่งให้ยุติการผลิตและการออกอากาศ เนื่องจากประเด็นที่ทำค่อนข้าวอ่อนไหวต่อภาครัฐซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น กรณีนักศึกษาชาวพม่าบุกยึกสถานทูตพม่าในไทยเมื่อ พ.ศ.2542 และการบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรีใน พ.ศ.2543 ซึ่ง สันติวิธี กล่าวว่า หากสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตจะพบว่ากลุ่มคนที่บุกยึดสถานที่ดังกล่าว คือ กองกำลังก๊อดอาร์มี่ เขาจึงตั้งคำถามต่อไปว่าเหตุใดกองกำลังก๊อดอาร์มี่จึงกระทำการเช่นนั้น และเริ่มหาคำตอบผ่านกระบวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน แต่เมื่อสืบสวนจนได้ข้อมูลเชิงลึก ทำให้เขาตั้งสมมติฐานใหม่เพื่อขยายประเด็น จนพบข้อเท็จจริงอีกมุมที่อาจขัดขาผู้มีอำนาจ และเป็นเหตุให้ต้องยุติการผลิตรายการ นอกจากนี้ สันติวิธียังเผยประสบการณ์การทำข่าวสืบสวนสอบสวนการทิ้งขยะมีพิษจากโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งรายงานข่าวชิ้นนั้นนำไปสู่คำสั่งของอัยการที่ระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรื้อคดีและเริ่มต้นสืบสวนสอบสวนใหม่ จนสามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้

สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย
 

สันติวิธีกล่าวว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวน หลายครั้งมีอันตรายถึงชีวิต และเขาเองก็ถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจ ทั้งมีคนมาตามหาถึงที่ทำงาน สืบหาเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งถูกฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมระบุว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันนั้นทำให้กระบวนการทำงานยากลำบากยิ่งกว่าเดิม เพราะยิ่งผู้สื่อข่าวพูดใกล้ความจริงมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงถูกฟ้องหรือถูกคุกคามมากขึ้นเท่านั้น และถ้าหากร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ เมื่อนั้น กระบวนการทำงานของผู้สื่อข่าวเพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

ด้าน ฐปณีย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นักข่าวมักถูกตำหนิ ถูกด่าเสมอว่าเป็นคนสร้างเรื่อง สร้างปัญหา แต่สังคมไทยไม่เคยคิดที่จะย้อนตรวจสอบที่มาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากโครงสร้างของผู้มีอำนาจ จริงๆ แล้วนักข่าวเองก็ทำได้แต่มันต้องอาศัยสังคมที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวน และขอฝากทิ้งท้ายตามคำพูดในหนังเรื่องนี้ว่า เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมต่อรัฐ เมื่อนั้นรัฐจะข่มเห่งประชาชน ใช่ค่ะ นี่คือสิ่งที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่จากการทำข่าวครั้งล่าสุด [เรื่องข้าว 700 กระสอบ] ก็ทำให้ได้พบว่าเมื่อใดที่ประชาชนกล้าหาญที่จะพูดความจริง แล้วสื่อมวลชนไม่มีความกล้าพอที่จะตีแผ่ความจริง อย่าเป็นเลยค่ะ สื่อมวลชน”

อนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Collective เป็นภาพยนตร์สารคดีจากประเทศโรมาเนีย ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ ทั้งหมด 2 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ “คอเล็กทีฟคลับ” ในประเทศโรมาเนีย เมื่อปี 2558 โดยเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บ 180 คน เมื่อประชาชนพบว่าคลับโด่งดังแห่งนี้ไม่มีระบบดับเพลิงและทางหนีไฟ พวกเขาโกรธเกรี้ยวและลงถนนประท้วง กดดันจนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่แล้ว 4 เดือนหลังโศกนาฏกรรม กลับยังมีเหยื่อที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตายเพิ่มอีก 37 คนด้วยเหตุผลดำมืด ก่อนที่แพทย์และพยาบาลจะตัดสินใจเผยความจริงที่ตนได้เป็นประจักษ์พยานแก่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง จนนำมาสู่การเปิดโปงความฉ้อฉลครั้งมโหฬารของระบบสาธารณสุขและรัฐบาล ที่เดิมพันด้วยชีวิตของประชาชนและจริยธรรมของ “สื่อมวลชน”

ภาพยนตร์เรื่อง Collective เริ่มฉายวันที่ 12 เม.ย. เป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

 

ปี 2015 เกิดเหตุเพลิงไหม้ "คอเล็กทีฟคลับ" ในประเทศโรมาเนีย มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บ 180 คน...

Posted by Documentary Club on Wednesday, March 31, 2021

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net