Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย 'อานนท์-ไมค์' ถูกตั้ง 9 ข้อหา 'หัวหน้ามั่วสุมชุมนุมฯ' เหตุสาดสีหน้า สตช. - แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจารย์ ม.พะเยา กรณี #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง หลังชุมนุมผ่านไป 5 เดือน - 'ลูกเกด' นักเจรจาม็อบประชาชนปลดแอกรับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก 2 คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ว่าที่ สน.ปทุมวัน อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อเนื่องกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 โดยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้ง 9 ข้อกล่าวหา

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน บรรยายพฤติการณ์ความผิดว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมร่วม 100 คน ที่มี อานนท์และภาณุพงศ์ รวมถึงจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” พาผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากสี่แยกราชประสงค์ไปบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้มั่วสุม ใช้รถยนต์กระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำการพ่นสีใส่พื้นถนน ป้ายที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนำสีเสปรย์ไปพ่นทับกล้องวงจรปิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 58,850 บาท และเคลื่อนตัวต่อไปยังถนนอังรีดูนังต์ ก่อนที่จะขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 คนได้รับบาดเจ็บ

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ แจ้งข้อกล่าวหากับอานนท์และไมค์ รวมทั้งหมด 9 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
4. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
5. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
7. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากฝ่าฝืนให้ปรับไม่เกิน 200 บาท
8. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
9. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการแจ้งข้อกล่าวหาข้างต้น ทั้งอานนท์และภาณุพงศ์ต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นหลังสือภายใน 30 วัน

สำหรับเหตุในคดีการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์วันที่ 18 พ.ย. 2563 เป็นการตอบโต้กรณีตำรวจสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา วันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปชุมนุมด้านหน้ารัฐสภา เพื่อเกาะติดการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ตลอดทั้งวันมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปิดกั้นเส้นทางไม่ให้เข้าพื้นที่ และพยายามสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาและผสมสารเคมี  รวมทั้งมีการปะทะกับมวลชนปกป้องสถาบันฯ ด้วย

ใน #ม็อบ18พฤศจิกา ยังมีการสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ปืนฉีดน้ำผสมสี ฉีดเข้าไปภายใน โดยมีการนำรถบรรทุกน้ำมาด้วย เพื่อใช้ป้องกันหากตำรวจมีการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีอีก และเป็นการแสดงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่ไม่ชอบธรรม  

การชุมนุมครั้งนี้ยังมีการดำเนินคดีแยกเป็นสองคดีที่สองสถานีตำรวจ ได้แก่ สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี โดยอานนท์ และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 สน. ในส่วนคดีที่สน.ปทุมวัน นี้ก่อนหน้านี้ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ “ครูใหญ่” อรรถพล และ “ไผ่” จตุภัทร์ ไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. และ 28 ธ.ค. 2563 ตามลำดับ

ทั้งนี้หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองไปแล้ว 20 คดี ส่วนภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาไปแล้ว 16 คดี

แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจารย์ ม.พะเยา กรณี #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง หลังชุมนุมผ่านไป 5 เดือน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ว่าที่สถานีตำรวจภูธรแม่กา จังหวัดพะเยา รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 โดยเป็นผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหารายที่ 6 จากการชุมนุมดังกล่าว

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่กา จังหวัดพะเยา ในคดีที่มี พ.ต.ท.จารุวัจน์ สุปินะ รองผู้กำกับสืบสวนสภ.แม่กา เป็นผู้แจ้งความในข้อกล่าวหา “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” โดยกำหนดให้มนตราเข้าพบพนักงานสอบสวนใน “วันที่ 5 ม.ค. 2563 เวลา 9.00 น.”

ต่อมา เนื่องจากพนักงานสอบสวนพิมพ์ปีพุทธศักราชที่ระบุให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาผิดพลาด ทำให้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายเรียกใหม่มาส่ง โดยมีการแก้ไขวันที่ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาใหม่เป็นวันที่ 8 ม.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

วันที่ 8 ม.ค. รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล พร้อมด้วยทนายความเครือข่ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีเพื่อนของมนตราเดินทางมาให้กำลังใจที่สภ.แม่กา พร้อมกับมีการชูป้าย “การชุมนุมไม่ใช่อาชญากรรม” และ “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” และมีการถือกระป๋อง “แป้ง” เป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน

พ.ต.ท.พงค์ศักดิ์ พิทักษ์เมธี และ ร.ต.อ.ศุภโชค สวนพืช พนักงานสอบสวนสภ.แม่กา ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อมนตราว่า

“เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ต้องหาได้ร่วมกับ ผู้ต้องหาคดีที่ 299/2563 ประกอบด้วย นายชินภัทร วงค์คม ผู้ต้องหาที่ 1, นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ต้องหาที่ 2, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 3, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ผู้ต้องหาที่ 4 และ นายอานนท์ นําภา ผู้ต้องหาที่ 5 และผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ยังไม่ทราบชื่อและที่อยู่ อีกจํานวนประมาณ 200 คน จัดกิจกรรมชุมนุมชื่อกิจกรรม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง “ไม่มีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ไม่มีการคัดกรองผู้ร่วมชุมนุม ไม่มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการการป้องกัน และการจัดกิจกรรมเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยได้ร่วมกันทํากิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโคโรน่า 2019 ณ บริเวณลานหน้าป้ายมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีการชุมนุมกันในลักษณะแออัด ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีการเว้นระยะห่างของผู้ชุมนุม ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคฯ และยุยงให้เกิดความสงบเรียบร้อย

“ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาร่วมชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภา ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเลิกคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคล และแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”

เมื่อทราบข้อกล่าวหาแล้ว มนตราได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ตำรวจแจ้งนัดหมายส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการจังหวัดพะเยาในวันที่ 20 ม.ค. 2564 เวลา 9.00 น. แล้วจึงปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

ก่อนหน้าการเข้ารับทราบกล่าวหา มนตราได้โพสต์ข้อความเปิดเผยถึงความรู้สึกของการได้รับหมายเรียกในเฟซบุ๊กระบุว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง จะเสียใจ หากย้อนเวลากลับไปแล้ว ไม่ได้แสดงออกทางการเมืองเท่าที่ศักยภาพพอมี จะเสียใจมาก หากผมทำตามคำเตือนว่าผมมีครอบครัวที่ต้องดูแล อย่าไปยุ่งหรือแสดงออกทางการเมือง เงียบ ๆ ไว้ดีกว่า เดี๋ยวจะส่งผลกระทบกับครอบครัว จะเสียใจมาก หากสุดท้ายแล้ว ครอบครัวของผมมีอุดมการณ์ตรงกันข้าม ไม่สนับสนุนและไม่เข้าใจในความคิดและการกระทำของผม จะเสียใจมาก หากเป็นอาจารย์สายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สอนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองด้วย หากเอาแต่อิ๊กนอร์กับปัญหาที่เผด็จการทำปู้ยี่ปู้ยำกับบ้านเมือง จะเสียใจมากที่เพื่อนนักวิชาการ และอาจารย์ที่เคารพของผมก็โดนคดีไปหลายคดี แต่ผมไม่แสดงออกทางอุดมการณ์ใด ๆ ด้วย จะเสียใจมาก หากพี่น้องที่พะเยาและทั่วประเทศโดนกระทำมากกว่าเรา โดนยัดคดีหลายข้อหา จนเป็นบัญชีหางว่าว แต่เราอยู่สุขสบาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว…

“การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ได้ไปทำร้ายหรือไปฆ่าคนตายที่ไหน ไม่ได้ทำผิดอะไร ดังนั้น ผมบริสุทธิ์ใจและไม่มีอะไรต้องกริ่งเกรงที่จะไปตามที่เขาเรียก และผมก็ยังสอนหนังสือแบบเดิม มีเวทีที่พะเยาเมื่อไหร่ก็จะเข้าร่วมแบบเดิม ดูเหมือนปี 2564 คงเป็นปีที่เผด็จการพร้อมทั้งเครื่องมือและกลไกต่างๆ ของมันกำลังทำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องมาจากปี 2563 ในขณะที่เครื่องมือและกลไกนั้นยิ่งทำงานรับใช้นาย ก็จะยิ่งเสื่อมศรัทธาและทรุดโทรม

“นายและลิ่วล้อจงรู้เถอะว่า ยิ่งใช้กฎหมายเล่นงานปิดปาก สร้างอยุติธรรมให้คนบริสุทธิ์เท่าไหร่ การรังเกียจพวกคุณและการต่อต้านยิ่งมากเท่านั้น ถึงอย่างไร กาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นผู้ชนะ พรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป ผมก็คือผมคนเดิม”

สำหรับกิจกรรม #พะเยาบ่าเอาแป้ง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นั้น เดิมถูกประกาศจัดในชื่อกิจกรรม #พะเยาจะบ่าทน ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ กว๊านพะเยา แต่ในวันที่ 25 ก.ค. ทางนายอำเภอเมืองพะเยาได้มีหนังสือประกาศให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเวลาและสถานที่ใกล้เคียงกันกับกิจกรรมการชุมนุม ทำให้ต่อมาผู้จัดกิจกรรมต้องประกาศย้ายไปจัดหน้ามหาวิทยาลัยพะเยาแทน และมีการใช้ชื่อการชุมนุมใหม่ว่า #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง

ต่อมามีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นนักกิจกรรมหรือผู้เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดพะเยา ได้แก่ นายชินภัทร วงค์คม, นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย และนายอานนท์ นําภา ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกัน ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และ 8 พ.ย. 2563

กรณีของนายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ได้ถูกอัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพะเยาอย่างเร่งรัดแยกจากผู้ต้องหาอีก 4 ราย ที่ยังไม่มีการส่งสำนวนคดีและตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ เนื่องมาจากผู้ต้องหามีนัดหมายคดีจำนวนมากในกรุงเทพมหานครจึงได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการส่งตัวให้อัยการออกไป อีกทั้งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

'ลูกเกด' นักเจรจาม็อบประชาชนปลดแอกรับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก 2 คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 ว่าชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ “ลูกเกด” นักกิจกรรมทางสังคม เดินทางไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากเหตุการชุมนุมใหญ่ของม็อบ “ประชาชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 และกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย” รำลึกถึงผู้สูญหายหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันที่ 22 ส.ค. 2563  โดยลูกเกดให้การปฏิเสธทั้งสองคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน

พ.ต.ท.โชคอำนวย บุญฤทธิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดว่า ชลธิชาได้เข้าแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะบริเวณแยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  โดยมีวัตถุประสงค์ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมา วันที่ 16 ส.ค. 2563 ได้มีการจัดตั้งเวทีปราศรัยบริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์หันหน้ามาทางสี่แยกคอกวัว ผู้ชุมนุมได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ปรากฏว่าได้มีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเดินเข้าไปบนพื้นผิวจราจรถนนราชดำเนินกลางด้านขาออก จากรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่งชลธิชาไม่ได้ขอใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดเงื่อนไขหรือคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติ อีกทั้งทำให้การจราจรติดขัด 

ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลจึงได้มีประกาศให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ แจ้งให้ชลธิชาในฐานะผู้จัดชุมนุมแก้ไขให้ผู้ชุมนุมอยู่ภายในบริเวณที่แจ้งการชุมนุมเท่านั้น และแก้ไขการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 20.30 น. แต่ปรากฏว่า ชลธิชาไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบประกาศดังกล่าวและไม่ดําเนินการแก้ไขการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด ยังคงจัดทํากิจกรรมบนเวทีปราศรัยเรื่อยมา จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.40 น. จึงได้ยุติการชุมนุม หลังชุมนุม พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยภิญโญ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม จึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีชลธิชา

จากการสอบสวนเพิ่มเติมได้ความว่า ผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันเบื้องต้นโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูก ไม่พบเห็นการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ ไม่พบว่า มีจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ 

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาชลธิชาว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัดหรือยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, ฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ห้ามจัดกิจกรรมที่ทำให้คนมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย, ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดและให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตาม และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม  

พ.ต.ท.โชคอำนวย ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีการชุมนุมวันที่ 22 ส.ค. 2563 อีกคดี โดยแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีว่า ชลธิชาได้เข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ผู้สูญหาย และแสดงดนตรีเพื่อประชาธิปไตย โดยจัดชุมนุมบริเวณทางเท้าหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 63 มีการจัดตั้งเวทีปราศรัย มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโควิด 19 เบื้องต้น ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ไม่พบเห็นการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ และไม่พบว่า มีจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ 

จากนั้นจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาชลธิชาว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5, ฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2), ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ข้อ 5 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

ลูกเกดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ทั้งนี้ คดีทั้งสองมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

ผู้กล่าวหาทั้ง 2 คดี คือ พ.ต.ท. สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม มีข้อสังเกตด้วยว่า  เอกสารคำให้การของทั้งสองคดี พนักงานสอบสวนระบุว่า ชลธิชากับพวกร่วมกันกระทำความผิด แต่ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพียงชลธิชาคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ อยู่ระหว่างการสอบสวน

ทั้งนี้ ย้อนไปหลังการชุมนุมครั้งนั้นมีรายงานว่า  การชุมนุมเวทีวันที่ 16 ส.ค. 2563  มีการแจ้งการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกำหนดการชุมนุมตามกฎหมายให้ทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เบื้องต้นในภาพรวมทางผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่จะมีบางข้อตรงตามเจ้าหน้าที่บังคับให้ปฏิบัติตาม และมีการละเมิดกรณี พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.ความสะอาด และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ซึ่งตำรวจมองว่าเป็นความผิดเล็กน้อย และไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 ทำให้ตำรวจพิจารณาดำเนินคดีผู้แจ้งการชุมนุมเพียงคนเดียว คือ ลูกเกด เพราะตามกฎหมายผู้แจ้งการชุมนุม คือผู้จัด และผู้จัดจะต้องมีหน้าที่ให้ความร่วมมือตำรวจในการรักษาความสงบ การตั้งจุดคัดกรองตรวจอาวุธก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และไม่ละเมิดกฎหมาย

ส่วนกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 เป็นกิจกรรมรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายในเหตุการณ์ทางการเมือง จัดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินปลดแอก โดยในกิจกรรมนี้มีการเปิดเผยรายชื่อนักกิจกรรมทางการเมือง กว่า 100 คน ที่ต้องลี้ภัยทางเมือง รวมถึงถูกบังคับให้สูญหาย หลังจากปี 2557 จนถึงคนล่าสุด คือ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปในระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย. 2563

สำหรับ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” (Democracy Restoration Group: DRG) ปัจจุบันอายุ 27 ปี เป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทตั้งแต่ต้านรัฐประหาร และรัฐบาล คสช.ในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา  เป็นหนึ่งในแกนนำ 14 นักศึกษา ในนาม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ช่วงปี 2563 เธอขยับบทบาทเป็นผู้เจรจาและผู้จัดการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก และคณะราษฎร ก่อนจะถูกดำเนินคดีในข้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพการชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งหากนับรวม 2 คดีที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาล่าสุด ลูกเกดถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 รวม 13 คดี แล้ว 

โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ลูกเกดยังเดินทางต่อไปในนัดส่งตัวให้อัยการคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จาก #ม็อบ15ตุลา หรือ #15ตุลาไปราชประสงค์ ของ สน.ลุมพินี อัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2564

ที่มาเรียบเรียงจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [1] [2] [3]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net