Skip to main content
sharethis

อนุรักษนิยมคืออะไร? คือพวกที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตยจริงหรือ? คือพวกที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม? พันธมิตรฯ กปปส. สลิ่ม เป็นอนุรักษนิยมใช่หรือไม่? หรือเรากำลังเข้าใจผิด ‘ประชาไท’ ชวนทำความเข้าใจอนุรักษนิยม อนุรักษนิยมไม่มีทางยืนฝั่งเผด็จการ

  • อนุรักษนิยมคือปรัชญาการเมืองของความกังขาที่ไม่เชื่อการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินและผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องแบกภาระในการพิสูจน์
  • อนุรักษนิยมยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ
  • พันธมิตรฯ กปปส. สลิ่ม ไม่ใช่กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม แต่มีแนวคิดแบบเผด็จการ
  • อนุรักษนิยมเป็นวิธีการให้เหตุผลแบบหนึ่งที่อาจมีเป้าหมายเดียวกันกับแนวคิดทางการเมืองแบบอื่นๆ ได้

คุณเข้าใจอนุรักษนิยมหรือกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างไร?

การเมืองไทยอันร้อนแรงเวลานี้ มองแบบคนทั่วไปจะแบ่งฟากฝ่ายได้ 2 กลุ่มคือประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม นี่ทำให้ ‘อนุรักษนิยม’ หรือ conservativism กลายเป็นปีศาจผู้ขัดขวางประชาธิปไตยและถูกแปะป้ายว่า ‘สลิ่ม’

ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ้ามีคนบอกว่าเขาเป็นอนุรักษนิยม ความรู้สึกแรกคืออะไร? ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิยามตนเองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่ออนุรักษนิยมนั้น...ผิด

อนุรักษนิยมคือผู้ที่กังขาต่อแนวคิดทางการเมืองและยืนฝั่งเดียวกับประชาธิปไตยเสมอ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าสลิ่ม ไม่มีทางเป็นอนุรักษนิยมได้

‘ประชาไท’ ชวนคุณรีเซ็ท ทำความเข้าใจ ‘อนุรักษนิยม’ เพื่อนำไปถกเถียงกันต่อ

ปรัชญาการเมืองของความกังขา

“อนุรักษนิยมเป็นแนวทางการทำความเข้าใจและการลงมือทางการเมืองประเภทหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นปรัชญาการเมืองประเภทหนึ่งก็ได้ เป็นปรัชญาการเมืองของความกังขา ความไม่เชื่อมั่น หากเปรียบเทียบกับปรัชญาการเมืองอื่นๆ อย่างเสรีนิยมและสังคมนิยม อนุรักษนิยมจะมองว่าพวกสังคมนิยมเชื่อในเรื่องการปฏิวัติสังคมมากเกินไป เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถออกแบบสังคมได้เก่งมากเกินไป อนุรักษนิยมจะไม่เชื่อมั่นในตัวเองและผู้อื่นขนาดนั้น และจะเสนอว่าเราค่อยๆ ปฏิรูปดีกว่า ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน”

ธีรภัทรกล่าวว่านั่นทำให้อนุรักษนิยมคล้ายคลึงกับอีก 2 แนวคิดคือ classical liberalism ที่เชื่อว่าอุดมคติของคนต่างกัน ดังนั้น รัฐส่วนกลางไม่ควรเอาอุดมคติของตนเองมายัดเยียดให้คนอื่น และ libertarianism ที่ไม่เชื่อในอำนาจและมีความเชื่อว่าสถาบันทั้งหลายควรจะยุบลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะสถาบันเหล่านี้มีอำนาจและอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

เมื่อกังขา ชาวอนุรักษนิยมจึงไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลส่วนกลางนักและไม่ต้องการให้รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจมากเกินไป ไม่เชื่อใจในอำนาจ คิดว่าอำนาจนำไปสู่ความชั่วร้ายต่อให้มีเจตนาดีก็ตาม อีกเหตุผลหนึ่งคือคำตอบที่มาจากศูนย์กลางไม่มีทางเข้าใจท้องถิ่นได้จริงๆ ดังนั้น รัฐส่วนกลางไม่ควรแทรกแซงท้องถิ่น หากไม่ใช่เรื่องจำเป็น

เฉด

แต่ก็เหมือนแนวความคิดต่างๆ บนโลกใบนี้ อนุรักษนิยมก็มีหลายเฉด เฉดเกิดจากมาตรวัดว่าเรื่องที่รัฐ ‘จำเป็น’ ต้องเข้ามายุ่งกับประชาชนควรจำกัดอยู่แค่ไหน ธีรภัทร ยกตัวอย่างแนวคิดอนุรักษนิยม 3 เฉด ได้แก่ green conservative เป็นความคิดที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยเอ็ดมุนด์ เบิร์ก ที่เชื่อว่าทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าท้องถิ่นจะจัดการได้ รัฐส่วนกลางต้องเป็นผู้จัดการ

Parternalistic เชื่อว่าภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐส่วนกลางคือทำให้ประเทศไม่แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ one-nation conservatism แล้วประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยเหตุใด ก็จากการเกิดความไม่ยุติธรรม จากความยากลำบากที่คนบางกลุ่มกดขี่คนบางกลุ่ม

“คนที่เสนอไอเดียนี้เป็นคนแรกคือ Benjamin Disraeli เป็นอดีตหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ช่วงปี 1870 และเป็นนายก 2 สมัย เขาบอกว่ารัฐบาลส่วนกลางต้องเข้ามาบังคับอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายให้ยอมรับว่า ตนเองกำลังสบายอยู่บนหลังของคนลำบากและเข้าไปช่วยเหลือ เช่น มีเงินเข้าไปพยุงให้คนสามารถใช้ชีวิตแบบประหยัดได้

“David Willetts อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของพรรคคอนเซอร์เวทีฟและเป็นอาจารย์ที่อ๊อกฟอร์ด เสนอว่านโยบายหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในรุ่นเบบี้ บูมเมอร์หรือรุ่นของเขา มันไปขโมยอนาคตของคนรุ่นใหม่ผ่านนโยบายที่ไม่ดี นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขาโดยที่ไม่สนใจคนรุ่นใหม่ และนี่คือเวลาที่เราต้องคืนความยุติธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ เขาต้องออกมาพูดเพราะมันจะกลายเป็นสังคมของผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ ซึ่งก็คือฝันร้ายของ Disraeli”

Fiscal conservative เป็นกลุ่มที่เชื่อว่าผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เอาอำนาจของประชาชนไปบริหารประเทศ ดังนั้น ผู้บริหารควรใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น

หากสรุปแบบรวบรัด อนุรักษนิยมก็คือ political skeptic หรือผู้กังขาทางการเมือง

ถ้าอยากจะเปลี่ยน ต้องพิสูจน์ตนเอง

มาถึงตรงนี้ เราคงเริ่มสั่นคลอนว่า แล้วสิ่งที่ตนเชื่อเกี่ยวกับอนุรักษนิยมโดยเฉพาะในการเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่ผิดมาตลอดน่ะสิ อนุรักษนิยมมิใช่พวกที่ยึดติดกับคุณค่า จารีตเดิม และไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงกระนั้นหรือ

ยกคำว่า ‘ในการเมืองไทย’ ออกไปก่อน พิจารณาเฉพาะประเด็นที่ว่าไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง...

“คืออนุรักษนิยมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แต่ไม่ใช่เพราะบูชาของเก่า มันเป็นปรัชญาการเมืองแห่งความกังขา ไม่เชื่อเวลาที่มีใครมาออกแบบชุดนโยบายว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หรือถ้าเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้จะไม่มีปัญหา ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบนี้อนุรักษนิยมจะขัดขืน

“อะไรเป็นจุดต่างที่สำคัญมากๆ ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม เสรีนิยมบอกว่าใครก็ตามที่พยายามจะละเมิดเสรีภาพของปัจเจกจะต้องแบกรับภาระของการพิสูจน์ตนเองว่าคู่ควรที่จะไปกระทบเสรีภาพ เช่น เขาฆ่าคน เราก็ต้องจับเขามาเข้าคุก ขณะที่แกนหลักของอนุรักษนิยมคือใครก็ตามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องแบกรับภาระในการพิสูจน์ว่าถูกต้องแล้วที่สังคมต้องเปลี่ยน เมื่อมองจากมุมของเสรีนิยม สังคมนิยม หรือแนวคิดอื่นๆ แน่นอนว่าอนุรักษนิยมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่สุดแล้วในบรรดาฝั่งประชาธิปไตย เพราะเขาจะเรียกร้องเสมอว่าจะเปลี่ยนทำไม เปลี่ยนแล้วดีขึ้นอย่างไร คุณรู้ได้อย่างไร”

แต่มิได้หมายความว่าเปลี่ยนไม่ได้

“ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยเอ็ดมุนด์ เบิร์กว่า มันต้องเปลี่ยน เราเรียนรู้ภูมิปัญญามาจากคนรุ่นก่อน แต่คนรุ่นก่อนก็มีปัญหาเยอะ มองจากมุมที่จำกัดในช่วงเวลาที่แคบมาก เขาไม่สามารถล่วงรู้อนาคตและออกแบบทุกอย่างให้ดีได้ ดังนั้น มันจะมีปัญหาของยุคเขาส่งต่อมาถึงยุคเรา เราก็ต้องแก้พวกนี้ แต่ไม่ใช่แก้แบบยกทั้งยวง เป็นการแก้แบบการปฏิรูป ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละนิดๆ จากมุมเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าคิดแค่ว่าอนุรักษนิยมคือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้ไหม ได้ แต่ไม่ใช่เพราะหวงแหนของเก่า แต่ต่อต้านเพราะไม่แน่ใจในของใหม่และเรียกร้องให้คุณพิสูจน์ตนเอง ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยน”

ถ้าอนุรักษนิยมคือปรัชญาการเมืองแห่งความกังขา เราสามารถถามกลับได้เช่นกันว่า ชาวอนุรักษนิยมเองก็ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีมิใช่หรือ?

“ใช่ อนุรักษนิยมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะอย่างนั้นเขาจึงบอกให้ค่อยๆ เปลี่ยน คนสามารถแย้งได้ว่าทำแบบนี้มันไม่ทัน ไม่สามารถเปลี่ยนแบบถึงรากถึงโคน ซึ่งก็เป็นคำวิจารณ์ที่ชอบธรรมที่ควรวิจารณ์ แล้วอนุรักษนิยมจำนวนมากก็จะอึกอักและมีปัญหาเวลาเถียงเรื่องพวกนี้ ก็ต้องยอมรับว่าหลายๆ ครั้งอาจจะแก้ปัญหาช้าเกินไป นโยบายนี้อาจจะมองจากมุมชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงมากเกินไป ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ที่เมคเซ้นส์มากๆ สำหรับผมในฐานะที่เป็นอนุรักษนิยม ในบางเรื่องผมก็สนับสนุนไอเดียของเสรีนิยมหรือสังคมนิยมมากกว่า”

อะไรอยู่ตรงข้ามกับอนุรักษนิยม?

เป็นคำถามที่ดูแบ่งข้าง แยกขั้ว เพราะเราเชื่อว่าอนุรักษนิยมตรงข้ามกับฝ่ายก้าวหน้า หรือแม้แต่กับฝ่ายประชาธิปไตย การมองเช่นนี้ผิดหรือไม่? ไม่เชิง เพราะสถานการณ์การเมืองไทยบวกกับความเชื่อที่มีต่ออนุรักษนิยมชวนให้คิดได้

ทว่า มันอาจไม่มีการแบ่งขั้วในแบบที่เราเข้าใจ

“ถ้าเป็นบริบทประชาธิปไตย ผมคิดว่าอนุรักษนิยมส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับคำพูดต่อไปนี้ของผมคือ เราก็เป็นคนหนึ่งในบอร์ดบริหาร เป็นหุ้นส่วนโครงการพัฒนาสังคมร่วมกับกลุ่มแนวคิดอื่นๆ เราต่างหวังดีกับประเทศเพราะมันเป็นโครงการร่วมกันของเรา แต่เราเชื่อไม่ตรงกันว่าหน้าตาของโครงการที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร และเราก็เชื่อไม่ตรงกันว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น”

แต่...

“ถ้าในบริบทเผด็จการ อันนี้ชัดว่าอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่พวกเสรีนิยม สังคมนิยมอยู่แล้ว เพราะอนุรักษนิยมไม่เชื่อว่าใครรู้ดี ไม่เชื่อว่าใครบริสุทธิ์ แต่อยู่ดีๆ มีเพื่อนพลเมืองของเราทรยศเรา เผด็จการคือการทรยศ คืออยู่ดีๆ คุณยึดอำนาจอธิปไตยของโครงการทั้งหมดไป แล้วบอกว่าฉันเป็นคนดี เชื่อใจฉัน ฉันรู้ดี เชื่อในความรู้ของฉัน ใครไม่เชื่อฉันเป็นคนเลว”

คุณคงเริ่มกระสับกระส่ายและอยากรู้แล้วว่า กลุ่มการเมืองบางกลุ่มบนเวทีการเมืองไทยขณะนี้เป็นพวกอนุรักษนิยมหรือเปล่า? เพราะเรามักเรียกกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ว่า ‘อนุรักษนิยม’ มาตลอด เราจะขมวดเรื่องนี้ลงไปทีละขั้น เริ่มจากคำถามกว้างๆ ก่อนว่า ในประเทศไทยมีกลุ่มแนวคิดแบบอนุรักษนิยมหรือไม่?

“ขั้นแรกคำศัพท์ว่าอนุรักษนิยม สังคมนิยม เสรีนิยม มันจะพูดกันได้จริงๆ จังๆ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น หลายๆ คนอาจจะเป็น แต่แสดงออกไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นก็ได้ ผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่ากลุ่มไหนบ้างเป็นอนุรักษนิยม แต่ผมสามารถพูดได้ว่าการเคลื่อนไหวลักษณะไหนที่เป็นอนุรักษนิยม

“ถ้าคุณเคลื่อนไหวในเชิงที่พยายามจะยัดเยียดคุณค่าอะไรให้สังคม ไม่ใช่อนุรักษนิยมแน่ๆ แต่ถ้าคุณพยายามเคลื่อนไหวโดยเอาคุณค่าที่คนในสังคมทำกันอยู่แล้วมาทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ใช่ เช่น เรื่องบางเรื่องเราพูดไม่ได้ตามกฎหมาย แต่จริงๆ เราก็แอบพูดกันอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะพูดกันมาตั้งนานก็ไม่มีใครบอกว่าเป็นเรื่องทำลายสังคมและคุณก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามันทำลายสังคมยังไง แบบนี้เป็นการเคลื่อนไหวแบบอนุรักษนิยม ถ้าเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูป เสนอให้มีการตรวจสอบ เสนอให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ อันนี้เป็นการเคลื่อนไหวแบบอนุรักษนิยม”

จะเห็นคำว่า ‘ในบริบทประชาธิปไตย’

พันธมิตรฯ กปปส. สลิ่ม ไม่ใช่อนุรักษนิยม

ในการเมืองไทยนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ถึงปัจจุบัน มีผู้เล่นหลักอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. และกลุ่มที่ถูกเรียกว่า สลิ่ม

ธีรภัทรตอบว่า ทั้ง 3 กลุ่มนี้ไม่ใช่อนุรักษนิยม

“ถ้านิยามแบบกว้างก็บอกไปเลยว่าเป็นเผด็จการ คือคุณสนับสนุนเผด็จการ คุณเชื่อในเผด็จการก็คือคุณเป็นพวกเผด็จการนั่นแหละ แล้วเราก็ไม่ควรเรียกเขาด้วยศัพท์ที่ปกปิดความชั่วร้ายของเขาด้วย ทำไมผมจึงมั่นใจกับเรื่องนี้ขนาดนั้น ทั้งที่อนุรักษนิยมเป็นพวกกังขา เรากังขากับพวกทฤษฎีการเมือง เราไม่แน่ใจว่าคำตอบมันถูกหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าใครรู้คำตอบจริงๆ ไหม แต่พวกนี้ไม่ได้เพียงมั่นใจในคำตอบของตัวเองแบบที่สังคมนิยมมั่นใจในคำตอบของตนเอง ถ้าคุณมั่นใจแบบนั้น ผมอยู่กับคุณได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ประชาธิปไตยมันเป็นระบบ ไม่ใช่ทฤษฎีการเมือง เป็นระบบการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นระบบที่เรามาตกลงกันว่าอนุรักษนิยมไม่มั่นใจว่าคำตอบของเราหรือของคนอื่นถูกไหม แต่เรามีอำนาจร่วมกันในการทำโปรเจคนี้ เราก็มาตกลงกันในสภา ในศาล หรืออะไรก็แล้วแต่บริบท

“แต่ถ้าคุณออกมาบอกว่าฉันไม่เพียงรู้ว่าอะไรถูกที่สุด แต่ฉันจะบังคับให้พวกแกทำตามฉัน อันนี้เราพูดได้แบบตรงไปตรงมาเลยว่าไม่เอา สิ่งที่ทำนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบอะไรที่เราจะรับได้ อันนี้คือเผด็จการ ดังนั้น เราก็ควรเรียกเขาว่าเผด็จการ แล้วการไปเรียกเขาว่าอนุรักษนิยมมันเป็นการไปเพิ่มอำนาจให้เขา เพราะมันฟังดูดี มีความชอบธรรม เขาอาจจะมีบางอย่างเป็นอนุรักษนิยมก็ได้ ผมไม่รู้ แต่การแสดงออกของเขาไม่ใช่สิ่งที่อนุรักษนิยมยอมรับได้แน่นอน”

เพราะเราถูกหลอก

ถ้าอนุรักษนิยมไม่ใช่แนวคิดทางการเมืองในแบบที่เราเข้าใจว่าพันธมิตรฯ กปปส. หรือสลิ่มเป็น ความเข้าใจผิดนี้ย่อมต้องมีที่มา ธีรภัทรแบ่งคำตอบความเข้าใจผิดเป็น 2 ระดับคือแบบกว้างและแบบแคบ

ในแบบกว้าง ธีรภัทรมองไปที่การศึกษาที่สร้างความรู้ ความเข้าใจแบบผิดๆ ต่อหลายเรื่อง เขายกตัวอย่างแนวคิดคอมมิวนิสม์ที่การศึกษาไทยให้ภาพที่ผิดจากตัวแนวความคิดไปมาก เรื่องนี้คงไม่จำเป็นต้องอธิบาย หรือการสอนว่าประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้และเสียงส่วนน้อยไม่มีสิทธิใดๆ

“อำนาจอธิปไตยเราก็สอนกันแบบแปลกประหลาดมาก เราสอนเหมือนผู้บริหารประเทศเป็นเจ้านายเรา เหมือนเราแค่มีสิทธิ์เลือกนาย แต่ถ้าคิดแบบเสรีนิยมคุณไปเลือกหัวหน้าของคุณ เลือกผู้นำที่จะนำคุณไปในทางที่ดี ถ้าเป็นอนุรักษนิยมก็จะเชื่อว่าคุณเลือกตัวแทนของคุณเข้าไปเป็นเสียงให้คุณ แต่เราสอนแค่ว่าเปลี่ยนจากการมีเจ้านายแบบสืบสันตติวงศ์เป็นเราไปเลือกเจ้านายของเรา แล้วเจ้านายก็แข่งกันออกนโยบายให้ถูกใจเรา เพื่อให้เราเลือกเขา คือการศึกษาไทยมันแย่ สอนให้เราเข้าใจอะไรผิดมากๆ”

ในภาพที่แคบลงมาคือการหลอกว่าสิ่งนั้นๆ อยู่เหนือการเมือง ธีรภัทร ยกตัวอย่าง

“เช่นบอกว่าศาสนา ธุรกิจ ทหาร และอื่นๆ อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่นักการเมือง พอพูดแบบนี้มันทำให้พวกนั้นดูเป็นแค่อะไรบางอย่างที่ดำรงอยู่เฉยๆ แล้วถ้าเราสอนแบบนี้ให้กับคนที่มีแนวโน้มจะเป็นอนุรักษนิยมตั้งแต่เด็กว่าพวกนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเมือง มันไม่แปลกเลยที่เขาจะหลอกตัวเองไปตามที่คุณหลอก เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง อนุรักษนิยมก็จะเริ่มกังขาขึ้นมาว่าทหารดีจริงเหรอ พระดีจริงเหรอ ธุรกิจอยู่เหนือการเมืองจริงเหรอ แต่พอเราสอนกันว่าอยู่เหนือการเมือง เราก็จะมองว่าการเมืองมีแค่พวกในสภาและจะสังเกตได้ว่าคำที่พวกอนุรักษนิยมพูดกันบ่อยคือนักการเมืองมันชั่วและไม่ค่อยไว้ใจนักการเมือง แต่เพราะเขาถูกสอนว่าพวกนั้นไม่ใช่นักการเมือง เขาจึงไม่สามารถเชื่อมโยงความกังขาไปยังส่วนอื่นๆ ได้”

คือวิธีการให้เหตุผล

ก่อนจบ มาดูเรื่องข้างเคียงที่จะทำให้เห็นวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม อย่างเรื่องการทำแท้งที่อนุรักษนิยมยืนคนละฟาก

“เรื่องทำแท้ง ผมบอกได้เลยว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ผมเข้าใจว่ามันควรเป็นสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิง แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตของมนุษย์เป็นของมีค่ามากๆ และนี่คือประเด็น ความรู้สึกมั่วๆ ของผม จากมุมแคบๆ ของผมที่ทั้งชาตินี้ไม่มีวันท้อง ผมจะเอาแค่มุมมองแคบๆ ของผมไปแทรกแซงสิทธิร่างกายคนอื่นได้อย่างไร เพราะผมเป็นอนุรักษนิยม ผมก็ต้องกังขาในตัวเอง ที่ผมคิดไปเอง ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาควรทำแท้งหรือไม่ ดังนั้น ผมจึงสนับสนุนให้เขาทำแท้งได้เสรี ไม่ใช่เพราะว่าผมเห็นด้วย แต่เพราะผมไม่มั่นใจในคำตอบของตัวเอง และผมก็ไม่คิดว่าควรจะมีใครมั่นใจ และเรื่องที่เราไม่มั่นใจนี้ เราจะไปบังคับให้คนอื่นเสียสิทธิเพื่อความมั่นใจเพื่อความสบายใจของเราได้อย่างไร”

ถึงที่สุดแล้ว แต่ละความคิดอาจพาไปสู่เป้าหมายบางเรื่องได้เหมือนๆ กัน สิ่งที่ต่างคือวิธีคิด วิธีการให้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง

“มันเป็นวิธีที่เราจะเข้าถึงคำตอบ ทำความเข้าใจ และการวางตัว มันไม่ได้แปลว่าคำตอบจะต้องตามกัน คำตอบอาจจะเหมือนกันก็ได้ เพียงแต่เหตุผลที่ตอบเหมือนกันมาจากคนละมุมกัน แต่แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งการใช้เหตุผลก็นำไปสู่คำตอบที่ต่างกัน”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net