Skip to main content
sharethis

20 มิ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ และเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง ประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดยโสธร เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัยโสธร ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิตใก้กับชุมชน ตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ หลังผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรลงมารับหนังสือกลับชี้แจงว่าจังหวัดไม่มีอำนาจในการประกาศ ทำให้ชาวบ้านผิดหวังและเตรียมเข้าทำเนียบรัฐบาลเร็วๆ นี้

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ผ่านมติเห็นชอบจาก คชก.เมื่อ 14 มี.ค. 2561 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด จะผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต่างตั้งคำถามถึงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการดังกล่าว และมองว่าเป็นวงจรอุบาทว์ของกระบวนการ EIA โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงเป็นที่มาของการระดมความคิดเห็นในการผลักดันเรียกร้องให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านน้ำ ด้านอากาศ ด้านดิน ด้านคุณภาพชีวิต วันนี้ทางกลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรเพราะว่าอยากให้ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนด้วยเพื่อเป็นภูมิคุ้นกันให้กับชุมชนและทรัพยากร แต่หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรมารับหนังสือและชี้แจงต่อหน้าชาวบ้านกลับบอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ การที่เราลุกขึ้นมาเรียกร้องก็เพราะว่าชุมมชนนั้นอยู่ในรัศมี 5กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการอุสาหกรรม และเรายังมีข้อกังวลใจในเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า วันนี้พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นที่จะให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเราพยายามบอกว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2560  ตามหมวด 3  มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ

(2) จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(3) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และหมวด 5 ตามมาตรา 57 ที่ระบุว่า (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วยตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆการจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นรัฐควรที่จะเข้าใจเจตนาของชาวบ้านด้วยและควรนำข้อเสนอมาพิจารณาไม่ใช่ออกมาอธิบายเพียงแค่บอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ

เวลาประมาณ 12.00 น. นิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้เดินทางมารับหนังสือจากกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือจากทางกลุ่มอนุรักษ์ กล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจตัดสินใจในข้อเรียกร้องของทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ แต่จะยื่นเรื่องที่เสนอมาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net