Skip to main content
sharethis

โพลระบุแรงงานไทยกว่า 64% มีความสุขดี หวังปรับค่าแรง-ดูแลค่าหมอ

เนื่องด้วย วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “ความสุขและความคาดหวังของแรงงานไทย 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายน 2562 จากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคและระดับการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความสุขในการทำงานและสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย

จากการสำรวจโดยใช้ข้อคำถามหมวด Happy Work Life (Happy Plus) / การงานดี จากคู่มือการวัดความสุขด้วยตนเอง HAPPINOMETER ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ระดับความสุขของผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.89 ระบุว่า มีความสุข รองลงมา ร้อยละ 27.39 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ไม่มีความสุข และร้อยละ 0.79 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย

สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเหลือแรงงานไทยมากที่สุด พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รองลงมา ร้อยละ 21.97 ระบุว่า เพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 11.31 ระบุว่า ส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้ ด้านฝีมือให้กับแรงงานไทย ร้อยละ 10.59 ระบุว่า แก้ไขปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 6.69 ระบุว่า ตรวจสอบ/ควบคุม นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบ ร้อยละ 2.07 ระบุว่า การแย่งงานของแรงงานต่างด้าว และร้อยละ 0.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ลดอัตราภาษี ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีกองทุนรวมเหมือนรัฐวิสาหกิจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่แรงงานไทยอยากได้รับการพัฒนาฝีมือมากที่สุด พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.69 ระบุว่า ด้านภาษาต่างประเทศ รองลงมา ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ด้านช่างอุตสาหกรรม ร้อยละ 10.19 ระบุว่า ด้านคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 7.40 ระบุว่า ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ด้านโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 6.53 ระบุว่า ด้านช่างก่อสร้าง ร้อยละ 5.41 ระบุว่า ด้านช่างซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 4.86 ระบุว่า ด้านช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 3.50 ระบุว่า ด้านช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ร้อยละ 0.88 ระบุว่า ด้านช่างผม และร้อยละ 2.71 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่อยากพัฒนา

ที่มา: ไทยโพสต์, 28/4/2562

แรงงานนอกระบบแห่สมัครประกันสังคม ม.40 กว่า 2.9 ล้านคน

“นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินงานให้แรงงานนอกระบบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกร ผู้ขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคอิสระมาตรา 40 ขณะนี้มีแรงงานนอกระบบถึง 2,966,113 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย. 2562) ที่เข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคม ซึ่งยังมีแรงงานนอกระบบอยู่อีกจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าสู่ระบบ

และเพื่อเป็นการจูงใจให้แรงงานภาคอิสระที่ยังไม่ได้เข้าสู่ความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แรงงานภาคอิสระที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศที่สะดวก เพียงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมยังได้ให้บริการขึ้นทะเบียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ที่ต้องการสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเองหรือสามารถให้ผู้อื่นสมัครผ่าน https://www.sso.go.th/section40_regist/ หรือผ่านทาง QR code

ทั้งนี้ ผู้สมัครต้องกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน คำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด e-mail หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ รวมถึงช่องทางการจ่ายเงินสมทบก็มีความสะดวกสบาย จ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งห้างเทสโก้โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติมที่กระจายไปตามหมู่บ้าน ตำบลทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการของสำนักงานประกันสังคมได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการให้บริการ อีกด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/4/2562

สตม. ทลายขบวนการลักลอบขนแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง รรท.ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม.3 พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผบก.สส.สตม. และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม กก.สส.ตม.3 แถลงผลการจับกุมทลายขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยได้จับกุม นายกันตภณ เอกอริยะวรวัฒน์ อายุ 45 ปี นายสุนทร สุเมธานนท์ชัย อายุ 43 ปี นายเอื้อการย์ สวัสดิ์เจริญ อายุ 27 ปี นายวิรัช จรุงพันธ์ อายุ 44 ปี นายอวน อี อายุ 24 ปี สัญชาติกัมพูชา พร้อมพวก 88 คน พร้อมของกลางรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้อ ฮีโน่ ทะเบียน 70-2481 จังหวัดบุรีรัมย์ รถยนต์ ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น ไฮลักซ์ รีโว่ ทะเบียน บน 8915 สระแก้ว อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 27 นัด ซองบรรจุกระสุน 2 อัน และอื่นๆ อีกหลายรายการ ก่อนขยายผลยึดรถจักรยานยนต์ได้อีก 11 คัน ที่ผู้ต้องหาร่วมกันซื้อดาวน์ในราคาถูก เพื่อนำไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้แจ้งหายให้ประกันเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจับกุมได้ที่เพิงพักไม่มีเลขที่ ซ.มิตรไมตรี 6 แขวงและเขตหนองจอก กรุงเทพฯ

พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งกวดขันปราบปรามกลุ่มขบวนการที่ลักลอบนำพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งกลุ่มขบวนการดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ตนจึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่องให้มีผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เร่งระดมกวาดล้างและป้องกันเหตุอาชญากรรม ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม นี้ ซึ่งได้จับกุมกลุ่มผู้ต้องหา ที่ลอบนำชาวต่างด้าวจาก จ.สระแก้ว เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงนำรถจักรยานยนต์ที่ซื้อดาวน์มาในราคา 3,000 บาท จากราคาจริงตั้งแต่ 2 - 8 หมื่น ไปแจ้งหาย เพื่อให้ประกันรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ทาง กก.สส.ตม.3 ได้สืบทราบว่าจะมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ และใช้เพิงพักในซอยมิตรไมตรี 6 แขวงและเขตหนองจอก กรุงเทพฯ เป็นจุดพักเพื่อรอการลำเลียง จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนลงพื้นที่ตรวจสอบ กระทั่งกลางดึกที่ผ่านมาชุดสืบสวนพบรถบรรทุก 6 ล้อ และรถกระบะเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว จึงทำการจับกุมคนขับรถ 6 ล้อ คือ นายกันตภณ และพบอาวุธปืนขนาด 9 มม. พร้อมซองกระสุน 2 อัน รวม 27 นัด ไม่มีใบอนุญาตพกพา นอกจากนี้ยังจับกุมผู้ต้องหาและแรงงานต่างด้าวได้กว่า 89 คน โดยแรงงานต่างด้าวอายุมากสุด 47 ปี ผู้ติดตามอายุน้อยสุด 1 เดือน

พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่าพฤติกรรมของขบวนการดังกล่าว จะลักลอบเข้ามาในประเทศไทยโดยอาศัยช่องทางธรรมชาติ ก่อนมารวมตัวกันบริเวณริมชายแดน และจะใช้รถกระบะหรือรถบรรทุกเป็นพาหนะในการลำเลียงเข้ามา ยังพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ และกระจายไปยังจุดหมายต่อไป โดยชาวต่างด้าวบางส่วน ได้กลับเข้ามาทำงานหลังช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่บางส่วนเพิ่งจะลักลอบเข้ามาหางานทำ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนทราบว่าแรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้มีการจ่ายเงินให้กับนายหน้าในการลำเลียงเข้ามารายละ 2,500 บาท อีกทั้งขณะจับกุมยังพบรถ จยย. กว่า 11 คัน ซึ่งจอดในเพิงพักดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ต้องหาคนไทยอ้างว่าเป็นรถ จยย. ที่ซื้อดาวน์มาในราคา 3,000 บาท และแจ้งหายต่อทางประกันภัย เพื่อที่จะนำไปขายยังประเทศกัมพูชา ซึ่งจากนี้ได้สั่งการให้ชุดสืบสวนขยายผลเชิงลึกว่า กลุ่มคนร้ายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนายทุนใด เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ พร้อมตรวจสอบหาที่มาของรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ว่าเข้าข่ายขบวนการโจรกรรมรถหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ข้อหาช่วยเหลือด้วยประการใดใดให้บุคคลต่างด้าว ซึ่งตนรู้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม กับ นายกันตภณ ส่วนนายสุนทร นายเอื้อการย์ และนายวิรัช แจ้งข้อหาข้อหาช่วยเหลือด้วยประการใดใดให้บุคคลต่างด้าว ซึ่งตนรู้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม ส่วนนายอวน อี และพวก 88 คน แจ้งข้อกล่าวหาเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ขบวนการดังกล่าวได้มีการขนแรงงานกัมพูชา เข้ามาในประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยคิดค่าขนแรงงานต่อหัว 2,500 บาท ซึ่งนายหน้ากัมพูชาได้ 500 บาท นายหน้าชาวไทย 2,000 บาท ทีมขนจะได้เงินจากส่วนแบ่งอยู่ที่ตกลงกัน นอกจากนี้ยังพบว่าขบวนการนี้เชื่อมโยงกับขบวนการขนรถ จยย. ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งมี เจ๊ติ๋ม เป็นนายทุนใหญ่ ทั้งนี้ ชุดสืบสวน บก.สส.สตม. และ บก.ตม.3 อยู่ระหว่างการขยายผลตรวจสอบหาผู้ร่วมขบวนการต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 26/4/2562

'จ๊อบไทย' เผยตัวเลขแรงงาน Q1 ปี 2562 ก่อสร้าง-ช่างเทคนิค-ไอที แชมป์งานที่ตลาดต้องการสูงสุด

จ๊อบไทย (JobThai) สรุปภาพรวมความต้องการแรงงานทั่วประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1 ประจำปี 2562 พบ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ 1) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2) ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 3) ธุรกิจบริการ 4)ธุรกิจค้าปลีก และ 5) ธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่ 3 ประเภทงานที่มี ความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุด คือ โยธา/ก่อสร้าง, ช่างเทคนิค และคอมพิวเตอร์/ไอที

“นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า จ๊อบไทย (JobThai) ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานของจ๊อบไทย เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1 ประจำปี 2562 พบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่

1) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 13,014 อัตรา และ 2) ธุรกิจบริการ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 9,671 อัตรา โดยทั้งสองธุรกิจนี้เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากการที่ภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว รวมถึงมีการใช้มาตรการกระตุ้นต่างๆ ทำให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีที่แล้วและส่งผลดีมาถึงช่วงต้นปีนี้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายชาติมีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยก็ขยายตัวทั้งในจังหวัดหลักและจังหวัดรอง

3) ธุรกิจยานพาหนะ/ ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 10,020 อัตรา สืบเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์มาจากการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์จากจีนกลับมาที่ไทย เนื่องจากเหตุผลด้านต้นทุนที่สูงและปัญหาด้านคุณภาพสินค้าที่ผลิตในจีน

4) ธุรกิจค้าปลีก จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,594 อัตรา ได้แรงหนุนมาจากการลงทุนจากภาคเอกชน เช่น การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบกับการเติบโตสูงของร้านค้าปลีกออนไลน์และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ช่วยผลักดันการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

5) ธุรกิจก่อสร้าง จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,463 อัตรา โดยภาพรวมเติบโตต่อเนื่องจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และการก่อสร้างโครงการภาคเอกชนขนาดใหญ่

นอกจากนี้ จ๊อบไทยยังสรุปตัวเลขของประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรกในไตรมาส 1 ประจำปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น โดยประเภทงานที่มีการเปิดรับสมัครมากที่สุดจากทั่วประเทศ ได้แก่ 1) งานขาย จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 36,600 อัตรา 2) ช่างเทคนิค จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 20,200 อัตรา 3) ผลิต/ควบคุมคุณภาพ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 15,377 อัตรา 4) ธุรการ/จัดซื้อ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 15,231 อัตรา และ 5) บัญชี จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 12,765 อัตรา ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังเป็นงานขาย ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญของทุกองค์กร รองลงมาคือช่างเทคนิคและผลิต/ควบคุมคุณภาพที่สอดรับการกับขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ยังเผยให้เห็นข้อมูลของ 3 ประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 ประจำปี 2562 คือ 1) โยธา/ก่อสร้าง เติบโตเฉลี่ยคิดเป็น 11.69% ตามมาด้วย 2) ช่างเทคนิค คิดเป็น 4.09% และ 3) คอมพิวเตอร์/ไอที คิดเป็น 3.21%

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้งานโยธา/ก่อสร้างมีอัตราความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุดเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ การลงทุนดังกล่าวนั้นยังส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่ขยายตัว ทำให้แรงงานด้านช่างเทคนิคมีความต้องการสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันยังมีการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จึงทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น รวมถึงในภาคเอกชนก็มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/4/2562

กระทรวงแรงงาน เร่งสางปัญหา ‘ผีน้อย’ ในเกาหลี ดัน 3 มาตรการป้องกัน รับรู้-ยับยั้ง บังคับใช้กฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล, กรมการท่องเที่ยว, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว, กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์, บริษัทท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน), สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย, สำนักงาน HRD korea, สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว, บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด, สายการบิน Eastar jet, สายการบิน Jin Air, สายการบิน Korean Air ร่วมประชุม

“พล.ต.อ.อดุลย์” กล่าวภายหลังการประชุมหารือว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่าคนไทย 300 คน ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองและกักตัวไว้ที่สนามบินอินชอนเพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงมิได้นิ่งนอนใจ โดยวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาหารือร่วมกันเพื่อรับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสกัดกั้นคนหางานที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงาน แผนการจับกุม/ ดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรมลักลอบนำพาคนหางานไปทำงานเกาหลีใต้ และการขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมลักลอบนำพาแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้ เพื่อบูรณาการและสร้างความร่วมมือเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยหลักการจะดูแลแรงงานที่ไปให้ถูกต้องก่อน

ขณะเดียวกันจะดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้องอย่างไร พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของแรงงานที่จะเดินทางไปใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงาน ในเบื้องต้นได้มีแผนรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ และเตรียมการบริหารจัดการแรงงานไทยไปเกาหลีใต้ ใน 3 ประเด็น คือ 1) รับแรงงานที่กลับประเทศ โดยกรมการจัดหางานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (กทม.) สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

2) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยดำเนินการลงทะเบียนผู้มีความประสงค์จะฝึกอบรมภาษาเกาหลีกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครทั้ง 10 เขต และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งลดระยะเวลาการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (C.I.D) จาก 30 วัน เป็นไม่เกิน 10-15 วันทำการ และเจรจากับ KRD Korea ขอเพิ่มโควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้โครงการ EPS จากเดิม 5,000 คน เพิ่มเป็น 15,000 คน ขอขยายอายุของแรงงานไทยจากเดิมไม่เกิน 39 ปี เป็นไม่เกิน 45 ปี ขอให้แรงงานหญิงเข้าไปทำงานมากขึ้น ตลอดจนขอขยายระยะเวลาการทำงานจากเดิม 9 ปี 8 เดือน เป็น 14 ปี

3) ป้องกัน การลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตรวจสอบสกัดกั้นคนหางาน ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 – 25 เมษายน 2562 ตรวจสอบจำนวน 3,784 คน ระงับการเดินทางผู้มีพฤติกรรมลักลอบไปทำงาน 2,758 คน (ร้อยละ 72.89) ไม่ระงับการเดินทาง 1,026 คน (ร้อยละ 27.11) ดำเนินคดี สาย/นายหน้า จำนวน 24 ราย 18 คดี

โดยขณะนี้มีคนไทยที่เกาหลีใต้จำนวน 165,854 คน พำนักอยู่อย่างถูกกฎหมาย 22,685 คน พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย 143,169 คน แรงงานมีวีซ่าทำงาน 25,243 คน เป็นแรงงานที่จัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จำนวน 21,021 คน โดยมีโควต้าจัดส่ง 5,000 คนต่อปี ทำงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรม ซึ่งในปี 2561 มีการจัดส่งจำนวน 6,203 คน และปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.62) จำนวน 1,642 คน

ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการมี 3 มาตรการได้แก่

1) มาตรการสร้างการรับรู้ โดยหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้แรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน

2) มาตรการยับยั้ง โดย จัดชุดเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ตลอดจนจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ หรือสายสืบออนไลน์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารตลอดจนแจ้งเตือนคนหางานมิให้หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความหรือรูปภาพชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

3) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน มีผลการดำเนินการสกัดกั้นคนหางาน

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างสูงประมาณ 55,844 บาทต่อเดือน และนายจ้างเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากมีฝีมือมีวินัย และอดทน โดยมีนโยบายให้การดูแลแรงงานไทยทั้งหมดไม่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย มีการเตรียมการให้แรงงานใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างเกาหลี พร้อมทั้งดำเนินมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการลักลอบทำงานหรือถูกหลอกไปทำงาน

อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ หรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจ อย่าหลงเชื่อคำชักชวน โดยปราศจากข้อมูล โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ ควรเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงาน และคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/4/2562

คลังซ้อมความเข้าใจระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2562

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีเจตนารมณ์ที่ใช้บังคับกับการจ้างลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หรือพนักงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังคนของส่วนราชการที่ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยการจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวเป็นการจ้างงานในลักษณะชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่เกินปีงบประมาณ โดยอาจจะจ้างเป็นรายเดือน รายวัน หรือรายชั่วโมงก็ได้ ซึ่งการจ้างดังกล่าว มีการจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและไม่มีการขึ้นค่าจ้าง

กรณีที่มหาวิทยาลัยมีการจ้างพนักงานของมหาวิทยาลัยโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย และมีวัตถุประสงค์ในการจ้างบุคลากรทั้งสายงานวิชาการและสายงานสนับสนุน เพื่อปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย โดยมีลักษณะการจ้างที่แตกต่างจากการจ้างลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯเนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาจ้างให้มีระยะเวลาการจ้างเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ รวมถึงให้มีการประเมินผลงานของบุคลากรเพื่อเลื่อนขั้นค่าจ้างด้วย ดังนั้น กรณีการจ้างพนักงานของมหาวิทยาลัยโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ หรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยตามกรณีดังกล่าว จึงไม่เป็นการจ้างตามนัยระเบียบกระทรวงการคลังฯ และไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ แต่อย่างใด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/4/2562

ก.แรงงาน เผยสกัดคนไทยลอบทำงานเกาหลี 400-600 คนต่อเดือน

กรณีมีคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ติดอยู่ที่ ด่านตรวจคนเข้าเมือง กว่า 400 คน เนื่องจากทางการเกาหลีใต้เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นคนไทยที่ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสกัดกั้นผู้ที่ลักลอบหางานที่สนามบินทุกแห่งภายในประเทศ 8 เดือนที่ผ่านมา รวม 2,698 คน เฉลี่ยเดือนละ 400-600 คน เป็นผู้หญิงกว่า 1,727 คน และสามารถสกัดจับนายหน้าได้ 24 ราย ส่วนใหญ่แฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว และแม้กระทรวงแรงงานจะมีโควต้าส่งแรงงานไทยไปทำงานยังประเทศเกาหลี 7,000 คนต่อปีแต่ด้วยอัตราค่าจ้างที่สูง รายได้ต่อเดือน 1,745,150 วอน หรือประมาณ 55,544 บาท และสามารถอยู่ในประเทศได้นานถึง 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า จึงทำให้มีคนไทยบางคนเสี่ยงลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย

สายงานส่วนใหญ่ที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ ในปีที่ผ่านมาอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร, เลี้ยงสัตว์ และก่อสร้างโดยเป็นแรงงานชายจำนวน 5,571 คน และเป็นแรงงานหญิงจำนวน 632 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานชายและหญิงที่ถูกจ้างซ้ำด้วย โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานมีอยู่ในระหว่างเจรจากับประเทศเกาหลี เพื่อขอขยายฐานแรงงานไทย พร้อมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตราการรับมือผู้ที่ลักลอบทำงานที่เข้มงวดมากขึ้น

ที่มา: PPTV36, 24/4/2562

ศธ.เร่งปั้นอาชีวะฝีมือดี ป้อนตลาดแรงงานชายแดนใต้ สร้างโอกาสงาน มีรายได้มั่นคง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกระดับการศึกษาเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งสร้างโอกาสการศึกษาสายวิชาชีพ เน้นพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา ตั้งเป้าผลิตบุคลากรฝีมือดีมีคุณภาพ ป้อนตลาดแรงงานชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการและกิจกรรมขับเคลื่อน "อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ" เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ มีรายได้มั่นคง ยั่งยืน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการยกระดับการศึกษาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ที่มีความหลากหลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ในการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อจัดการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงของรัฐ การดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่จึงมุ่งสร้างโอกาสในการได้รับการศึกษาสายวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ให้ได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากในพื้นที่อย่างแท้จริง

นายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน และด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางการพัฒนาประชากรวัยทำงานให้มีทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมประสบการณ์ด้านอาชีพ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันในตลาดแรงงาน พร้อมทั้งการส่งเสริมอาชีพทางเลือกและพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนากำลังคนตามความต้องการของสถานประกอบการในท้องถิ่นของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่ผ่านมาในเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจชายจังหวัดแดนภาคใต้ ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการเพื่อผลิตคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมและหลากหลาย อาทิ โครงการพัฒนาภาษาสู่โลกอาเซียน เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ , โครงการวิทยาลัยชุมชน, โครงการส่งเสริมประสบการณ์อาชีพแก่นักเรียน, โครงการฝึกประสบการณ์อาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำ, การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา, โครงการพัฒนาเครือข่ายอาชีวศึกษาตำบล, โครงการครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการยังได้เร่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยดึงสถาบันอาชีวศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัย เทคนิคจะนะ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา และวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก ร่วมสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาผ่านโครงการ "อาชีวศึกษาประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้นักเรียนประจำจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ที่ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้ารับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาประจำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพและมีทักษะด้านอาชีพด้วย

"กระทรวงศึกษาธิการยังคงมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนากำลังคนและแรงงานฝีมือคุณภาพ โดยเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาภายใต้สโลแกน "อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ" ที่จะสร้างคนให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้และทักษะ ที่สามารถนำไปปรับใช้และพัฒนากำลังคน ให้เกิดความเชื่อมโยง มีความทันสมัย และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป" นายสันติ แสงระวี กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน, 23/4/2562

สภาองค์การนายจ้างฯ เปิดช่องร้องทุกข์ 24 ช.ม. ช่วยนายจ้าง-ลูกจ้างทั่วโลก

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การ นายจ้าง แห่งประเทศไทย และประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งอาเซียน กล่าวถึงความห่วงใยกรณีระเบิดที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.และคร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 รายว่าถึงแม้จะยังไม่พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สภาองค์การนายจ้างฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีหากได้รับการร้องขอ โดยแสดงความห่วงใยต่อคนไทย และทุกชีวิตที่พักอาศัยในศรีลังกา ให้ติดตามรายงานสถานการณ์ และประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย จึงประกาศเปิดช่องทาง การช่วยเหลือ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงถูกกลั่นแกล้ง และถูกเอาเปรียบ จนได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการถูกคุกคาม จากการทำงาน ในรูปแบบต่างๆสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ +94 77 307 0748 หรือ ผ่านเพจของสภาองค์การนายจ้างฯ (ECOT สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ข่าวสด, 23/4/2562

มอบเงินประกันสังคม 3 ล้าน ให้ทายาทลูกจ้างตายเหตุไฟไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 62 ที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีลูกจ้างในระบบประกันสังคมประสบอันตราย ทั้งหมด 17 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 15 ราย ซึ่งถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ส่วนการช่วยเหลือนั้น กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้างอย่างเต็มที่ สิ่งที่ทำอันดับแรก คือ การมอบเงินจากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้กับทายาทผู้เสียชีวิต โดยในวันนี้ได้มอบเงินจำนวน 3,655,940.26 บาท ให้กับผู้เสียชีวิต คือ นายศักดิ์ชัย เจริญลาภ โดยทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพจำนวน 33,000 บาท ค่าทดแทนรายเดือนกรณีตาย จำนวน 1,680,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพอีกจำนวน 131,631.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,844,631.20 บาท ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายอาทิตย์ คำสาย ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพจำนวน 33,000 บาท ค่าทดแทนรายเดือนกรณีตายจำนวน 1,680,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 98,309.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,811,309.06 บาท

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 15 ราย ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รับผิดชอบเข้าดูแลและชี้แจงสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวตนยังได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง รวมถึงมาตรการของสถานประกอบการทุกแห่งเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายของลูกจ้างอย่างเข้มงวดต่อไป ทั้งนี้ ตนขอแสดงความเสียใจกับทายาทของลูกจ้างที่เสียชีวิต และขอให้ลูกจ้างมั่นใจในการทำงานของกระทรวงแรงงานว่า ลูกจ้างทุกคนจะได้รับการคุ้มครองที่ดีจากกระทรวงแรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้างต่อไปในอนาคต

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/4/2562

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net