Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง 5 จำเลยรวมนักข่าวประชาไทในคดี พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เหตุเกิดปี 2559 โดยในคำพิพากษาศาลชี้สติกเกอร์โหวตโนไม่ใช่การปลุกระดม ตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ "ข้อความในสติกเกอร์เป็นเพียงการรณรงค์ให้บุคคลออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและไม่ใช่การยุยุงให้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย"

11 เม.ย. 2562 ช่วงเช้าวันนี้ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 2418/2559 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ ฟ้องปกรณ์ อารีกุล กับพวกรวม 5 คน ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดประกาศ คปค. 25/2549 ขัดคำสั่งพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ

จำเลยที่ 1 - 4 มี 2 คดีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติและคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือด้วย โดยจำเลยที่ 2 คือ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่นั่งรถร่วมกับจำเลยคนอื่นเพื่อมาทำข่าว

ส่วนจำเลยที่ 5 ภาณุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ไม่มีคดีพิมพ์ลายนิ้วมือ มีเพียงคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติ

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น ยืนยกฟ้องในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ และยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือด้วย

ในประเด็นว่า สติกเกอร์ของกลางที่มีข้อความว่า "7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" เป็นการปลุกระดม ก้าวร้าว หยาบคาย หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามโจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ข้อความ 7 สิงหา เป็นวันลงประชามติตรงตามข้อเท็จจริง และหากจะมีการแจกสติกเกอร์แก่บุคคลอื่นก็ไม่ใช่การเผยแพร่ข้อความที่ผิดจากข้อเท็จจริง ทั้งการแจกสติกเกอร์เป็นสิทธิของจำเลยทั้งห้าที่สามารถกระทำได้ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 7 การชี้ชวนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงกระทำได้หากไม่ขัดต่อกฎหมาย

"ส่วนการเผยแพร่ข้อความจะมีลักษณะปลุกระดมหรือไม่นั้น เห็นว่าตามพจนานุกรมฯ ให้ความหมายของคำว่า ปลุกระดม หมายถึง เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น ซึ่งการที่ประชาชนลุกฮือตามความหมายของพจนานุกรมดังกล่าวย่อมหมายถึง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้นความหมายของคำว่าปลุกระดมตาม พ.ร.บ.ประชามติ จึงมีความหมายว่า ยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้นกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ตามข้อความในสติกเกอร์เป็นเพียงการรณรงค์ให้บุคคลออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและไม่ใช่การยุยุงให้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้ง 5 จึงไม่มีลักษณะปลุกระดมและไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 (1)" คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุ

อย่างไรก็ตามศาลแจ้งด้วยว่าคดีนี้อัยการมีสิทธิฎีกาได้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่ามีการใส่กุญแจมือจำเลยระหว่างฟังคำพิพากษา

โดยหลังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย 1 ใน 5 จำเลยคดีประชามติ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าในช่วงรณรงค์ประชามติ คนที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฯ ถูกจับเข้าคุก ถูกดำเนินคดี คนที่รณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฯ กลับไม่โดนอะไรเลย สถานการณ์ช่วงประชามติตอนนั้นเป็นไปด้วยความหวาดกลัว ในขณะที่ภาครัฐระดมใช้งบประมาณ ใช้ทรัพยากรเต็มที่ ที่จะให้รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ส่วนพวกเขาเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ออกไปรณรงค์ไม่รับร่างฯ แต่กลับถูกกระทำ ถูกดำเนินคดีโดยความไม่ยุติธรรม พอถึงวันนี้ได้ปรากฏแล้วว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นถูกต้อง ศาลตัดสินยกฟ้องทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ โดยเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา อย่างไรก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

คุ้มเกล้า คงสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมทนานคดีนี้ ให้ความเห็นว่า เป็นคำพิพากษาที่ได้พิจารณาในเนื้อหาของตัวการกระทำด้วย โดยพิจารณาไปถึงเนื้อหาหรือข้อความของสติ๊กเกอร์ที่เป็นพฤติการณ์ในการกระทำความผิดที่เขากล่าหาตัวจำเลยในคดีนี้ ซึ่งมากกว่าคำพิพากษาในชั้นต้น เพราะในส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะเป็นการวินิจฉัยเรื่องของแจกหรือไม่แจกสติ๊กเกอร์เท่านั้น และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ได้เผยแพร่ศาลก็เลยไม่ได้พิจารณาในตัวเนื้อหาข้อความ ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาในส่วนเนื้อหาข้อความด้วย

สำหรับข้อต่อสู้ของ ทวีศักดิ์ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวนั้น ทนายกล่าวว่า ตั้งแต่แนวทางสืบคดีแล้ว ก็สืบว่าเป็นนักข่าวมาทำการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีการลงรายละเอียดวินิจฉัยในเรื่องของการปฏิบัติในฐานะหน้าที่ของสื่อ

สำหรับเรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือที่ศูนย์ทนายความฯ ได้ยื่นเพื่อเพิกถอนในคดี รังสิมันต์ โรม ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน ได้ทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คมช. ว่าด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คุ้มเกล้า กล่าวว่า เบื้องต้นเท่าที่ทราบศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาว่าประกาศ คมช. ขัดรัฐธรรมนูญ โดยในคดีนี้ก็ไม่แน่ใจในช่วงเวลาเหมือนกัน ต้องพิจารณาในวันที่ที่คำพิพากษาใช้พิจารณา ซึ่งประเด็นนี้จะไปคุยกับทีมก่อนว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่มีการตีความของศาลรัฐธรรมนูญออกมาและก็เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจและควรจะนำเข้าสู่ศาลฎีกาในคดีนี้ด้วย แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะฎีกาหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากเรายังมีสิทธิที่จะให้แก้ไขตรงนี้ได้ ทางทีมจะพิจารณาอีกทีว่าจะนำเข้าสู่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาตรงนี้หรือไม่ เพราะในคดีนี้ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คมช. นั้น จำเลยเรารับสารภาพ ในข้อเท็จจริงว่าเราได้กระทำความผิดตามข้อกฎหมาย ณ ขณะวันที่ประทำความผิด และในวันที่ให้การต่อศาล ศาลพิพากษาตามแนวของข้อเท็จจริงว่าเราทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ ณ ขณะนั้นว่าเป็นความผิด แต่ปัจจุบันมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาทีมอาจไปดูในข้อกฎหมายในทางเทคนิคว่าจะเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปได้อย่างไรในคดีนี้

สำหรับผลต่อคดีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีที่บางเสาธง นั้น ทนายจากศูนย์ทนายความสิทธิฯ มองว่า เบื้องต้นจากที่ฟังคำพิพากษาโดยสรุปมาเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คดีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อคดีอื่นด้วย ซึ่งรวมถึงคดีประชามติที่บางเสาธง เพราะมันเหมือนเป็นอีกหนึ่งคำพิพากษาหนึ่งที่ยืนยันว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำการรณรงค์ได้ ซึ่งการรณรงค์นี้ได้รับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงกฎหมายประชามติตาม ม.7 ก็บัญญัติไว้ให้เป็นสิทธิของประชาชนในการรณรงค์เผยแพร่ตราบใดที่มันไม่ขัดต่อกฎหมายฉบับนี้ ตราบเท่าที่ไม่เป็นการปลุกระดมให้ประชาชนไปมีความเห็นในทางที่ไม่ไปใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง แต่มันเป็นการรณรงค์ว่าควรจะไปใช้สิทธิโดยให้ข้อมูลว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอย่างไร เมื่อรับไปแล้วจะมีผลอย่างไร ยังยืนยันว่ามันยังเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้อยู่

คุ้มเกล้า เห็นว่า คำพิพากษา พยายามตีความคำว่า "ปลุกระดม" ที่แต่เติมมีการตีความอย่างกว้าง ให้ชัดและแคบขึ้น

สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดเจน โดยในคำพิพากษาระบุด้วยว่า พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลยทั้งห้าแจกสติ๊กเกอร์ รวมถึงไม่มีพยานบุคคลอื่นๆ พบเห็นด้วย (อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น)

"แต่เมื่อพยานโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดให้เห็นการกระทำแจกจ่ายอันเป็นการเผยแพร่ ซึ่งวัตถุที่เป็นความผิดต่อกฎหมายฉบับนี้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือ ลำเลียง ขนย้ายเอกสารหรืออุปกรณ์ทางการเมืองให้กับคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน โดยพยานหลักฐานไม่แจ้งชัดว่าจะเป็นวัตถุของกลางที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งหมายถึงสติ๊กเกอร์คดีนี้ร่วมอยู่ด้วยจริงหรือไม่ อีกทั้งการที่บุคคลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเดียวกันนำอุปกรณ์และเอกสารหรือวัตถุที่เป็นความผิดส่งมอบแก่กันย่อมไม่เกิดการชี้นำหรือจูงใจ โดยยังไม่มีหลักฐานการแจกจ่ายให้กับบุคคลภายนอก ยังไม่เพียงพอจะตีความได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนากระทำเพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พบเห็นข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานร่วมกันเผยแพร่สติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ของกลาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ตามฟ้อง" คำพิพากษาระบุ

ส่วนความผิดฐานขัดประกาศ คปค. เรื่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปรับจำเลยที่ 1-4 คนละ 1,000 บาท จำเลยสารภาพลดโทษเหลือคนละ 500 บาท อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1-4 ไม่ต้องเสียค่าปรับ 500 บาทอีก เนื่องจากในวันเกิดเหตุถูกตำรวจควบคุมตัวที่ สภ.บ้านโป่งไปแล้ว 1 คืน

สำหรับจำเลยทั้งห้าคนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ในขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 10 ก.ค. 2559 วันเกิดเหตุปกรณ์, อนุชา, และ อนันต์ นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เดินทางไปที่ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกออกหมายเรียกในคดีประชามติเนื่องจากเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยมีทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ติดรถไปทำข่าวด้วย

ต่อมาทั้ง 4 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จับกุมและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันแจกจ่ายสติกเกอร์โหวตโน ขณะที่ภานุวัฒน์ นักกิจกรรมนักศึกษาในเวลานั้น ซึ่งเป็นจำเลยอยู่ในคดีประชามติราชบุรีก่อนหน้านี้ ก็ถูกจับกุมมาด้วย รวมเป็น 5 คน

ทีมทนายฯ ต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เผยแพร่ และตัวเอกสารไม่มีลักษณะไม่เป็นความจริงหรือปลุกระดม โดยตีกรอบเนื้อหาสติกเกอร์เข้ากับร่างรัฐธรรมนูญว่า "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" หมายถึงที่มาของนายกฯ ที่อาจมาจากการเลือกของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน และส่วนของผู้สื่อข่าวประชาไทนั้น เป็นการเดินทางไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเท่านั้น ไม่ได้ไปร่วมรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติแต่อย่างใด

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ระบุ "ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

กรณีที่เป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ส่วนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25/2549 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ระบุว่า ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net