Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'นพ.ฑิณกร โนรี' นักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ กับคำถามที่ว่า "หมอไทยขาดแคลนหรือไม่?" ระบุคำตอบของคำถามนี้สลับซับซ้อนกว่าแค่พอหรือไม่พอ แต่การบูมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะส่งผลกระทบต่อกำลังคนในระบบสาธารณสุขแน่นอน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางว่าเราต้องการระบบสาธารณสุขแบบใด

ประเทศไทยสามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอต่อความต้องการ แต่สัดส่วนแพทย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับชนบทยังมีความเหลื่อมล้ำ สัดส่วนแพทย์ทั่วไปกับแพทย์เฉพาะทางไม่สมดุล ขณะที่อุตสาหกรรมความงามกำลังปั่นป่วนระบบกำลังคนสาธารณสุข

การเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะทำให้เกิดการแย่งตัวแพทย์และผลักดันให้ค่ารักษาพยาบาลของระบบโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยควรมี National Health Policy Board ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อกำหนดทิศทางระบบสุขภาพ

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสการใส่ใจสุขภาพที่ยังคงเป็นกระแสต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลกันอย่างคับคั่ง นำมาสู่คำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับระบบสุขภาพ

เรื่องแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งมักถูกหยิบเป็นประเด็นเสมอเวลาเกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้ นี่อาจเป็นความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง

ต้องบอกว่าในเชิงจำนวนแล้ว ประเทศไทยมีแพทย์เพียงพอและจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ก่อนที่จะด่วนสรุปไปไกล ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่การสื่อว่า การผุดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะไม่กระทบต่อกำลังบุคลากรสาธารณสุข การขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยมีอยู่ แต่มีความสลับซับซ้อนกว่าแค่การขาดแคลนเชิงจำนวนแบบพื้นๆ ทั่วไป

นพ.ฑิณกร โนรี (ที่มาภาพ เว็บไซต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จะอธิบายให้เห็นความสลับซับซ้อนด้านกำลังคนสาธารณสุขที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

หมอไทยไม่ขาดแคลน แต่...

นพ.ฑิณกร ตั้งต้นจากอธิบายถึงระบบสุขภาพของไทยที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายส่วน ประกอบด้วยผู้ให้บริการที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าใหญ่ ขณะที่เอกชนก็เข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้น ส่วนต่อมาคือผู้ผลิต หมายถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และส่วนที่ 3 คือสภาวิชาชีพ ข้ออ่อนก็คือที่ผ่านมาทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ค่อยทำงานร่วมกัน

“ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาผู้ผลิตผลิตแพทย์ตามความต้องการตลาดหรือไม่ ตอบว่าไม่ แต่ผลิตตามศักยภาพในการผลิตของตน การจะผลิตแพทย์ 1 คน แพทยสภาจะกำหนดคุณสมบัติของสถาบันการผลิต สมมติว่าถ้าคุณมีอาจารย์ 1 คน รับนักเรียนได้ 4 คน ก็ขึ้นกับว่าโรงเรียนแพทย์มีอาจารย์กี่คน วิธีนี้เรียกว่า Supply Driven โดยไม่สนใจว่าประเทศต้องการคนแบบไหน”

ประเทศไทยในอดีตประมาณ 30-40 ปีก่อน ประสบความขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขจึงนโยบายผลิตคนเพิ่มตลอด จากเมื่อ 20 ปีก่อนผลิตแพทย์ได้ปีละ 800 คน ปัจจุบันสามารถผลิตแพททย์ได้ปีละ 3,000 คน โดยเกณฑ์ที่ควรจะเป็นของสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,500 คน ซึ่งปัจจุบัน แพทย์ 1 คนดูแลประชากรประมาณ 1,300 คน ถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้แล้ว เมื่อมองในมิตินี้ ประเทศไทยจึงไม่ได้ขาดแคลนแพทย์ ยิ่งไปกว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนแพทย์จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขณะที่ประชากรไทยจะหายไป 2 ล้านคน เท่ากับแพทย์ 1 คนจะดูแลประชากรเพียง 700 คน ถือเป็นสัดส่วนที่เท่ากับประเทศอังกฤษในปัจจุบันนี้

“แต่สิ่งที่ประเทศไทยเจอคือปัญหาเรื่องการกระจาย”

การกระจายตัวของแพทย์คือปัญหา

ตัวเลขจากแพทยสภาระบุว่า แพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางแพทยสภามีจำนวน 60,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนอีกครั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นพ.ฑิณกร กล่าวว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น่าแปลกใจและต้องถือว่าดีกว่าในอดีตมา

นพ.ฑิณกร เล่าว่า ในอดีตคนที่เข้าเรียนแพทย์ได้ส่วนใหญ่จะเป็นท็อปของประเทศ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี การศึกษาในอดีตพบว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่เอ็นทรานซ์ติดแพทย์เป็นเด็กกรุงเทพฯ จึงคาดได้ว่าเมื่อเรียนจบและทำงานใช้ทุนต่างจังหวัดแล้ว แพทย์เหล่านี้ก็ต้องกลับบ้าน

เหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มโครงการแพทย์ชนบท ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเมื่อ 20 ปีก่อน ด้ยการจัดสรรโควตาให้เด็กนักเรียนในแต่ละจังหวัด ถ้าจังหวัดใดขาดแคลนแพทย์มากก็จะได้รับโควตามาก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัย เงื่อนไขคือเมื่อเรียนจบต้องไปทำงานที่บ้านเกิด

“ระบบนี้ทำมา 20 กว่าปี ทำให้สัดส่วนดีขึ้นอย่างที่เห็น ไม่อย่างนั้นสัดส่วนจะแย่กว่านี้มาก เราพบว่าเด็กกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 80 ยังอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิด แต่สัดส่วนนี้ถือว่าโอเคแล้วหรือยัง ก็ไม่ค่อยดีครับ เพราะเรามีตัวเลขว่าแพทย์ในกรุงเทพฯ 1 คน ดูแลคนประมาณ 800-900 คน แต่แพทย์ในภาคอีสานดูแลประชากรประมาณ 4,000 คน

“กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลง เช่น ทำตัวเลขแพทย์ต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ กับภาคอีสานให้แคบลง แต่จะไปบอกให้แพทย์กรุงเทพฯ ออกไปต่างจังหวัด มันเป็นไปไม่ได้ วิธีการคือใช้โครงการแบบนี้ ค่อยๆ ทำให้สัดส่วนดีขึ้น”

ความขาดแคลนที่ซ้อนอยู่ภายในจังหวัด

การกระจายตัวของแพทย์ทำให้เกิดสภาพความไม่พอเพียงระหว่างจังหวัด ทว่า ความไม่เพียงพอในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นความไม่พอเพียงภายในจังหวัด นั่นคือการขาดแคลนแพทย์ทั่วไปหรือจีพี (General Practitioner) ที่ไม่ได้สัดส่วนกันกับแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากค่านิยมในวงการแพทย์ไทย แพทย์ทั่วไปเกินร้อยละ 90 จะเรียนต่อเฉพาะทาง ส่งผลให้เกิดการกระจายที่ไม่เหมาะสม เช่น ใน 1 จังหวัดจะมีโรงพยาบาลเล็กๆ ที่เรียกว่าโรงพยาบาลระดับชุมชน ตำบล หรืออำเภอกับโรงพยาบาลจังหวัด โดยพบว่ามีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดมาก แต่แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมีน้อย

“เพราะว่าในโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์จบใหม่ที่ไปใช้ทุน เป็นแพทย์จีพี พอใช้ทุนครบก็ไปเรียนต่อ เมื่อเรียนจบก็ขยับไปอยู่โรงพยาบาลจังหวัด เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลอำเภอจะขาดแพทย์ตลอดเวลา เติมไม่เต็ม ถ้าจังหวัดนั้นมีโรงพยาบาลเอกชน เขาก็จะขยับจากโรงพยาบาลจังหวัดมาโรงพยาบาลเอกชนภายในจังหวัด ถ้าดูในแต่ระดับ เราจะเห็นความแตกต่างของจำนวนบุคลากรต่อประชากร” นพ.ฑิณกร กล่าว

เมื่อถามว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นระหว่างแพทย์ทั่วไปกับเฉพาะทางคือเท่าไหร่ คำตอบที่ได้จาก นพ.ฑิณกร คือประเทศไทยไม่มีการกำหนด ซึ่งถือเป็นปัญหา

“ในอังกฤษกำหนดที่ 50:50 แต่ของเราที่เป็นอยู่คือแพทย์เฉพาะทาง 80 ต่อแพทย์ทั่วไป 20 แต่ของเราควรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับระบบสุขภาพของประเทศนั้น ทำไมในอังกฤษกำหนด 50:50 เพราะเขาเป็นระบบการดูแลแบบปฐมภูมิ เป็นระบบที่แพทย์จีพีมีที่อยู่ที่ยืนในสังคม คนไข้ในอังกฤษอยู่ๆ ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลใหญ่ได้ ถ้าไปต้องเสียเงิน เขาต้องผ่านแพทย์จีพีก่อน ประเทศไทยพยายามนำมาใช้ แต่ระบบเรายังไปได้ไม่สุดทาง”

กล่าวคือระบบของอังกฤษ แพทย์ทั่วไปเป็นแพทย์หน้าด่านที่คอยคัดกรองทุกโรค จึงต้องการแพทย์ประเภทนี้จำนวนมาก ขณะที่ไทยใช้ระบบเหมือนสหรัฐฯ แพทย์สามารถเรียนได้ตามความต้องการ ถูกขับเคลื่อนด้วยตลาด แพทย์ทุกคนวิ่งไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“ถ้าบ้านเรารัฐธรรมนูญบอกให้มีนโยบายหมอครอบครัว มี Primary Care Cluster คือการทำระบบปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ถ้าเราเอาทางนี้จริงและไปให้สุดทาง บอกว่าสัดส่วนจีพีต้องมาก สัดส่วนเฉพาะทางน้อย ก็กำหนดทุนได้ แต่ผู้ผลิตกับผู้ใช้ไม่ได้สนใจกัน ผู้ผลิตก็อยากผลิตแพทย์เฉพาะทางไปเรื่อยๆ ตามจำนวนอาจารย์ที่มี แล้วไม่มีนโยบายใดๆ ไปบล็อก โดยที่ไม่รู้ว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยต้องการแบบไหน แต่ระบบสุขภาพของประเทศไทยอยากจะเป็นแบบไหนก็ไม่มีหน่วยงานไหนพูดชัดๆ เนื่องจากมีความซับซ้อนมาก”

ศัลยกรรมกำลังปั่นป่วนระบบกำลังคน

ในกลุ่มแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็มีความขาดแคลนซ้อนอยู่อีกเช่นกัน นพ.ฑิณกร กล่าวว่าแพทย์เฉพาะทางของไทยมี 70 กว่าสาขา ในกลุ่มเฉพาะทางบางสาขาก็ขาดแคลน เช่น แพทย์ผ่าตัดสมอง สมัยก่อนทั้งภาคมีแพทย์ผ่าตัดสมองเพียงคนเดียว แม้ปัจจุบันมีมากขึ้นจากการผลิตเพิ่ม แต่ก็ยังขาดอยู่ ขณะที่แพทย์เฉพาะทางที่ตอนนี้คนไปเรียนน้อยมากคือสูตินรีแพทย์ อันเนื่องจากปัญหาการฟ้องร้องที่มีมากจนแพทย์ไม่ไปเรียน นอกจากนี้ยังแพทย์อายุรกรรมทั่วไปและแพทย์ศัลยกรรมทั่วไปหรือแพทย์ผ่าตัดที่คนไม่อยากเรียน

การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในประเทศไทยสามารถฝึกอบรมได้ประมาณปีละ 1,500 คน โดยกระจายไปตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ตามสัดส่วนอาจารย์แพทย์ต่อนักเรียนแพทย์ ซึ่งเป็นกติกาที่กำหนดโดยแพทยสภา

“แม้ว่าแพทย์ 90 เปอร์เซ็นต์อยากจะเรียนต่อเฉพาะทาง แต่ก็ไม่ได้เต็มทั้ง 1,500 คน มีบางสาขาที่คนไม่ไปเรียนเลย แต่เด็กจะไปแย่งกันอยู่บางสาขา เป็นสาขาที่งานเบา เงินดี อย่างแพทย์ผิวหนังที่มีโควตาในการเรียนน้อยมาก นี่คือกลไกตลาดล้วนๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีสถาบันฝึกอบรมเปิดโดยไม่สนใจแพทยสภา เป็นการฝึกอบรมที่ได้ประกาศนียบัตรย่อยๆ เต็มไปหมด บางคลินิกยังเปิดอบรมเอง แล้วแพทย์ก็ไปเรียน พูดได้ว่าศัลยกรรมความงามเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ระบบปั่นป่วนอยู่ในเวลานี้”

รพ.เอกชนดูดแพทย์ ผลักค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

ความไม่เพียงพอในมิติต่างๆ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ นพ.ฑิณกร ตอบว่า “การเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะส่งผลต่อกำลังคนสาธารณสุขแน่นอนครับ เพราะบุคลากรมีจำกัด บุคลากรสาธารณสุข 80 เปอร์เซ็นต์ผลิตโดยภาครัฐ หมายถึงรัฐบาลใช้งบประมาณประเทศเพื่อผลิต เอกชนก็มาชุบมือเปิบทรัพยากรเหล่านี้ไป ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชนมีมาตลอด”

นพ.ฑิณกร อธิบายว่า เวลาที่เอกชนเปิดโรงพยาบาลมักเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางและรองรับคนไข้ภายในประเทศ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางจะอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดและโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น จะเกิดการดึงแพทย์จาก 2 แหล่งนี้

“เวลาดึงแพทย์ก็จะดึงแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นแพทย์จีพี เขาไม่สนใจดึงแพทย์จีพีไปโรงพยาบาลเอกชน แต่เขาจะดึงแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลจังหวัด ผลโดยตรงต่อโรงพยาบาลชุมชนจะน้อย แต่โรงพยาบาลจังหวัดโดนแน่

“อีกส่วนคือกระทบกับโรงเรียนแพทย์ ถ้ามีแพทย์มือดี แพงเท่าไหร่เอกชนก็ซื้อ ดังนั้น คนไข้ไม่มีทางเลือกก็ต้องมาโรงพยาบาลเขา แล้วเขาจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ เป้าหมายของโรงพยาบาลเอกชนก็จะเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ แพทย์เฉพาะทางเก่งๆ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ”

การดึงตัวแพทย์ก็คือการดึงด้วยรายได้ที่สูงกว่า หากโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงเรียนแพทย์จะรั้งตัวแพทย์กลุ่มนี้ไว้ย่อมต้องใช้รายได้เข้าสู้ ผลลูกโซ่คือจะผลักให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวมของระบบเพิ่มสูงขึ้น

“เมื่อค่าแรงเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเพิ่ม ภาระถูกผลักไปให้ประชาชน มันจะกระทบกับโรงพยาบาลรัฐหรือไม่ มันจะกระทบโดยอ้อม ถามว่าทำไมศิริราชจึงเปิดปิยมหาราชการุณย์ ทำไมรามาฯ จึงเปิดเซ็กชั่นพิเศษ ทำไมจุฬาจึงเปิดตึกพิเศษ เพราะเขาต้องการสู้กับเอกชนเพื่อรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ไว้ เช่น ถ้าเอกชนจ้างแพทย์ด้วยเงินเดือน 1 แสนบาท โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ภายใต้ 30 บาท แพทย์ก็จะไหลออก

“กระทรวงสาธารณสุขต้องหาทางเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อสู้ มันดึงกันด้วยเงิน กระทรวงสาธารณสุขปรับตัวมาตลอดเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ ปัจจุบันแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขค่าตัวแพงนะครับ เราเคยเสนอกระทรวงสาธารณสุขว่าอย่าสู้กันด้วยเงิน เพราะยังไงเราก็แพ้ เวลาจะออกระเบียบค่าตอบแทนใหม่ 1 ฉบับ ต้องใช้เวลาประชุมเป็นปี พอออกมา พรุ่งนี้เอกชนปรับทันที เราต้องสู้ด้วยเรื่องอื่น ด้วยเรื่องความเป็นอยู่ ภาระงาน ทัศนคติและจิตสำนึก”

สร้างซุปเปอร์บอร์ดที่ทุกฝ่ายยอมรับกำหนดทิศทางระบบสุขภาพ

ภายใต้สถานการณ์นี้จะแนวทางรับมืออย่างไร นพ.ฑิณกร กล่าวว่าขอตอบในฐานะนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องกำลังคน เขาอธิบายว่า 40 ปีก่อน โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนมีน้อยมาก ถ้าสามารถจัดการภายในกระทรวงสาธารณสุขได้ก็เท่ากับจัดการโรงพยาบาลทั้งระบบได้ แต่เมื่อโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขแทบไม่มีอำนาจเพียงพอในการจัดการดูแลโรงพยาบาลเอกชน แม้แต่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยก็คุมไม่ได้ เพราะขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพของไทยมีลักษณะแยกเป็นส่วนๆ

นพ.ฑิณกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ระบบสุขภาพของประเทศไทยไม่มีทิศทางที่ก้าวไป ไม่มีหน่วยงานที่จะมองภาพรวมหรือบอกว่าระบบสุขภาพควรเป็นแบบใด เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก

“ที่ผ่านมามีแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความคิดว่าน่าจะต้องวางเป้าหมาย ทีนี้การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมานั่งคุยกันเฉยๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจในการเคาะ จึงมีแนวคิดว่าควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเป็นซุปเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพหรือ National Health Policy Board ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อกำหนดทิศทาง แล้วทุกคนนั่งบนโต๊ะร่วมกัน เห็นพ้องกับทิศทางนี้ แล้วแยกกันไปทำ แต่ชุดนี้ตั้งไม่ง่าย เพราะต้องดึงอำนาจที่แต่ละคนมีอยู่ในมือออกมา”

นั่นเป็นเรื่องในระยะยาว ส่วนระยะสั้นและระยะกลาง นพ.ฑิณกร อ้างอิงจากการศึกษางานพลวัตรระบบ ด้วยการมองอนาคตว่าระบบควรเป็นแบบไหน โดยการใส่ตัวแปรสำคัญที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันแล้วพยากรณ์อนาคตข้างหน้า ข้อค้นพบที่น่าสนใจประการแรกคือการเพิ่มโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ อีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่ทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นและยังทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากขึ้น

“เราต้องทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง ตัดวงจรการเจ็บป่วยให้ได้ การขยายโรงพยาบาลดูแลคนป่วยมากอย่างเดียว ถ้าคุณไม่สนใจคนป่วยน้อย คนไม่ป่วย หรือการสร้างเสริมสุขภาพ ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดว่าต้องลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพ ข้อค้นพบคือถ้ากระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะลงทุน ต้องลงทุนด้านนี้ นโยบายปฐมภูมิเป็นนโยบายที่ดี ถ้าเลือกทิศทางนี้ให้ชัด สุขภาพประชาชนจะดีขึ้น เพราะจะตัดวงจรการเจ็บป่วยได้”

ข้อค้นพบประการที่ 2 คือกระทรวงสาธารณสุขไม่มีความสามารถดูแลสุขภาพประชาชนในอนาคตอีกต่อไป เนื่องจากมีทรัพยากรไม่พอ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องเปิดโอกาสให้เอกชนและท้องถิ่นเข้ามาร่วมให้บริการ

“แต่ถ้ามาร่วมบริการก็ต้องมีกลไกการจ่ายเงินที่ดึงดูดพอ รัฐบาลอาจต้องลงทุนเพิ่มขึ้น 30 บาทต้องเพิ่มเงินขึ้น ถ้ามีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดี

“เรื่องของระบบสุขภาพไม่มีนโยบายเดียวแล้วใช้ได้ทุกอย่าง เพราะระบบมันซับซ้อนมากและพันกัน เวลาออกมาตรการต้องทำเป็นชุดนโยบาย เช่น จะแก้เรื่องนี้ต้องออกนโยบาย 4 เรื่องประกอบกัน ต้องทำตรงนี้นิด ตรงนี้หน่อย เพื่อทำให้ระบบหมุนได้ แล้วเดี๋ยวมันจะไปเอง”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net