Skip to main content
sharethis

คณะทำงานของรัฐสภายุโรปกล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการปราบการค้ามนุษย์ เผยพร้อมสานต่อข้อตกลงทางการค้าหลังประเทศไทยมีการเลือกตั้ง เสนอยกเลิกโทษประหาร และลดการใช้ ม. 116 เปิดเสรีทางการเมือง


 

เมื่อวันที่ 16 ถึง 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะทำงานของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภายุโรป ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คณะทำงานดังกล่าวมีสมาชิก 6 คนได้แก่ฟรานซิส แซมมิท ดิเมช, อันเดรย์ โควัตเชฟ, โจคิม เซลเลอร์, เดวิด มาร์ติน, บาบาร่า ลอชบิห์เลอร์ และมี ปิแอร์ อันโตนิโอ แพนเซรี่ เป็นประธาน
       
ตลอดสามวันของการเยือนประเทศไทย ทางคณะทำงานได้เดินทางไปพบกับรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การค้ามนุษย์ สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสิทธิแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปีหน้าด้วย

หลังจบการเยือนประเทศ แพนเซรี่ในฐานะตัวแทนของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ตัวเขารู้สึกชื่นชมความพยายามของรัฐไทยในการปราบปรามและดำเนินคดีกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน ทางคณะทำงานจึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยลงนามลงนามในอนุสัญญาองค์กรแรงงานสากล หรือ ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในอุตสาหกรรมประมง ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมมกลุ่มและสิทธิในการจัดตั้งองค์กรแรงงาน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งจะเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยในการแก้ปัญหาสิทธิแรงงานอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการก็ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่ยังคงมีการจำกัดสิทธิทางการเมืองหลายประการทั้งเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม โดยแพนเซรี่กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญหากไทยต้องการจะกลับมามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป

“การกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และครอบคลุม คือเงื่อนไขสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งจะเปิดโอกาสทั้งสองประเทศกลับมาเจราจาทางการค้ากันใหม่ได้ ทั้งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (PCA)

“รัฐสภายุโรปจะจับตาดูการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับประเมินสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสภาพการจ้างงานในอุสาหกรรมประมง และอุตหกรรมอาหารสำเร็จรูป เช่นเดียวกับปัญหาสิทธิแรงงาน โดยมุ่งความสนใจไปที่การปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานเป็นหลัก” แพนเซรี่กล่าว

ทางคณะทำงานได้สรุปข้อเรียกร้องหลังการเยือนประเทศต่อรัฐบาลไทย 4 ประการดังนี้

  1. จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและเป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มุ่งฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งผ่านสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย 
  2. ฟื้นฟูสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่ประเทศไทยได้ให้สัญญาไว้ ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และการรวมตัว สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง ให้พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิ์ของพวกเขาได้อย่างเสรี และสงบสุข
  3. ทำตามข้อผูกมัดที่ประเทศไทยให้ไว้ในกลไก Universal Periodic Review ปี 2016 และ ทำตามแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 เพื่อให้การดำเนินการยกเลิกโทษประหารมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  4. ทบทวนการใช้กฎหมายอาญา และกฎหมายยุยงปลุกปั่น (กฎหมายอาญามาตรา 116) ที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งมักนำไปสู่การจองจำนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและยุติการลอยนวลพ้นผิด 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net