Skip to main content
sharethis

เปิดดูกฎหมาย ข้อบังคับ คำสั่งหัวหน้า คสช. กำกับการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU เมื่อรองนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะเผย จะซื้อเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมง 680 ลำในวงเงิน 3 พันล้านบาท ที่ปรึกษาระบุ ซื้อไปแต่โครงเรือ รู้จัก IUU ใบเหลืองอียู กับมรสุมนโยบายที่ซัดเรือไทยทั้งในฝั่งและกลางทะเล นายกฯ สมาคมประมงลั่น ควรซื้อตั้งนานแล้ว

ที่มาภาพประกอบ เว็บไซต์ https://shiptoshorerights.org/

เมื่อ 16 ก.ค. 2561 มติชนรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู-IUU-Illegal, Unreported and Unregulated)) ระบุหลังประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558

ลักษณะโครงการคือการซื้อเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง มีการแจ้งจุดจอดและจัดทำ UVI (อัตลักษณ์เรือ) จากกรมเจ้าท่า และไม่มีคดีใดๆ โดยจะจัดซื้อในราคาตามสภาพจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางเป็นจำนวน 680 ลำ ในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็นสามระยะ ระยะแรกจะเป็นการจัดซื้อเรือประมงขนาดเล็กและกลาง (น้ำหนักรวม 10-60 ตันกรอส) จำนวน 409 ลำ วงเงินประมาณ 690 ล้านบาท อีก 271 ลำที่เหลือเป็นกลุ่มเรือขนาดใหญ่จะได้ดำเนินการต่อไป คาดว่าไม่เกินกลางเดือน ส.ค. นี้จะเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้ซื้อเรือคืนระยแรกดำเนินการได้ภายใน 30 ก.ย. 2561 โดยการซื้อเรือคืนครั้งนี้นอกจากเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณปลาแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย

ผศ.ธนพร ศรียากูล คณะทำงานรองนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัย ให้ข้อมูลกับประชาไทเพิ่มเติมว่าเรือที่ถูกซื้อไปนั้นเป็นการซื้อเพียงโครงเรือ ส่วนเครื่องนั้น เจ้าของเรือสามารถนำไปขายกับเซียงกงได้เพราะมีราคารับซื้อสูงกว่ารัฐบาล ปัจจุบันใบอนุญาตประมงอนุญาตให้เรือประมงออกทำการประมงได้ปีละ 240 วัน ในขณะที่สัดส่วนของเรือประมงกับสัตว์น้ำยังไม่มีความสมดุลเมื่อดูจากสถิติของกรมประมงแล้วก็พบว่าต้องมีการจำกัดจำนวนเรือ

“สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้นั้นลดลงเรื่อยๆ เมื่อพลอตกราฟเทียบกับเรือประมงที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าก็พบว่าสอดคล้องกัน คือจำนวนปลาลดลง แต่จำนวนเรือประมงที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าก่อนปี 2558 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ขนาดของสัตว์น้ำที่ถูกจับมาได้ก็เล็กลงเรื่อยๆ ถ้าจะให้ปลาเพิ่มขึ้นก็ต้องลดความสามารถในการจับปลาเราให้ลดลง ในสหภาพยุโรปใช้วิธีโควตา คือเรือหนึ่งลำจับปลาได้ 1000 กก. ถ้าครบแล้วก็ออกจับปลาไม่ได้ แต่บ้านเราเห็นว่าสปีชีส์สัตว์น้ำ ลักษณะทางธรรมชาติอาจต่างจากอียู จึงใช้วิธีคุมเป็นจำนวนวัน”

ธนพรเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลมีมาตรการลดเรือออกจากระบบประมง ได้แก่วิธีสนับสนุนให้เจ้าของเรือสามารถซื้อเรือและใบอนุญาตของเรืออีกลำเพื่อนำโควตาวันออกทำประมงของอีกลำมาเป็นของตัวเองเพื่อให้ออกเรือได้นานขึ้น แล้วให้เรืออีกลำออกนอกระบบ คือไม่ทำการประมง เรียกวิธีนี้ว่าการควบรวมเรือ และวิธีที่สองคือการสนับสนุนให้ใช้เรือนอกระบบในงานอย่างอื่น เช่นเป็นเรือส่งสินค้า เรือโดยสาร เรือท่องเที่ยว จนมาถึงวิธีสุดท้ายคือการซื้อเรือคืน

“ตั้งแต่ปี 2558 มีเรือประมง 687 ลำที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำการประมงตั้งแต่ปี 2559 จึงถูกจอดล็อกอยู่กับท่า พี่น้องเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดจำนวนเรือมานานแล้ว รัฐบาลก็ใช้ทุกวิถีทางแล้วและพบว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการซื้อเรือคืน”

ต่อคำถามว่าการซื้อเรือเช่นนี้เป็นการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล คสช. หรือไม่ ธนพรตอบว่า การซื้อเรือเป็นไปตามแผนการจัดการประมงทะเลที่ ครม. ได้อนุวัตไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558 ตนมองว่าการมาซื้อเรือในตอนที่ชาวประมงครหามานานเป็นเรื่องที่ผิดเวลา ถ้าจะเรียกคะแนนนิยมก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้น เช่นการทำให้เนื้อหาในพระราชกำหนดการประมงหย่อนยานลง

ด้านมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมการประมงฯ ได้เรียกร้องให้มีการซื้อเรือคืนมานานแล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอมมาเยียวยาตั้งแต่ต้นทำให้ปัญหาของชาวประมงที่ไม่สามารถจดใบอนุญาตประมงได้ก็ต้องจอดแช่เป็นเวลาสามปี ทำให้มีปัญหาเรื่องปากท้อง

“จริงๆ ต้องซื้อตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ การแก้ปัญหา IUU คือถ้าเรือมากกว่าจำนวนสัตว์น้ำที่จะผลิตตามธรรมชาติคุณก็ต้องซื้อเรือออก ยุโรปใช้เวลา 15 ปี ซื้อเรือออกหมดเลย ใช้เงินตั้งห้าแสนล้าน ของเราไม่ได้ใช้เงินเลย ทำให้ชาวประมงเราเดือดร้อน”

“ทำไมเราถึงเรียกร้องตลอดว่าแก้ผิด คือคุณไม่ยอมเยียวยาตรงนี้ตั้งแต่ต้น ถ้าเอาเงินมาซื้อเรือเขาออกจากระบบ ปัญหา IUU ไม่ได้เป็นอะไร ที่มีปัญหาเดือดร้อนกันวันนี้คือเขาหยุดประกอบอาชีพ เขาไม่มีรายได้แล้วเขาจะประกอบอาชีพอะไร แต่ถ้าคุณตั้งงบมาซื้อเลยป่านนี้เขาก็มีทุนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งเสียเวลาไปสามปี กว่าจะซื้อก็ซื้อช้า” มงคลกล่าว

ทำความรู้จัก IUU ใบเหลืองอียู กับมรสุมทางนโยบายที่ซัดเรือไทยทั้งในฝั่งและกลางทะเล

มาตรการซื้อเรือคืนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนานใหญ่ของการทำประมงไทยที่เกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยจากการที่ไทยไม่มีมาตรการที่จะป้องกันและขจัดปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู-IUU-Illegal, Unreported and Unregulated) เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดระเบียบเรือประมงในสารพัดมิติ

แต่ IUU ไม่ได้เป็นอะไรกับอียูโดยตรงตามที่หลายคนอาจเข้าใจเนื่องจากการมาเยือนไทยเป็นแพ็คคู่ เอกสารของกรมประมงระบุว่าองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศเรื่อง IUU มาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยความตั้งใจให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ IUU เป็นแผนปฏิบัติการให้ทุกประเทศนำไปปรับใช้บนพื้นฐานความสมัครใจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปมีความตั้งใจต่อสู้กับ IUU มานาน และได้ออกระเบียบเพื่อป้องกัน IUU ในปี 2551 เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายกับประเทศสมาชิกในอียูและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงไปยังอียู จึงต้องทำการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้ฝนที่ตกทางยุโรปหนาวมาถึงไทยแลนด์ในรูปแบบของใบเหลือง เพราะอียูเคยยื่นคำขาดให้ไทยแก้ไขปัญหาและปฏิรูปนโยบายเรื่อง IUU ไม่เช่นนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยังอียู ซึ่งสื่อวอยซ์ ออฟอเมริการายงานว่าอาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์หรือราว 15,000 ล้านบาทต่อปี

รัฐบาล คสช. พยายามปรับตัวแบบระบบการประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ไม่ให้มี IUU เกิดขึ้น มีการตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาใช้แทนโดยเพิ่มข้อกำกับให้กับทั้งเรือและชาวประมง

อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ตาม พ.ร.ก. ประมง 2558 แบ่งการประมงในน่านน้ำไทยเป็นสองประเภท หนึ่ง ประมงพื้นบ้าน คือเรือที่มีขนาดเรือไม่เกิน 10 ตันกรอส และประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเรือตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป การทำประมงพื้นบ้านสนับสนุนให้จับสัตว์น้ำได้ไม่เกินสามไมล์ทะเล จากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 ไมล์ทะเล เรือประมงพื้นบ้านไ่ต้องมีใบอนุญาตทำการประมง แต่ต้องจดทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า ขณะที่เรือประมงพาณิชย์คือการจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย เมื่อ 2 เม.ย. 2560 มีเรือที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่ารวม 37,000 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้าน 25,000 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 12,000 ลำ (ที่มา: มติชน)

หน่วยตันกรอสคือการการคำนวณระวางบรรทุกสินค้าและห้องทั่วไปบนเรือ (ที่มา: ราชบัณฑิตยสภา)

ธนพรเล่าว่า หลังพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ฉบับที่ต่อมามีปรับเป็นฉบับที่สองในปี 2560 บังคับใช้ เรือประมงพาณิชย์มีข้อกำกับเพิ่มเข้ามาดังนี้

  • จำกัดวันออกประมงตามใบอนุญาต เช่น เรืออวนลากออกได้ 240 วัน

  • พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS แรงงานต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง

  • เครื่องมือประมงที่ใช้ต้องถูกต้อง (ดูมาตรา 67-69 ในพระราชกำหนดฯ)

  • ออกทำประมงต้องแจ้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Port in-Port out - PIPO)

  • ออกประมงได้ไม่เกินครั้งละ 30 วัน

  • ถ้าเครื่อง VMS ที่ติดตั้งเอาไว้ดับลง สามารถถูกเรียกเข้าฝั่งได้ทุกเมื่อ

  • บันทึกการทำประมงหรือ Logbook

  • เข้าท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมงเท่านั้น

  • การชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำที่ท่า โดยสัตว์น้ำที่ชั่งที่ท่า กับที่เรือต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 10

(ประมงพาณิชย์หมายถึงการประมงโดยใช้เรือประมงขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือใช้เรือประมงโดยมีหรือใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภท วิธี จำนวนแรงงานที่ใช้ หรือลักษณะการทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และหมายรวมถึงการใช้เรือประมงดังกล่าวทำการแปรรูปสัตว์น้ำไม่ว่าจะมีการทำประมงด้วยหรือไม่ก็ตาม)

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รวบรวมสถิติว่ามีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามอำนาจมาตรา 44 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและแรงงานข้ามชาติ

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย โดยมีกองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง ตามรูปแบบ ระยะเวลา ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) ไม่ให้เจ้าของเรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการ เช่น ครอบครองเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต การนำเรือประมงที่มีเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรในการทำการประมงออกไปทำการประมง การนำเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดออกทำการประมง เป็นต้น ควบคุมเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นในการออกไปยังน่านน้ำต่างประเทศ ทะเลหลวง ควบคุมการขนถ่าย เก็บรักษาสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 - 30 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่ข้อหาที่ฝ่าฝืน

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้งดจดทะเบียนเรือไทยจนกว่า ศปมผ. จะกำหนดให้จดทะเบียนได้ และควบคุมการใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง เช่น เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์, เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืนและ เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร เป็นต้น

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 42/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อปรับความแม่นยำในระบบรายชื่อทะเบียนเรือ

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง สั่งให้วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรีและให้อดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมประมงแทน

  • คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 18/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 69/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง ไม่ให้นับเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 เพื่อคุมจำนวนเรือประมง ควบคุมการขนถ่ายคนประจำเรือ ให้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงแจ้งตำแหน่งจุดจอดเรือต่อ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายได้ทันท่วงที

  • คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2561 เรื่อง ยกเลิกบทบัญญัติบางประการในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขข้อความในส่วนของธนพร ที่ว่า "พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS" เป็น "พระราชกำหนดประมง เช่น เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องติดอุปกรณ์ติดตามระบบ VMS" เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 เวลา 00.47 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net