Skip to main content
sharethis

ธปท. เผย พ.ร.บ.ชำระเงินใหม่มีผลบังคับใช้เเล้ว ข้อมูลลูกค้ารั่วปรับสูงสุดไม่เกิน 2 ล้าน ระบุกรณี ทรูมูฟ เอช ทำข้อมูลบัตรประชาชนลูกค้ารั่วไหล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ธปท. แต่ติดตามถึงระบบการป้องกันการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัททรูมันนี่

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน  ธปท.

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เเล้วตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดมีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเรื่องของการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยมีการกำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวด ว่าบุคคลใดที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้ และกำหนดขอบเขตของการนำข้อมูลไปใช้ หากผู้ประกอบการรายใดทำข้อมูลลูกค้ารั่วจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับจะพิจารณาตามความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ส่วนบริษัท ทรูมูฟ เอช ทำข้อมูลบัตรประชาชนลูกค้ารั่วไหล กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ธปท. แต่ ธปท.ได้มีการติดตามถึงระบบการป้องกันการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัททรูมันนี่ (TrueMoney) หลังจากที่เกิดปัญหาบริษัท ทรูมูฟ เอช จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีข้อกังวลใจแต่อย่างใด และได้กำชับให้ผู้ประกอบการทุกราย รวมทั้งสถาบันการเงินตรวจสอบระบบการป้องกันข้อมูลลูกค้าทุกปี 

สิริธิดา กล่าวว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินฉบับใหม่นี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งผู้ให้บริการและประชาชน ทำให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทยรวดเร็วขึ้น สะท้อนจากวงเงินโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ ปัจจุบันที่ไม่ถึง 3,000 บาทต่อรายการ ขณะที่ยอดการใช้พร้อมเพย์สะสมอยู่ที่ 173 ล้านรายการ มูลค่าการโอน 700,000 ล้านบาท จากผู้ลงทะเบียน 40 ล้านเลขหมาย ณ วันที่ 6 เม.ย. 2561 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธปท. ระบุว่า ผู้ประกอบการรายเดิมที่ให้บริการทั้งในส่วนของภาคธนาคารและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank ที่มีการออกบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทางการเงินทุกรูปแบบ หรือ E-Money ต้องมาขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนใหม่กับ ธปท. ภายใน 120 วัน หรือจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถให้บริการได้  ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะทำธุรกิจ E - Money ต้องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท จากเดิมกำหนดอยู่ที่ 200 ล้าน บาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถให้บริการมากขึ้นและมีการเเข่งขันมากขึ้นด้วย

ที่มา : สำนักข่าวไทย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net