Skip to main content
sharethis
‘เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ’ ยื่นจดหมายเปิดผนึก 6 ข้อ ถึงประธานศาลฎีกา ระบุขอคืนพื้นที่โครงการเพียงบางส่วนที่มีผลกระทบต่อนิเวศน์อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนบนที่สร้างบนพื้นที่ป่าเดิม ซึ่งพื้นที่ขอคืนดังกล่าวไม่รวมกับพื้นที่ของอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และแฟลตที่พักส่วนล่างจำนวนหนึ่ง เสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกันระหว่าง 'ราษฎร์-รัฐ' ถือเป็นโอกาสอันดีปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน
 
 
 
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เพจขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยระบุว่าจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 6 เม.ย. 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กราบเรียน ท่านประธานศาลฎีกา และ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่เคารพ
 
เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพขอใช้ช่องทางสื่อสารทางสังคมออนไลน์นำเรียนต่อท่าน เพื่อให้ท่านได้รับรู้ถึงฉันทามติของทางเครือข่ายฯ  ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมในเช้าวันจันทร์ ที่ 9 เมษายน 2561
 
ขอนำเรียนว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้เข้าประชุมหารือเตรียมการกับทางคณะผู้บัญชาการ มทบ.33 ซึ่งเป็นหน่วยจัดประชุมแก้ปัญหาการคัดค้านโครงการหมู่บ้านข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ โดยพวกเราได้รับปากและยืนยันหลักการที่จะเจรจาอย่างสุภาพ ปราศจากวาจาก้าวร้าวหรือส่อเสียด มุ่งหาทางออกอย่างสันติ ซึ่งเป็นแนวทางที่เรายึดถือมาแต่ต้น
 
ตัวแทนเจรจายังได้นำเสนอแนวทางและชุดข้อเสนอ เพื่อหาทางแก้ปัญหาการคัดค้านอย่างสันติ และเป็นไปอย่างถูกต้องกฎหมายกล่าวคือ
 
1.ภาคประชาชนจะขอคืนพื้นที่โครงการบ้านพักและแฟลตราชการเพียงบางส่วนที่มีผลกระทบต่อนิเวศน์อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนบนที่สร้างบนพื้นที่ป่าเดิม ซึ่งพื้นที่ขอคืนดังกล่าวไม่รวมกับพื้นที่ของอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และแฟลตที่พักส่วนล่างจำนวนหนึ่ง หาได้ต้องการหมดทั้งแปลงแต่อย่างใด
 
2.เหตุผลที่ต้องขอคืนพื้นที่ส่วนบนดังกล่าว ได้จัดเตรียมข้อมูลนำเสนอผ่านโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์และแผ่นป้าย เพื่อนำเสนอต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมที่มาร่วมประชุมหารือได้รับทราบ
 
โดยสังเขปก็คือ พื้นที่ซึ่งเป็นป่าส่วนบนนั้น เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เป็นป่าเขตกันชนรอยต่ออุทยานแห่งชาติ โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ ได้ก่อสร้างล้ำขึ้นจากแนวการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานอื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาอัคคีภัย อุทกภัยโคลนถล่มตามฤดูกาล และที่สำคัญก็คือ การบุกเบิกใช้พื้นที่บริเวณนั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์เขตราชพัสดุส่วนที่เป็นป่าดอยสุเทพลุกลามตามมา
 
3.ตัวแทนประชาชนรับทราบความกังวลในแง่ข้อกฎหมาย และการใช้งบประมาณของรัฐที่ดำเนินไปแล้ว ภาคประชาชนรับทราบและเข้าใจเงื่อนไขข้อกฎหมายที่ผูกพัน ดังนั้นจึงเสนอให้ใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยให้มีการก่อสร้างส่งมอบงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จ เพื่อมิให้เกิดการฟ้องร้องค่าเสียหายตามมา
 
ในระหว่างนั้น ศาลยุติธรรมจัดเตรียมรังวัดคืนพื้นที่บางส่วนกลับมาเป็นที่ราชพัสดุ เพราะได้พิจารณาผลกระทบและสภาพปัญหาในมิติต่างๆ การแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งกลับเป็นที่ราชพัสดุจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหา และเป็นทางออกที่สวยงามร่วมกันระหว่างราษฎร์-รัฐ นั่นเพราะศาลยุติธรรมในยุคสมัยใหม่เล็งเห็นว่าสาธารณประโยชน์และคุณค่าด้านจิตวิญญาณของประชาชนมีความสำคัญเหนือกว่าประโยชน์ขององค์กร   จึงได้ส่งมอบคืนพื้นที่นั้น
 
4.ภาคประชาชนเสนอต่อตัวแทนฝ่ายทหาร เสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกัน ระหว่างราษฎร์-รัฐ นี่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นช่องทางปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน ทั้งนี้ภาคีความร่วมมือพลังประชารัฐดังกล่าว จะมีสำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นแกนและองค์ประกอบสำคัญ ร่วมกับประชาชนในการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
 
5.แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งฝ่ายประชาชนต้องการ ไม่ใช่การดำรงสิ่งปลูกสร้างไว้ ให้กับหน่วยงานอื่น หรือวัตถุประสงค์อื่นซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอีกจำนวนมาก ภาคประชาชนได้เรียนแจ้งต่อผู้แทนหน่วยทหารว่าต้องการจะรื้อสิ่งปลูกสร้างลงมาเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสภาพป่าตามหลักวิชาการต่อไป
 
6.ภาคประชาชนตระหนักดีว่าศาลยุติธรรมได้ดำเนินโครงการนี้มาเป็นลำดับ แต่ขอให้ศาลยุติธรรมได้โปรดเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่สามารถมองจากแง่มุมทางกฎหมาย หรือสิ่งแวดล้อมเพียงมิติเดียว หรือสองมิติ การที่หน่วยงานในอดีตได้เลือกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม ยังมีผลต่อความรู้สึก ความศรัทธา ความกังวล และความไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันของรัฐ ทั้งจะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นมิตรกับประชาชนชาวพื้นถิ่น สะสมยาวนานต่อไปอีก
 
ภาคประชาชนขอนำเรียนว่าจะยังยืนยัน และไม่ย่อท้อที่จะเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงใหม่โดยรวมต่อไป จนกว่าการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ ขอท่านได้โปรดเข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ของภาคประชาชนด้วย
 
อนึ่ง ข้อมูลสำคัญที่ได้นำเรียนผ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ตัวแทนประชาชนได้นำเสนอต่อผู้บัญชาการ มทบ.33 และตัวแทนของหน่วยทหารในวงประชุมเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนาและจุดยืนของการพยายามหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ ละมุนละม่อม ให้เกียรติกันและกัน เพราะเข้าใจดีว่าปัญหานี้ผูกพันต่อเนื่องยาวนานไม่ได้เป็นความผิดของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบปัจจุบัน
 
จึงเรียนมา เพื่อขอวิงวอนให้ท่านและคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้โปรดพิจารณาเข้าใจเหตุผล และเจตนาของภาคประชาชน และได้โปรดตัดสินใจคืนพื้นที่บางส่วนของโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่แก่กรมธนารักษ์ และจากนั้นศาลยุติธรรมกับภาคประชาชนตลอดถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น จะร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าและระบบนิเวศต่อไป
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net