Skip to main content
sharethis

คดีของหนุ่มโรงงานที่เพิ่งเรียนจบลุกขึ้นโปรยใบปลิวเมื่อต้นปี 2558 จนทำให้ตำรวจทั้งภาคตามล่าตัว เขาได้ประกันตัวสู้คดีในศาลทหาร ใบปลิวนั้นมีฉากหลังเป็นรูปจอมพลสฤษดิ์สั่งประหารครูครอง จันดาวงศ์ และมีข้อความที่กำลังต่อสู้กันในศาลว่า ถูกหรือผิด เป็นไปตามความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ สร้างความวุ่นวายอย่างไร หากศาลพิพากษาว่าผิด โทษจำคุกสูงสุดคือ 7 ปีตาม ม.116

การโปรยใบปลิวต่อต้านรัฐประหาร เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 21 มีนาคม ปี 2558 ในจังหวัดระยอง จุดที่โปรยล้วนเป็นแหล่งสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นหน้าโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยม และวิทยาลัยเทคนิค ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ร้อนแรง เริ่มจากในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ปรากฏป้ายผ้าบนอัฒจันทร์ 2 ผืน มีข้อความว่า “coup = corruption” และ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนจะมีป้ายข้อความทำนองเดียวกัน ผุดขึ้นตามมุมต่างๆ หรือพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งม.บูรพา ม.รามคำแหง จุฬาฯ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งตามมาด้วยการตามเก็บใบปลิวและควานหาตัวคนทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร และต่อมามีการจัดกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก’ ในวันวาเลนไทน์ หลังจากนั้นแกนนำ 4 คนถูกจับกุมและถูกฝากขังที่ศาลทหารในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง แม้สุดท้ายจะไม่โดนขังและคดียังนัดสืบพยานมาจนปัจจุบัน

ท่ามกลางกระแสร้อนดังกล่าว เมื่อเกิดใบปลิวหลายจุดในจังหวัดระยอง มีข้อความ "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเร่งตามหาตัว ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำชับให้จับกุมตัวให้ได้ (อ่านที่นี่) เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานรวมกันเป็นคณะทำงานพิเศษเพื่อติดตามคนร้ายในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนภาค 2 นายตำรวจชุดสืบสวน ภ.จว.ระยอง สืบสวน สภ.เมืองระยอง ทหารพันร.7 เจ้าหน้าที่กอ.รมน. จ.ระยอง และตำรวจสันติบาลระยอง กล้องวงจรปิดของทั้งจังหวัดถูกนำมาสแกนเพื่อติดตามคนร้าย จนกระทั่งอีก 5 วันต่อมาก็จับกุมชายหนุ่มผู้กระทำผิดได้ เขาอายุ 22 ปีเพิ่งจบมหาวิทยาลัยและทำงานในบริษัทใหญ่ในจังหวัดระยองได้ไม่ถึงปี ข่าวการจับกุมถูกเผยแพร่ใหญ่โต

พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล รับสารภาพว่าเขาคือชายในกล้องวงจรปิดที่โปรยใบปลิวดังกล่าว และกระทำการคนเดียว ตำรวจตั้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 368 หลังขังที่สถานีตำรวจ 2 วันก็ขอฝากขังกับศาลทหารจังหวัดชลบุรี เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคง ซึ่งเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกการขึ้นศาลทหารในคดีความมั่นคง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าช่วยเหลือด้านคดีความและเงินประกันตัว 70,000 บาท จึงได้ออกมาสู้คดีนอกเรือนจำ  

พลวัฒน์บอกว่า อันที่จริงแล้วเขาตั้งใจจะเข้ามอบตัวในวันที่ 30 มีนาคมหลังจากเห็นข่าวใหญ่โต แต่ต้องการทำงานที่ไซด์งานที่ยังติดพันให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ไม่ทันไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บุกจับถึงในโรงงาน โชคดีที่ผลงานและความตั้งใจของเขาบวกกับความเข้าใจของหัวหน้างานทำให้เขาไม่ถูกไล่ออกจากงานเพราะโดนคดีนี้

จากนั้นไม่นาน 31 มีนาคม เขาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่าทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยจากการถ่ายรูปใบปลิวที่เขาแปะไว้และส่งไปให้กับเฟสบุ๊คเพจของกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งพลวัฒน์รับว่าเป็นคนถ่ายรูปและส่งไปจริง แต่ไม่ได้มีเจตนายั่วยุปลุกปั่น หรือทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง

ใบปลิวของพลวัฒน์นั้นน่าสนใจ นอกจากข้อความ "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" แล้ว ด้านข้างยังมีรูปชูสามนิ้ว บนแต่ละนิ้ว มีข้อความ ต่อต้าน, รัฐประหาร, เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ ด้วย ขณะที่ฉากหลังของใบปลิวเป็นภาพลางๆ ของบุคคลหลายคน ซึ่งเราได้ทราบว่ามันคือภาพอะไรก็เมื่อทนายจำเลยถามค้านพยาน

หลังประกันตัวได้ มีการนัดสอบคำให้การ 6 ก.พ.ในปีถัดมา จากนั้นนัดสืบพยานปากแรก ซึ่งมีการเลื่อนติดกัน 2 ครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล กระทั่งวันที่ 6 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา จึงมีการสืบพยานนัดแรก พยานโจทก์ที่มาให้การคือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ เจ้าพนักงานผู้กล่าวหา ซึ่งปัจจุบันย้ายไปประจำการที่จังหวัดสระแก้วแล้ว  

เนื้อหาในการซักค้านของทนายจำเลยนั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปทาง “เนื้อหา” ของใบปลิวดังกล่าวว่าเข้าข่ายมาตรา 116 หรือไม่ เช่น ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกคัดค้านรัฐประหารหรือเผด็จการทหารหรือไม่ การทำรัฐประหารนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ เผด็จการกับประชาธิปไตยสิ่งใดที่ควรเจริญ สิ่งใดควรพินาศ เป็นต้น ท่ามกลางคำถามประเภทนี้ อัยการได้ลุกขึ้นคัดค้านต่อศาลว่า คำถามของทนายจำเลยเป็นคำถามเกี่ยวกับความเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับคดี หากพยานตอบก็อาจจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยยืนยันว่า คำถามเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับประเด็นในคดีและหากพยานไม่สะดวกจะตอบก็สามารถสงวนการตอบได้ ศาลอนุญาตให้ถามต่อ จึงมีคำถามจำพวก คำว่า “สู้” ในใบปลิวมีความหมายได้กี่แบบ จำเป็นต้องวุ่นวายรุนแรงอย่างเดียวหรือไม่ ข้อความตามใบปลิวสอดคล้องกับความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ใช่หรือไม่  ฯลฯ คำถามเกือบทั้งหมด พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ และยืนยันว่าเขาทำตามหน้าที่และตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ขณะที่คำถามที่ว่า “คำว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ เป็นคำของครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้ประชาธิปไตยในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ตะโกนออกมาก่อนถูกประหารชีวิต พยานทราบหรือไม่” พยานตอบว่าไม่ทราบ

คำถามว่า “รูปที่เห็นลางๆ เป็นแบคกราวน์ของใบปลิวนั้น เป็นรูปเหตุการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์สั่งประหารครูครอง จันดาวงศ์ พยานทราบหรือไม่” คำตอบคือ “ไม่ทราบ”

สืบพยานจนกระทั่ง 13.00 น.จึงแล้วเสร็จ และศาลนัดสืบพยานนัดหน้า 4 เมษายน 2561

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการสืบพยาน มีคนถามจำเลยว่า น่าจะเป็นคอการเมืองมานานใช่ไหมจึงรู้จักครูครอง จันดาวงศ์ เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่า เพิ่งสนใจการเมืองไม่กี่ปีมานี้เนื่องจากเห็นความไม่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่ศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ค้นไปเรื่อยๆๆๆ ประกอบกับรู้จักเพื่อนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบางคน เมื่อเขาเหล่านั้นถูกจับกุมคุมขังก็ยิ่งทำให้ “รู้สึก” มาก 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net