Skip to main content
sharethis

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมสื่อของ ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ หนึ่งในผู้ทำหน้าที่ไลฟ์ตลอดการเดินทาง ทั้งเดิน ทั้งถ่าย ทั้งพูดคุย โต้ตอบ เล่าสถานการณ์กับเหล่าคอมเมนต์ในเพจ นี่จึงไม่ใช่หน้าที่ง่ายๆ สบายๆ ที่ใครก็ทำได้ แต่เพราะกำลังใจที่ได้รับจากผู้ติดตามเพจที่เธอบอกว่าเป็นความรู้สึกดีๆ น่าชื่นใจ

 

บรรยากาศของการเดินและการไลฟ์ในเพจเป็นอย่างไร

วันแรกๆ ยังไม่มีใครรู้จัก แต่พอวันที่สองที่สามเริ่มมีคนเข้ามาให้กำลังใจ เอาน้ำมาให้ เอาอาหารมาให้ ของที่ได้ก็หลากหลาย ขึ้นเรื่อยๆ หมูปิ้งสี่ร้อยไม้ มีน้ำ ขนม ผลไม้ มันแกว ฝรั่ง พุทรา แล้วไม่ใช่แค่เราเดินที่สระบุรีแล้วจะมีแต่คนสระบุรีมา แต่บางคนก็ตามมาจากกรุงเทพฯ บางคนมาจากอยุธยา บางคนมาจากโคราช ส่วนใหญ่ที่เขามาเพราะเขาเห็นไลฟ์ในเพจ เขาก็จะรู้ว่าเราเดินถึงไหนแล้ว อีกแบบคือคนที่อยู่ในที่ที่เราเดินผ่าน บางคนก็ไม่รู้จักเราแต่ก็เอาของมาช่วย บางคนก็เคยเห็นในทีวีเลยตามมา

การเดินไปบนถนนมันเข้าถึงคนได้จริงๆ อาจไม่ใช่คนเยอะ แต่คนที่เห็นเราเดินระหว่างทาง เขารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราได้บอกเล่าเรื่องราวไปในตัว คนที่เห็นเราเดินผ่านเขาก็ถาม ไปไหนกัน เดินไปทำอะไร เราก็ฝากเพจ แล้วเราก็เริ่มมีแผ่นพับ โปสเตอร์แจก เขาก็ได้อ่าน บางคนก็ถึงขั้นอยากคุยจริงจัง เราก็หยุดพูดได้บ้างสักหน่อย ไม่ได้นาน


ทั้งเดิน ทั้งถ่าย ทั้งบรรยาย ตลอดการเดินทาง เหนื่อยไหม

เหนื่อยแต่พอเราเป็นคนไลฟ์ เราก็จะเห็นคอมเมนต์ ก็รู้สึกได้ว่าเขาติดตามเราอยู่ ใครจะคิดว่าแค่คนเดินจะมีคนดู มีคนรอ ถ้าไม่ได้ไลฟ์เพราะอุปกรณ์เรามีปัญหาก็จะมีคนอินบ็อกซ์เข้ามาถามแล้วว่า ตอนบ่ายไปไหน ทำไมตอนบ่ายไม่ไลฟ์ เห็นคนที่พร้อมสนับสนุนพร้อมเปิดใจ มีคนมาห่วงใยเรา ระวังรถนะ อะไรแบบนี้ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

เราไลฟ์ตอน 8 โมง บางคนก็ตื่นมาแต่เช้ามานั่งรอเรา อินบ็อกซ์มาแล้ว เนี่ย รออยู่นะ มันชื่นใจ ว่าสิ่งที่เราทำมีคนสนใจ คนที่เข้ามาดูเรา ก็รู้สึกมาจากทั่วทั้งประเทศ มาจากหลายๆ จังหวัด มันคือความหลากหลาย

มีคนที่ต่อต้านบ้าง เช่น เดินผ่านตลาดก็ได้ยินว่า ทำไมไม่ไปทำมาหากิน มาเดินทำอะไรกัน หรืออย่างบางวันจะมีผู้ชายคนหนึ่งมาไลฟ์เรา แล้วก็บอกว่า นี่นะครับ พวกนี้เป็นพวกถ่วงความเจริญ แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจในจุดนั้น เราก็พยายามเดินของเราเพื่อสื่อสารต่อไป ในโซเชียลก็มีเหมือนกันที่มาบอกว่า “จุดไม่ติดหรอก มาทำอะไรกัน” แต่คุณมาตามทุกไลฟ์เลย (หัวเราะ) เราก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ดีนะ เขาไม่เห็นด้วยเขายังมาตามดูเราเลย

มิตรภาพในทีมเป็นอย่างไร

ทีมเดินก็จะมีคนจากหลายเครือข่าย พอได้มาเดินด้วยกัน ทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น พอเขาต้องกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อสลับให้ผลัดสองมา เขาจะคิดถึงการเดิน คิดถึงเพื่อน อยากอยู่ต่อ

ในแต่ละวันที่เดินก็มีเรื่องความผิดพลาด แต่ทุกตอนเย็นเราจะมีวงคุยเพื่อสรุปกัน แล้วจากเรื่องที่ผิดพลาดมันก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เอามาคุยหยอกล้อกันได้ แล้วทำให้เรารู้ว่าที่เขาผิดพลาดมันเพราะอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ให้อภัยกันได้ ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไข ชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมที่จะบอกว่าตรงนี้ยังไม่ดีเราจะแก้ยังไง ช่วยกันสรุปบทเรียน ไม่มีแกนนำ เป็นเรื่องของทีม


มิตรภาพจากคนรอบข้าง

เราใช้โทรศัพท์เรามาตั้งแต่วันแรก ใช้มาเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันตาย คือเปลี่ยนแบตแล้วก็ยังใช้ไม่ได้ แล้วตอนแรกเราไม่ได้มีอุปกรณ์ช่วยอะไรเลย ตลอดสามชั่วโมงเราเดินถือเอา เดินไปด้วย ถือไปด้วย พูดไปด้วย ตอนแรกเราขอยืมโทรศัพท์จากทีมเดินมาไลฟ์ แต่เราก็กลัวว่ามันจะพังไปอีก ก็ปรึกษากันในทีมแล้วก็ลองประกาศลงในเพจดูว่ามีใครจะเอื้อเฟื้ออุปกรณ์ไหม จนตอนนี้ก็ได้พาวเวอร์แบงค์มาเยอะมาก น่าจะประมาณ 20 อัน โทรศัพท์อีก 2-3 เครื่อง มีคนถามมาว่าส่งเงินมาให้เราไปซื้อได้ไหม เราก็ไม่เอา มีแผงโซลาร์ไว้ชาร์จแบตด้วย แต่ก็หนัก (หัวเราะ) แล้วก็มีขาตั้งกล้อง ไม้เซลฟี่ อุปกรณ์ตอนนี้พร้อมขึ้นเยอะ


ประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร

ตอนวันแรกๆ ที่ทางวัดปฏิเสธ เราไม่ได้นอนที่วัดแล้ว มันเหนื่อยมาก แทนที่เสร็จแล้วจะได้นอน แล้วก็โดนตำรวจตามอีก เราก็กลัวเขาจะมากั้นตรงทางเข้าวัด ตรวจค้นเหมือนวันแรกๆ ที่โดน เราก็ต้องคอยหนีตำรวจเหมือนเราเป็นโจร ไม่ให้เขาตามไปที่พัก ซึ่งเขาตามแบบจี้ตูด ขับรถจี้ ไม่ได้ตามห่างๆ แต่ตามแบบที่ทำให้เรารู้สึกโดนคุกคาม ถามก็ไม่ตอบ ถ่ายรูปอย่างเดียว แต่พอเริ่มแก้ไขสถานการณ์ได้ เริ่มมีคนมาเสนอที่นอน พอมีที่นอนแล้วมันก็รู้สึกผ่อนคลาย มีเวลาทำกิจกรรม มีเวลาพูดคุยกันเยอะขึ้น ช่วงก่อนหน้าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองไม่กี่วัน ตอนอยู่แถวปากช่อง ตำรวจก็เริ่มเข้ามาแบบดีๆ เริ่มเข้ามาแนะนำตัว บอกว่ามาจากหน่วยไหน ไม่เหมือนตอนแรกที่ถามไม่ตอบ

 

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน







ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net