Skip to main content
sharethis

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ไปฟังเสียงของพวกเขา

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้อง

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสมบัติของประชาชนที่พากันขับเคลื่อนตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 52 เรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การระดมความเห็นว่าอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพในไทยเป็นแบบใด จนออกมาเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือการร้องขอ ทำให้ผู้ป่วยที่แต่เดิมจะไปรักษาพยาบาลต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย บางคนต้องขายทรัพย์สินเงินทองมาจ่ายค่ารักษา แต่พอมีหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่ประสบภาวะล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล เคยมีกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตที่ร้องเรียนเข้ามาที่เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานที่ผู้ป่วยเป็นผู้รับเหมา มีทรัพย์สินหลักสิบล้านขึ้นก็ต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหมดไปหลายล้าน แต่พอมีสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคไตมาคุ้มครองเขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
 

ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอะไรบ้างเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมและเครือข่ายฯ ได้ทำวงพูดคุย ให้ข้อมูลและความรู้กับเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ เช่น กลุ่มสภาองค์กรชมชน กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานนอกระบบ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้พวกเขารู้ว่ามีสถานการณ์ที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงและข้อสังเกตในการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพต่อศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัดในประเด็นที่จะมีการแก้กฎหมายซึ่งถือเป็นภัยคุกคามอย่างมาก และเล่าว่า เสียงสะท้อนต่อการแก้กฎหมายที่ตนได้ยินมาคือความกังวลว่าอาจจะต้องมีการร่วมจ่าย แล้วถ้ามี จะต้องจ่ายเท่าไหร่


คิดว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพมากที่สุด

สิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพในปีหน้าคือเรื่องการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ยังคาราคาซังกันอยู่ ทางเครือข่ายก็คงจะมีการรณรงค์ สื่อสารกับสังคมในประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง 3 ประเด็นที่ยิ่งแก้ยิ่งแย่ ได้แก่ เรื่องสัดส่วนคณะกรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ด สปสช. การแยกเงินเดือนในงบค่าเหมาจ่ายรายหัว และเรื่องการร่วมจ่าย จึงต้องกลับมาคุยกันก่อนในประเด็นที่เห็นต่างแต่ละประเด็น
 

สิ่งที่จะทำหลังจากนี้

ในต้นปี 2561 ทางกลุ่มในภาคอีสานจะรณรงค์เรื่องการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพว่าประชาชนจะได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร และจะมีแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมเดินรณรงค์จากกรุงเทพฯ มายังภาคอีสาน

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้

เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคเหนือ) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันตก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันออก) ทำไมเราต้องปกป้อง?

 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net