Skip to main content
sharethis

ปริญญา พร้อมตัวแทนผู้ประกอบกิจการหอพัก ร้อง กทม.- ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา พ.ร.บ.หอพัก ระบุทำเดือดร้อน ติดข้อกำหนดอายุห้ามเกิน 25 ปี และระดับการศึกษา ทำให้ผู้เช่าลดลงเหลือแค่ 60%

10 พ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (9 พ.ย.60) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนผู้ประกอบกิจการหอพัก ผู้แทนนักศึกษา ผู้แทนมหาวิทยาลัยเอกชน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558 มาตรา 4 และมาตรา 36 ที่กำหนดให้หอพักเอกชน หรือหอพักในมหาวิทยาลัยเอกชนรับผู้พักได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี มีโทษปรับ 1 แสนบาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ ผู้พักที่ศึกษาอยู่ระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี หรือศึกษาปริญญาตรี แต่อายุเกิน 25 ปี และมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 27, 40 เรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจัดระเบียบอาชีพเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ และไม่ให้ความเท่าเทียมในการให้การศึกษาของระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐกับเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นเรื่องต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว แต่ได้รับเพียงการผ่อนผันยังไม่ได้รับการแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา

ต่อมาวันนี้ (10 พ.ย.60) ปริญญา พร้อมด้วย ะผู้ประกอบการหอพักเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใชักฏหมายตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.58 เป็นต้นมา เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. ในประเด็นปัญหา  คือ 1. ปัญหาข้อกฎหมายและผลกระทบที่เกิดจากการกำหนดให้หอพักเอกชน ต้องรับผู้พักเฉพาะผู้พักที่อยู่ในระดับการศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี  ซึ่งทำให้หอพักไม่สามารถรับผู้พักที่ศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีและอายุเกิน 25 ปีได้ รวมถึงไม่อาจรับบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ทั้งที่มีอายุเกินหรือไม่เกิน 25 ปี เข้าพักได้ ทำให้ผู้เช่าลดลงเหลือพักได้แค่ร้อยละ 60 เท่านั้น  2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักเอกชนที่จดทะเบียน โดยไม่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักที่ไม่จดทะเบียน จึงเสนอหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับหอพักอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  จึงได้หารือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ประกอบการหอพักเอกชน ได้เดินทางไปร้องเรียนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า สำหรับปัญหาข้อกฎหมายและผลกระทบที่เกิดจากการกำหนดให้หอพักเอกชนที่อยู่ในระดับการศึกษาไม่สูงกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกิน 25 ปี ตามมาตรา 4 และมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 นั้น  กทม.ไม่สามารถผ่อนผันหรือละเว้นได้ เนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย.60 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบกิจการธุรกิจหอพัก โดยมีมติที่ประชุม เห็นควรปรับปรุงกฎหมาย มาตรา 4 และมาตรา 36 ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักจะดำเนินการตามขั้นของการแก้ไขกฎหมายต่อไป ส่วนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับหอพักเอกชนที่จดทะเบียนโดยไม่บังคับใช้กฎหมายกับหอพักที่ไม่จดทะเบียน ตามมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558 นั้น กทม.ได้รับถ่ายโอนภารกิจเมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 โดยมีหอพักทั้งสิ้น 986 แห่ง ที่จดทะเบียน จำนวน 426 แห่ง  ไม่จดทะเบียน 560 แห่ง  ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นตรวจสอบหอพัก แต่ประสบปัญหาเรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานเขตดำเนินการตรวจสอบหอพักทุกแห่งในพื้นที่และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ที่มา : Voice TV และ เดลินิวส์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net