Skip to main content
sharethis

การเป็นเมืองของไทยมาแบบไม่มีการวางแผน การบริหารเมืองไม่เหมือนอารยประเทศ ส่วนท้องถิ่น ภูมิภาคยังเป็นแค่ลูกมือกรม-กระทรวง แนะ กระจายอำนาจพัฒนาเมืองไปจากมือกรม-กระทรวง ร่วมมือประชาชน เอกชน ต้องปลูกฝังจิตสำนึกรักเมืองให้มาก ประวัติศาสตร์ชาตินิยมอย่างเดียวไม่พออีกต่อไป

ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เมื่อ 31 ต.ค. 60 ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองนคราภิวัฒน์กับการปฏิรูปการเมือง ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นคราภิวัฒน์กับการปฏิรูปการเมืองในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เมืองกินคน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมืองและสุขภาวะของไทย” เขียนโดย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อเนกกล่าวว่า ทุกวันนี้เมืองแบบไกลปืนเที่ยงในชนบทมีจำนวนน้อยลงทุกที คนในชนบทกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น ปัจจุบันประชากรโลกอาศัยในเมืองมากกว่าชนบทแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเมืองไปแล้ว เป็นอะไรที่เราไม่เคยเป็น จากเดิมเรามีชีวิตอยู่และแก่ในไทยที่มีชนบทเป็นหลัก มีเมืองไม่มากนัก แต่ชนบทในไทยตอนนี้ก็ยังมีและยังมีความสำคัญในฐานะพื้นฐาน

ผมคิดว่าไทยมีกระบวนการที่เรียกว่านคราภิวัฒน์ คือกำลังกลายเป็นเมือง เป็นนครหรือมหานครที่เข้มข้นขึ้น มีความหวังว่าจะประณีตขึ้น ผสานกับใหม่เก่า ผสานตะวันออกกับตะวันตกได้มากขึ้น การปฏิรูป พัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศโดยเน้นแต่ประเทศ ชาติ เศรษฐกิจในภาพรวมน่าจะไม่พอ เราอาจจะต้องสนใจนคราภิวัฒน์ให้มากขึ้น นคราภิวัฒน์ที่ผมพูดอาจจะย้อนหลังไปได้เป็นร้อยปีที่แล้วเมื่อเราพัฒนาประเทศอย่างสมัยใหม่แล้วก็มีเมืองเป็นศูนย์กลางในการบริหารปกครองประเทศ ต่อมาก็ขยายตัวเพราะการซื้อขายสินค้าเกษตร เมืองกลายเป็นโกดัง ร้านค้า ต่อมาก็ขยายตัวเพราะอุตสาหกรรม นั่นเป็นเมืองแบบที่ผมเติบโตมาสมัยหนุ่มๆ

ต่อมานคราภิวัฒน์ขยายตัวไปในด้านการท่องเที่ยว หลายเมืองโตมาด้วยการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นสมุย พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย 20 ปีหลังมานี้นคราภิวัฒน์เติบโตมาคู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทมากในการพัฒนาเมือง แม้จะชื่อเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ตามแต่ก็ไม่ใช่การทำงานกับชนบทเป็นหลักอย่างเดียวแล้ว ล่าสุดกระแสนคราภิวัฒน์เกิดจากการท่องเที่ยวของไทยที่เปรียบเป็นอาหารจานหลักของไทยแล้ว รายประเทศร้อยละ 20 มาจากการท่องเที่ยว ร้อยละ 8 มาจากภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 30 มาจากภาคอุตสาหกรรม เมืองของเราทั้งหมดรับแขกต่างประเทศได้ปีละหลายสิบล้าน เฉพาะ กรุงเทพมหานครก็รับแขก 20 ล้านคนต่อปี มากกว่าลอนดอน นิวยอร์ก สิงคโปร์ โตเกียว แต่ไม่ใช่มีแค่กรุงเทพฯ เรายังมีภูเก็ตและเมืองพัทยาที่มีผู้คนจากต่างประเทศเดินทางไปถึงจำนวนมากใน 25 อันดับแรกของเมืองในเอเชียแปซิฟิก

ถ้าเราดูวิธีบริหารเมือง นครและมหานคร เราจะคาดไม่ถึงว่าจะมีนคราภิวัฒน์ที่เบ่งบานขนาดนี้ มันเป็นกระบวนการเกิขึ้นแบบที่เราคาดไม่ถึง เพราะเราคิดไม่ถึง ไม่ค่อยวางแผนและจัดการไม่เป็นระบบ ถ้าถามว่าหน่วยงานราชการไหนที่สร้างเมืองมากที่สุด ผมว่าน่าจะเป็นกรมทางหลวง การรถไฟ การท่าอากาศยาน น่าจะเป็นมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ไม่มีกระทรวงเมือง ไม่มีกระทรวงการกลับมาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (Human Resettlement) แบบในต่างประเทศ มันไม่ได้เกิดแบบมีแผน มีการวางผังเมืองที่ดี มันเกิดแบบของเรา ก็คือวางแผนก็ไม่ได้ตามแผน อะไรที่ไม่ได้วางแผนก็ได้ผล ตอนแรกจะสร้างเป็นเมืองอุตสาหกรรมก็ไม่เกิด กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปหมด การท่องเที่ยวของเราตอนแรกดูเหมือนไม่มีอนาคต แต่ทำไปทำมาก็กลับเป็นอนาคตของเรา ดังนั้นอยู่เมืองไทยอย่าไปสนใจแต่เรื่องแผน ต้องสนใจธรรมขาติที่เป็นจริงของสรรพสิ่งที่เราทำอยู่ หมั่นสังเกตและเปลี่ยนแผนไปเรื่อยๆ มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงมากเหลือเกิน

การบริหารเมืองของเราไม่เหมือนนานาประเทศที่เป็นอารยะ เพราะเมืองของต่างประเทศเป็นการปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น ในสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน ดีซี ถูกดูแลโดยเทศบาลกรุงวอชิงตัน ดีซี กรุงปักกิ่งก็ถูกดูแลโดยผู้ว่าการปักกิ่ง ของไทยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็จริงแต่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะที่กรุงเทพฯ มีรัฐมนตรี มีกระทรวงเต็มไปหมด เราบริหารเมืองโดยใช้ราชการส่วนกลางเป็นหลัก แล้วมีราชการส่วนภูมิภาคมาช่วย ส่วนท้องถิ่นมีบทบาทน้อยในาการสร้างเมือง แม้จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปจริงๆ เราเติบโตด้วยส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นเพียงบทบาทเสริม

เรามีชาวเมืองที่ค่อยๆมีสำนึกความเป็นเมือง รักเมือง อยากจะสร้างบ้านแปลงเมือง เป็นอะไรที่น่าชื่นใจ เวลานี้ก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นแรกที่อยากชวนคิดก็คือ การพัฒนาการเมืองก็ดี ปฏิรูปการเมืองก็ดี จะต้องคิดและทำให้มากขึ้นในการที่จะทำให้นคร กรุงและพื้นที่มีบทบาท ความริเริ่มและความสร้างสรรค์ของตนเองให้มากขึ้น ในการพัฒนาประเทศและการเมืองของเรา น้อยครั้งที่ระบบราชการของเราจะคิดจากพื้นที่ เราจะคิดจากกรม กระทรวง เราจะต้องพยายามคิดในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น เราจะพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดนอย่างไร มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเมืองชายแดนใหญ่เกือบทุกภาค มีการค้าขายชายแดนเยอะและได้เปรียบดุลการค้าทุกภาค ควรจะคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองชายแดนมีความสามารถ มีความริเริ่ม ความพยายามเป็นพิเศษที่ทำให้เมืองชายแดนเติบโตและลงตัวโดยตัวของมันเองโดยไม่ต้องขึ้นกับกรมและกระทรวงมากนัก เพราะปัจจุบันพื้นที่เป็นเพียงภาคสนามของกรมและกระทรวง

ถ้าจะคิดว่าเราจะทำมาหากินกับการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ควรคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองพิเศษทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้าเราไม่คิดเสียเลยมันก็พอทำได้ แต่มันจะไม่โดดเด่น เหมือนเอาเครื่องบินใบพัดใส่ใบพัดไปเรื่อยๆ แต่ไม่ติดไอพ่น คิดถึงเมืองเชียงคาน แม่สอด พัทยา ภูเก็ต สมุย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ถ้าทำให้เเป็นเมืองพิเศษในการท่องเที่ยวจะมีผู้ให้ความสนใจมากมาย ไม่ใช่แค่รัฐบาล บีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) สภาพัฒน์ การท่องเที่ยวของเราเกิดขึ้นโดยอะไรที่รัฐบาลไม่ได้บริหารจัดการเยอะมาก เช่น เชียงคานมันก็เกิดของมันเอง เชียงรายก็เกิดของเชียงรายเอง ถ้าเราไปดูเหตุคือระบบบริหารราชการแผ่นดินก็จะพบว่าเหตุและผลไม่ได้ไปด้วยกัน เหตุที่มากจริงๆคือคนไทยเก่ง ฉลาด มีไหวพริบเอาตัวรอด เอกชนที่ปรับตัวเก่ง ชาวบ้านรู้เรื่องการท่องเที่ยวก่อนรัฐบาล รู้เรื่องบูรพาภิวัฒน์ก่อนรัฐบาลหรือนักวิชาการด้วยซ้ำ ถ้าจะคิดเรื่องสร้างบ้านสร้างเมืองต้องยึดโยงกับพลังที่เป็นจริงแต่ไม่เป็นทางการ การบริหารอะไรที่เป็นทางการจะไม่ค่อยได้ผล ต้องหาอะไรที่ไม่ทางการแต่ต้องได้ผล แล้วใช้ตรงนั้นให้มากขึ้น

หากมองอนาคตของเมืองผมว่าอนาคตค่อนข้างจะสดใส ผมไปดูเมืองต่างๆ ในไทยก็ดูค่อนข้างมีอนาคต ผมไปอุดรธานีมาก็พบว่าเป็นเมืองที่มีพละกำลังทางเศรษฐกิจสูงมาก ทุกเช้าจะมีรถมุ่งหน้าข้ามฝั่งไปลาว แม่สอดตอนนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวย่างกุ้ง โรงแรมที่แม่สอดที่ค่อนข้างแพง ร้านอาหารแพงๆ หรูๆ ก็เป็นคนจากย่างกุ้งมากินมาอยู่ สรรพสินค้าของแม่สอดก็มีชาวย่างกุ้งมาซื้อเป็นหลัก ถ้าผมมองประเทศไทยเห็นอนาคตไม่มากนัก แต่ถ้ามองแม่สอดผมว่าอนาคตมันสูงกว่าประเทศไทย เมืองของเรามันขโมยโต ขโมยเบิกบาน ขโมยสร้างสรรค์ เมืองต่างๆ ที่พูดมามันนำพาประเทศอย่างไม่เป็นทางการ นายกเทศมนตรี นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด หลายแห่งเก่งระดับประเทศ ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมือง นคราภิวัฒน์ก็เป็นความหวัง เป็นพลัง เป็นเจ้าของการพัฒนาที่สำคัญ กระบวนการรักบ้าน สร้างบ้านแปลงเมืองหรือการร่วมแรงร่วมใจสร้างบ้านเมืองของเรา มันจะช่วยเสริมสร้างจิตใจ สร้างจิตอาสาให้คนเป็นคนของเมือง เหมือนสิ่งที่กรีกโบราณที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่ชาวเมืองปกครองตนเอง การสร้างบ้านแปลงเมืองนี้ต้องใช้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ ผลักดันให้พวกเขาพัฒนายิ่งขึ้น ทำให้พวกเขามีพลังไปเสริมกับกระบวนการสร้างบ้านสร้างเมืองเอง ระหว่างนี้เรายังใช้ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคมาช่วยมากไม่ได้ ก็ควรใช้ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชาวเมืองมากกว่า แต่ต้องประสานกับผู้สร้างบ้านแปลงเมือง เราต้องทำให้เมือง นคร กรุง เป็นบ้านของเรา เราต้องรู้สึกอินกับเมือง นคร กรุง ให้มากขึ้น ให้เป็นครอบครัวใหญ่ของเรา สร้างการเมืองใหม่ที่เป็นการเมืองของเราเอง ผมคิดว่าควรเรียกว่าการเมืองของเมือง นคร และกรุง เรามีชาตินิยมของเราเกือบอย่างเดียว แต่สิ่งที่ขาดไปคือความรักที่มีต่อเมือง นคร และกรุง ผมคิดว่ามันไม่ค่อยมีเพราะมันไม่มีประวัติศาสตร์ของเมือง นคร กรุง ทั้งไม่มีประวัติศาสตร์ของภาคด้วย เพราะประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมีแต่ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เมือง นคร และกรุงก็อยู่ในประวัติศาสตร์ชาติแต่อยู่อย่างไม่สมบูรณ์ อยู่อย่างไม่ได้ทำให้เมือง นคร และกรุง อยู่อย่างภาคภูมิใจ เราจะต้องสร้างเมืองนิยม สร้างประวัติศาสตร์เมือง ต้องเชิดชูเมืองให้มากกว่านี้ จะต้องมีใจของเมือง จะมีแค่เพียงวงเวียน เสาไฟฟ้า โรงพยาบาล โรงเรียนหรือสวนสาธารณะคงไม่พอ

การปฏิรูปถ้าจะคิดแบบฝรั่งก็คิดได้ แต่แบบที่เราทำตอนนี้คือบนลงล่าง คือให้ผู้นำทำแล้วเชื่อว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนตามแผน ยุทธศาสตร์ ผมก็อยากให้เสริมว่าการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงแบบไทยหรือแบบตะวันออกที่ต้องเปลี่ยนจากภายในด้วย ถ้าเราไม่มีจิตใจที่ดีงามจะเปลี่ยนรูปภายนอกอย่างไม่เต็มที่ จะต้องเป็นจิตที่เข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนผู้อื่น จากใจเราก็หลอมรวมมันเป็นจิตใจของชาวเมือง จากตัวเองสู่ครอบครัว ชุมชน และเมือง ถ้าทำแบบนี้มหานครก็จะเป็นหน่วยหนึ่งในการปฏิรูป ไม่เพียงแต่หน่วยงานราชการ

ต่อคำถามว่าควรจะปล่อยให้แต่ละจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเองได้หรือไม่ เอนกตอบว่า ประเทศไทยปกครองแบบกรมมาธิปไตย ปกครองแบบที่พื้นที่เป็นภาคสนามของกรม ผู้ว่าฯ และปลัดก็เป็นคนจากกรมการปกครองทั้งนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหามันมีได้หลายวิธี ถ้าเรารักษารูปแบบจังหวัดเอาไว้แบบทุกวันนี้ก็ต้องมีกติกาว่าผู้ว่าจะต้องอยู่อย่างน้อยกี่ปี เพราะบางจังหวัดผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งเฉลี่ยไม่ถึงปี เรื่องเลือกตั้งผู้ว่ามีข้อดีคือมันอยู่ครบเทอม ผู้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วมันก็ต้องมีความต่อเนื่อง เรื่องผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งหรือไม่ก็เป็นอะไรที่ต้องถกเถียงกันต่อไปอีกเยอะ ถ้าจะทำจริงๆ มันมีโอกาสทำได้เยอะ เราอาจจะเลือกบางจังหวัดมาทำก่อนก็ได้ ข้าราชการของเราก็จะไม่ค่อยพอใจเวลาได้ยินเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ข้าราชการเกษียณจะเห็นด้วยเพราะสมัครลงเลือกตั้งได้ เราจะฟังความพอใจหรือไม่พอใจส่วนบุคคลมากก็ไม่ได้ ในเงื่อนไขปัจจุบันก็อย่าไปท้อใจว่าทำอะไรไม่ได้ มันก็ยังทำอะไรได้เยอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net