Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ชูเปลี่ยนแปลง “ระดับยุทธศาสตร์” 4 ประการ ยกเปลี่ยนการมองระยะสั้นเป็นการมองระยะยั่งยืน อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า เพราะเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต  

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง “ระดับยุทธศาสตร์” 4 ประการ ประกอบด้วย

1. เปลี่ยนการพัฒนาที่เน้นแข่งขันตักตวง มาเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปัน เติบโตไปด้วยกัน โดยใช้จุดแข็งของไทยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในการเชื่อมโยง “ห่วงโซ่อุปทาน” จากภายในประเทศ แล้วขยายไปสู่นอกประเทศ  ซึ่งต้องอาศัยโครง สร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทุกระบบ เป็นเสมือน “เส้นเลือด” เชื่อมการค้า การลงทุน จาก 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไปสู่กลุ่มประเทศ CLMVT– อาเซียน – อนุภูมิภาค – และโลก ผ่านโครงการร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ One Belt One Road และเขตการค้าเสรีใหม่ ๆ เป็นต้น  ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับบทบาทของไทย ให้เป็น “ศูนย์กลาง” ด้าน   ต่าง ๆ ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ จะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันด้วยนะครับ

2. เปลี่ยนการมองระยะสั้น เป็นการมองระยะยั่งยืน อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า เพราะเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต  ไม่เกินกรอบของเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ หลังจากที่ประเทศไทย แทบไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มานานกว่า 20 ปี ที่เรียกว่า กินบุญเก่า  จนเกือบจะรั้งท้ายในเอเชีย และไม่มีอะไรจะดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศ แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้นั้น เราพยายามผลัก ดันให้เกิดการลงทุน วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในแทบทุกโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และสถานีขนส่งสินค้า โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เริ่มแล้ว 5 เส้นทาง และจะประมูลอีก 3 เส้นทางในปีนี้ รถไฟทางคู่ไม่มีการสร้างเพิ่มมาหลายสิบปี โดยปีนี้จะสร้างใหม่และต่อขยายอีก เกือบ 3 พันกิโลเมตร  อีกทั้งมีรถไฟไทย จีน และรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง กรุงเทพ-ระยอง และ กรุงเทพ-หัวหินเป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม อีกกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เชื่อมโยงการค้า e-Commerce จากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เป็นต้น  ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา แม้ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ก็ต้องทำ และยินดีที่รัฐบาลในอนาคตจะสานต่อ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนด้วยนะครับ

3. เปลี่ยนการผลิตที่เน้นปริมาณ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเปลี่ยนจากการพึ่งพามาเน้นการพึ่งตนเอง โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง คือ วิทยาการ วิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลากรภายในประเทศ และดึงดูดมันสมองจากนอกประเทศ ในส่วนที่เราขาด เข้ามาเติมเต็ม หรือเริ่มต้นให้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่การผลิต และการสร้างแบรนด์ไทย ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือสินค้า GI ที่บ่งบอกที่มาทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ การเติบโตที่สมดุลในอนาคต ต้องลดการพึ่งพาการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ  แล้วหันมายึดแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ที่เน้นการระเบิดจากข้างใน สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ทั้งชุมชน OTOP SME  Start up ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ยังมีความจำเป็นอยู่ทั้งหมด ผมขอยกตัวอย่างการนำงานวิจัยมาผลิตใช้จริง จากกรณีการนำอุปกรณ์ช่วยฝึกการออกกำลังกายของผู้ประสบภาวะเส้นโลหิตสมองตีบมาใช้ในการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผลการวิจัยพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.พัชรี คุณค้ำชู จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ ร่วมกับทีมนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  โดยเครื่องนี้ มีราคาจากต่างประเทศถึง 18 ล้านบาท แต่เราสามารถผลิตได้เองด้วยราคาเพียง 4 แสนกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายไปทดลองใช้งาน ใช้งบประมาณของกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ไปใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ 10 เครื่องแล้วนะครับ ในด้านการผลิตเราต้องเร่งสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ “ต้นทาง” แหล่งผลิตภาคเกษตร   อุตสาหกรรม “กลางทาง” การแปรรูป  การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ “ปลายทาง” ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ ซึ่งย่อมต้องอาศัย “พลังประชารัฐ” เป็นแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับชุมชน  อำเภอ  จังหวัด  กลุ่มจังหวัด ภาค ที่ต้องมี “ยุทธศาสตร์” เป็นของตนเองด้วย

4. เปลี่ยนจากธุระไม่ใช่ ให้เป็นวาระเพื่อชาติ และเปลี่ยนจากคอร์รัปชั่นเป็นโปร่งใสตรวจสอบได้ ที่ไม่เพียงเน้นการปฏิรูประบบบริการของหน่วยงานราชการ ให้สามารถรองรับนโยบายอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ขจัดอุปสรรค หรือ Ease of doing business เท่านั้น ใน 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลนี้เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แจ้งเบาะแสผ่าน OSS และสายด่วนต่าง ๆ มีการออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และ การกำหนดราคากลาง รวมทั้ง เพื่อรักษาวินัยการเงิน การคลัง เช่น พ.ร.บ.งบประมาณและวินัยการคลัง ริเริ่มการใช้ “สัญญาคุณธรรม” (IP) และ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (COST) เพื่อลดความเสียหายจากการคอร์รัปชั่นและ เน้นการมีส่วนร่วม เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนาใด ๆ ก็ตาม หากบกพร่องในการป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างถาวร เพราะโครงสร้างมี “สนิมที่เนื้อใน” แล้วตั้งแต่ต้น เราจะติดตาม จับกุม ดำเนินคดีให้ได้ อย่างต่อเนื่อง  วันนี้มีปรากฏในหลายวงการ อาจจะยังคงมีอยู่ ขอเตือนไว้ก่อน  ภาคธุรกิจเอกชนเอง ก็ต้องไม่ไปเสนอผลประโยชน์  หากใครมีข้อมูล ให้ร้องเรียน แจ้งเบาะแส  มาที่ผมนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ในทันที ทุกอย่างจะเก็บเป็น “ความลับ” แต่จะไปดำเนินการต่อสู้เรื่องทุจริต  ไม่ใช่ทราบแล้วก็เก็บเรื่อง มาถึงวันนี้ทุกคนคงต้องรับรู้และเข้าใจว่า “เราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้”  เพราะโลกกำลังจับตามองเราอยู่  ดังนั้น เราจะต้องปรับตัวและตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง “ครั้งใหญ่” ของประเทศเพื่อไม่ให้เกิดอาการ เหมือน “ปลาช็อคน้ำ” อีก ซึ่งในครั้งนี้ จะเป็นก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปในอีกหลาย ๆ ด้านด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net