Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2559 นิสิตเกษตรห้าคนในนาม “เสรีเกษตรศาสตร์” และร่วมกับนักศึกษารามคำแหงหนึ่งคนและนักกิจกรรมอีกหนึ่งคน นัดหมายไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ( อนุสาวรีย์ปราบกบฎ ที่แยกหลักสี่)  แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรมใดๆ ก็ถูกขัดขวางจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งหิ้วฉุดกระชากลากถูไปตั้งข้อหาขัดคำสั่งคสช.3/2558 ว่าด้วย การมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน  5คน ในตอนค่ำวันเดียวกัน ศาลทหารให้ปล่อยตัวนิสิตกลุ่มดังกล่าว โดยไม่ถูกคุมขังระหว่างไต่สวนคดี เพราะศาลเห็นว่าเป็นนักศึกษาและอัตราโทษไม่รุนแรง

แต่เรื่องที่สังคมในวงกว้างยังไม่ทราบก็คือ ท่าทีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แทนที่จะช่วยปกป้องนิสิตของมหาวิทยาลัยตัวเอง แต่กลับกดดันข่มขู่นิสิต ตั้งแต่อยู่ที่สถานีตำรวจ กระทั่งปัจจุบันที่แม้แต่ศาลให้ปล่อยตัว การกดดันนิสิตก็ยังมีอยู่

จากการเก็บข้อมูลด้วยสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเริ่มตั้งแต่วันก่อนทำกิจกรรม มีการกดดันจากผู้บริหารผ่านอาจารย์ที่เป็นผู้สอนนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์เพื่อห้ามการจัดกิจกรรม และให้อาจารย์ประสานกับนิสิตว่าห้ามใส่ชุดนิสิตในการทำกิจกรรมดังกล่าว เมื่อนิสิตยืนยันจะทำกิจกรรมในเช้าวันที่ 24 และถูกตำรวจใช้กำลังเข้าขัดขวางหิ้วไปสถานีตำรวจ ทั้งๆ ที่นิสิตแค่เตรียมตัวไปทำความสะอาดบริเวณอนุสาวรีย์  วิญญูชนผู้มีเหตุผล ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า การตั้งข้อหาว่านิสิตกระทำการมั่วสุมทางการเมือง เป็นการตั้งข้อหาที่ไม่มีมูลเหตุอันควร

แต่ในขณะที่อยู่ที่สถานีตำรวจ แทนที่อาจารย์ที่เป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามท่านที่มาถึงสถานีตำรวจทันทีหลังเกิดเหตุด้วยรถตู้ของมหาวิทยาลัยจะช่วยปกป้องนิสิต กลับเห็นคล้อยไปกับทางตำรวจและทหาร มีการยื่นข้อเสนอให้นิสิตเข้าปรับทัศนคติกับทางฝ่ายทหาร แต่นิสิตไม่ยินยอมเพราะไม่ต้องการยอมรับอำนาจของ คสช. ทางตัวแทนมหาวิทยาลัยจึงกดดันต่อว่า หากนิสิตมีคดีอาญาติดตัวจะพ้นจากสถานภาพนิสิต จากนั้นตัวแทนมหาวิทยาลัยก็เดินทางกลับโดยปล่อยให้นิสิตเผชิญกับหน้ากับกระบวนการของตำรวจและทหารแต่เพียงลำพัง

มากกว่านั้น ครั้นเมื่อศาลทหารให้ปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีกระแสจากกองกิจการนิสิตว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนนิสิต แม้ฝ่ายกิจการนิสิตบอกว่า ไม่มีบทลงโทษที่ร้ายแรงต่อนิสิต อาจมีเพียงการตักเตือน ท่าทีดังกล่าวก็สมควรที่จะถูกตั้งคำถามว่า สมควรแล้วหรือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับนิสิตที่ถูกตำรวจล้อมกรอบฉุดกระชากและอุ้มอย่างไม่มีเหตุสมควร

ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเคยทำกิจกรรมเป็นรองนายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2536 มาก่อน เสนอว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรยุติกระบวนการลงโทษวินัยกับนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ รวมทั้งควรยุติการกดดันในลักษณะอื่นๆ เช่น การเรียกนิสิตเข้าพบเพื่ออบรมสั่งสอน หรือการบอกนิสิตว่าเหตุการณ์นี้อาจมีผลต่อการขอทุนการศึกษาของนิสิตในครั้งต่อไป ด้วยเหตุผล 4 ประการ ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดและทำกิจกรรมของนิสิต ตราบเท่าที่นิสิตไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ได้ละเมิดกฎหมายอาญาของบ้านเมืองแบบปกติ แต่ในปัจจุบันนิสิตถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมจากระบอบในปัจจุบันที่เราต่างก็รู้ดีว่า มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรงอยู่เนืองๆ  ในกรณีเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงแต่ต้องเคารพสิทธิของพวกเขาเท่านั้น หากแต่ควรจะช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกรังแกอีกด้วย

2. ตรงกันข้ามกับที่อาจารย์ ม.เกษตร บางท่านที่คิดว่า เป็นเรื่องไม่สมควรที่นิสิตสวมชุดนิสิตแสดงกิจกรรรมทางการเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรจะภูมิใจว่า นิสิตเหล่านี้ได้แสดงออกถึงความตื่นตัวต่อบ้านเมืองและสังคม และมีจิตสำนึกที่จะตอบแทนภาษีของประชาชน สมดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ว่า “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน” หากผู้บริหารยังปิดกั้นสิทธิของนิสิต ก็อาจจะถูกเข้าใจได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการมอมเมานิสิตให้ถอยห่างจากความตื่นตัวทางสังคมการเมือง และกลับไปทำกิจกรรมยุคสายลมแสงแดดในช่วงก่อน 14 ตุลาคม ที่นิสิตทำกิจกรรมประเภทร้องรำ ทำเพลง ดังที่มีลานเต้นรำ หลังหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยเป็นอนุสรณ์อันไม่น่าภาคภูมิใจ

3. ในอดีตที่ผ่านมา นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคมการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ภาพของ “ไอ้ก้านยาว” นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นิสิตคณะวนศาสตร์ ยืนถือไม้หน้าสามเผชิญหน้ากับแถวทหารที่ถือปืนเล็งมาที่เขา ยังเป็นภาพที่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่างภาคภูมิใจ นิสิตเกษตรศาสตร์ยังเป็นกำลังสำคัญขี่จักรยานรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2531 รวมถึงเหตุการณ์ต่อต้าน รสช. ปี 2534 ถึง เหตุการณ์ พฤษภา 35 ที่นิสิตเกษตรศาสตร์ก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน มีตัวแทนนิสิตเกษตรศาสตร์ร่วมอดข้าวประท้วงร่างรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของ รสช. เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2534 ด้วย การแสดงออกซึ่งความตื่นตัวทางสังคมการเมืองของนิสิตเกษตรศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยถูกปิดกั้นเหมือนดังยุคนี้

4. จากบทเรียนที่ผ่านมาจะพบว่า เป็นเรื่องดีที่นิสิตเยาวชนคนหนุ่มสาวได้แสดงความตื่นตัวมีจิตสำนึกทางการเมือง รักประชาธิปไตย การแสดงออกของพวกเขา อาจจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ผู้บริหาร หรือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนิสิตเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวย่อมมีท่าทีและการแสดงออกตามวัย และทัศนะของพวกเขา  ที่ยังไม่ต้องห่วงใยกับผลประโยชน์ ลาภยศตำแหน่ง เหมือนคนที่เป็น “ผู้ใหญ่”

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะสยบยอมกับอำนาจล้นฟ้าของ คสช. ไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่นิสิตนักศึกษากลุ่มเล็กๆ รวมถึงนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ที่กล้ายืนยันหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม พวกเขาสมควรที่จะได้รับการยกย่องและปกป้อง

หากคนที่คิดว่าตัวเอง เป็น “ผู้ใหญ่” แต่ไม่กล้าปกป้องเยาวชนเหล่านี้ ก็อย่าซ้ำเติมพวกเขา และทำให้ตัวเองต้องขายหน้าไปมากกว่านี้เลย โปรดยุติการคุกคามกดดันนิสิตเสรีเกษตรศาสตร์.

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net