Skip to main content
sharethis

8 มิ.ย. 2559 กรณี บทเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ที่ถูกจัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิจารณ์ถึงเนื้อหาที่มีการดูถูกภาคเหนือ-อีสาน นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) วานนี้ (7 มิ.ย.59) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคนที่จะมีความเห็น กกต.คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น อีกทั้งทราบว่าทางศิลปินก็ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้วด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้กระบวนการทำประชามติทุกขั้นตอนมีความพร้อมมาก ซึ่งหลังจากนี้ กกต. ก็จะเน้นไปที่แผนการประชาสัมพันธ์การทำประชามติให้มากยิ่งขึ้น

วันนี้ (8 มิ.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ยังเลี่ยงที่จะตอบกรณี เพลง ดังกล่าว ของ กกต. ที่ถูกมองว่า มีเนื้อหาบางท่อนดูหมิ่นคนภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยระบุว่า ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และ กกต.ก็ไม่ได้หารือถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุม กกต. ส่วนตัวยังเห็นว่า เนื้อหาไม่ได้เป็นการดูหมิ่นคนภาคใด และผู้แต่งเพลงก็ยืนยันแล้วไม่ได้เจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด
 
ต่อคำถามที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ กกต.จะต้องระงับเพลง 7 สิงหาฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย สมชัย กล่าวว่า คิดว่าบางทีสังคมก็อ่อนไหวเกินไป และบางเรื่องก็ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก
 

เอาจริงเพจปล่อยคลิปเพลงหยาบจูงใจคนโหวตทางใดทางหนึ่ง

สมชัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กกต. ได้รับทราบกรณีที่มีเพจในเฟซบุ๊กได้เผยแพร่เพลงที่มีข้อความหยาบคาย และโน้มน้าวจูงใจให้คนไปออกเสียงประชามติในทางใดทางหนึ่ง และได้มอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กกต.ไปศึกษา ว่าเข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ ตามที่ได้ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ คาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์น่าจะได้ข้อมูล อยากฝากถึงบุคคลที่ปรากฏในคลิปเพลงดังกล่าว หากไม่รู้เห็น หรือกระทำการก่อน พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับ ก็ควรไปแจ้งลงบันทึกประจำวัน ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น หรือสนับสนุนให้มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวหลัง พ.ร.บ.ประชามติมีผลใช้บังคับ เพราะไม่ฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดไปด้วย รวมทั้งประชาชนทั่วไปขอให้ระมัดระวังในการส่งต่อคลิปดังกล่าว
 
สมชัย กล่าวว่า การออกมาเตือนเรื่องดังกล่าวไม่ใช่แค่ขู่เพื่อให้เลิกกระทำ แต่กกต.เอาจริงทุกเรื่อง แต่การจะทำอะไรต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ขณะนี้เรื่องจึงอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล หากพบว่าเข้าข่ายมีความผิด ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อ หรืออย่างกรณี การขายเสื้อโหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก็อยู่ในขั้นการดำเนินการ และยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว กกต. ไม่สามารถรอคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะตราบที่ศาลยังไม่วินิจฉัยต้องถือว่า พ.ร.บ.ประชามติยังมีผลบังคับใช้อยู่  กกต. ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายก็ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง หากหยุดดำเนินการก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
 

ศูนย์ปราบโกงประชามติ ต้องระวังไม่ผิด กม.

ส่วนกรณีการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น  สมชัย กล่าวว่า ตนเคยยืนยันแล้วเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะช่วยกันสอดส่องการออกเสียงประชามติ แต่ระเบียบของ กกต.ไม่ได้ส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมตรวจสอบประชามติ เหมือนกับการเลือกตั้ง ที่ กกต. สามารถเข้าไปสนับสนุนได้เต็มที่ ดังนั้น กกต. จึงไม่สามารถไปส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาสังเกตการณ์การออกเสียงในหน่วยออกเสียงได้
 
สมชัย กล่าวว่า การรวมตัวกันของประชาชนที่จะสังเกตการณ์การออกเสียงแม้จะทำได้ แต่ต้อง 1.ไม่เข้าไปในหน่วยออกเสียง 2.ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย 3. ไม่ก่อความวุ่นวาย หรือแสดงท่าทีการโน้มน้าว จูงใจ ปลุกระดม ข่มขู่ ให้ผู้มาออกเสียงออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง ถ้ายึดในหลักการนี้ได้การรวมตัวสอดส่องก็สามารถทำได้ รวมทั้ง กกต. มีแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด เพื่อรับแจ้งเหตุ ประชาชนก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งขณะนี้ยังมีน้อยอยู่ รวมถึงถ้า นปช. อยากให้ กกต. ส่งคนไปอบรมการใช้แอพพลิฯดังกล่าวก็พร้อม
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net