Skip to main content
sharethis

ชาวกะเหรี่ยงเขตงานตะนาวศรี ทำกินในกลุ่มผืนป่าแก่งกระจาน ประกาศถึงปัญหาที่ จนท.ดำเนินการมีผลกระทบกับชาวบ้าน เร่งรัฐแก้ไข ก่อนประกาศเป็นมรดกโลก ที่ปรึกษาคณะกรรมการมรดกโลกชี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่จะประกาศเป็นมรดกโลก

7 ธ.ค. 2558 นายวุฒิ บุญเลิศ ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อให้เป็นมรดกโลก โดยมีการรวมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี เข้าเป็นกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมีความกังวลใจ และยังไม่มีความเข้าใจ หากมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วชาวบ้านในพื้นที่จะดำรงชีวิตอย่างไรต่อไป จึงได้มีการรวมตัวกันปรึกษาหารือถึงข้อกังวลใจและแนวทางการแก้ไขปัญหาขึ้น

โดยมีชาวบ้านจาก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ในเขตตำบลยางหัก หมู่ที่ 2 บ้านตากแดด หมู่ที่ ๓บ้านท่ายาง หมู่ที่ 4 บ้านหินสี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเขตตำบลตะนาวศรี หมู่ที่ 6 บ้านห้วน้ำหนัก,บ้านพุระกำ บ้านหนองตาดั้ง หมู่ที่ 3 บ้านไทรงาม อำเภอบ้านคา ตำบลบ้านบึง จังหวัดราชบุรี หมู่ที่ 1 บ้านโป่งกระทิงบน หมู่ที่ 4 บ้านพุน้ำร้อน บ้านห้วยจะเกราะ หมู่ที่ก 5 บ้านพุบอนบน หมู่ที่ 10 บ้านหวยมะกรูด และตำบลบ้านคาหมู่ที่ 9 บ้านลำบัวทอง ชาวบ้านจากจังหวัดเพชรบุรี อำเภอหนองหญ้าปล้อง ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ หมู่ที่ 2 บ้านห้วยแห้ง หมู่ที่ 3 บ้านลิ้นช้าง หมู่ที่ 4 บ้านท่าเสลา ห้วยกระซู่ หมู่ที่ 5 บ้านพุน้ำร้อน ห้วยสาริกา ตำบลยางน้ำกลัดใต้ หมู่ที่ 3 บ้านพุปลูล่าง หมู่ที่ 4 บ้านพุปลูบน แม่คะเมยบน อำเเเภอแก่งกระจาน ตำบลห้วยแม่เพียง หมู่ที่ 1 บ้านบางกลอย หมู่ที่ 2 บ้านโป่งลึก ตำบลป่าเด็ง หมู่ที่ี 6 บ้านป่าเด็ง ปาเกอญอ รวมแล้วกว่า 200 คน เข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ของตนเองที่ประสบมา

ชุมชนแต่ละชุมชนได้มีการสรุปถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตั้งแต่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีการยึดที่ของชาวบ้านและชุมชน ไม่ให้ชาวบ้านทำกินอยู่อาศัย เจ้าหน้าที่อุทยานเข้ามาดำเนินการจับกุม  แจ้งความ ประกาศยึดที่ชาวบ้าน ขับไล่ เผาบ้าน เผายุ้งฉาง ทำลายทรัพย์สินและพืชเกษตรของชาวบ้าน บางครั้ง ยิงปืนขู่ ใช้อาวุธสงครามบังคับให้ชาวบ้านอพยพ หรือไม่ให้ทำกิน บังคับโยกย้าย ให้ไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่มีการจัดสรรที่ดินทำกินและดูแลตามที่เคยให้สัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ ไมให้ชาวบ้านทำกินตามวิถีวัฒนธรรม เช่น ไม่ให้ทำไร่หมุนเวียน ไม่ให้เลี้ยงวัว ไม่ให้หาของป่า ทำให้ชาวบ้านไม่มีกินไม่มีใช้ บางพื้นที่มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้  เช่น พื้นที่บ้านวังคา ต.ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่อุทยานได้มีการมานำเเอาไข่จระเข้น้ำจืดไป  และอ้างว่าเอาไปฟักแต่ไม่เคยฟักไข่ได้ ทำให้ไข่ไม่ได้ออกเป็นตัว จระเข้จึงมีจำนวนน้อยลง

ซึ่งจากการพูดคุยกันชาวบ้านได้ประเด็นปัญหาของการที่จะประกาศกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกยืนยันว่าชาวบ้านอยู่มาแต่ดั้งเดิม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเข้ามาบริเวณนี้โดยยืนยันขออยู่อาศัยในพื้นที่บรรพชน ชาวบ้านไม่ได้มีการคัดค้านการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานแต่อย่างใด เพียงแต่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆจะขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกและขอมีส่วนร่วมในการเสนอและจัดการมรดกโลกทางธรรมชาติ  ซึ่งชาวบ้านจึงมีข้อเสนอแนะที่อยากจะฝากให้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะกรมอุทยานพันธุ์พืชและสัตว์ป่า นำไปพิจารณาด้วยคือ

1.   รัฐควรตระหนักและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่อาศัย และเป็นเจ้าของพื้นที่มรดกโลก

2.   รัฐควรส่งเสริมและยอมรับให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นเจ้าของ มีสิทธิ และมีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองและพื้นที่มรดกโลก อาทิ กำหนดกฎเกณฑ์ชุมชนที่มีผลบังคับถึงบุคคลภายนอกอื่น ตลอดจนเจ้าหน้าทีรัฐ

3.   รัฐควรยอมรับและสนับสนุนการมีตัวตน สิทธิอยู่อาศัย สิทธิทำกิน สิทธิในสัญชาติไทย สิทธิตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนให้วิถีชีวิตกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

4.   รัฐควรให้ชาวกะเหรี่ยงสามารถดำเนินตามวิถีชีวิตในพื้นที่ทำกินดั้งเดิม โดยกำหนดเขตพื้นที่ และมีหนังสือรับรองที่ชัดเจน

5.   รัฐควรยุติการจับกุม ดำเนินคดี ยึดพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ตลอดจนยุติการใช้ความรุนแรงต่อชาวกะเหรี่ยง

6.   รัฐควรดำเนินการให้ความชัดเจนและดำเนินคดีกับการกระทำอย่างผิดกฎหมายต่อชาวกะเหรี่ยง  อาทิ การเผาบ้าน เผายุ้งฉางกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดิน หรือบ้านบางกลอยบน การสูญหายไปของบิลลี่ นายพอละจี  รักจงเจริญ

7.   รัฐควรเร่งดำเนินการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 255

ด้าน ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทนประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (  IUCN ) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการมรดกโลก  ได้ เข้าร่วมรับฟังปัญหาของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ด้วย ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทย เห็นว่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน มีความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้มีการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก  แต่การที่รัฐจะให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่ด้านทรัพยากรธรมชาติ เท่านั้น เนื่องจากว่าในพื้นที่ที่จะประกาศเป็นมรดกโลกนั้น มีชุมชนที่อาศัยอยู่ ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมสูง มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง บนพื้นฐานของเศรษฐกิจเเพียง

เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันของชุมชน ในครั้งนี้เพื่อที่จะให้รัฐบาล ได้มองเห็นถึงความสำคัญของชุมชนที่มีอยู่ในพื้นที่ที่จะประกาศเป็นมรดกโลก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การได้รับการยกย่องคุณค่าทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวัฒนธรรม ทั้ง 2 สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่สามารถควบคู่กันไปได้ เกื้อหนุนกันได้ ซึ่งจากการรับฟังในเวทีแสดงความคิดเห็นนี้ ชาวบ้านต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการจัดสรรประโยชน์ในที่ดินร่วมกัน การใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ผลผลิตจากป่า  ให้สมดุล มีการบูรณาการร่วมกันได้อย่างไรบ้าง  พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ใช่ใช้ทรัพยากรอย่างเดียวโดยไม่มีการอนุรักษ์

ดร.จำเนียร กล่าว เพิ่มเติมว่า จากการรับฟังในเวทีนี้นั้น พบว่า เป็นมิติใหม่ ของการมีส่วนร่วมกันของการจัดการร่วมกันของผืนป่า การมีส่วนรวมในกาารจัดการมรดกโลก หรือเรียกได้ว่า ประชารัฐ คือการมีส่วนร่วมกันของรัฐ และประชาชน การจัดการลักษณะนี้จะเพิ่มมิติ เพิ่มคุณค่า ทั้งด้านการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการเห็นคุณค่าต่อชุมชน ชุมชนจะเดินหน้าไปด้วยกันพร้อมกับรัฐได้อย่างไร 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net