Skip to main content
sharethis

จอห์น เดรเปอร์ และ เดวิด สเตร็คฟัส เผยแพร่ "แผนที่ภาษา" พิสูจน์สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ระบุห่วงไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารจะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ


12 พ.ค. 2558 จอห์น เดรเปอร์ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ เดวิด สเตร็คฟัส นักวิจัยเกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ร่วมกันเผยแพร่ "แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย" (Ethnolinguistic Maps of Thailand) โดยระบุว่าการให้ความรู้ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรทำเร่งด่วนเพื่อสร้างความรู้พื้นฐานด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยและการทำแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการ มีการกดขี่ และพยายามปลูกฝังชาตินิยมในหมู่ประชาชน

บทความของนักวิชาการทั้ง 2 คนเผยแพร่ในเว็บไซต์ 'นิวแมนดาลา' ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อ้างอิงผลงานของธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวไทย เกี่ยวกับแผนที่ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของอาณาจักรสยามที่เผยแพร่ในปี 2531 ซึ่งมีการระบุถึงวาทกรรมเรื่องความเป็นไทยด้วย

ทั้งนี้ในบทความยังมีการเผยแพร่แผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ 'ซีไอเอ' โดยระบุว่าเป็นหนึ่งแผนที่ที่มีความสำคัญที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่ผู้สังเกตการณ์ประเทศไทยสมัยใหม่ โดยแผนที่นี้เป็นแผนที่การจัดวางตำแหน่งกลุ่มชาติพันธุ์ในอุดมคติตามมุมมองของรัฐไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดยุคสงครามเย็นด้วย บทความยกตัวอย่างว่าแผนที่นี้มีการรวมกลุ่ม "ไทยลาว" และกลุ่ม "คนเมือง"ถูกรวมอยู่ในวงศ์วานชาว "ไท" (Tai) โดยไม่มีการแจกแจงรายละเอียดใดๆ

บทความของนักวิชาการทั้ง 2 คนระบุว่าแผนที่นี้ยังมีอิทธิพลจากช่วงยุคสมัยที่ผู้นำคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่เป็นเผด็จการชาตินิยมจัด โดยพยายามกำจัดอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในไทยด้วยนโยบายรัฐนิยม ขณะเดียวกันก็เป็นแผนที่ที่อธิบายได้ว่ารัฐไทยคิดอย่างไรกับกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงก่อนยุค 2533-2543 ในปี 2538 นักวิชาการจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย) เผยแพร่วารสารวิชาการโดยเริ่มใช้คำว่า "ลาวอิสาน" และเริ่มมีการศึกษาภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยจนทำให้มีการตั้งคำถามต่อภาพลักษณ์ที่รัฐไทยพยายามสร้างว่าประเทศไทยมีต้นกำเนิดทางเชื้อชาติเดียวกัน

การศึกษาเรื่องราวชาติพันธุ์ท้องถิ่นดังกล่าวนี้ได้รับอิทธิพลจากการหารือร่วมกับองค์กรนานาชาติอย่าง 'ยูเนสโก' และ 'ยูนิเซฟ' ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยจัดทำสนธิสัญญาเพื่อรักษาสิทธิของชนกลุ่มน้อยไว้ได้ โดยบทความในนิวแมนดาลาระบุอีกว่ากรณีรายงานวิชาการของ ม.มหิดล ถือเป็นครั้งแรกที่ "คนเมือง" 6 ล้านคน และชาว "ไทยลาว" 15 ล้านคน ได้รับการยอมรับทางเชื้อชาติว่ามีความแตกต่างกันถึงแม้ว่าจะมีความเกี่ยวดองกับชาวไทยภาคกลาง

นอกจากนี้ สถาบันของ ม.มหิดล ยังจัดทำ "โครงการแผนที่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์" ของตนเองขึ้นมาเผยแพร่ในปี 2547-2548 แผนที่ของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเป็นพหุชาติพันธุ์ แต่แผนที่และข้อมูลการวิจัยดังกล่าวนี้มีการตีพิมพ์จำนวนจำกัดจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่านที่ทำการของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ข้อมูลของพวกเขาก็ถูกส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติได้

ทั้งนี้ในช่วงราวปี 2543-2553 สถาบันใน ม.มหิดล ยังร่วมมือกับยูเนสโกและยูนิเซฟในการส่งเสริมการศึกษาแบบสองภาษาในแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศด้วย

ผู้เขียนบทความในนิวแมนดาลาระบุอีกว่าพวกเขาสนใจต้องการทราบว่ามีข้อมูลจากการวิจัยของนานาชาติในประเด็นเดียวกันนี้ในโลกออนไลน์อีกหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนวิชาการทั้งในไทยและระดับนานาชาติกับภาคส่วนสาธารณะ มันเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าในประเทศไทยสามารถอนุญาตให้มีการวิจัยที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องที่อ่อนไหวได้ และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าวงการวิชาการและสังคมไทยพร้อมจะส่งเสริมสังคมแบบพหุวัฒนธรรมแทนที่จะเป็นชาตินิยมแบบไทยจากฝ่ายที่มีอำนาจนำผ่านทางองค์กรเช่นสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทั้ง 2 ยังระบุว่าในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองหลังรัฐประหารโดยกองทัพซึ่งทำให้อำนาจตกอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่ม และมีการอ้างใช้ "ความเป็นไทย" เพื่อปลุกชาตินิยมอีกครั้งผ่านค่านิยม 12 ประการซึ่งไม่มีการหารือหรือผ่านขั้นตอนใดๆ เลย ในรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะเขียนถึงการกระจายอำนาจไว้แต่พอเป็นพิธีและไม่มีระบุถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อยไว้เลย นักวิชาการต่างชาติแสดงความกังวลว่าแนวคิดชาตินิยมแบบไม่สนความหลากหลายเช่นนี้เคยก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติมาก่อนรวมถึงการลบล้างวัฒนธรรมหรือภาษาของกลุ่มเชื้อชาตินั้นๆ

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้เดรเปอร์ และ สเตร็คฟัส ต้องการได้สิทธิในการเผยแพร่โครงการแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์และผลักดันให้เรื่องนี้ไปสู่การประชุมสัมมนาของนานาชาติเพื่อเป็นเจ้าภาพโครงการนี้ภายนอกประเทศไทยได้ โดยพวกเขายังได้เผยแพร่ผ่านรูปแบบ PDF (ตามลิงก์ใต้บทความ) เว้นแต่ว่าทาง ม.มหิดล จะเรียกร้องให้นำออกซึ่งจะถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ล้าหลังสำหรับไทยที่มีพันธะต่อสนธิสัญญาต่างๆ ทั้งด้านสิทธิเด็กจาก 'อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก' ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมจาก 'ปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม' และ 'ปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง'


เรียบเรียงจาก

Minorities and minority rights in Thailand,  JOHN DRAPER AND DAVID STRECKFUSS, New Mandala, 11-05-2015
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2015/05/11/minorities-and-minority-rights-in-thailand/


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2015/05/Thailand-Ethnolinguistic-Maps.pdf

ข้อมูลโครงการแผนที่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ โดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย
http://www.lctemp.mahidol.ac.th/th/service-ethnolinguistic.php

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net